#Attitude adjusted?: ประสิทธิ์ชัย แกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกับการทัศนศึกษา”คุกทหาร”

เพราะมั่นใจว่าตัวเขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างรอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย ประสิทธิ์ชัย หนูนวลจึงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้อยู่บ่อยครั้ง ประสิทธิ์ชัยกลายเป็นที่รู้จักในระดับชาติครั้งแรกเดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเขากับอัครเดช เพื่อนของเขาเดินทางมาอดอาหารที่บริเวณกระทวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังเสียงของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบบ้าง แม้ว่าหัวหน้าคสช.จะเคยพูดว่า การอดอาหารอาจเป็นเรื่องหลอกตาประชาชน แต่ประสิทธิชัยก็ยืนกรานที่จะต่อสู้โดยวิธีการดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นการต่อสู้โดยสันติ หลังอดอาหารครบ 14 วัน รัฐบาลยินยอมที่จะจัดตั้งคณะกรรมการสามฝ่ายรัฐบาล กฟผ.และฝ่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อศึกษาว่า ภาคใต้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอหรือไม่
จากการศึกษาร่วมกันพบว่ามีภาคใต้มีกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ และสามารถพึ่งพิงพลังงานทางเลือกที่สะอาดกว่าถ่านหินได้ แต่ปรากฎว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังเดินหน้าต่อไป ประสิทธิชัยและผู้ได้รับผลกระทบจึงรวมตัวกันชุมนุมอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยประเด็นหลักที่ผู้ชุมนุมต้องการจะสื่อสารถึงผู้มีอำนาจคือ “เรามีสิทธิที่จะปกป้องปากท้อง ธรรมชาติ และลูกหลานในอนาคต” การชุมนุมครั้งนี้ส่งผลให้ประสิทธิ์ชัยและพวกอีก…คนถูกคุมตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหารเป็นเวลาหนึ่งคืน การถูกเรียกปรับทัศนคติครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้ว ซึ่งประสิทธิ์ชัยรู้สึกว่า คสช.ปฏิบัติต่อเขาในฐานะผู้เห็นต่างในนโยบายรัฐอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น

ปรับทัศนติครั้งแรก: การทัศนศึกษาในคุกทหาร

ประสิทธิ์ชัยเล่าย้อนไปถึงครั้งแรกที่เขาถูกปรับทัศนคติว่า สี่เดือนหลังรัฐประหาร กลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน (กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปพลังงานเพื่อให้ทรัพยากรน้ำมันเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มีราคาที่เป็นธรรม และผลักดันให้มีการแสดวงหาแนวทางเพื่อพัฒนาการใช้พลังงานสะอาด) ร่วมกันเดินเท้าจากหาดใหญ่ไปกรุงเทพเพื่อขอให้รัฐบาลปฏิรูปพลังงาน วันที่ 19 สิงหาคม 2557 ทางกลุ่มออกเดินวันแรก มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุยให้หยุดเดินเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นแบบอย่างให้แก่คนอื่นออกมาเดินหรือเรียกร้องบ้าง แต่ทางกลุ่มยังคงยืนยันที่จะเดินต่อไป
ในช่วงเช้าวันที่ 20 สิงหาคม 2557 มีการเจรจาอีกครั้งหนึ่งโดยเจ้าหน้าที่จะไม่ให้เดินต่อและมีเจ้าหน้าที่กอ.รมน. เดินตามขบวนมาเรื่อยๆ  ระหว่างที่ทางกลุ่มพักกินข้าวเที่ยงที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง มีนายทหารยศพันเอกและลูกน้องมานั่งเจรจาให้ทางกลุ่มหยุดเคลื่อนไหวโดยเจ้าหน้าที่ทหารคนนั้นไม่ได้บอกว่าการเดินของพวกเขาผิดกฎหมายใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เอารถมาและจับเข้ากับเพื่อนๆรวมเก้าคนไปไว้ที่มลฑลทหารบกที่ 42 (ค่ายคอหงส์) จังหวัดสงขลา และต้องอยู่ที่นั่นประมาณสี่วัน

เมื่อเข้าไปถึงในค่าย ทหารให้ประสิทธิ์ชัยกรอกประวัติส่วนตัว เบื้องต้นยังไม่มีการยึดของใช้ส่วนตัวหรือโทรศัพท์ ในวันที่สองที่อยู่ในค่าย ทหารยึดที่ชาร์ตแบตโทรศัพท์ หลังจากนั้นก็แยกคนที่ถูกจับมาให้อยู่คนละห้องไม่ให้พูดคุยกัน จะได้เจอและคุยกันเฉพาะตอนที่กินข้าวเท่านั้น สำหรับลักษณะห้องที่เขาถูกคุมขังเป็นเหมือนอพาร์ตเมนท์ และในแต่ละวันจะมีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย “ปรับทัศนคติ”วันละครั้ง

ประสิทธิ์ชัยเล่าต่อว่า ในวันแรกทหารอนุญาตให้คนรู้จักหรือทนายความเข้าเยี่ยมคนที่ถูกคุมตัวได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพาตัวผู้ถูกคุมขังลงไปพบญาติหรือทนายทีละคนเพื่อไม่ให้มีโอกาสได้คุยกัน ในวันที่สองทหารพาเขาไปชมคุกทหารโดยคนที่นำชมและบรรยายน่าจะเป็นหัวหน้าผู้คุม ซึ่งบรรยายว่า ในคุกทหารมีนักโทษกี่ประเภท แต่ละประเภทมีการลงโทษอย่างไร ประสิทธิ์ชัยจำได้ว่าห้องที่ทหารจัดการบรรยายสามารถมองออกไปเห็นนักโทษทหารกำลังถูกลงโทษได้ แต่ทหารไม่ได้พาเขาเข้าไปดูในบริเวณที่ใช้คุมขังนักโทษ ในวันต่อมาซึ่งเป็นวันที่สามของการถูกคุมขังเขาไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรมากนักแต่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาคุยด้วยหนึ่งครั้ง

ในวันที่สี่ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการถูกคุมขัง เขาและผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นร่วมพูดคุยกับแม่ทัพภาคสี่,ผู้บัญชาการค่ายฯและเสนาธิการค่ายฯ การพูดคุยเป็นการถกเถียงเกี่ยวกับปิโตรเลียมและถ่านหิน ซึ่งทหารยืนยันว่าวิธีการของทหารถูกต้องส่วนวิธีการของพวกเขาผิด  พร้อมทั้งบอกว่า รัฐบาลกำลังพยายามจะปฏิรูป หลังเสร็จการพูดคุย ทหารบอกประสิทธิ์ชัยว่า ให้ใจเย็นๆ ทหารไม่ได้ตั้งข้อหาอะไร จะปล่อยออกไปโดยไม่มีคดีติดตัวแต่ขอว่าไม่ให้ไปทำกิจกรรมอะไรอีก

ประสิทธิ์ชัยเล่าต่อว่า เมื่อเสร็จการพูดคุย เขาต้องเซ็นเอกสารแต่ไม่ทราบว่าเอกสารที่ทหารนำมาให้เซ็นคืออะไร ก่อนออกจากค่ายก็มีแพทย์มาตรวจร่างกายเขา  หลังได้รับการปล่อยตัวในวันนั้นไม่มีทหารติดตามเขาอีก แต่ตอนช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2558 ที่เขาไปอดอาหารที่กรุงเทพ มีทหารไปหาเขาที่บ้านของแม่ในจังหวัดพัทลุง  แม่ของเขาตกใจมากเพราะไม่เคยมีทหารไปที่บ้านมาก่อน ทหารนั่งคุยกับแม่เขาอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะบอกว่าเป็นการมาเยี่ยม อยากพูดคุยด้วย คำพูดที่ทหารพูดกับแม่ของเขาก็เหมือนการชวนคุยตามปกติ แต่มันไม่ได้ปกติ

ปรับทัศนคติครั้งที่สอง: ปรับทัศนคติเข้มข้น คนไม่เอาถ่านหินคือคนมีนัยยะ

ประสิทธิ์ชัยเล่าถึงการปรับทัศนคติครั้งที่สองของเขาว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มีหัวหน้าคสช.เป็นประธานประชุมเรื่อง การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ สุดท้ายมีมติในช่วงเที่ยงว่าให้เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ตัวเขาและเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงได้บุกไปยึดพื้นที่ติดรั้วทำเนียบรัฐบาลบริเวณตรงข้ามกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ซึ่งได้สร้างความกังวลให้แก่รัฐบาล ฝ่ายตำรวจพยายามสลายการชุมนุมด้วยการเจรจา และวางกำลัง วันนั้นพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มาบัญชาการในพื้นที่เอง โดยหลังประชุมในทำเนียบเสร็จพล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกจากประตูทำเนียบด้านที่เครือข่ายฯยึดอยู่ ทั้งที่ปกติก็ไม่ได้ออกทางนั้น จังหวะที่ตำรวจดันประตูเหล็กเปิดทางให้รถผบ.ตร.ออกมา เท่ากับดันประชาชนออกและเมื่อรถออกไปแล้วก็ไม่มีการคืนพื้นที่หน้าประตู
ประสิทธิชัยเล่าต่อว่าตอนนั้นมีผู้ชายสองกลุ่ม พยายามที่จะเข้าชาร์ตตัวเขากับอัครเดชซึ่งเป็นแกนนำอีกคนหนึ่ง  เขารู้ตัวก่อนจึงชี้หน้าต่อว่าไป หลังจากนั้นตอนเย็นมีปฏิบัติการปิดหัว ปิดท้ายบริเวณแยกพาณิชยการ สะพานมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงแยกอีกฝั่งหนึ่ง ไม่ให้รถเข้าไม่ให้รถส่งน้ำ ส่งอาหารเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ปิดประตูห้องน้ำที่ตึก ก.พ.ร. ในช่วงกลางคืนเครือข่ายฯต้องสร้างห้องน้ำกันเอง คืนนั้นพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่หนึ่งเข้ามาเจรจากับตัวเขาคนเดียว โดยไม่ให้คนอื่นเข้าไปฟังด้วย พล.อ.อภิรัชต์ถามว่า ต้องการอะไร เนื่องจากทางนโยบายการเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ประกาศไปแล้ว เขาจึงตอบว่า ก่อนหน้านี้เคยคุยกันไปแล้วเรื่องรายงานไม่ชอบธรรม พล.อ.อภิรัชต์รับปากว่า พรุ่งนี้เช้าจะคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ให้และให้เราสลายออกไป แต่การรับปากไม่ใช่สิ่งที่การันตีเราได้
ในช่วงเช้าพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบ.ชน. มาเจรจาให้ผู้ชุมนุมย้ายไปอยู่ฝั่งก.พ.ร.  หลังจากที่พูดคุยกันภายในเครือข่ายฯ เราก็ตกลงว่าจะย้ายไปฝั่งก.พ.ร. ก็มาเห็นมีตำรวจตั้งขบวน  ตอนนั้นพวกเราตกลงกันแล้วว่า พร้อมที่จะถูกจับ ซึ่งต่อมาตัวเขา อัครเดชและม.ล.รุ่งคุณก็ถูกจับไป โดยถูกพาตัวไปที่มทบ.11 เมื่อเข้าไปถึงทหารยึดเครื่องมือสื่อสาร ให้กรอกประวัติ และนั่งคุยกันว่า กติกาที่นี่เป็นยังไง ทหารจะปฏิบัติต่อเรายังไง กินข้าวอย่างไร นอนอย่างไร ชี้แจงตามระเบียบขั้นตอน จากนั้นก็พาตัวเขาพวกเขาทั้งสามไปที่ห้องพักซึ่งมีการกั้นพาทิชันให้นอนแยกกัน ส่วนห้องน้ำก็ให้ใช้ห้องน้ำในห้องประชุมที่อยู่ใกล้ๆ
ประสิทธิ์ชัยเล่าต่อไปว่าเมื่อทหารพาไปดูห้องนอนแล้วก็พามาเข้ากระบวนการปรับทัศนคติ ซึ่งมีพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล, รองปลัดกระทรวงพลังงานฯ, รองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต, ผู้อำนวยการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) และมีข้าราชการสองคนมาคุยกับพวกเขาทั้งสามคน วิธีการคุยเจ้าหน้าที่จะเชิญพวกเขาข้อไปคุยทีละคน  ใช้เวลาคนละประมาณ  40 นาที สำหรับบรรยากาศของการพูดคุย ประสิทธิชัยบรรยายว่าเป็นการนั่งคุยกันบนโต๊ะกลม มีทหารนายร้อยนั่งคุม และพล.ท.สรรเสริญทำหน้าที่คล้ายกรรมการ
ประสิทธิ์ชัยมองว่า การพูดคุยครั้งนี้คือการปรับทัศนคติที่แท้จริง เมื่อเทียบกับครั้งแรกในปี 2557 เขาบอกว่า ตอนนั้นการพูดคุยไม่ได้ครอบงำเขาได้ แต่ครั้งนี้มันคือปรับทัศนคติจริงๆ ฝ่ายรัฐพยายามที่จะใช้กิริยา วาจาให้เขายอมรับในโรงไฟฟ้าถ่านหิน และบอกว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดแล้ว

ประสิทธิ์ชัยระบุด้วยว่าระหว่างที่พูดคุย ผอ.สผ. ยกมือขึ้นมาทำท่าเหมือนกับชี้มาทางหน้าของเขาและพูดว่า “คุณมีนัยยะ” เขาจึงชี้หน้ากลับว่า “คุณก็มีนัยยะเหมือนกัน” บรรยากาศในห้องเริ่มตึงเครียด ขณะที่พล.ท.สรรเสริญมีท่าทีคล้ายจะประนีประนอม แต่พูดเยอะและพูดแทรกเขาอยู่ตลอด พยายามจะสั่งสอนและบอกว่า การทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง เมื่อปรับทัศนคติเสร็จทั้งสามคน ก็มีทหารพาพาตัวไปนอนที่ห้องพัก

ในช่วงค่ำหลังเสร็จสิ้นการปรับทัศนคติ นิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา ได้ติดต่อกับทหารเพื่อเรียกพวกเขาทั้งสามคนเข้าไปคุย ประสิทธิ์ชัยระบุว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ติดต่อนิติธรให้เข้ามาที่มทบ.11 และไม่ทราบเรื่องมาก่อน แต่ระหว่างที่กำลังพักผ่อนมีทหารพาเขาไปนั่งรถตู้ เอาผ้าปิดตาแล้วขับจากอาคารนอนไปยังอีกอาคารหนึ่ง จึงพบกันนิติธรซึ่งอธิบายว่ากำลังประสานงานในทางกฎหมายอยู่ซึ่งน่าจะหมายถึงประสานงานกับทหาร  นิติธรเล่าให้เข้าฟังว่ามวลชนข้างนอกเป็นอย่างไร จากนั้นจึงให้เขาเซ็นเอกสารสามที่ในชุดเดียวกัน ซึ่งเขาจำไม่ได้ว่าเอกสารอะไร ประสิทธิ์ชัยระบุด้วยว่าเขาไม่ได้สนใจการช่วยเหลือ เพราะรู้ว่าผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจคือพล.อ.อภิรัชต์ แม่ทัพภาคที่หนึ่งที่หัวหน้าคสช.สั่งให้มาดูแลเหตุการณ์
ประสิทธิ์ชัยเล่าต่อว่า เมื่อคุยกับนิติธรเสร็จทหารก็พากลับมานอน ในตอนเช้าพล.อ.อภิรัชต์ เรียกเขาไปคุยอีกครั้งโดยมีพล.ท.สรรเสริญร่วมคุยด้วย พล.ท.สรรเสริญบอกว่าหัวหน้าคสช.รับข้อเสนอให้ยกเลิกรายงาน EIA โดยพล.อ.อภิรัชต์ ได้คุยกับพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานฯแล้ว และพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์จะนำเรื่องการยกเลิกเข้าสู่ครม. ตัวเขาจึงตกลงตามนั้นและรับว่าจะยุติการชุมนุมทันที
พล.อ.อภิรัชต์บอกกับเขาด้วยว่า ถ้าผู้ชุมนุมไม่กลับ ทหารก็จะสลายการชุมนุม เพราะสืบทราบว่ามีมือที่สามและมีการแทรกซึมของผู้ไม่หวังดีเข้ามาในการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งประสิทธิชัยก็บอกว่าเขาเข้าใจในเหตุผล ต่อมาในเวลาประมาณเก้าโมง ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสามคนรวมทั้งตัวเขาก็เซ็นเอกสาร ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับที่เซ็นตอนที่ปรับทัศนคติครั้งแรก โดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขหรือตั้งข้อกล่าวหา ก่อนการปล่อยตัวมีแพทย์มาตรวจสุขภาพ หลังจากนั้นทหารก็พาขึ้นรถมาที่สะพานมัฆวานรังสรรค์เพื่อประกาศกับผู้ชุมนุมว่าจะมีการยกเลิก EIA และยุติการชุมนุม
แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นหลังจากนั้นเนื่องจากเขาพบว่าไม่มีการนำเรื่องการยกเลิก EIA เข้าครม. ตามที่ตัวแทนรัฐบาลและคสช.รับปาก โดยมีการพยายามบิดเบือนคำ พูดว่า ไม่มีการยกเลิก EIA แต่เป็นการทบทวน ซึ่งในทางกฎหมายการยกเลิกกับการทบทวนมันแตกต่างกัน ประสิทธิชัยจึงประกาศในเฟซบุ๊กว่า ถ้าไม่ยกเลิกจะชุมนุมใหม่อีกครั้ง พล.อ.อภิรัชต์ก็โทรศัพท์มาหาเขาในวันรุ่งขึ้นโดยบอกสั้นๆว่า กำลังจัดการอยู่ และคืนวันนั้น สผ. ก็ออกหนังสือยกเลิก EIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ทันที