“นายไม่สบายใจ” เป็นเหตุผลจากชายหัวเกรียน เพื่อขอปิดงานแสดงศิลปะ

 

 

นิทรรศการศิลปะ ชื่อว่า “ลมหลง” โดย “ป๋อง แท่งทอง” จัดแสดงที่หอศิลป์จามจุรี ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 – 11 มีนาคม 2561 เป็นกิจกรรมอีกหนึ่งครั้งที่ศิลปินพยายามจะถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกผ่านทางงานศิลปะ แต่เมื่อเนื้อหาไปแตะต้องถึงประเด็นร้อนทางสังคมการเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นต้องปรากฏกายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากจิตใจของศิลปินไม่เข้มแข็งพอก็คงต้องยอมหลบให้กับแรงเสียดทาน ภายใต้ยุคสมัยที่การเมือง “ยังไม่ปกติ”
สุทัศน์ แท่งทอง หรือ “ป๋อง แท่งทอง” เรียนจบจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิลปินที่เคยผ่านอาชีพมาหลากหลาย มีความตั้งใจในการสร้างงานโดยเอาความเป็นสมัยใหม่ ผสมเข้ากับวิชาการสมัยเก่า ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยนำเสนอผลงานศิลปะให้ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น ในนิทรรศการ “ลมหลง” ป๋องนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เข้ามาใช้นำเสนอด้วย ผู้เข้าชมงานสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นชื่อ “ป๋อง แท่งทอง” เอามาใช้สองดูภาพในนิทรรศการ แล้วจะปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือสื่อที่ปฏิสัมพันธ์ด้วยได้บนสมาร์ทโฟน
ในห้องแสดงงาน บนชั้นสองของหอศิลป์จามจุรี เมื่อดูเผินๆ ก็จะเห็นภาพวาดที่มีความหมายในเชิงนามธรรมเรียงรายบนผนังอยู่มากมาย แต่ภายนอกจะเห็นเป็นภาพนิ่งธรรมดาๆ เท่านั้น หากต้องการจะเข้าถึงสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารได้หลายมิติขึ้น ต้องมองผ่านแอพพลิเคชั่น แล้วจะช่วยให้พบเรื่องราวที่ซับซ้อนกว่านั้น
ตัวอย่างเช่น ภาพที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก แม่ของ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตระหว่างการฝึก เมื่อใช้เทคนิค AR ดูผ่านแอพพลิเคชั่นจะมีเสียงร้องไห้ออกมากับมีเสียงจริงผสมอยู่ด้วย หรือ ภาพที่เป็นคนถูกหมอกปิดตาหนึ่งข้าง ปิดปาก ปิดใจ และปิดตรงหว่างขา เมื่อใช้เทคนิค AR ดูผ่านแอพพลิเคชั่น และผู้ใช้ลองเป่าลมใส่เข้าไป หมอกก็จะลอยหายออกไปได้ เป็นต้น ซึ่งแต่ละภาพนั้นมีแรงบันดาลใจและความหมายซ่อนอยู่แตกต่างกัน
จุดสนใจของงานแสดงชุดนี้ คือ เกม “มือป้อม” หรือภาษาอังกฤษว่า “Chubby Hand” รูปแบบเกมเป็นมือที่เดินไปข้างหน้า เพื่อเก็บนาฬิกาให้ครบและผ่านด่าน โดยด่านต่างๆ จะเต็มไปด้วยฉากและสัญลักษณ์ที่มีความหมายซ่อนอยู่ ในพื้นที่จัดแสดง ผู้มาชมสามารถเล่นเกมส์นี้ได้โดยพูดเสียงอะไรก็ได้ใส่เข้าไปในไมโครโฟน เพื่อสั่งให้มือลอยขึ้นหรือลง ซึ่งป๋องต้องการจะสื่อสารว่า เรื่องราวทางสังคมต่างๆ สามารถแก้ไขได้ด้วย เสียงของเราเอง
หน้าที่ของงานศิลปะในยามที่โลกมันบิดเบี้ยว
ป๋อง เล่าว่า วันที่คิดจะเริ่มทำงานชิ้นนี้ก็มีคนคัดค้าน เพราะเห็นว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคมอีกแล้ว เมื่อทำไปฝ่ายเสื้อแดงก็อาจจะสนับสนุน แต่ฝ่ายที่ชอบทหารก็อาจจะไม่รับฟังเรา แต่ป๋องคิดว่า เมื่อจะทำงานก็ต้องจับประเด็นที่แทงเข้าไปถึงหัวใจของปัญหาให้ได้ คือ การที่ประชาชนจะท้าทายอำนาจ และตัดสินใจทำเรื่องเกี่ยวกับนาฬิกา
“สำหรับผมศิลปะนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อได้ทำก็ต้องเต็มที่ ในเวลาที่โลกมันบิดเบี้ยว สังคมมันเป็นแบบนี้ พอจะทำงานศิลปะถ้าจะให้พูดแต่เรื่องตัวเอง แล้วจะไปบอกลูกได้ยังไง ถ้าลูกถามว่า วันนั้นพ่อทำอะไรอยู่? ก็ควรจะมีสักชิ้นหนึ่ง หรือหลายชิ้นที่พูดเรื่องที่จะเชื่อมโยงกับคนอื่นบ้าง” ป๋องกล่าว
ป๋อง เล่าว่า ตัวเขาเองไม่ใช่คอการเมือง แต่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่บ้าง เมื่อได้อ่านข่าวต่างๆ ก็ได้เห็นว่า บางคนก็พูดถูก สิ่งที่บางคนพูดก็ไม่ใช่ ตัวเองก็เริ่มคิดอะไรได้ขึ้นมา
“เรารู้ว่า เราไม่ได้เป็นเสื้อแดงนะ แต่บ้านอยู่ลาดพร้าวใกล้ห้างอิมพีเรียล ก็เคยไปดูหนัง ก็ได้เห็นว่า จริงๆ สังคมของคนเสื้อแดงมีเสน่ห์บางอย่าง ผมเองไม่เคยเชื่อจตุพร ฟังณัฐวุฒิไม่เคยอินเลย แต่เห็นใจชาวบ้าน สงสัยว่า ทำไมเขาถึงมีแนวคิดบางอย่าง เราจึงเริ่มอ่านแล้วก็เริ่มรู้ แล้ววันนึงเราก็อยากจะพูด”
“เราทำงานบนฐานของการเอาศิลปะนำ ไม่ได้จะมุ่งเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมนึกถึงงาน The Third of May ของ Francisco Goya เป็นรูปที่ประชาชนโดนทหารยิง หรืองานช่วงสงครามของ Picasso นี่คือโมเดลที่ผมอยากทำงาน เขาได้ทำหน้าที่ของเขาแล้ว ผมก็อยากจะทำหน้าที่ของผม”
ป๋อง เล่าด้วยว่า เมื่อเตรียมวางแผนว่า จะทำงานในประเด็นแบบนี้ก็เลยไม่ได้ทำป้ายงาน ไม่ได้ทำสูจิบัตรงาน ทั้งๆ ที่ชอบทำของประกอบพวกนี้มาก และก็ได้เตรียมเอาไว้ก่อนแล้ว เมื่อเริ่มงานไปก็มีคนมาถามหาสูจิบัตรเยอะ แต่คิดว่า มันเสี่ยงเกินไป เพราะถ้าหากทำเอกสารออกมาก็ต้องให้เครดิตกับเพื่อนฝูงและทุกคนที่มีส่วนช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังด้วย สุดท้ายก็รู้สึกดีที่ไม่ได้ทำ เพราะทหารก็มาติดตามงานนี้จริงๆ
“นายไม่สบายใจ” เป็นเหตุผลจากชายหัวเกรียนไม่ทราบชื่อ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นวันที่จัดกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการชุดนี้ ป๋องจึงประชาสัมพันธ์กิจกรรมออกไปในวงกว้าง รวมถึงประชาสัมพันธ์เรื่องเกม “มือป้อม” นี้ด้วย ทำให้มีแขกจากภาครัฐมาเยี่ยมเยียน
ป๋องเล่าว่า ในช่วงเช้าของวันจัดงาน เวลาประมาณ 9.00 น. ขณะกำลังติดตั้งงานอยู่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย และตัวเขากำลังเหนื่อยมาก ก็มีคนสองคนเดินเข้ามาถามหาคุณป๋อง พร้อมกับเอกสารที่มีภาพของตัวเขาและชื่องานถือติดมือมาด้วย คนแรกเข้ามาเดินถ่ายวีดีโออยู่ตลอด ส่วนอีกคนตัดผมเกรียน เดินเข้ามาคุยด้วย
โดยคนที่มาคุยนั้นไม่ได้แนะนำชื่อ ไม่ได้บอกว่ามาจากหน่วยงานใด เมื่อถามก็ตอบ เพียงแต่ว่าเป็นสันติบาล เข้ามาถามเรื่องเกี่ยวกับตัวเราว่า เราเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน เดินทางมาอย่างไร แล้วก็ถามให้อธิบายเรื่องรูปทีละรูป เช่น ทำไมรูปนี้ต้องใช้สีแดง ทำไมคนต้องไว้ทรงผมนี้ ทำไมรูปคนถึงไม่มีสมอง ฯลฯ โดยรวมเขามาอย่างสุภาพ บรรยากาศเป็นการคุยเล่นๆ กันไป เมื่อเราขอถ่ายรูปด้วยเขาก็ให้ถ่าย
 
ป๋อง บอกว่า ชายคนดังกล่าวถามหาว่า มีใครช่วยทำงานครั้งนี้บ้าง และมีนักศึกษาร่วมด้วยหรือไม่ ป๋องสังเกตได้จากการพูดคุยว่า ชายคนที่มาจะสนใจคำว่า “นักศึกษา” หรือคำว่า “กิจกรรม” มากเป็นพิเศษ เหมือนกับว่า มีวิธีคิดถึงคำเหล่านี้ในแบบของเขาเองอยู่แล้ว
“เขาถามอะไรมาผมก็บอกหมด ไม่ได้โกหก ก็อธิบายทุกอย่างไปตรงๆ นั่นแหละ พอเขาดูเสร็จแล้วก็บอกว่า ไม่มีอะไรนิ เราก็บอกไปเลยว่า เรามีแอพฯด้วย” ป๋องเล่า
เขาเล่าต่อว่า เมื่อมีคนเข้ามาดูนิทรรศการเยอะขึ้น ชายสองคนดังกล่าวก็หลบตัวเองออกไป จนกระทั่งช่วงบ่าย เมื่อป๋องออกไปกินข้าว ชายคนเดิมยังรออยู่ด้านล่างแล้วกวักมือเรียก ให้เดินเข้าไปคุยกันพร้อมกับถามเขาว่า จะเลิกแสดงงานได้หรือไม่ แต่ป๋องยืนยันว่า ไม่ได้ เพราะการกลัวปืนจะทำให้ชีวิตศิลปะของเขาจะจบทันที แต่ชายคนดังกล่าวก็พูดคุยอย่างสุภาพ ใช้ท่าทีเหมือนเข้าใจกัน โดยให้เหตุผลของการขอให้ไม่แสดงงานว่า “นายไม่สบายใจ”
ป๋อง เล่าด้วยว่า ขณะนั้นก็รู้สึกหวั่นไหว เพราะกำลังตกอยู่ในการหว่านล้อมของเจ้าหน้าที่ จึงบอกกลับไปว่า ในส่วนของแอพพลิเคชั่นเกมนั้น ปล่อยให้ดาวน์โหลดบนโลกออนไลน์ไปแล้ว แต่เท่าที่จะยอมให้ได้ คือ ในงานไม่พูดถึงเกมนี้ ซึ่งชายคนดังกล่าวก็บอกว่า จะเชื่อใจในฐานะลูกผู้ชาย และก็เดินจากไป
“ผมก็ยังสงสัยว่า ผมจะไปรับปากเขาทำไม แต่ก็เลยกลายเป็นพูดไม่ได้ว่า มีแอพพลิเคชั่นนี้อยู่” ป๋อง แสดงความรู้สึก
“เราแพ้ใจเขาเท่านั้นเอง”
หลังกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการเสร็จสิ้น ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ป๋อง บอกว่า เห็นคนหัวเกรียนอีกสองคนเดินเข้ามาที่งาน ดูจากบุคลิกแล้วไม่น่าจะเป็นคนมาดูงานศิลปะ เมื่อนักข่าวกลับหมดแล้วก็เดินเข้ามาสะกิดให้นั่งคุยกัน โดยแนะนำตัวว่า เป็นทหารในพื้นที่ ท่าทีการพูดคุยดูสบายๆ กว่าตอนคุยกับคนที่อ้างตัวว่าเป็น สันติบาล
ป๋อง อธิบายว่า คนที่อ้างตัวว่า เป็นทหาร แจ้งว่าต้องมาเก็บข้อมูลรายงานนาย และเอากระดาษมาจดระหว่างการพูดคุย โดยคนดังกล่าว ถามรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับตัวเขา ขอเบอร์โทรศัพท์ และบอกว่า งานนี้ไม่มีปัญหาอะไร จัดแสดงไปได้เลย ไม่มีใครจะมาห้าม
วันต่อมา ป๋องเล่าว่า เขาตัดสินใจลองโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับแอพลลิเคชั่นเกม “มือป้อม” หลังจากโพสต์ไปได้ประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็มีคนโทรศัพท์เข้ามาหาอ้างว่า ชื่อ “ผู้กำกับชนาธิป” มาทวงถามสัญญาที่จะไม่พูดถึงเกมดังกล่าว ป๋องได้แจ้งว่า จะเปิดลำโพงที่โทรศัพท์เพื่อขอให้เพื่อนที่อยู่ข้างๆ เป็นสักขีพยานของการพูดคุย ขอให้ชายคนในสายนั้นแสดงความจริงใจโดยการทำหนังสือจากหน่วยงานมาว่า จะต้องการให้ทำอะไรบ้าง เพื่อให้ป๋องพิจารณาตัดสินใจได้ถูก ไม่ใช่เพียงพูดลอยๆ เท่านั้น
หลังจากการขอให้ทำหนังสือ ชายคนในสายก็วางโทรศัพท์ไป ไม่ได้ติดต่อกลับมาอีก และไม่มีคนจากหน่วยงานด้านความมั่นคงมาเยี่ยมเยียนที่งานนิทรรศการอีก
“เขาก็ไม่ได้กลับมาอีก และไม่ได้อยู่ดูงานด้วย สรุป คือ ผมโดนห้าม แต่ผมก็ยังแสดงได้ ตอนแรกเราแพ้ใจเขาเท่านั้นเอง รู้สึกว่าตัวเองพลาดไป น่าจะยืนหยัดชัดเจนว่าเราคิดอะไร” ป๋องกล่าว
ป๋อง เล่าว่า งานของเขาสามารถจัดแสดงได้ต่อเนื่องมาโดยไม่มีปัญหา เมื่อได้ปรึกษากับเพื่อนที่เป็นนักกฎหมายแล้วเขาก็เข้าใจว่า งานชุดนี้ไม่ได้ผิดต่อกฎหมายอะไร น่าจะจัดแสดงได้ เพียงแต่ในวันเปิดตัวเนื่องจากตกอยู่ในสภาวะที่รู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้ยอมอ่อนให้ไปโดยที่ลืมนึกถึงสิ่งที่ตัวเองตั้งใจจะทำ หลังจากวันที่คุยกันเป็นต้นมาแอพพลิเคชั่นเกมก็ยังสามารถดาวน์โหลดได้อยู่ สำหรับคนที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ และก็ยังจัดแสดงในงานได้มาตลอด โดยมีผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมชมบ้างแต่ไม่เยอะมาก
ป๋อง ตั้งใจไว้ว่า หลังจากงานแสดงครั้งนี้ ก็จะพัฒนาเกมต่อไปให้สมบูรณ์ขึ้น อาจจะใส่ลูกเล่นให้มากขึ้น และพัฒนาให้สามารถใช้กับระบบของไอโฟนได้ ซึ่งตัวเขาไม่ได้เก่งคอมพิวเตอร์มาก ต้องอาศัยหลายๆ คนมาช่วยกัน แต่ก็อยากหาโอกาสถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ