คุยกับ” ชูศรี”สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้: ขอเป็นเสียงหนึ่งในการยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้หรือสกต.ก่อตั้งขึ้นจากการการรวมตัวของเกษตรกรไร้ที่ดินในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปี 2551 (ตามคำบอกเล่าของเพียรรัตน์ สมาชิกสกต.ที่เคยถูกคสช.เรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร 
แนวทางต่อสู้เพื่อเข้าถึงที่ดินของสกต.ก็คือ การเข้ายึดที่ดินที่เอกชนถือครองอย่างผิดกฎหมายหลังหมดสัมปทานกับภาครัฐมาจัดสรรให้กับสมาชิกได้ทำกิน แนวทางต่อสู้ลักษณะดังกล่าวทำให้สมาชิกสกต. ทั้งห้าชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและหนึ่งชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องตกเป็นเป้าจากทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่และจากฝ่ายรัฐที่มองว่าพวกเขาอาศัยอยู่โดยผิดกฎหมาย
ชุมชนคลองไทรพัฒนา หนึ่งในห้าชุมชนของสกต.ที่อยู่ในพื้นที่สุราษฎรธานี คนในชุมชุนแห่งนี้เผชิญการคุกคามทั้งจากภาครัฐและจากผู้มีอิทธิพลมาหลายต่อหลายครั้ง ที่ผ่านมาสมาชิกของชุมชนอย่างน้อยสี่รายถูกยิงเสียชีวิตโดยไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษได้ ประกอบด้วยกรณีของสมพร พัฒภูมิ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อปี 2553 ปราณี บุญรักษ์ และมลฑา ชูแก้ว ในปี 2555 และกรณีของใช่ บุญทองเล็ก ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2558 หนึ่งปีหลังคสช.ยึดอำนาจและในเดือนเมษายนปี 2559 ก็มีกรณีลอบยิง สุพจน์ กาฬสงค์ สมาชิกสกต.จากชุมชนคลองไทรพัฒนาซึ่งเป็นพยานในคดีสังหาร”ใช่” ด้วย
ไม่เพียงต้องเผชิญการคุกคามจากผู้มีอิทธิพล ชาวชุมชนคลองไทรยังถูกคุกคามจากฝ่ายรัฐด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ราชการมีความพยายามผลักดันสมาชิกสกต.ออกจากที่ทำกิน ชูศรี โอฬาร์กิจ หนึ่งในสมาชิกของชุมชนเล่าถึงการเข้ามาคุกคามในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหารหลังการรัฐประหาร 2557 พร้อมทั้งแนวทางการต่อสู้โดยสันติที่ทำให้ชุมชนสามารถอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน
 

อนุสรณ์สถานนักต่อสู้สามัญชน สร้างขึ้นในชุมชนคลองไทรพัฒนาเพื่อรำลึกถึงสมาชิกที่ถูกสังหารจนถึงแก่ความตาย

จากสาวโรงงาน – เสมียนบริษัทสู่สมาชิกสกต.

ชูศรีเล่าย้อนไปว่าก่อนจะมาร่วมต่อสู้กับสกต. เธอเคยผ่านการทำงานเป็นลูกจ้างหลายลักษณะงานทั่วไปในประเทศ เริ่มจากเป็นพนักงานในไลน์ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่โรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯประมาณสามปี จากนั้นผันตัวมาเป็นพนักงานต้อนรับบนรถโดยสารเส้นทางเชียงใหม่ – ระยองอีกสามปี และมาเป็นเสมียนของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นอีกประมาณสิบปีก่อนจะกลับมาอยู่บ้านที่นครศรีธรรมราชเนื่องจากถูกนายจ้างกดดันเพราะเธออายุมากแล้ว 
เมื่อกลับมาอยู่บ้านชูศรีต้องเผชิญปัญหาใหม่คือเรื่องที่ดินทำกินที่มีไม่พอต่อการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ เบื้องต้นเธอใช้วิธีขออาศัยปลูกผักในที่นาของเพื่อนที่อยู่ระหว่างพักหลังการเก็บเกี่ยวแต่ต่อมามีคนเข้ามาขอใช้ที่นาในลักษณะเดียวกันมากขึ้นจนเกิดการแย่งชิงที่ทำกินเธอจึงถอนตัวออกมา ตัวของชูศรีเคยได้ยินเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเข้าถึงที่ดินของสกต.มาบ้างแล้วก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคมปี 2552 ชูศรีลองเข้าไปสังเกตการณ์การประชุมของสกต.ที่สวนปาล์มในชุมชนก้าวใหม่ เธอเข้าไปร่วมประชุมอยู่สี่ครั้งก่อนจะสมัครเป็นสมาชิกสกต.ในปีเดียวกัน

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แรกเริ่มที่เข้าไปเป็นสมาชิกสกต.ที่ชุมชนก้าวใหม่ เธอเล่าว่าการสมัครเป็นสมาชิกนั้น ไม่ใช่ว่าสมัครแล้วจะได้เป็นเลยแต่ต้องผ่านการทดสอบทั้งการปลุกสร้างที่พักและทำการผลิตเป็นเวลาสามเดือนเสียก่อน ขณะที่เธอเข้ามาอยู่กับชุมชนก้าวใหม่การจัดการภายในชุมชนโดยเฉพาะการจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกยังไม่เรียบร้อยดี มกราคมปี 2553 เธอและสมาชิกสกต.ขึ้นมาชุมนุมที่กรุงเทพร่วมเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของอภิสิทธิ์แก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ผลของการต่อสู้ทำให้ชุมชนก้าวใหม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน เป็นพื้นที่นำร่องบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนในเดือนตุลาคม 2553  อย่างไรก็ตามการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรของภาครัฐก็มีความล่าช้าจนทำให้สมาชิกของชุมชนบางส่วนตัดสินใจย้ายออกไป 
ปี 2556 ชูศรีตัดสินใจย้ายออกไปจากชุมชนก้าวใหม่ไปอยู่กับชุมชนคลองไทรพัฒนาเนื่องจากถูกข่มขู่โดยผู้มีอิทธิพลรวมทั้งการจัดสรรที่ดินในชุมชนก้าวใหม่ก็เกือบจะลงตัวพอที่สมาชิกคนอื่นๆจะขับเคลื่อนชุมชนต่อไปได้แล้ว แม้ชูศรีจะเป็นสมาชิกสกต.อยู่แล้วแต่เมื่อเธอขอย้ายชุมชนเธอก็ต้องผ่านกระบวนการเข้ามาเป็นสมาชิกคนใหม่ของชุมชนคลองไทรพัฒนา โดยต้องสร้างที่พักและทำการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพ ในปี 2558 ชูศรีและชาวชุมชนคลองไทรพัฒนาต้องเผชิญกับความสูญเสียอีกครั้งเมื่อ “ใช่” บุญทองเล็กสมาชิกอาวุโสของชุมชนถูกลอบยิงจนเสียชีวิต ชูศรีเล่าว่าในวันเกิดเหตุเธอประชุมอยู่ในตัวเมืองสุราษฎร์ เมื่อได้รับโทรศัพท์ว่า”ใช่” ถูกยิงเวลาประมาณ 17.00 น. เธอและสมาชิกสกต.ทั้งจากชุมชนคลองไทรและชุมชนอื่นๆที่กำลังประชุมกันก็รีบเดินทางมาที่ชุมชน ตอนแรกเข้าใจว่าใช่น่าจะไม่เป็นอะไรมากแต่เมื่อกลับมาถึงชุมชนจึงทราบว่าใช่เสียชีวิตคาที การลอบยิงที่เกิดขึ้นทำให้สมาชิกในชุมชนเกิดความหวาดกลัวและพยายามไปไหนมาไหนเป็นกลุ่มใหญ่แต่การลอบยิงครั้งนั้นก็ไม่ทำให้สมาชิกคนใดตัดสินใจย้ายออกจากชุมชน   

การรุกคืบในเดือนกันยายน

สำหรับผลกระทบจากการรัฐประหารที่มีต่อชุมชนคลองไทรพัฒนา ชูศรีเล่าว่าช่วงเย็นวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2557 ขณะอยู่ในชุมชนปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 60 นาย พร้อมอาวุธครบมือเข้ามาในชุมชน พร้อมทั้งสั่งให้คนในชุมชนไปรวมกันที่ศาลาประชาคม เธอและคนในชุมชนพยายามสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นและเจ้าหน้าที่เข้ามาทำไมแต่ก็ได้รับคำสั่งจากทหารว่าให้อยู่เฉยๆแล้วจะอธิบายให้ฟัง หลังคนในชุมชนถูกพามารวมกันที่ศาลาจนครบก็ถูกทหารคุมตัวแยกย้ายไปตามบ้านเพื่อทำการตรวจค้น เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายค้นหรือเอกสารใดๆหรือไม่ ชูศรีตอบว่าเจ้าหน้าที่เพียงแต่อ้างอำนาจตามคำสั่งคสช.แต่ไม่ได้แสดงเอกสารใดๆ และไม่ได้ระบุว่าเป็นการใช้อำนาจตามประกาศหรือคำสั่งฉบับใด เมื่อทำการตรวจค้นเสร็จทุกบ้านชาวบ้านก็ถูกพามารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง ชูศรีเล่าด้วยว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่พาทุกคนกลับมารวมตัวกันที่ศาลาก็มีน้องคนหนึ่งใช้โทรศัพท์บันทึกเหตุการณ์ไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นก็เข้ามากันตัวน้องคนนั้นออกไปพร้อมกับสั่งชาวบ้านให้นั่งเฉยๆอย่าหันมามอง ชูศรีระบุด้วยว่าระหว่างที่ถูกเอาตัวมานั่งรวมกันเจ้าหน้าที่ทหารมีการอ่านรายชื่อเรียกบุคคลสำคัญของสกต.รวมหกคนแต่เผอิญว่าในขณะนั้นไม่มีใครอยู่พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าถ้าตอนนั้นอยู่ทั้งหกอาจถูกเอาตัวไปไหนก็ไม่รู้

สาเหตุแห่งการมาเยือน

ชูศรีเล่าต่อว่าระหว่างที่คนในชุมชนถูก “เชิญ” ให้รวมตัวกันในศาลาประชาคม เจ้าหน้าที่ทหารชี้แจงว่าพื้นที่ที่ชาวชุมชนคลองไทรยึดครองเป็นพื้นที่ที่ข้อพิพาทระหว่างสปก.กับบริษัทผู้ถือสัมปทานเดิมยังไม่ยุติและบริษัทได้ยื่นขอให้ศาลคุ้มครองอาสินอยู่ คนในชุมชนบางส่วนโต้ตอบกับผู้มาเยือนว่าการตั้งรกรากและใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินของพวกเขาได้รับการรับรองจากภาครัฐเองโดยหนังสือผ่อนผันทั้งจากสปก.(สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) และจากสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ได้แต่บอกคนในชุมชนว่าไม่ต้องพูดอะไรให้ฟังอย่างเดียว พร้อมกันนั้นก็ทำการถ่ายภาพผู้ที่ลุกขึ้นโต้เถียงหรือชี้แจงเอาไว้ด้วย เจ้าหน้าที่ยังบอกคนในชุมชนที่ลุกขึ้นโต้เถียงกับทหารประมาณห้าถึงหกคนรวมทั้งตัวชูศรีด้วยว่าให้ไปคุยที่กอ.รมน.จังหวัดในอีกห้าวันโดยระหว่างนี้ถ้ามีหนังสืออนุญาต หนังสือผ่อนผันหรือเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็ให้เตรียมเอาไปแสดงในวันนั้นด้วย
เมื่อถึงวันนัด ชูศรีและคนในชุมชนอีกห้าถึงหกคนเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีอันเป็นที่ตั้งของกอ.รมน.จังหวัด เมื่อไปถึงชูศรีและคนจากชุมชนคลองไทรพัฒนาก็แสดงหนังสือผ่อนผันจากสำนักนายกรัฐมนตรีและจากสปก.ให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารแต่ก็ถูกแย้งว่าขณะนั้นยังไม่มีคำสั่งศาลเป็นที่สุดคนในชุมชนจึงยังไม่สามารถอาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ ชูศรีตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในขณะที่เจ้าหน้าที่เข้ามาผลักดันให้คนในชุมชนออกจากที่ทำกิน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆกับบริษัทซึ่งยังถือครองและใช้ที่ดินทั้งที่หมดสัมปทานไปแล้ว
ชูศรี สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ชุมชนคลองไทรพัฒนา
บังเกอร์ทหารในชุมชน
ชูศรีเล่าต่อว่าหลังเธอเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในกอ.รมน.จังหวัดได้ประมาณเจ็ดวันในเดือนกันยายนก็มีทหารหนึ่งคนเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับนายทุนอีกห้าคน สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งกับเธอและคนในชุมชนคือให้ออกจากพื้นที่ภายในเจ็ดวันขณะที่ด้านนอกชุมชนก็มีกองกำลังแต่งตัวคล้ายทหารมาประจำการอยู่บริเวณแคมป์คนงานเก่าซึ่งอยู่ด้านนอกชุมชนเพื่อเตรียมผลักดันชาวบ้าน คนในชุมชนคลองไทรจึงเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมตามหน่วยงานต่างๆรวมทั้งไปเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดที่โรงพักอำเภอชัยบุรี เมื่อตกลงกับทางผู้ว่าได้สำเร็จกองกำลังที่เตรียมเข้าพื้นที่ก็ถอนตัวออกไปทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ทหารและนายทุนห้าคนเข้ามาบอกคนในชุมชนให้ออกนอกพื้นที่ภายในเจ็ดวันก็มีทหารประมาณสามนายเข้ามาตั้งบังเกอร์หุงหาอาหารอยู่ในชุมชนคลองไทรพัฒนา โดยในแต่ละครั้งจะมีทหารสามนายมาสลับเปลี่ยนกันประจำการในบังเกอร์
แม้เจ้าหน้าที่ทหารจะไม่ได้เข้ามาข่มขู่คุกคามทางตรงกับชาวบ้านแต่ก็จะคอยจับตาและบันทึกความเคลื่อนไหวของชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา เช่นมายืนฟังตอนที่ชาวบ้านเข้าแถวพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารทุกวันตอนเจ็ดโมงเช้า หรือติดตามและจดบันทึกความเคลื่อนไหวเวลาที่ชาวบ้านจะออกไปทำสวน การถูกติดตามเช่นนี้ทำให้คนในชุมชนบางส่วนเกิดความกลัวแม้กระทั่งจะทำภารกิจประจำวัน และก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาประจำการยิงปืนในชุมชนด้วย เมื่อชาวบ้านเข้าไปถามว่ายิงปืนทำไมก็ได้คำตอบว่า “ยิงให้รู้ว่ามีทหารอยู่ตรงนี้นะ” ชูศรีระบุด้วยว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้คนในชุมชนรู้สึกเสียขวัญ สมาชิกจำนวนหนึ่งก็ตัดสินใจออกจากชุมชนไป 
ชูศรียังเล่าด้วยว่ามีสามีของสมาชิกสกต.ในชุมชนคลองไทรพัฒนาคนหนึ่งซึ่งเป็นคนมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพาไปพูดคุยที่ค่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ เจ้าหน้าที่เพียงแต่บอกว่าถ้าตรวจสอบแล้วไม่มีอะไรก็จะพามาส่ง เจ้าหน้าที่ยอมทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่ชูศรีซึ่งเธอก็โทรไปตรวจสอบกับอยู่เป็นระยะจนกระทั่งชายคนดังกล่าวถูกควบคุมตัวครบสามวันเจ้าหน้าที่ก็แจ้งให้มารับตัวที่ค่าย ตั้งแต่ไปรับตัวชายคนดังกล่าวก็มีท่าทีตื่นกลัวและได้พาครอบครัวออกจากชุมชนไปโดยที่ไม่ได้เล่าให้ชูศรีหรือคนในชุมชนคนอื่นๆฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาในช่วงที่ไปอยู่ในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ทหารตั้งบังเกอร์สังเกตการณ์อยู่ในชุมชนประมาณสองเดือนจึงถอนตัวออกไป 

ขอเป็นเสียงหนึ่งในการยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.

ชูศรีสรุปตอนท้ายว่าตั้งแต่คสช.เข้ามาคนในชุมชนคลองไทรพัฒนาต้องเผชิญกับผลกระทบหลายๆอย่าง ทั้งสูญเสียสิทธิในการแสดงความคิดเห็นบางครั้งอยากจะเสนออะไรก็พูดไม่ได้ ทั้งยังถุกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่เะอและคนในชุมชนตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายประชาชนเพื่อยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย “เราโดนผลกระทบอย่างหนัก ทำให้เราสูญเสียหลายๆอย่างไปเลย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นแล้วเราก็โดนติดตาม บางครั้งเราอยากจะพูดอะไรก็พูดไม่ได้เสนอไม่ได้ ทุกขั้นตอนในชีวิตประจำวันของเราจะถูกริดรอนสิทธิออกไปมาก เราถึงต้องร่วมกันยกเลิกคำสั่งนี้ ถ้าเรายังไม่ร่วมกัน ชีวิตของเราก็ยิ่งย่ำแย่ลงไปทุกวัน”