มาตรา 116: เมื่อข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออก

เคยไหม ที่บ่นกับเพื่อนหรือโพสต์ลงโซเชียลบ่นถึงปัญหาในสังคม ไม่ว่าจะรถติด ทางเดินฟุตบาทเป็นหลุม แท็กซี่ไม่รับ รอรถเมล์นานหรือแม้กะทั่งเรื่องน้ำท่วม จนบางครั้งคำบ่นที่จริงจังก็เลยไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ก็เป็นไปตามอารมณ์หรือความรู้สึก โดยไม่ได้มีเจตนาอื่นใด และเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครสักคนจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวที่ประสบพบเจอ และได้รับผลกระทบ

แต่ทว่า เรื่องธรรมดาแบบนี้ กำลังกลายเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะในยุคของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการใช้มาตราการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลายๆ คดีนั้นก็เวียนวนอยู่ในข้อหาเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อหาตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และที่เริ่มใช้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ใช้กับผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองแทบทุกระดับ

 มาตรา 116 หรือ ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ คืออะไร

มาตรา 116 หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “ข้อหายุยงปลุกปั่น” เป็นหนึ่งในกฎหมายอาญาซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคง โดยมาตรานี้ กำหนดองค์ประกอบผิดไว้ดังนี้

(1)      ผู้ใด

(2)      กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด

(3)      อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ มิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(4.1)    เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย 

(4.2)    เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร 

(4.3)     เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

นั้นหมายความว่า หากประชาชนทั่วไปกระทำตาม (2) และ (3) เพื่อให้เกิดผลตาม (4.1) ถึง (4.3) ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็จะถือว่าครบองค์ประกอบความผิด และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี 

แม้มาตรา 116 จะมีความมุ่งหมายป้องกันไม่ให้ประชาชนแสดงออกอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แต่มาตรา 116 เองก็ยอมรับสิทธิการวิพากษณ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ การวิจารณ์การออกกฎหมายต่างๆ หรือการแสดงความเห็นถึงนโยบายที่รัฐออกได้อย่างอิสระเสรี เท่าที่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้น ต่อให้การแสดงออกของประชาชนจะเป็นไปเพื่อการเรียกร้องให้แก้ไขยกเลิกกฎหมาย หรือ เรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล แต่ถ้าแสดงออกโดยสันติวิธี ไม่มีการใช้กำลังเข้าบังคับ การแสดงออกนั้นก็ย่อมทำได้ ไม่ถือว่ามีความผิดตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่อย่างใด

ปัญหาความ ‘คลุมเครือ’ ของมาตรา 116

 องค์ประกอบของมาตรา 116 บางส่วนก็ชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว แต่บางส่วนก็ยังมีช่องโหว่ สามารถตีความในแง่มุมต่างๆ ได้กว้าง เช่น คำว่า “เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน” ยังไม่แน่ชัดตายตัวว่า การกระทำเช่นใดบ้างจึงจะเป็นการแสดงออกที่ขัดต่อ มาตรา 116

ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 209/2484 ระบุว่า การใช้คำพูดหนึ่ง หากคำพูดนี้พูดในสถานการณ์หนึ่ง อาจไม่มีผลร้ายแรง แต่คำพูดเดียวกันไปกล่าวในที่อีกแห่งอาจเกิดผลร้ายแรง โดย จำเลยได้กล่าวคำพูดนี้บริเวณชายแดนซึ่งกำลังมีเหตุการณ์พิเศษ การกระทำของจำเลยจึงอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนแถบนั้นจนถึงขั้นก่อความไม่สงบได้เช่นนี้แล้วการกระทำนั้นย่อมเป็นความผิด

จากฎีกานี้ ทำให้เห็นได้ว่า คำพูดของจำเลย อาจถือเป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ขณะที่พูดด้วย ซึ่งโดยปกตินั้น ผู้พูด และผู้ฟังข้อความต่างๆ อาจจะมีความรับรู้และการแปลความหมายที่แตกต่างกันได้อยู่แล้ว เช่น เราเรียกเพื่อนสนิทเราว่า อ้วน คนพูดอาจคิดว่าเป็นคำเรียกน่ารักๆ แต่คนฟังอาจรู้สึกไม่ดีก็ได้ ดังนั้น การตีความความหมายของการ “ยุยงปลุกปั่น” อาจแตกต่างกันไประหว่างผู้แสดงออกกับผู้ฟัง บางครั้งผู้ที่ถูกตั้งข้อหาอาจไม่ได้มีเจตนาร้ายแรงที่จะทำลายความมั่นคงของรัฐ แต่เพราะความคลุมเครือของตัวบทกฎหมาย  และอาจจะเป็นตัวผู้ฟังเองที่ตีความการแสดงออกให้เป็น “การยุยงปลุกปั่น” ไปได้

ตัวอย่างการใช้มาตรา 116 ก่อนรัฐประหาร

จากข้อมูลเท่าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพบันทึกได้ ระบุว่า นับตั้งแต่ ปี 2550 ถีง ช่วงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น พบการดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 8 คดี ดังนี้

1. คดี “ปีนสภาสนช.” เมื่อปี 2550 ซึ่งเอ็นจีโอ 10 คนตกเป็นจำเลยจากการปีนรั้วเข้าไปหยุดยั้งการพิจารณากฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานบุกรุก แต่ให้ยกฟ้องข้อหามาตรา 116 เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

2. คดี “ดีเจหนึ่ง” หรือจักรพันธ์ ประกาศผ่านรายการวิทยุให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ ในช่วงเดียวกับการชุมนุมของคนเสื้แดงในเดือนเมษายน 2552 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 3 ปี เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่ไปปิดถนนเป็นคนที่ฟังรายการของจำเลย อีกทั้ง การลงโทษทางอาญาในคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา

3. คดี “เคทอง” หรือ พรวัฒน์  อัดรายการในแคมฟรอกทำนายว่าจะมีเหตุระเบิดในกรุงเทพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องแล้ว เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำที่คนทั่วไปรับฟังแล้วย่อมเกิดความตระหนกตกใจ แต่ไม่ได้มีข้อความใดๆ ในทำนองยุยงส่งเสริมหรือปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วน

4. คดีสมชาย ไพบูลย์ ส.ข.พรรคเพื่อไทย ปราศรัยที่แยกผ่านฟ้าระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้มีความผิดตามมาตรา 116 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีประชาชนใช้กำลังและอาวุธปืน ท่อนไม้ และท่อนเหล็ก เข้าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย

5. คดีเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ จากการโพสข่าวลือการรัฐประหารในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงเฟซบุ๊ก ในเดือนสิงหาคม 2556

6. คดี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย แกนนำกลุ่มพิทักษ์สยาม จากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555

7. คดีอนุวัฒน์ แกนนำนปช.โคราช จากการปราศรัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เรื่องการแบ่งแยกประเทศ

ซึ่ง คดีเสริมสุข กษิติประดิษฐ์  , คดี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย และคดีอนุวัฒน์ ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าในทางคดี

และ 8. คดีโจ กอร์ดอน ซึ่งถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ร่วมกับข้อหามาตรา 112  แต่จำเลยรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาให้มีความผิด โดยให้ลงโทษตามบทหนักสุดคือมาตรา 112

พอจะเห็นได้ว่า การดำเนินคดีด้วยข้อหา มาตรา 116 ก่อนยุค คสช. ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้กับการกรณีการจัดชุมนุมขนาดใหญ่ เพื่อขับไล่รัฐบาล และผู้ถูกตั้งข้อหาจะเป็นระดับแกนนำที่มีอิทธิพลต่อการชุมนุม และศาลจะมีคำสั่งลงโทษในข้อหามาตรา 116 เฉพาะกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าว ส่งผลให้เกิดตามองค์ประกอบมาตรา 116 เท่านั้น กรณีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปลุกปั่นประชาชนที่ขัดต่อความมั่นคงตามองค์ประกอบอของ มาตรา 116 ศาลก็จะยกฟ้อง        

บริบทการใช้มาตรา 116 นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร

นับตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 18 สิงหาคม 2560 พบข้อมูลการตั้งข้อหามาตรา 116 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยไอลอว์พบว่า มีบุคคลถูกตั้งข้อหาดังกล่าว อย่างน้อย 66 คน แยกเป็น อย่างน้อย 26 คดี โดยสามารแยกประเภทตามเนื้อหาของการแสดงออกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดได้  6 แบบ คือ 1) เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐประหารหรือ คสช. 2) เกี่ยวกับการหมิ่นพระมหากษัตริย์ 3) เกี่ยวกับการพูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรี และ 4) เกี่ยวกับการบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญฯ 5) เกี่ยวกับปล่อยข่าวลือปฏิวัติซ้อน 6) เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการแบ่งแยกประเทศ 

ซึ่งในจำนวน 26 คดีนี้ เป็นคดีที่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์คสช.มากถึง 20 คดี ได้แก่

1. จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นบุคคลที่มีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวของ คสช. แต่ไม่ไปรายงานตัว และเดินทางไปแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 พูดเรื่อง ผลกระทบของการรัฐประหาร ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง

2. ชัชวาลย์ ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ลงบนเว็บไซต์ manageronline โดยรายงานว่าเป็นการชุมนุมในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 แต่ความจริงภาพนี้ เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ข่าวดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เกิดความแตกแยก และขัดต่อประกาศคสช. ฉบับที่ 18/2557 ต่อมาศาลทหารมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง 

3. สมบัติ บุญงามอนงค์ ในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2557 สมบัติได้โพสต์เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์เชิญชวนให้ประชาชนคัดค้านการรัฐประหาร หลายข้อความ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานจำเลยปากที่สิบ

4. สิทธิทัศน์, วชิร โปรยใบปลิวต่อต้านคสช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์

5. พันธ์ศักดิ์ จัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อตามหาความยุติธรรมและเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนที่ศาลทหาร ปัจจุบันนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์

6. พลวัฒน์ โปรยใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร สี่จุดในจังหวัดระยอง ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก คือ พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศในวันที่ 4 กันยายนนี้

7. กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ผู้ต้องหาในคดีทั้ง 14 คน ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วัน และถูกปล่อยตัวในวันที่ 8 กรกฎาคม และศาลยกคำร้องฝากขังผัด 2 คดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นสอบสวน

8. บารมี ถูกกล่าวหาว่า ให้ที่พักกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่สวนเงินมีมา ขณะชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ในระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2558 คดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นสอบสวน

9. รินดา ถูกจับจาการโพสต์เฟซบุ๊กว่า พล.อ.ประยุทธ์และภรรยา โอนเงินไปสิงค์โปร์หลายหมื่นล้านบาท ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 เธอถูกฝากขังที่เรือนจำเป็นเวลา 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว ต่อมาศาลทหารเห็นว่า คดีนี้ไม่เข้าข่ายมาตรา 116 จึงสั่งจำหน่ายคดี

10. ปรีชา มอบดอกไม้ให้พันธ์ศักดิ์ ผู้ทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” สุดท้ายศาลทหารสั่งพิพากษายกฟ้องในข้อหามาตรา 116 

11. “แจ่ม” นำข่าวลือเรื่องการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และประเด็นความแตกแยกในหมู่ทหารมาโพสต์เฟซบุ๊ก ต่อมาศาลทหารเห็นว่า คดีนี้ไม่เข้าข่ายมาตรา 116 และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 อัยการศาลจังหวัดพระโขนงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เพราะการกระทำของผู้ต้องหาเป็นเพียงการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

12. ฐนกร คัดลอกแผนผังข่าวลือการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จากทวิตเตอร์ไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560

13. ธเนตร โพสต์เผยแพร่ ภาพ ข้อความ แสดงความคิดเห็น และแชร์เฟซบุ๊กของผู้อื่นที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล กองทัพ และบุคคลสำคัญ คดียังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา ธเนตรเคยได้ประกันตัวและหลบหนีไม่มาตามนัดศาล ต่อมาเมื่อธเนตรมารายงานตัวและขอประกันตัวใหม่ ศาลจึงไม่อนุญาต ทำให้ธเนตรเป็นจำเลยมาตรา 116 คนเดียวที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ในปัจจุบัน

14. ฟ้าให้ทีวี พรทิพาและบุคคลอีก 4 คน ถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 เนื่องจากร่วมกันออกอากาศรายการโทรทัศน์ดำเนินรายการโดยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวศ โดยวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 116

15. แอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ” ผู้ต้องหา 8 คน ทำเพจเฟซบุ๊กมีภาพตัดต่อโจมตีรัฐบาล ในวันที่ 29 เมษายน 2559 ผู้ต้องหาทั้งแปดถูกฝากขังและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำเป็นเวลา 12 วัน หลังศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและทำเป็นขบวนการ อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารก็อนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

16. ศิริกาญจน์ (ทนายจูน) และ ส.ศิวลักษณ์ ร่วมกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร

17. ประวิตร โพสต์เฟซบุ๊ก อันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินคดีต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการทำงานของ คสช.ในเรื่องน้ำท่วมหนักที่สกลนครและสุโขทัย จำนวนทั้งสิ้น 5 ข้อความ  

18. ประวิตรโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฯและตั้งคำถาม 4 คำถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช.

19. วัฒนา โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับประเด็นการดำเนินคดีต่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และอาจเป็นเหตุให้ประชาชนเข้าใจว่า คสช. อาศัยอำนาจของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาใช้ดำเนินคดีกับวัฒนาฯ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

20. วัฒนา โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการรื้อถอนหมุดคณะราษฎร โดยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการดูแลพื้นที่รอบบริเวณหมุดคณะราษฎร แต่เมื่อมีการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรกลับไม่แสดงความรับผิดชอบ

จะเห็นได้ว่า จาก 20 คดีที่ได้กล่าวมา บางคดีเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้มีเจตนาจะยุยงปลุกปั่นฯ แต่เป็นการการแสดงออกของประชาชนในทางที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือผู้มีอำนาจในรัฐบาล ที่บุคคลธรรมดาพึงกระทำได้  

ท้ายที่สุด ด้วยความคลุมเครือของบทบัญญัติทำให้กฎหมายดังกล่าวกลายเป็นเครื่องมือรัฐและสร้างภาระในการแสดงออกอยู่ไม่น้อยเนื่องจากมาตรา 116 เป็นความผิดในหมวด “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ทำให้การประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์สูง และเมื่อการดำเนินคดีใช้เวลานาน ก็เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นไม่สามารถทำได้โดยง่าย และต้องเอาทรัพยากรกับเวลามาทุ่มเทในการต่อสู้คดีมากกว่า การเคลื่อนไหวเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ