กฎหมายห้ามชุมนุมในยุค คสช.

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เจ้าหน้าที่จะเลือกหยิบมาใช้เพื่อห้ามการชุมนุม หรือเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับคนที่จัดการชุมนุมอยู่หลากหลายมาก ตัวอย่างเช่น


1. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 

ข้อ 12 กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2529

2. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

เป็นกฎหมายที่ควรจะเป็นบทหลักในการจัดการชุมนุม ออกมาในยุค คสช. และบังคับใช้โดย คสช. กฎหมายนี้มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง สั่งให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจในท้องที่ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง ห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ ห้ามก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน ห้ามพกอาวุธ ห้ามปิดบังใบหน้า ห้ามข่มขู่ให้เกิดความกลัว ห้ามเคลื่อนขบวนตอนกลางคืน ฯลฯ โดยการฝ่าฝืนข้อห้ามแต่ละข้อนั้นมีบทกำหนดโทษแตกต่างกันไป

3. มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น

กำหนดว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

.
4. มาตรา 215 ฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย

กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

มาตรา 108 ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่

(1) เป็นแถวทหารหรือตำรวจ ที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผน
(2) แถวหรือขบวนแห่หรือขบวนใดๆ ที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด

มาตรา 109 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางเท้าหรือทางใด ๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

6. พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535

มาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลมหรือมีคม หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล

มีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การชุมนุมหนึ่งครั้ง ที่แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธก็อาจทำให้ผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมถูกตั้งข้อหาได้มากกว่าหนึ่งข้อหา ซึ่งการตัดสินใจเลือกว่า เมื่อใดจะถูกตั้งข้อกล่าวหาใดบ้าง แทบจะเป็นดุลพินิจของตำรวจเจ้าของคดี โดยผู้ต้องหาไม่มีสิทธิที่จะเลือกด้วย มีสิทธิเพียงให้การปฏิเสธและไปต่อสู้ในชั้นศาลเท่านั้น อย่างไรก็ดี การชุมนุมแต่ละครั้งหากถูกตั้งข้อกล่าวหามากกว่าหนึ่งข้อหา ก็อาจจะถูกศาลตีความว่า เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และถ้าเป็นความผิดก็จะลงโทษตามฐานความผิดที่มีโทษสูงสุดเพียงบทเดียวก็ได้

แต่การที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการชุมนุมมากมาย ทำให้เสรีภาพในการชุมนุมที่แม้จะถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับถูกจำกัดได้ด้วยเงื่อนไขที่กว้างขวาง ไม่มีขอบเขต ขึ้นอยู่กับการตีความและอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ จนประชาชนที่จะใช้เสรีภาพการชุมนุมไม่สามารถคาดหมายได้ว่า จะชุมนุมแบบใดจึงไม่ผิดต่อกฎหมาย

สถานการณ์ปัญหานี้เคยถูกคาดหมายว่า จะแก้ไขให้ชัดเจนขึ้นได้เมื่อมีการออก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อใช้เป็นกฎหมายหลักดูแลการชุมนุม แต่หลังปี 2558 เมื่อพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ประกาศใช้แล้ว กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังคงอยู่ และยังคงถูกเอามาบังคับใช้ไปพร้อมๆ กัน แม้ผู้ชุมนุมจะปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้วก็ยังอาจถูกเอาผิดด้วยกฎหมายอื่นได้ จึงกลับมีแต่สร้างความสับสนให้เพิ่มขึ้นไปอีก