ทุบให้หลาบ ทุบให้ล้า ทุบให้ลืม ความพยายามสกัดกั้นการรำลึก 24 มิถุนายน 2475

 

ทุบให้หลาบ ทุบให้ล้า ทุบให้ลืม  เป็นกลยุทธ์หลักที่ คสช. ใช้ในการจัดการกับผู้เห็นต่างที่ใช้สิทธิเสรีภาพในลักษณะที่เป็นภัยต่อการคุมอำนาจของพวกตน ย่างเข้าปีที่สี่ของการรัฐประหาร สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกตีวงล้อมอย่างหนักโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เห็นต่างอ่อนเปลี้ยลง ความอ่อนเปลี้ยดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความเหนื่อยล้าหรือชาชินต่อการปกครองของทหาร แต่เกิดจากการถูกผู้มีอำนาจ “ทุบ” ด้วยเครื่องมือหลายรูปแบบทั้งในและนอกกฎหมาย เหยื่อผู้ถูกทุบให้หลาบ-ล้า-ลืมรายล่าสุด คือผู้ที่ออกมาแสดงออกด้วยรูปแบบต่างๆ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อรำลึกถึง 85 ปีของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 

 

หมุดคณะราษฎร – สัญลักษณ์ที่ต้องทุบให้ “ลืม”
การ “ทุบ”แรกสุดเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน มีผู้ตั้งกิจกรรม “วันชาติไทย ปีที่ 85 ณ บริเวณหมุดคณะราษฎร” บนเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้คนร่วมวางดอกไม้ที่หมุดคณะราษฎร โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กเกือบๆ 200 คน กดเข้าร่วม หรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรม แม้จะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าการกดเข้าร่วมหรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้หมายความว่าผู้กดจะไปเข้าร่วมกิจกรรมในวันจริง ทั้งจำนวนผู้กดเข้าร่วมหรือสนใจก็มีไม่ถึง 200 คน ซึ่งก็เป็นเพียงอณูเล็กๆหากเปรียบเทียบกับประชากร 65 ล้านคนของประเทศ(สถิติปี 2559) แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่กลับมีความหวั่นไหวกับกิจกรรมนี้มากถึงขนาดทำการติดต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กที่กดเข้าร่วมหรือสนใจบนหน้ากิจกรรมดังกล่าวอย่างน้อยเก้าคน ได้แก่
    

     1. กรณีของ “เอ” ที่จังหวัดอุบลราชธานี ตำรวจไลน์ไปหาแม่ของ “เอ” เพื่อขอเบอร์โทรศัพท์เอและโทรมาสอบถาม “เอ” ว่า จะมาร่วมงานวันที่ 24 มิถุนายนหรือไม่
     2. กรณีของ “บี” ตำรวจโทรศัพท์ไปหา “บี” เพื่อนัดดื่มกาแฟโดยบอกว่าไปหาที่บ้านแล้วไม่พบ
     3. กรณีของ “ซี” ตำรวจโทรศัพท์ไปหา “ซี” เนื่องจากเขากดสนใจกิจกรรม
     4. กรณีของ “ดี” ตำรวจบุกไปที่บ้านของ “ดี” พบแต่เพียงพ่อและแม่เนื่องจาก “ดี” กำลังเดินทางไปมหาวิทยาลัย
     5. กรณีของ “เอฟ” ตำรวจบุกไปที่แฟลตบ้านพักของ “เอฟ” พบแต่เพียงแม่และน้องสาว พร้อมสอบถามว่า ลูกชายอยู่ที่ไหนและพรุ่งนี้จะไปไหนหรือไม่ โดยล่าสุดเวลาประมาณ 21.50 น. มีรายงานว่าตำรวจยศพันตำรวจเอกเข้ามาขอข้อมูลเรื่องของเขากับน้องสาวของเขาอีกครั้ง
     6. กรณีของ “จี” ที่จังหวัดพัทลุง ตำรวจบุกไปที่บ้านของ “จี” โดยระบุว่า อยากห้ามไม่ให้ไปที่กทม. ในวันที่ 24 มิถุนายน
     7. กรณีของ “เจ” ตำรวจโทรศัพท์ไปหา “เจ” ถามว่า ในวันที่ 24 มิถุนายนเขาจะไปที่บริเวณหมุดคณะราษฎรหรือไม่ เขาตอบว่า ไม่ไป แม่ของ”เจ”โทรบอกเขาในเวลาต่อมาว่ามีคนมาถ่ายรูปที่หน้าบ้าน
     8. กรณีของ “พี” เจ้าหน้าที่ติดต่อไปหา “พี” เธอระบุว่า เป็นเพราะการเข้าไปกดสนใจ (Interested) กิจกรรมบนเฟซบุ๊ก หมุดคณะราษฎร
     9. กรณีของกันต์ ตำรวจเข้าไปที่บ้านของกันต์ และสอบถามป้าของเขาว่า ในวันที่ 24 มิถุนายนเขาจะไปไหนหรือไม่ 

 

แม้ทั้งเก้ากรณีเจ้าหน้าที่จะยังไม่ได้ทำการจับกุมหรือดำเนินการทางกดหมายใด แต่ลำพังการติดต่อมาโดยเจ้าตัวไม่รู้ว่าไปได้ข้อมูลส่วนตัวเบอร์โทรศัพท์มาจากไหนหรือการมาพูดคุยกับพ่อแม่หรือญาติก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นการ “ทุบ” ให้ผู้ที่เพียงแค่อยากแสดงออกโดยสันติ รำคาญใจ หรือหวดกลัว หรืออาจถึงขั้นหวาดกลัว

 

วันที่ 24 มิถุนายน เจ้าหน้าที่วางกำลังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เช้าเพื่อจับตาดูว่าจะมีใครเข้ามาทำกิจกรรมตามที่มีการประกาศเชิญชวนหรือเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดมาทำกิจกรรมรำลึกใดๆในช่วงเช้าตรู่ เจ้าหน้าที่ต้องรอจนถึงช่วงสายจึงมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้น เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะว่าจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองมาเปลี่ยนแทนหมุดคณะราษฎรที่หายไปอย่างลึกลับเดินทางมาถึงบริเวณใกล้ๆลานพระบรมรูปทรงม้านตอนแปดโมงเศษ เอกชัยไม่มีโอกาสเปลี่ยนหมุดตามความตั้งใจเพราะในเวลาประมาณ 8.40 น. เขาถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 เอกชัยถูกคุมตัวจนถึงช่วงค่ำเจ้าหน้าที่จึงพามาส่งบ้าน แม้จะไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาแต่เจ้าหน้าที่ก็ค้นบ้านของเขาเพื่อหากล่องพัสดุตามที่เอกชัยบอกว่าเขาได้รับหมุดจำลองทางพัสดุ

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าหมุดคณะราษฎรคือของไม่พึงประสงค์ที่ต้องทำให้ถูกลืม การเปลี่ยนแปลงการปกครองคือเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งไม่ว่าจะดีหรือร้ายสมควรเป็นที่ถกเถียงทว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ากลับกลายเป็นที่หวงห้าม การเข้าไปวางดอกไม้โดยสงบก็กลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ขณะที่ผู้ต้องการแสดงออกทั้งการคลิ้กสนใจหรือเข้าร่วมกิจกรรมบนโลกออนไลน์กับผู้ที่นำหมุดจำลองมาทำกิจกรรมในสถานที่จริงต่างก็ถูกคุกคามราวกับว่าผู้ที่ริอ่าน “จำ” เหตุการณ์ดังกล่าวต้องถูกทุบให้หลาบและลืมมันไป
 

ทุบให้หลาบด้วย “สายตา”: การปรากฎตัวในงานเสวนา 2475 และการบันทึกภาพผู้เข้าร่วมโดยเจ้าหน้าที่

 

ตั้งแต่วันที่ 23 – 25 มิถุนายน นักวิชาการ และนักกิจกรรมหลายกลุ่มจัดงานเสวนาเพื่อพูดคุยถึงการอภิวัฒน์สยามในปี 2475 ขณะเดียวกันก็มีนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะรำลึกถึงเหตุการณ์ด้วยการไปทำบุญที่วัดพระศรีมหาธาตุ วัดที่เก็บรักษาอัฐฐิของสมาชิกคณะราษฎรหลายๆคน แม้ว่าท้ายที่สุดกิจกรรมเหล่านี้จะจัดได้ตั้งแต่ต้นจนจบแต่ก็จัดได้ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และมีการบันทึกภาพผู้จัด วิทยากรไปจนถึงผู้เข้าร่วมทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา นอกจากในนี้ระหว่างที่กิจกรรมบางกิจกรรมดำเนินไปเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เพียงแต่เฝ้ามองแต่เข้ามาแทรกแซงโดยตรงเช่นการห้ามพูดหรือถามคำถามบางคำถาม

 

วันที่ 23 มิถุนายน ระหว่างงานเสวนา 85 ปีปฏิวัติสยาม 2475 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถามว่า “ใครขโมยหมุดคณะราษฎร” ขณะที่งานเสวนา 85 ปี ประชาธิปไตยปักที่ไหนก็ได้ ของกลุ่ม YPD ซึ่งจัดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันเดียวกัน แม้งานจะดำเนินไปด้วยดีตั้งแต่ต้นจนจบแต่เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารก็เข้ามาบันทึกภาพและเสียงในงานอย่างคับคั่ง

 

วันที่ 24 มิถุนายน กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์จัดกิจกรรม “ทำบุญกรวดน้ำคว่ำขัน ในวัน(ไม่มี)ประชาธิปไตย” ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยกิจกรรมนี้เป็นการวางดอกไม้และทำบุญอัฐิของสมาชิกคณะราษฎรผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 85 ปีก่อน แม้จะเป็นเพียงกิจกรรมทำบุญแต่ก็ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่โดยมีกำลังตำรวจในเครื่องแบบอย่างน้อยห้านายและนอกเครื่องแบบอีกกว่า 30 นายมากระจายตัวในวัดพระศรีมหาธาตุตั้งแต่ก่อนเริ่มงานประมาณหนึ่งชั่วโมง และเมื่อเริ่มกิจกรรมเจ้าหน้าที่ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ร่วมงานก็ตามบันทึกภาพการทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิดชนิดหายใจรดต้นคอ นอกจากนี้ก็มีรายงานภายหลังว่านักกิจกรรมอย่างน้อยสองคนคือภิสิทธิ์และคุณภัทรถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตั้งแต่ออกจากบ้านในตอนเช้า หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ยังให้ข้อมูลด้วยว่าในวันที่ 22 มิถุนายน มีตำรวจโทรศัพท์ถึงชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสอบถามถึงกิจกรรมพร้อมกล่าวว่าทหารมีความเป็นกังวลต่อกิจกรรมดังกล่าว

 

ในช่วงบ่าย ที่งานเสวนา “ขุดราก ถอนโคน โค่นมรดกคณะราษฎร” ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกระจายตัวสังเกตการณ์หลายนาย บางส่วนนั่งอยู่ด้านหลังของห้องจัดงานและมีการบันทึกภาพโดยตลอด แม้ไม่ปรากฎว่ามีการแทรกแซงการทำกิจกรรมครั้งนี้มากไปกว่าการบันทึกภาพและเสียง แต่ส.ศิวรักษ์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาก็พูดในเวทีก่อนเริ่มงานว่า ในงานเสวนาวิชาการครั้งก่อนตนถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ครั้งนี้จึงมีการเตรียมสคริปที่จะพูดในวันนี้อย่างระมัดระวังและจะนำสคริปที่พูดในวันนี้ให้ตำรวจด้วย แม้จะไม่มีข้อมูลว่าท้ายที่สุดว่าส.ศิวรักษ์จะนำสคริปส่งตำรวจตามที่พูดหรือไม่แต่การแสดงความกังวลของส.ศิวรักษ์ก็เป็นตัวอย่างที่จัดเจนว่าแม้แต่การแสดงออกทางวิชาการก็มีความเสี่ยงที่ผู้พูดจะถูกทุบให้หลาบจำ

 

ไม่ใช่แค่กิจกรรมที่กรุงเทพที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด กิจกรรมรำลึกครบรอบ 85 ปีของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย และทวงคืนหมุดคณะราษฎร ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามก็มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยคอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดและมีการพูดคุยกับผู้เข้าร่วมบางส่วนทำให้บางคนตัดสินใจกลับบ้าน เจ้าหน้าที่ยังถ่ายรูปและขอรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนไปด้วยแต่ทางผู้จัดก็ไม่ยอมให้รายชื่อไป

 

วันที่ 25 มิถุนายน มีกิจกรรมที่มีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ในปี 2475 อีกหนึ่งงานได้แก่งาน Start Up People Start Up Talk ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ซึ่งก่อนงานรังสิมันต์ โรม หนึ่งในนักกิจกรรมที่มีคิวขึ้นพูดในเวทีถูกจับกุมตัวที่หอสมุดเมืองกรุงเทพโดยเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับศาลทหารกรุงเทพซึ่งระบุข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยรังสิมันต์ถูกดำเนินคดีหลังไปแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโนประชามติที่เคหะบางพลีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 มีข้อน่าสังเกตว่าหมายจับดังกล่าวถูกออกตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2559 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่พึ่งมาทำการจับกุมเขาในวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ก่อนเวลาที่เขาจะต้องขึ้นพูดในกิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯไม่นาน

 

ตามให้ล้าหมายให้ถอย: การติดตามนักวิชาการ หรือนักกิจกรรมที่อาจร่วมงานรำลึก 2475

ช่วงใกล้ถึงงานรำลึก 24 มิถุนา มีนักกิจกรรม นักวิชาการ หลายคนเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กหรือคำบอกเล่าของเพื่อนว่าถูกเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดราวกับว่าเจ้าหน้าที่หวังทำให้พวกเขาล้าจนไม่ไปร่วมงานในวันที่ 24 มิถุนา เช่นกรณีของธนพล นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรที่มีเจ้าหน้าที่สี่นายไปหาที่บ้านและสอบถามยายของเขาว่าเป็นคนอย่างไร เคยร่วมชุมนุมไหม กรณีของชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ในวันที่ 22 มิถุนายน โพสต์เฟซบุ๊กว่ามีเจ้าหน้าที่ไปที่แฟลตทหารของพ่อและพยายามจะเข้าไปข้างในโดยไม่มีหมายศาล

 

อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจคือในวันที่ 23 มิถุนายน มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปเฝ้าที่หน้าบ้านของอนุสรณ์ อุณโณ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาชิกเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองโดยทั้งหมดแต่งกายแตกต่างกันเช่น เป็นช่างก่อสร้าง แต่งชุดกีฬาทำท่าเหมือนออกกำลังกายที่สนามกีฬาตรงข้ามบ้านของอนุสรณ์ และอีกคนแต่งกายในลักษณะภูมิฐาน จากการพูดคุยทราบว่าตำรวจได้รับมอบหมายจาก คสช. ให้มาหาข่าวเกี่ยวกับอนุสรณ์ และต้องติดต่ออนุสรณ์ให้ได้ก่อนเวลา 12.00 น.ของวันเดียวกัน

 

ขณะที่ในวันที่ 24 มิถุนายนก็มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมบ้านประชาชนอย่างน้อยสองคน คือ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ซึ่งระบุว่า ในเวลา 9.00 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสองนายพร้อมรถกระบะได้เข้ามาหาที่บ้านและถามว่า ช่วงนี้ทำกิจกรรมที่ไหนหรือเปล่า อีกหนึ่งกรณีคือสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมที่ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านในเวลาประมาณ 10.00 น. และเมื่อออกจากบ้านมีเจ้าหน้าที่สองคนเข้ามาหาบอกว่า ขอติดตาม และจะขับรถไปส่ง แต่สิรวิชญ์ปฏิเสธ ตำรวจจึงขับรถตามรถเมล์ของเขามาเรื่อยๆ

 

ทั้งหมดสะท้อนภาพความพยายามอย่างหนักหน่วงของรัฐที่ต้องการ “ทุบ” ประชาชนให้หลาบ-ล้า-ลืม สิทธิและเสรีภาพในวันอภิวัฒน์สยาม 24มิถุนายน 2475 อีกด้านหนึ่งกิจกรรมและการแสดงออกทั้งหมดก็ได้สะท้อนถึงความพยายามของประชาชนในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของตนเอง รวมทั้งความทรงจำ 85 ปีของประชาธิปไตยไทย