‘ชาวบ้านดอยเทวดา’ จากปัญหาปากท้องสู่ข้อหาทางการเมือง

หมู่บ้านดอยเทวดา เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา หมู่บ้านแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะเมื่อชาวบ้านในพื้นที่ต้องเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีที่ยืดเยื้อยาวนานเพราะถูกบริษัทเอกชนฟ้องในข้อหาบุกรุก ทั้งๆที่ที่ดินซึ่งเป็นต้นเหตุของข้อพิพาทเป็นที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำมาหากินมาโดยตลอด
ช่วงต้นปี 2561 ชาวบ้านดอยเทวดากลับมาอยู่ในพื้นที่ข่าวอีกครั้ง หลังพวกเขาถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 จากกรณีจัดกิจกรรมเดินเท้าภายในหมู่บ้านเพื่อสนับสนุนกลุ่มประชาชนที่ทำกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ เดินเท้าจากกรุงเทพไปขอนแก่น โดยเหตุที่ชาวบ้านดอยเทวดาสนับสนุนกิจกรรม We Walk เป็นเพราะประเด็นรัฐสวัสดิการ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการป้องกันการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชโดยนายทุน ซึ่งเป็นสองในสี่ประเด็นที่กิจกรรม We Walk ต้องการสื่อสาร เป็นปัญหาใหญ่ของคนจนและเป็นปัญหาร่วมที่ชาวบ้านดอยเทวดากำลังเผชิญอยู่
ภายหลังถูกตั้งข้อกล่าวหา ชาวบ้านต้องแบกภาระต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้น พร้อมกับคำถามที่เกิดขึ้นภายในใจว่า เพราะอะไรคนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อปากท้อง ถึงต้องมาถูกดำเนินคดี
‘บ้านดอยเทวดา’ บ้านของคนที่เคยถูกแย่งยึดที่ดิน
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2460 ผู้นำท้องถิ่นและฝ่ายปกครองในพื้นที่ตำบลสบบง ลงความเห็นกันว่า จะจัดสรรที่ดินกว่า 300 ไร่ มาใช้เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้อยู่อาศัยและทำมาหากิน 
หลังจากนั้นชาวบ้านได้ใช้ที่ดินดังกล่าวเลี้ยงชีพและอยู่อาศัยเรื่อยมาพร้อมทั้งเสียภาษีดอกหญ้าและมีใบภบท. 6 (ทะเบียนที่ดินเพื่อจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และใบเสร็จรับเงินบำรุงท้องที่ที่ได้ข้อมูลมาจากการคัดลอกรายละเอียดจากแบบสำรวจ ภบท.5 นำมาลงไว้ในทะเบียน) เป็นเครื่องยืนยันที่มาที่ไประหว่างชุมชนกับที่ดิน
ในปี พ.ศ.2532-2536 มีตัวแทนบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามากว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก แต่เป็นการซื้อขายที่ดินแบบมือเปล่าไม่มีเอกสารหลักฐานการซื้อขาย มีเพียงบางส่วนที่บันทึกในกระดาษเท่านั้นว่าของใคร ราคาขายเท่าไหร่ จำนวนกี่ไร่ และไม่มีการระบุตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินที่มีการซื้อขาย
ชาวบ้านและนายทุนเริ่มมีข้อพิพาทกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 และมีชาวบ้านถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องในข้อหาบุกรุกที่ดินทั้งๆที่ที่ดินที่เป็นเหตุแห่งข้อพิพาทเป็นที่ทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้านมาช้านาน หลังมีข้อพิพาทกับบริษัทและชาวบ้านบางส่วนถูกดำเนินคดี ชาวบ้านดอยเทวดาตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหา
ปัญหา ‘ปากท้อง’ คือแรงจูงใจให้ออกมาเคลื่อนไหว
การเข้ามาเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ทำให้ชาวบ้านดอยเทวดามีส่วนร่วมในการรณรงค์แก้ปัญหาของคนจนเรื่อยมา และเมื่อทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ โดยมีเครือข่าย สกน. เข้าร่วม กลุ่มชาวบ้านบ้านดอยเทวดาจึงตัดสินใจจัดกิจกรรมในพื้นที่ของตนเองเพื่อเป็นกำลังใจและการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
“เรามีจุดมุ่งหมายร่วมกัน เราจึงมาร่วม คือมันเป็นประโยชน์กับเรา เราถึงมาเดินสนับสนุน อย่างเรื่องบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ทุกอย่างมันเป็นผลดีกับคนจนคนรากหญ้า” อรอุมา หนึ่งในชาวบ้านบ้านดอยเทวดากล่าว
ขณะที่ วัลลภ พันธุ์ดี  ชาวบ้านอีกคนหนึ่งก็ระบุว่า “อย่างเรื่องพันธุกรรมเมล็ดพันธุ์พืช ตรงนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ถ้ามีกฎหมายแบบนี้ เราต้องได้รับผลกระทบแน่ ถ้าไม่มีสิทธิในเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง ต้องซื้อเขาตลอดเวลา ต้นทุนมันก็เพิ่มขึ้น”  
วัลลภยังระบุด้วยว่า “ผมเองก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้หมู่บ้านของเรามันดีขึ้น ให้มันได้รับการพัฒนา ก็มาปรึกษาน้องๆ นักศึกษา สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่าจะผลักดันเรื่องกฎหมาย 4 ฉบับ (พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน,กองทุนยุติธรรม,สิทธิชุมชน,ภาษีอัตราก้าวหน้า) เพราะมันเพียงพอจะแก้ปัญหาให้เราได้ และสนับสนุนการเดินมิตรภาพที่จุดประเด็นให้คนเห็นปัญหาได้จริง” 
เมื่อการเรียกมาทำความเข้าใจกลับกลายเป็นการตั้งข้อหา
วัลลภ พันธุ์ดี หนึ่งในชาวบ้านบ้านดอยเทวดาที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เล่าว่า ก่อนจะจัดกิจกรรม เขาได้ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พร้อมทั้งอธิบายให้ฝ่ายปกครองเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการแสดงออกว่า ต้องการเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ตอนแรกเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ห้ามปรามและชาวบ้านก็ได้พูดคุยกับทั้งตำรวจและทหารเพื่อทำความเข้าใจ
“เราเดินไม่ถึง 500 เมตรด้วยซ้ำ พอเดินเสร็จเราก็มานั่งพักที่ศาลา ผู้ใหญ่บ้านก็มาถ่ายรูป ถ่ายโปสเตอร์ที่เราเขียน ว่า สนับสนุนกฎหมาย 4 ฉบับ และสนับสนุนการเดินของ We Walk จากนั้นพวกเราก็แยกย้ายกันกลับบ้าน” วัลลภ เล่าถึงการจัดกิจกรรมของชาวบ้าน
“พอ 4 โมงเย็น ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาถามว่าเดินขบวนหรอ เดินอะไร เดินทำไม เราก็อธิบายว่า เราอยากได้น้ำ ได้ไฟ ได้ถนน เรื่องที่ดินที่ทำกิน เราอยากให้รัฐเข้ามาช่วยเรา ตอนนั้น ตำรวจแจ้งว่า คงเป็นความเข้าใจผิดกัน จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทหารมาอีก เราก็คุยประเด็นเดิมว่า เราไม่ได้เดินเป็นกิโลๆ เรามาเดินเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคเฉยๆ พอคุยกันแบบนั้น เขาก็เข้าใจ ก็กลับไป”
“แต่พอ 6 โมงเย็น ผู้ใหญ่บ้านก็โทรมาอีก ว่าให้ไปหาหน่อย มาคุยกันที่โรงพัก ตอนนั้นก็เริ่มจะมืดแล้ว ชาวบ้านบางส่วนก็ยืนยันว่าไม่ไป แต่ผู้ใหญ่บ้านก็บอกต้องไปไม่งั้นจะถือว่าขัดคำสั่ง ด้วยความบริสุทธ์ใจของชาวบ้าน เราก็เลยตัดสินใจไปที่ สภ.อ.ภูซาง ก็เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจรอต้อนรับเต็มไปหมด”
“ไปถึงก็มีน้องๆ นักศึกษาอยู่ ตำรวจก็แยกห้องสอบสวน จากตอนแรกบอกเราว่าจะเรียกไปสอบถามข้อมูล แต่พอสอบถามเสร็จก็ให้เราเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาขึ้นมาทันที อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว” อรอุมา หนึ่งในชาวบ้านดอยเทวดากล่าวเสริม
ชีวิตหลังเป็นผู้ต้องหา ชีวิตที่ต้องเผชิญหน้าความไม่เป็นธรรม
เมื่อชาวบ้านรวม 14 คนต้องตกอยู่ในสถานะผู้ต้องหา พวกเขาก็ต้องแบกภาระในการต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นเพียงเพราะการแสดงออกโดยสันติทั้งทรัพย์สินและเวลา นอกจากนี้ผู้ต้องหาหลายคนที่เป็นผู้สูงอายุและคนป่วยก็ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ต้องเดินทางมาสถานีตำรวจหรือศาล
“ถ้าถามว่ากังวลมั้ย ก็ค่อนข้างกังวลมากเพราะโดนคดีทั้งครอบครัว ทั้งพ่อและน้องชายที่ป่วยพิการทางสมองมาตั้งแต่เด็ก คือน้องเขาจะติดพ่อ เวลาพอไปไหนเขาก็เดินไปด้วย เขาไม่รู้อะไรหรอก เห็นผู้ใหญ่ถือป้ายก็ถือกับเขาด้วย แต่นี่เขาก็มาถูกตั้งข้อหาไปด้วยในชาวบ้าน 14 คน” อรุอุมาสะท้อนความในใจของเธอขณะที่วัลลภก็ระบุว่า 
“คือเรากังวลหลายเรื่อง อย่างเรื่องพีี่น้องค่อนข้างลำบากเป็นคนเฒ่าคนแก่ อายุก็เยอะ จะไปศาลที่ก็ลำบาก ให้เที่ยวเข้าเที่ยวออกในพื้นที่ บางคนรายได้ก็ไม่มี” 
ทั้งวัลลภและอรอุมาต่างเห็นตรงกันว่า การดำเนินคดีในครั้งนี้ ไม่เป็นธรรมสำหรับพวกเขาอย่างมาก และมันยิ่งทำให้พวกเขาสับสนว่า ทำไมคนธรรมดาที่ต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรม คนที่ต่อสู้เพื่อปากท้อง ต้องมาถูกตั้งข้อหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง
“ความจริงเราก็แค่ออกมาเรียกร้องสิทธิที่คนไทยควรจะได้รับ เราอยากให้รัฐบาลเล็งเห็นในปัญหาจุดนี้ว่าเราเดือดร้อนจริงๆ คือปกติคนที่เขาเพียบพร้อมก็คงไม่ออกมาหรอก แต่เราออกมาเพราะเราเดือดร้อน” อรุอุมากล่าวเพื่อระบายความรู้สึกภายในใจ

Fact Box:
 
6 กุมภาพันธ์ 2561 ชาวบ้านดอยเทวดาเดินทางมาสถานีตำรวจภูธรภูซางหลังได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่บ้านเพื่อมาเซ็นเอกสารรับทราบว่าการจัดกิจกรรมเดิน We Walk เดินมิตรภาพ 
 
แต่ทว่า ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปกลับชาวบ้าน หลังมีเจ้าหน้าที่ทหารมาแจ้งความดำเนินคดี
 
ก่อนจะนำตัวไปที่ศาลจังหวัดเชียงคำ เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง แต่ศาลให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์รายละ 5 พันบาท
 
27 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มชาวบ้านพยายามเดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ยุติการแจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ที่ศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกลับเข้ามาเจรจาต่อรองไม่ให้ยื่นหนังสือ รวมถึงเชิญให้กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดาและนักศึกษาไปพูดคุยที่มณฑลทหารบกที่ 34 ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช
 
6 มีนาคม 2561 ชาวบ้านดอยเทวดาได้มายื่นหนังสือร้องยุติคดีอีกครั้ง หลังครั้งแรกไม่สามารถยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ แต่ครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาพูดคุยพร้อมทั้งต่อว่าด่าทอว่า กลุ่มชาวบ้านเป็นพวกบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตั้งข้อหาเรื่องห้ามชุมนุม แต่เมื่อชาวบ้านถามถึงขั้นตอนตามกฎหมาย ประชาชนยังไม่ทราบรายละเอียดเลยว่าจะดำเนินคดีอะไร อย่างไร เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ก็ได้ชูนิ้วกลางให้กับชาวบ้านแทน
 
ในวันเดียวกัน ชาวบ้านได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดเชียงคำ เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า พนักงานสอบสวนในคดีได้เข้ายื่นคำร้องขอถอนการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 10 รายต่อศาลแล้ว โดยพนักงานสอบสวนระบุว่ามีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี จึงไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 10 รายไว้ แต่ยังต้องรอความเห็นพนักงานอัยการต่อไป