คุยกับคนอยากเลือกตั้ง: “ป้าอึ่ง” ห้าคดีจากการมา “ช่วยน้องๆ”

“ถามว่าชอบการเมืองไหม ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอมาโดนตัดรถไฟ ก็คิดว่า เออ…ประชาชนอยากรู้ความจริงแต่กลับไม่ได้ ก็เลยมาตามน้องๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง”
คำพูดของ ประนอม หรือ “ป้าอึ่ง” เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาออกมาเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง
ป้าอึ่ง หญิงวัยกลางคน บุคลิกยิ้มแย้มอารมณ์ดี ผู้มีเอกลักษณ์เด่นประจำตัว คือ แว่นตากรอบสีแดงสดใส เป็นหนึ่งในจำนวนป้าหลายคนที่ออกมาร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการเลือกตั้งในปี 2561 ในนามกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ป้าอึ่ง ชาวจังหวัดสมุทรปราการ อายุ 56 ปี ผู้ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ไม่ได้มีอิทธิพลทางสังคม ไม่ได้อาวุธอะไรสำหรับทำลายความมั่นคงของชาติ ต้องกลายมาเป็นหนึ่งในคนที่ถูกดำเนินคดีต่อเนื่องกันมากที่สุด คือ 5 คดี ในช่วงต้นปี 2561
ป้าอึ่งถูกดำเนินคดีครั้งแรกจากการออกไปร่วมกิจกรรมบริเวณสกายวอล์กหน้าห้างมาบุญครอง หรือที่รู้จักกันว่า #MBK39 , ตามมาด้วยการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือ #RDN50 , การชุมนุมที่พัทยา หรือ #PTY12 ป้าอึ่งก็เดินทางไปด้วย และถูกหมายเรียกเป็นกลุ่มหลัง, การชุมนุมเดินขบวนไปที่หน้ากองทัพบก หรือ #ARMY57 , และการชุมนุมเนื่องในวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร หรือคดี #UN62 ป้าอึ่งก็ยังโดนตามมาด้วย เรียกได้ว่า ในยุคที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการรายชื่อคนเพื่อดำเนินคดีกันให้มากที่สุด ป้าอึ่งก็โดนเรียบทุกคดีไป
จำนวนผู้ต้องหาที่ถูกเรียกเยอะขึ้นในแต่ละคดีและจำนวนหมายเรียกครั้งแล้วครั้งเล่าที่ป้าอึงได้รับ กลับไม่ได้ทำให้การตัดสินใจออกไปร่วมกิจกรรมของป้าอึ่งลดน้อยลง ตรงกันข้ามกลับทำให้ความตั้งใจของเธอเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้อนของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ป้าอึ่งเล่าว่า มาจากกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 โดยป้าอึ่งตั้งใจไปเที่ยวและต้องการไปกราบพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตทั้ง 7 พระองค์ แต่กลับถูกกักตัวเนื่องจากนั่งรถไฟไปขบวนเดียวกับกิจกรรม “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ที่นำโดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว”
ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนั้นไปไม่ถึงเป้าหมายที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะรถไฟถูกหยุดที่สถานีบ้านโป่ง และโบกี้ที่นักกิจกรรมทางการเมืองซื้อตั๋วเดินทางมาด้วยกันถูกตัดแยกออก ก่อนที่ผู้ร่วมเดินทางทั้ง 32 คนจะถูกทหารควบคุมตัวไปทำประวัติ โดยมี 11 คนที่ถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
“ตอนนั้นมันเป็นวันหยุดยาว แล้วรถไฟฟรี เราก็ไปขึ้นขบวนนั้น แล้วก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์มันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะป้าอ่านหนังสือไม่อออก ไม่รู้ว่าเขาเขียนอะไร ไม่มีใครชวนไป เราไปของเราเอง ตั้งใจว่าจะไปกราบ 7 พระองค์ ไปเที่ยวเฉยๆ ไม่ได้จะไปตรวจสอบอะไร แต่ทีนี้พอโดนกักตัวที่พุทธมลฑล 8-9 ชั่วโมงโดยที่เราก็คิดว่าเราไม่มีอะไร ทำไมทหารถึงจะต้องกักตัวเรา ป้าก็ไม่เข้าใจ… ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ถ้าน้องๆ มีกิจกรรมที่ไหน ถ้าป้ารู้ ป้าจะไปร่วมตลอด แต่ถ้าไม่รู้ก็ไม่ได้ไป”
โดนหมายเรียกจากตำรวจ รู้สึกอย่างไร?
“ตอนโดนหมายเรียกครั้งแรก (คดี MBK39) ถามว่าเครียดไหม เครียดค่ะ เพราะไม่รู้ว่าทำอะไรผิด แต่ตำรวจบอกว่าเราไปร่วมชุมนุมไม่เกิน 150 เมตร จากเขตพระราชวัง … ตอนที่โดนเราก็บอกไปว่าเราไม่ได้ไปยืนใกล้กับแกนนำเลย ตำรวจเขาก็บอกว่า มีรูปเราที่ถ่ายเอาไว้ได้ เป็นรูปเราที่เดินผ่านหน้ากล้อง”
ป้าอึ่งยังเล่าให้ฟังถึงชีวิตส่วนตัวว่ามีลูกสองคน และหลานสาวที่ต้องคอยดูแลอยู่ “ชีวิตปกติเป็นยายอยู่บ้าน มีหลานสาวหนึ่งคน ถ้าเปิดเทอมนี้ก็จะขึ้นม.3 แล้วก็เลี้ยงน้องหมาสองตัวเป็นสุนัขชิวาว่า ชื่อ “สตางค์” และ “หนึ่ง” ที่บ้านอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ลูกทำงาน สามีก็ทำงานรับจ้างทั่วไป ตอนเช้าต่างคนต่างแยกย้ายไปทำงาน พอตอนเย็นถึงจะเจอกัน”
ไปชุมนุมแต่ละครั้ง เอาเงินสนับสนุนมาจากไหน?
“ถามว่าได้เงินมาจากไหน บอกเลยว่าได้มาจาก “สามี” ถึงมีปัญญามาตรงนี้ ป้าโชคดีที่ครอบครัวเราชอบความถูกต้อง ก็เลยไม่มีใครขัดใคร บางทีบอกลูกไปว่าไม่มีเงิน ลูกก็ช่วยสนับสนุน เขาก็ไม่เคยบ่นว่าแม่ใช้เงินเยอะ เวลาใครมากล่าวหาว่า เรามีท่อน้ำเลี้ยง คุณมาถามเราก่อนว่าเราได้เงินมาจากไหน“
“เมื่อก่อนป้ามีอาชีพเป็นแม่บ้าน ต่อมาก็มารับจ้างซักผ้า ได้เดือนนึง 5,000 บาท ตอนนี้พันเดียวก็ไม่มี ป้าเคยถามเพื่อนว่า เอ้า! มึงเคยให้กูซักแล้วอยู่ๆ ทำไมมาซักเอง เพื่อนก็ตอบว่า ให้กูประหยัดก่อน ตอนนี้ตังมันหายาก การออกมาเคลื่อนไหวเพราะเราก็อยากช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย”
โดนดำเนินคดีแล้วชีวิตเปลี่ยนไหม ?  
“ไม่กลัวค่ะ แต่ถามว่างานการน้อยลงไหม น้อยลงนะคะ ตอนนี้ต้องคิดหน้าคิดหลัง จะซื้ออะไรก็แล้วแต่ เพราะเวลาโดนคดีต้องเสียเวลาไปรายงานตัว แต่ไม่ว่าจะโดนอีกกี่คดี ก็จะไปร่วมชุมนุมเหมือนเดิม สิ่งที่ทำให้ป้าไม่กลัวคือเราไม่ได้มีอาวุธในมือ มีแต่หัวใจ”
คิดว่า กิจกรรมแต่ละครั้งทำไมคนไม่มาร่วมกันเยอะกว่านี้ ? 
“จากคนที่เคยคุยกัน เขาบอกว่า กลัวมีหมาย กลัวว่าจะทำให้เสียเวลาแบบป้า ต้องหยุดงาน สมมติว่า ถ้าทำงานโรงงานหรืองานออฟฟิศ เขาก็ไล่ออกแล้ว แต่ของป้าคือเป็นงานรับจ้างทั่วไป ป้าคิดว่าสำหรับคนอื่นเขาคงกลัวว่าจะเจอหมายเรียก ก็เลยลังเลว่าจะไปดีหรือไม่ไปดี แต่ถ้าใครมาคุยกับป้า ป้าก็จะบอกเลยว่า ออกไปเถอะ ออกไปเพื่อความถูกต้อง อย่างคุณโบว์ น้องนิว(จ่านิว) ทนายอานนท์ ที่เป็นแกนนำ เขามีอนาคต เขายังต้องเดินมาจุดนี้เลย ตัวเราเนี่ย อย่างป้ามันแก่แล้ว อนาคตไม่มีแล้ว ไปช่วยน้องๆ ไม่ดีกว่าเหรอ”
แล้วภาพของประเทศที่ดีเป็นอย่างไร ?
“ประเทศไทยควรจะแก้ไขเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ อยากให้รักษาฟรี ไม่ต้องร่วมจ่าย แล้วเรื่องสวัสดิการในการเดินทาง อยากให้กลับไปฟรีเหมือนเก่า จะได้ไม่ต้องเอางบไปทำบัตรทำอะไรให้เสียเงิน พอเอาไปทำมาก็ใช้ไม่ได้”
“ถ้ามีการเลือกตั้ง ป้าขอให้มีรัฐบาลที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ เรียนฟรีอยากให้ฟรีจริงๆ เพราะตอนนี้ยังไม่ฟรีจริงๆ พอไปซื้อหนังสือก็ 5,000-6,000 บาทแล้ว อย่างหลานที่เรียนโรงเรียนรัฐ เขาเล่าให้ฟังว่า ข้าวที่โรงเรียนบางทีกินไม่ได้เลย แกงที่ทำมาไม่รู้เอาน้ำประปาหรือเอาอะไรมาให้กิน รสชาติไม่อร่อย ไม่มีหวาน ไม่มีเค็ม เขาจะอดข้าวจากโรงเรียนมากินบ้าน แล้วอย่างเด็กที่พ่อแม่ทั่วไปไม่มีงานทำก็ลำบากมาก”
ถึงวันนี้ มองเรื่องการเลือกตั้งยังไง ?
“ป้ามองว่า การเลือกตั้ง … ไม่มีค่ะ เพราะว่าตั้งแต่ 2557 ก็เลื่อนไปเรื่อยๆ จนมา 2561 คุณมาบอกว่าเลื่อนไปเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คุณไม่ระบุเลยว่าวันไหน และแล้วจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็เลยไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อันนี้เป็นความคิดของป้าเอง ว่าไม่มีการเลือกตั้งหรอก แล้วประชาชนก็จะต้องลำบากกันไปอีก”
ป้าคิดว่าความฝันของคนอยากเลือกตั้งคืออะไร ?
“อยากได้รัฐบาลที่จับต้องได้ และ ให้เราพูดได้ พอเราออกมาพูดก็รับฟัง ไม่ใช่พอเราออกมาบอกว่า อยากเลือกตั้ง คุณก็มีหมายมาให้เรา อยากได้รัฐบาลที่พูดได้ ติได้…พรรคในฝันของป้าคือพรรคอะไรก็ได้ที่พอประชาชนออกมาแล้วจะไม่เอาตำรวจมาสกัดกั้นประชาชน มาคุกคามตามบ้าน”
You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ