Attitude adjusted? เพียรรัตน์: ผู้มีอิทธิพลระดับสั่งการแห่งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้?

“ไม่กลัวหรอกเพราะเลือกเดินทางนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าถ้าไม่ติดคุกก็อาจตาย” คือ คำตอบของเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ หรือ “อ้อ” สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ต่อคำถามถึงความรู้สึกเมื่อครั้งถูกเรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร
เพียรรัตน์คือหนึ่งใน “บุคคลเป้าหมาย” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เห็นว่า จำเป็นต้องเชิญไปพุดคุยเพื่อ “ปรับทัศนคติ “ให้ถูกต้อง เพื่อให้ คสช. สามารถดำเนินนโยบายเกี่ยวกับที่ดินในพื้นที่จังหวัดสุราษฎรธานีได้โดยไม่ติดขัด จากจำนวนสมาชิก สกต. ประมาณ 500 – 600 คน เพียรรัตน์บอกว่า จนถึงบัดนี้เขาเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรติชวนไปพูดคุยในค่ายทหาร โดย คสช. จัดประเภทเขาเป็น “ผู้มีอิทธิพลระดับสั่งการ” ทั้งๆ ที่ตัวเขาไม่ได้มีตำแหน่งหรือมีอำนาจจะไปสั่งอะไรใครได้

สกต. ยึดแนวทางประชาธิปไตย ฝ่ายความมั่นคงจับตา

เพียรรัตน์เล่าว่า สกต. ถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2551 หรือประมาณห้าปีเศษก่อน คสช. เข้ายึดอำนาจ แนวทางการต่อสู้ของ สกต. คือ การเข้ายึดที่ดินของบริษัทเอกชนที่หมดสัมปทาน แต่ยังคงใช้ที่ดินต่อแบบผิดกฎหมาย เพื่อเอามาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน เพียรรัตน์ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่การทำงานของ สกต. มีอยู่ในสองจังหวัด คือ สุราษฎร์ธานีซึ่งมีชาวบ้าน 300 ครัวเรือนจากห้าชุมชน และนครศรีธรรมราชซึ่งมีประมาณ 100 ครัวเรือนจาก 1 ชุมชน จำนวนสมาชิกถือว่า ลดลงจากช่วงแรกเริ่มเพราะ สกต. มีแนวทางที่ชัดเจน ในระยะหลังผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็แยกย้ายออกไป
เพียรรัตน์เล่าต่อว่า แนวทางการต่อสู้ด้วยการยึดที่ดินทำกิน ทำให้ สกต. ถูกจ้องมองด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ และจากนายทุน หรือบริษัทที่ถูกพวกเขายึดที่ดิน รวมทั้งจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่หวังจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในที่ดิน อย่างไรก็ตามแนวทางการต่อสู้หรือข้อเรียกร้องของ สกต. ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องที่ดินหรือปากท้องเท่านั้น เพราะ สกต. นอกจากเรื่องการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกิน สกต. ก็ยังยึดถือหลักการอีกสามประการ ได้แก่ สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมด้วย การบริหารจัดการภายในจึงมีการกำหนดกติกาและวินัยร่วมกันอย่างเป็นกิจลักษณะ ทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมองชุมชนที่เป็นสมาชิกของ สกต. ว่ามีลักษณะเป็นการ “จัดตั้ง” และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ให้ชาวบ้านออกจากที่ทำกิน

ในวันที่ 30 มกราคม 2558 หรือประมาณ 8 เดือนหลังการยึดอำนาจ เพียรรัตน์ได้รับจดหมายจากจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี ระบุให้เขาเข้ารายงานตัวเพื่อ “ปรับทัศนคติ” ที่จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี ค่ายวิภาวดีรังสิตเป็นเวลา 3 วัน
หนังสือเรียกรายงานตัวที่ส่งมาไม่ได้ระบุเหตุผลเป็นการเฉพาะเจาะจงว่า เขาถูกเรียกด้วยเหตุใด บอกเพียงว่า เพื่อสนองนโยบายคืนความสุขให้คนไทย ได้มีนโนบายให้หน่วยทหารรับเรื่องราวร้องทุกข์และขจัดความขัดแย้งกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ท้ายหนังสือเรียกรายงานตัวยังระบุด้วยว่า “จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณา” แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเดียวที่เพียรรัตน์จะพิจารณาได้ คือ เลือกระหว่างการไปรายงานตัวแต่โดยดีหรือการถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว
เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ที่นำเอกสารมาส่งระบุหรือไม่ว่า การเชิญตัวครั้งนี้ใช้อำนาจตามกฎหมายใด เพียรรัตน์ตอบทีเล่นทีจริงว่า “เขาบอกว่า ใช้อำนาจของทหาร มาดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เห็นว่าพวกเราไม่ค่อยเรียบร้อยเลยให้ไปปรับทัศนคติ”
ชุมชนเพิ่มทรัพย์ ชุมชนของสมาชิกสกตที่เจ้าหน้าที่บอกกับเพียรรัตน์ว่าให้ไปบอกให้สมาชิกย้ายออกจากที่ทำกิน
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 เพียรรัตน์ให้เพื่อนร่วมงานใน สกต. คนหนึ่งไปส่งที่ค่ายทหาร โดยเข้าใจว่า คงเป็นการคุยแบบเช้าไปเย็นกลับ แต่ความสงสัยในใจของเพียรรัตน์ถึงสาเหตุที่เขาถูกเรียกเข้าค่ายในฐานะ “ผู้มีอิทธิพลระดับสั่งการ” มาคลี่คลายหลังบทสนทนาระหว่างเขากับนายทหารผู้รับผิดชอบการปรับทัศนะคติของเขา นายทหารซึ่งเพียรรัตน์เข้าใจว่า น่าจะเป็นผู้บัญชาการค่าย บอกกับเพียรรัตน์ว่า ให้ไปบอกกับสมาชิก สกต. ที่อยู่ในชุมชนเพิ่มทรัพย์ อำเภอชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ให้ออกจากที่ทำกิน เนื่องจากชาวบ้านอยู่โดยผิดกฎหมาย เพียรรัตน์พยายามแย้งว่า ทางบริษัทเจ้าของที่ดินก็หมดสัมปทานไปแล้วแต่ยังใช้ประโยชน์จากที่ดินมาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2555 แต่นายทหารคู่สนทนาก็ตอบว่าบริษัทก็มีความชอบธรรมที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินมากกว่าชาวบ้าน เพราะได้เคยลงทุนไว้แล้ว
เพียรรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่คงเข้าใจว่า เขาจะสามารถสั่งสมาชิกให้ทำอะไรๆได้
“จุดที่เขาจะปรับทัศนคติของผม คือ ผมจะต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ จากให้สมาชิกอยู่ในที่ทำกินเป็นให้ผมไปคุยกับสมาชิกให้ออก”
“เราจะไปทำลายวิถีชีวิตของคนที่มาสร้างที่นี่ เราทำไม่ได้ และเราก็ไม่มีอำนาจด้วยที่จะไปบอกให้ใครออกไปเพราะตอนเข้ามาเขาก็มากันเอง”
เพียรรัตน์ย้ำว่า การทำงานของ สกต. ไม่ใช่ระบบราชการหรือนายกฯ ที่จะมีความคิดแบบเผด็จการ แต่ สกต. ยึดหลักการประชาธิปไตยจะไปใช้วิธีเผด็จการไล่ใครออกไปคงทำไม่ได้ หลังจากนั้นเพียรรัตน์ก็กล่าวถึงบทสรุปของการชี้แจงอันยืดยาวของเขาว่า “เลยได้อยู่สามวัน”

“ปฏิบัติการจิตวิทยา” ในค่ายที่ได้เตรียมใจไว้แล้ว

เพียรรัตน์เล่าว่า เมื่อเข้าไปในค่ายทหาร โทรศัพท์ของเขาก็ถูกยึดไป โดยผู้บัญชาการค่ายจะเรียกพวกเขาเข้าไปคุยทีละคนในห้องที่มีลักษณะเป็นห้องทำงาน ซึ่งในห้องมีเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่นอยู่ด้วยประมาณสามถึงสี่คน เพียรรัตน์ระบุว่าการพูดคุยผู้บังคับการค่ายและการมีปฏิสัมพันธ์กับทหารคนอื่นๆ ระหว่างอยู่ในค่ายเป็นไปด้วยดี แต่ภายใต้คำพูดที่สุภาพและดูเป็นมิตรเพียร์รัตน์ก็รู้สึกว่า มันแฝงนัยยะของปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาไว้ด้วย เช่น เจ้าหน้าที่มีการนำอาหารมาให้รับประทานอย่างดีแต่ก็มีการพูดทำนองว่า “พี่ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่นะ ไม่อย่างงั้นพี่อาจต้องอยู่นาน”
เพียรรัตน์เล่าด้วยว่า ระหว่างที่อยู่ในค่ายเขาก็มีโอกาสไปเห็นบริเวณคุกที่ใช้ควบคุมทหารที่ทำความผิด และได้เห็นการลงโทษทหารที่ทำความผิดด้วย ซึ่งเพียรรัตน์เชื่อว่า การที่เขาได้ไปเห็นสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจิตวิทยา
เพียรรัตน์เล่าต่อว่า ในช่วงที่ถูกคุมตัวเจ้าหน้าที่พาเขาไปพักในบ้านพักที่น่าจะเป็นของนายทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งติดแอร์และดูเหมือนจะสบายกว่าบ้านของเขาเองด้วยซ้ำ โดยเขานอนห้องเดียวกับกำนันและสารวัตรกำนันที่ถูกเรียกปรับทัศนคติในคราวเดียวกัน แม้ความเป็นอยู่จะดูเหมือนสบายและมีอาหารกินครบทุกมื้อ แต่ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นทหารก็กำชับกับเพียรรัตน์และผู้ร่วมชะตากรรมอีกสองคนว่า ห้ามออกจากบ้าน ตัวของเพียรรัตน์ไม่เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเฝ้าอยู่หน้าบ้านพักของเขาหรือไม่ แต่ก็คิดว่าน่าจะมีการจัดเจ้าหน้าที่มาเฝ้าติดตามพวกเขาอยู่ ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในค่าย
นอกจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารแบบไม่เป็นทางการสั้นๆ ในช่วงเย็นแล้ว สิ่งที่เพียรรัตน์ทำได้ก็มีเพียงการกินหมากและพูดคุยกับเพื่อนร่วมชายคาอีกสองคนเท่านั้น เพียรรัตน์เล่าแบบติดตลกว่า “กำนันแกกินหมากเหมือนจะเป็นลมเลย ไม่รู้จะทำอะไรลิดหมากแล้วก็กิน ลิดหมากแล้วก็กิน” เพียรรัตน์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การถูกควบคุมตัวโดยไม่มีอะไรทำเช่นนี้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจิตวิทยาด้วย
เมื่อถามว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในค่ายเพียรรัตน์มีความรู้สึกอย่างไร รู้สึกกลัวหรือไม่มั่นคงบ้างหรือไม่ เพียรรัตน์ตอบว่า เรื่องแบบนี้ชาว สกต. เตรียมใจไว้แล้ว เพราะแนวทางการต่อสู้ของพวกเราต้องไปเจอด่านพวกนี้ คือ มีความเสี่ยงว่าอาจถึงตายหรือติดคุก เลยไม่หนักใจอะไรมาก

อิสรภาพที่แลกด้วยเงื่อนไข

หลังไปนอนอยู่ในกระบวนการ “ปรับทัศนคติ” ได้สามวันเพียรรัตน์ก็ได้รับการปล่อยตัว ก่อนการปล่อยตัวเขาต้องลงชื่อในเอกสารที่ทหารนำมาให้ เบื้องต้นทางทหารขอให้เพียรรัตน์ยุติการเคลื่อนไหวหลังได้รับการปล่อยตัว แต่เพียรรัตน์ก็ตอบว่าเขาไม่สามารถทำได้เนื่องจากมันเป็นเรื่องปากท้องของเขาและของครอบครัว สุดท้ายเพียรรัตน์จึงลงชื่อรับเงื่อนไขว่าเขาจะเคลื่อนไหวอยู่ใน “ขอบเขต” ซึ่งก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าขอบเขตที่ว่าคืออะไร และเพียรรัตน์เองก็ไม่รู้ว่าขอบเขตในความเข้าใจของเขากับความเข้าใจของทหารจะตรงกันหรือไม่ แต่เขาก็เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของ สกต. ก็เป็นการเคลื่อนไหวเรื่องปากท้อง ไม่น่าจะผิดกฎหมายใด
หลังได้รับการปล่อยตัวเพียรรัตน์กลายเป็น “บุคคลเป้าหมาย” เหมือนกับผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวปรับทัศนคติอีกหลายๆ คน ที่มีเจ้าหน้าที่มาคอยติดตามความเคลื่อนไหว บางครั้งก็มีเจ้าหน้าที่มานั่งฟังการประชุมสหกรณ์ซึ่งใช้บ้านของเพียรรัตน์เป็นที่ทำการ เพียรรัตน์ไม่ได้กังวลอะไรกับเรื่องนี้มากนักเพราะตัวสหกรณ์นั้นทำโดยถูกกฎหมายอยู่แล้ว
ล่าสุดในช่วงเดือนมีนาคม 2560 ทางขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move ซึ่ง สกต. เป็นสมาชิกอยู่ด้วยเตรียมเข้ากรุงเทพเพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหลายๆ ประการที่ทางรัฐบาลได้เคยให้สัญญาไว้ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจแวะเวียนมาดื่มกาแฟกับเพียรรัตน์ที่บ้านทุกเช้า เมื่อถามว่า คนในครอบครัวรู้สึกอย่างไรที่เห็นมีเจ้าหน้าที่มาคอยติดตามที่บ้าน เพียรรัตน์ตอบว่า คนในครอบครัวของเขาพอจะเข้าใจเรื่องนี้เพราะเขาและครอบครัวก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนมาโดยตลอด