#Attitude adjusted?: “แดน” – ประสบการณ์ใน “คุกทหาร” และชีวิตที่พังทลาย

สำหรับผู้มีชื่อเสียงหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือนักธุรกิจใหญ่ การถูกพาตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหารคงจะเป็นประสบการณ์ชีวิตอันเลวร้าย ที่ผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป แม้พวกเขาเหล่านั้นจะต้องสูญเสียอิสรภาพในห้วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ด้วยต้นทุนทางชีวิตและสังคมที่มีมากกว่า อาจทำให้พวกกเขาได้รับการปฏิบัติในค่ายทหารไม่เลวร้ายมากนัก ถึงแม้เมื่อได้รับอิสรภาพพร้อมด้วยการตั้งเงื่อนไขบางประการ อาชีพและการงานของพวกเขาก็ยังพอที่จะดำเนินต่อไปได้ แต่สำหรับคนตัวเล็ก ๆ อย่าง “แดน” อดีตพนักงานร้านสะดวกซื้อผู้มีต้นทุนทางชีวิตและสังคมแทบจะเป็นศูนย์ การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่เขายึดมั่นกลับทำให้เขาต้องพบเจอเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุดในชีวิตของเขา การถูกเรียกปรับทัศนคติเมื่อ 4 ปีก่อน ไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลอันปวดร้าวภายในใจของเท่านั้น แต่หากยังพลิกชะตาชีวิตของเขาให้ดำดิ่งลงสู่ก้นเหวลึกลงไป ครอบครัวของเขาพังทลายลูกเมียจากเคยอยู่พร้อมหน้าก็หนีหาย เส้นทางทำมาหากินทั้งหมดก็เกือบถูกปิดตายลง

ก่อนจะมีชื่อบนจอทีวี

“แดน” เป็นคนนนทบุรีโดยกำเนิด ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ได้ราบเรียบเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ พ่อและแม่ของเขาแยกทางกันตั้งแต่เขายังเล็ก เขาจำเป็นต้องอาศัยอยู่กับตา ปัจจุบันเขาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยให้กับอาคารจอดรถแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพักของเขามากนัก 
“แดน” เริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจังในขณะที่เขามีอายุเพียง 15 ปี จากเหตุการณ์ปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลของทักษิณ ชันวิตร 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาเดินทางเข้าสู่กิจกรรมทางการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม “นนทบุรีปกป้องความเป็นธรรม”
8 ปีต่อมาในช่วงที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส. นำโดย  สุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้การนำของหลวงปู่พุทธอิสระ “แดน” กับเพื่อน ๆ ชาวจังหวัดนนทบุรีรวมตัวกันไปยังโรงพยาบาล และหน่วยงานราชการบางแห่ง เพื่อขอให้ปลดป้ายที่มีลักษณะต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งออก เพราะมองว่าอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ และในช่วงท้าย ๆ ของการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะ “แดน” ก็ได้ร่วมขึ้นเวทีด้วย 24 พฤษภาคม 2557 สองวันหลังการรัฐประหาร “แดน”และเพื่อน ๆ ก็ร่วมทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารที่หน้าห้างเมเจอร์รัชโยธินก่อนเดินขบวนมาทำกิจกรรมต่อที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิร่วมกับกลุ่มของสมบัติ บุญงามอนงค์
จากบทบาทการเคลื่อนไหวทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร ชื่อของ “แดน” จึงเป็นหนึ่งในสามร้อยกว่ารายชื่อที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้เข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ “แดน” ถูกกักตัวด้วยคำสั่ง คสช. ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกเป็นเวลาเจ็ดวัน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2557 

วินาทีแรกหลังการรายงานตัว

“ตาของผมคครับ  แกอายุ 78 ปี แกเห็นประกาศเป็นคนแรก เห็นจากโทรทัศน์ พอตาเห็นแล้วก็ช็อกเข้าโรงพยาบาลไปเลย ตาคงกลัวว่าเขาจะเรียกเราไปฆ่า เหมือน 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ” “แดน” เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เมื่อครั้งที่ชื่อของเขาถูกอ่านออกทีวีร่วมกับคนดังที่ถูก คสช. เรียกรายงานตัวอีกหลายคน หลังจากที่รู้ว่าตัวเองมีชื่อในคำสั่งเรียกรายงานตัว “แดน” ก็ตัดสินใจไปตามคำสั่งโดยก่อนเดินทางเขาจัดเตรียมเสื้อผ้าไปทั้งหมด 2 ชุด พร้อมกับเตรียมใจรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวในอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงข้างหน้า
27 พฤษภาคม 2557  “แดน” เดินทางมารายงานตัวด้วยแท็กซี่ เมื่อมาถึงยังหอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือควบคุมตัวเขาไปยังหอประชุมด้านในเพื่อเตรียมตัวพบกับหน่วยจิตวิทยา สิ่งของที่เขานำติดตัวมาด้วยไม่ว่าจะเป็นเงินสด จำนวน 368 บาท โทรศัพท์มือถือโนเกีย 1 เครื่อง กระเป๋าสตางค์ 1 ใบ ซิมการ์ดโทรศัพท์ 1 ซิม และบัตรเอทีเอ็มของเขาถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปทั้งหมด หลังได้รับการปล่อยตัว “แดน” เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการแก้ไขข้อมูลภายในโทรศัพท์มือถือของเขาเนื่องจากว่า “พอออกมา เฟซบุ๊กอันเดิมของผมเข้าไม่ได้เลย รายชื่อเบอร์โทรเพื่อนในโทรศัพท์ก็หายหมด เขาลบหมด เขาลบเกลี้ยงเลย ผมไม่คิดว่าเขาจะทำแบบนี้ ไม่รู้ว่าเขาจะบล็อกเฟซของผม”

ครั้งแรกในชีวิตกับปฏิบัติการณ์จิตวิทยา

หลังลงทะเบียนรายงานตัว และถูกยึดเครื่องมือสื่อสารแล้วกระบวนการปรับทัศนคติก็เริ่มขึ้น  “แดน” เล่าว่าเขาถูกพาตัวไปในห้องที่มีลักษณะเป็นห้องโถง มีโต๊ะของนายทหารชั้นสูงที่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับกรมตั้งเรียงรายเป็นแนวหน้ากระดาน ผู้ถูกเรียกรายงานตัวประมาณสิบคน ถูกพาไปนั่งประจันหน้ากับนายทหารตามโต๊ะแบบตัวต่อตัวซึ่ง “แดน” ระบุว่าการพูดคุยที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาของทางทหาร  
“แดน” เล่าต่อไปว่าการสนทนาระหว่างเขา และนายทหารประจำโต๊ะเป็นไปด้วยดี ไม่มีการพูดจาขู่ตะคอกหรือใช้คำพูดหยาบคายใด ๆ ซึ่งต่างไปโต๊ะข้าง ๆ ของเขาที่นายทหารนั่งบนโต๊ะ พูดจาหยาบคาย ขู่ตะคอกผู้ที่เข้ารายงานตัวคนหนึ่ง เขาคิดว่าเขายังพอมีโชคอยู่บ้างที่ได้คุยกับนายทหารไม่เกรี้ยวกราดเช่นโต๊ะข้าง ๆ ในส่วนของบทสนา “แดน” มองว่า “เหมือนทหารพยามจะล้างสมองเรา พูดในสิ่งที่เขาอยากให้เราเชื่อ” 
หนังสือกำหนดเงื่อนไขที่ “แดน” ได้รับกลับบ้านหลังได้รับการปล่อยตัว
หลังเสร็จสิ้นการพูดคุยกับนายทหารที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการจิตวิทยา ทางทหารนำผัดกระเพราะไก่ราดข้าวบรรจุในกล่องโฟมมาให้เขากินเป็นอาหารมื้อกลางวัน หลังกินข้าวเสร็จเขาถูกพาตัวไปพบกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งในห้องทำงาน “ผมไม่คิดเลยว่าจะเป็นเขา ใครจะไปคิดว่านายทหารตัวเตี้ยๆ จะก้าวมามียศสูงขนาดนี้” เขายังจำคำพูดแรกที่นายทหารคนนั้นพูดกับเขาได้เป็นอย่างดีว่า “ไอ้หลาน มีอะไรพูดกับอาตรงๆ นะ หลานเข้ามาเรื่องการเมืองมีคนจ้างมาใช่ไหม”  เขาตอบปฏิเสธพร้อมกับให้เหตุผลการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของเขา 
ก่อนจะจบบทสนทนานายทหารคนนั้น กล่าวกับเขาว่า “มาร่วมพัฒนาชาติไทยกันนะ” เขาตอบรับ “ผมจะร่วมกันพัฒนาชาติไทย” แดนเสริมอีกว่าในระหว่างที่พูดคุยกับนายทหารท่านนี้ คลิปที่เขาเคยขึ้นปราศรัยตามเวทีต่าง ๆ ถูกเปิดให้เขาดูเป็นระยะ ๆ “เขามีข้อมูลเรา เขามีหมด ท่านอาจจะไม่ได้เตรียมเอง น่าจะมีคนอื่นเตรียมให้ แต่เขามีข้อมูลเราหมดว่าขึ้นพูดที่ไหนบ้าง” 

การเดินทางที่ไม่รู้จุดหมาย

หลังการพูดคุยระหว่าง “แดน” กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ชวนเขามาร่วมพัฒนาชาติไทย เขาถูกพาตัวมาที่รถตู้สีขาวติดฟิล์มทึบคันหนึ่งซึ่งถูกจัดเตรียมไว้พร้อมสำหรับการเดินทางแล้ว “แดน”ถูกพาตัวขึ้นรถตู้คันไปพร้อมกับอดีตผู้สมัคร ส.ส. ท่านหนึ่ง ขณะนั้น ”แดน” และเพื่อนร่วมทางไม่รู้ว่าจะถูกพาตัวไปที่ไหน  เขารู้แต่เพียงว่าทุกคนที่มารายงานตัวในวันนั้นถูกจับแยกขึ้นรถหลายคันที่จอดเตรียมไว้ โดยรถตู้แต่ละคันจะมีรถติดไซเรนนำขบวน และมีรถอีกคันหนึ่งปิดท้าย ผู้ร่วมเดินทางกับ “แดน” ไม่ได้มีแค่อดีต ส.ส. แต่ยังมีทหารพร้อมด้วยอาวุธปืนนั่งประกบพวกเขาทั้งเบาะด้านหน้าและเบาะด้านหลังรวมสี่คน และส่วนอีกหนึ่งคนนั่งข้างพลขับ 
ตลอดการเดินทางแม้ “แดน” จะไม่ถูกปิดตาแต่ฟิล์มกระจกข้างที่หนาทึบก็ทำให้เขาและอดีตสส.ไม่รู้ว่ารถกำลังมุ่งหน้าไปที่ใด สิ่งที่ ”แดน” พอทำได้ก็คือพยายามมองทางผ่านกระจกหน้ารถเท่านั้น ท่ามกลางความกดดันและความกลัวจากอาวุธที่อยู่รายล้อมและความอึดอัดจากความเงียบขนาดได้ยินเสียงเครื่องยนต์ทำงาน ทำให้แดนถึงกับสะท้อนว่า “ผมกลัวจนอยากจะร้องไห้แต่ร้องไม่ออก เกิดมาผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้เลย” 
“แดน” ไม่รู้ว่าการเดินทางแบบไม่รู้จุดหมายของเขาใช้เวลาไปนานแค่ไหน เขารู้แต่เพียงว่าก่อนถึงจุดหมายรถตู้ขับวนหลายรอบก่อนจะหยุดนิ่งอยู่กลางทุ่งนาแห่งหนึ่งซึ่งน่าจะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก ทหารพาเขาลงจากรถตู้และคุมตัวเข้าไปภายในอาคารแห่งหนึ่ง ระหว่างเดินเข้าไปภายในอาคารเขาสังเกตเห็นป้ายเขียนว่า “มท.บ. 11 นครปฐม” ในวินาทีที่เขารับรู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน น้ำตาเขาเริ่มไหลเพราะไม่คิดว่าจะถูกพามาสถานที่แบบนี้ 
ก่อนเข้ารายงานตัว “แดน” จินตนาการว่าเขาคงจะถูกกักตัวในบ้านพัก แต่ความจริงที่เขาพบเจอต่างไปอย่างสิ้นเชิง “มันเป็นคุก มันคือคุก พอผมรู้ว่ามันเป็นคุก ผมร้องไห้เลย เกิดมาไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เลวร้ายที่สุดสำหรับชีวิตผมแล้ว ถ้ารู้ว่าเขาจะพามาอยู่คุก ผมหนีดีกว่า เพราะผม ไม่ชอบ ไม่ชอบอะไรแบบนี้ คนอื่นเขาจะว่าเราได้ เพราะเราเคยเข้าคุก เราเป็นคนขี้คุกอย่างนี้” 

“มันคือคุก มันเป็นคุกทหาร”

ทหารพา “แดน” และอดีต ส.ส. มายังอาคารที่มีลักษณะคล้ายอาคารการเปรียญซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นคุกสำหรับขังทหารที่ทำความผิด ทั้งสองถูกคุมตัวขึ้นไปบนชั้นสองของอาคารซึ่งถูกแบ่งเป็นห้องขังเดี่ยวประมาณหกห้อง ด้านหน้าห้องขังแต่ละห้องมีการกั้นด้วยตาข่ายถี่และลูกกรงผนังส่วนผนังห้องที่เหลืออีกสามด้านปิดทึบ อากาศถูกถ่ายเทโดยรูระบายอากาศที่ถูกติดไว้บนหลังคาในแต่ละห้อง ภายในห้องขังจะมีการกั้นกำแพงเตี้ยๆแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นห้องน้ำ ซึ่งมีส้วม ถังรองรับน้ำและก็อกน้ำ ส่วนพื้นที่ที่เหลือเป็นพื้นโล่งไม่มีเตียงหรือเฟอร์นิเจอร์อื่นใด “แดน” ระบุด้วยว่า คุกทหารที่เขาถูกนำตัวมากักระหว่างการปรับทัศนคติครั้งนี้ ถ้าเคยมีทหารที่ทำความผิดถูกกักตัวอยู่ก่อนก็น่าจะมีการย้ายไปไว้ที่อื่นหมดแล้วเพื่อเตรียมสถานที่ไว้รับแขก “วีไอพี” อย่างพวกเขาโดยเฉพาะ  
เมื่อถูกพาตัวมาที่ห้อง “แดน” ได้รับเครื่องนอนเป็นเสื่อหนึ่งผืน หมอนหนึ่งใบ และผ้าห่มผืนบางๆ อีกหนึ่งผืนที่ความยาวคลุมถึงเข่าเท่านั้น นอกจากนั้นก็ได้รับแจกอุปกรณ์อาบน้ำซึ่ง “แดน” เล่าว่า “มีขันอาบน้ำเหมือนพระใช้ใบหนึ่ง สบู่ ยาสีฟันและแปรงสีฟันที่ได้รับแจก เขาบอกว่า พลเอกประยุทธกำชับมาว่าให้ดูแลเป็นอย่างดี ดูแลเป็นอย่างดีด้วยการแจกขันนี่แหละครับ” 

เสียงเพลงในความเงียบ

เสียงเคาะกำแพงข้างห้องดังขึ้นพร้อมกับคำถาม “อาจารย์ธิดาอยู่ที่ไหน” คำถามนั้นทำให้ ”แดน” รู้ว่าผู้ที่ถูกขังข้างๆ ห้องของเขาคือนายแพทย์เหวง โตจิราการ หรือ “หมอเหวง” แกนนำกลุ่มนปช.คนสำคัญ “แดน” ได้แต่ตอบหมอเหวงว่า “ผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่า ผมอยู่ที่ไหน” 
นับตั้งแต่ถูกควบคุมตัวในห้องขังแคบๆ เวลาในแต่ละวันของ “แดน” ก็ผ่านไปอย่างเชื่องช้าและสิ้นหวัง ในช่วงสองวันแรก “แดน” เครียดมากจนถึงขั้นกินอะไรไม่ลง เขาเล่าย้อนกลับไปด้วยว่า วันแรกที่เดินเข้าห้องขังเขาถึงกับร้องไห้ด้วยความรู้สิ้นหวังชนิดที่มองไม่เห็นแสงสว่างข้างหน้า 
“พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน”
ระหว่างที่แดนกำลังสิ้นหวัง เสียงเพลง แดงดาวแห่งศรัทธาและเรื่องราวการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากหมอเหวงถูกส่งผ่านกำแพงหนามาสู่ถึงเขา “หมอบอกผมว่า เราต้องทำใจให้ได้ เราเกิดเป็นนักสู้ เราเกิดมาเพื่อที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม เราจะต้องรับได้ทุกอย่าง” เสียงเพลงและเรื่องราวการต่อสู้ของหมอเหวงที่ลอยมาระหว่างที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินตรวจตราเป็นเหมือนยารักษาที่เยียวยาจิตใจให้เขากลับมามีพลังและเริ่มกินข้าวอีกครั้ง   

การรอคอย

เมื่อสังเกตว่า จะมีคนเข้าและออกจากสถานที่ควบคุมตัวทุกวัน “แดน” จึงเล่าถึงความหวังและการรอคอยของเขาว่า “ผมจะมายืนเกาะลูกกรงทุกเช้า ประมาณ 9 โมงมายืนรอว่าทหารจะเรียกชื่อเราไหม บางวันก็ไม่มีมาเรียกนะ” พอรู้ว่าไม่มีชื่อของตัวเอง เขาก็กลับมานั่งในห้องขังเหมือนเดิม “นั่งๆ นอนๆ ในนั้น บางทีก็มีอ่านนิตยาสารบ้าง พวกนิตยาสารดารา น่าจะเป็นของคนเก่าๆ เขาทิ้งเอาไว้นะ” ในวันที่ห้าของการถูกคุมขัง เพื่อนร่วมชะตากรรมของ “แดน” ทยอยได้รับการปล่อยตัวจนหมด เมื่อไม่เหลือคนคนอื่นแล้ว ทหารจึงนำตัว “แดน” มากักไว้ที่ป้อมยามแทน 
การย้ายที่คุมขังทำให้แดนพอมีอิสรภาพออกมาเดินเล่นได้บ้างแต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารตลอดเวลา ที่ป้อมยามแห่งนี้ “แดน” ได้ดูโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในรอบห้าวันแต่ส่วนใหญ่ก็เป็นรายการของ คสช. ถึงแม้เขาจะได้รับอิสรภาพบ้าง แต่เขาเล่าว่าในคืนที่ 5 และ 6 ที่นอนอยู่ในป้อมยามนั้น เขาไม่สามารถนอนหลับได้สนิท เพราะบทสนทนาของทหารที่ด่าทอคนกลุ่มหนึ่งซึ่งทหารเห็นว่ามีพฤติการณ์หมิ่นพระมหากษัตริย์

อิสรภาพภายใต้เงื่อนไข

หลังถูกควบคุมตัวครบกำหนด “แดน” ถูกพาขึ้นรถกระบะมีหลังคากลับมายังหอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ สถานที่ที่เขาเข้าไปรายงานตัวกับ คสช. เจ็ดวันก่อนหน้านี้ เมื่อมาถึง “แดน” พบว่า ข้อตกลงแนบท้ายของการปล่อยตัว คือ จะไม่เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. จะงดเว้นการเคลื่อนไหวทางการเมือง และต้องยอมรับว่า หากเขาฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลอื่น เขาจะยินยอมให้ คสช. ดำเนินคดีและระงับธุรกรรมทางการเงิน
หลังได้รับการปล่อยตัวชีวิตของ “แดน” ซึ่งต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่แล้วก็เลวร้ายลงไปอีก “แดน” ลงทุนขายลูกชิ้นแถวบ้านย่านท่าน้ำนนท์ แต่ขายได้ไม่นานก็ต้องเลิกไป เพราะมีทหารตำรวจแวะเวียนมาที่รถเข็นของเขาบ่อยๆ จนลูกค้าหดหาย “เขามาตามผมทั้งที่บ้านและร้าน ลูกค้าเราก็มีทั้งเหลืองทั้งแดงใช่ไหมครับ แต่พอเขามาบ่อยๆ ลูกค้าเราก็หายก็ไม่กล้าซื้อ คิดว่าเราทำอะไรไม่ดี ผมเจ๊ง เรียกว่าเจ๊งเลยพี่” 
ในชุมชนที่ “แดน” อาศัยอยู่มีสติกเกอร์รณรงค์ทางการเมืองติดอยู่ตามบ้านหลายหลัง
ไม่เพียงแต่หน้าที่การงานที่ได้รับผลกระทบ ชีวิตครอบครัวของเขาก็พังลงเช่นกัน “แฟนผมก็เลิก เพราะว่าเป็นอย่างนี้ เขาทนไม่ไหว ทหารตำรวจมาหาที่บ้านบ่อย เขาไม่อยากเจออะไรแบบนี้อีกแล้ว เขาเลยพาลูกออกไป ชีวิตผมพังเลย”