ต้นปี 2560 จำเลย 112 ทยอย ‘ยอมแพ้’ หลังคดีพิจารณานาน หวังอภัยโทษออกเร็วกว่า

เมื่อถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีทางอาญา ผู้ต้องหาทุกคนมีทางเลือกสองทาง คือ รับสารภาพ หรือให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี การรับสารภาพมีรางวัลที่หอมหวาน คือ การลดโทษทันทีครึ่งหนึ่ง และระหว่างการคุมขังยังอาจได้รับการลดหย่อนโทษ หรืออภัยโทษในวาระสำคัญๆ ส่วนคนที่เชื่อว่า ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดย่อมเลือกต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ หากได้ประกันตัว การต่อสู้อาจจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่พวกเขายอมแลก แต่สำหรับคดีทางการเมือง อย่าง คดีมาตรา 112 ที่ผู้ต้องหาจำนวนมากไม่ได้ประกันตัว การปฏิเสธและต่อสู้คดีไม่ใช่ทางเลือกที่ใครอยากจะเลือกนัก
จำเลยคดีมาตรา 112 ส่วนใหญ่ตัดสินใจรับสารภาพว่าทำความผิดในทันที แต่มีอยู่ไม่น้อยที่ต้องการพิสูจน์ว่า ตัวเองไม่ได้ทำความผิดจึงเลือกปฏิเสธและต่อสู้คดี จนกระทั่งถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จำเลยหลายคนที่เคยให้การปฏิเสธ แต่ไม่ได้ประกันตัวต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีทยอยเปลี่ยนใจแถลงต่อศาลกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาและให้คดีถึงที่สุดโดยเร็ว คนเหล่านั้นได้แก่ 
1. ธารา ซึ่งถูกฟ้องว่า เอาลิงก์คลิปเสียงของบรรพตมาฝังบนเว็บไซต์ของตัวเอง เดิมธาราต่อสู้ว่า เขาทำเว็บไซต์เกี่ยวกับสุขภาพ และคลิปเสียงของบรรพตมีเนื้อหาเรื่องสุขภาพด้วย เขานำลิงก์มาใช้โดยที่ไม่ได้ฟังคลิปเสียงทุกคลิป และไม่รู้ว่า ในคลิปเสียงมีประเด็นการเมืองที่ผิดกฎหมาย วันที่ 3 มีนาคม 2560 ธาราถูกพาตัวไปศาลทหารกรุงเทพ เพื่อสืบพยานโจทก์ปากที่สามเจ้าหน้าที่แจ้งว่า พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ไม่มาศาล เพราะติดภารกิจที่วัดธรรมกาย ธาราตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพในวันนั้น
2. ปิยะ ซึ่งถูกฟ้องเป็นสองคดีว่า โพสต์เฟซบุ๊กและส่งอีเมล์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เดิมปิยะต่อสู้ว่า เขาไม่ใช่คนโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กและไม่ได้เป็นคนส่งอีเมล์ดังกล่าว โดยต้องต่อสู้กันในประเด็นหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกสองคดี รวม 17 ปี วันที่ 27 เมษายน 2569 ปิยะ ถูกพาตัวไปศาลอาญาเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีแรก ศาลอุทธรณ์พิพาษายืนให้ลงโทษจำคุก 9 ปี ปิยะบอกกับทนายความในวันนั้นว่า ไม่ต้องการยื่นฎีกาต่อแล้ว และคดีที่สองที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก็ให้ถอนอุทธรณ์เสีย 
3. วิชัย ซึ่งถูกฟ้องว่า ปลอมเฟซบุ๊กของคนอื่น และโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 10 ครั้ง เดิมวิชัยต่อสู้ว่า เฟซบุ๊กนั้นไม่ใช่ของเขา และเขาไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง วิชัยถูกควบคุมตัวมาประมาณหนึ่งปีสองเดือนศาลทหารจึงนัดสืบพยานเป็นครั้งแรกแต่ก็ต้องเลื่อนเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 เพราะพยานติดราชการและในวันนัดใหม่พยานก็ไม่มาอีกครั้งเพราะไม่ได้รับหมายศาล วิชัยจึงแถลงต่อศาลว่า ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ
4. “ขวัญใจ” (นามสมมติ) ซึ่งถูกฟ้องว่า แชร์คลิปเสียงของบรรพต เดิม “ขวัญใจ” ต่อสู้ว่า เธอไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 “ขวัญใจ” ถูกพาตัวไปศาลทหารกรุงเทพ เพื่อสืบพยานโจทก์ปากแรกหลังถูกควบคุมตัวมา สองปีสี่เดือน “ขวัญใจ” แถลงต่อศาลว่า ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาทันทีให้จำคุกสิบปี ลดเหลือห้าปี
กระบวนการยุติธรรมและบรรยากาศสังคมการเมือง ที่ทำให้จำเลยคดีมาตรา 112 ทยอยตัดสินใจรับสารภาพ มาจากปัจจัยอย่างน้อยสามประการคือ 

ศาลทหารพิจารณาช้า จำเลยรอไม่ไหว

ในทางปฏิบัติ การพิจารณาคดีของศาลทหารไม่นัดพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง หมายความว่า เมื่อสืบพยานเสร็จแต่ละปาก ก็จะหาวันว่างใหม่เพื่อสืบพยานปากต่อไป ซึ่งมักจะนัดแต่ละครั้งห่างกัน 2-3 เดือน และหลายครั้งพยานไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน โดยอ้างว่า ติดราชการอื่น ทำให้การสืบพยานต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ โดยศาลทหารก็ไม่ตัดพยานปากที่ไม่ยอมมาศาลตามนัด ทำให้การพิจารณาคดีทอดยาวออกไปจนไม่อาจกำหนดได้ว่า แต่ละคดีจะต้องใช้เวลานานเท่าไร
คดีของธารา เป็นตัวอย่างที่ดีของการพิจารณาคดีล่าช้า ธาราถูกจับเมื่อ 25 มกราคม 2558 กว่าจะได้ขึ้นศาลนัดแรกก็ 7 กรกฎาคม 2558 นัดสืบพยานครั้งแรก 21 ธันวาคม 2558 พยานไม่มาศาลสองครั้ง จนกระทั่งข้ามมาถึงปี 2560 สืบพยานไปได้เพียงสองปาก จากที่จะต้องสืบทั้งหมด 14 ปาก จนกระทั่งวันที่ 3 มีนาคม 2560 พยานก็ยังไม่มาศาลอีก ธาราจึงตัดสินใจไม่สู้คดีต่อและแถลงต่อศาลว่า รับสารภาพ
คดีของวิชัย ก็คล้ายกัน วิชัยถูกจับเมื่อ 22 ธันวาคม 2558 กว่าจะได้ขึ้นศาลนัดแรกก็ 24 มิถุนายน 2559 นัดสืบพยานครั้งแรก 27 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งพยานก็ไม่มาศาล จนกระทั่งนัดสืบพยานอีกครั้ง 22 พฤษภาคม 2560 พยานก็ยังไม่มาศาลอีก วิชัยจึงตัดสินใจไม่สู้คดีต่อและแถลงต่อศาลว่า รับสารภาพ

เมื่อคดีจบแล้ว มีเหตุให้ลดโทษ, อภัยโทษ จึงมีโอกาสได้ออกจากคุกเร็วกว่า

ระหว่างการต่อสู้คดี ถ้าจำเลยถูกคุมขังในเรือนจำก็จะถูกคุมขังในฐานะนักโทษ “ระหว่าง” หมายถึง นักโทษที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนนักโทษที่ต้องรับโทษตามคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เมื่ออยู่ในเรือนจำก็จะมีฐานะนักโทษ “เด็ดขาด” ซึ่งนักโทษที่มีสิทธิได้รับการปรับชั้นเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก หรือชั้นเยี่ยม และมีโอกาสสมัครเข้าฝึกอบรมหรือทำงานบำเพ็ญประโยชน์ในโครงการต่างๆ อันจะเป็นเงื่อนไขในการลดโทษจะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่คดีจบแล้วเท่านั้น ส่วนนักโทษที่คดียังไม่จบก็จะไม่มีสิทธิเหล่านี้
ที่สำคัญนักโทษเด็ดขาดจะมีสิทธิได้รับการลดโทษเมื่อมีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในวาระสำคัญๆ เช่น วันที่ 12 สิงหาคม หรือ วันที่ 5 ธันวาคม เป็นต้น ซึ่งจำนวนโทษที่ได้ลดอาจจะแตกต่างกันไปตามประเภทความผิด, จำนวนวันที่ถูกคุมขังมาแล้ว, อายุของนักโทษ และเงื่อนไขอื่นๆ บางคนอาจได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง หรือได้ลดโทษหนึ่งในสาม ในแต่ละครั้งที่มีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ
จำเลยคดี 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัวหลายคดีเมื่อรู้ว่า การยอมรับสารภาพเพื่อให้คดีถึงที่สุด มีโอกาสได้ลดโทษหลายช่องทาง มักเลือกที่จะรับสารภาพเพื่อให้คดีจบโดยเร็ว เพราะเห็นว่า จะเป็นช่องทางให้ออกจากเรือนจำได้เร็วกว่าการต่อสู้คดี โดยไม่จำเป็นต้องพยายามพิสูจน์อีกต่อไปว่า ตัวเองได้กระทำความผิดจริงหรือไม่
ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กรณีของ “ขวัญใจ” ที่ตอนแรกเธอถูกฟ้องในคดีเดียวกับจำเลยคนอื่นรวม 12 คน ในฐานะร่วมกันเผยแพร่คลิปเสียงใน “เครือข่ายบรรพต” ซึ่งจำเลย 8 คนในคดีเดียวกัน ตัดสินใจรับสารภาพและศาลพิพากษาให้จำคุก 10 ปี ลดเหลือ 5 ปี แต่ “ขวัญใจ” เชื่อว่า ตัวเองไม่ได้ทำความผิดจึงปฏิเสธและขอต่อสู้คดี หลังจากจำเลย 8 คน ถูกคุมขังในฐานะนักโทษ “เด็ดขาด” ก็ได้รับการลดโทษในโอกาสต่างๆ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวทีละคนๆ จนครบทุกคน คนสุดท้ายถูกปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคม 2560 ขณะที่คนที่เลือกต่อสู้คดีอย่าง “ขวัญใจ” ยังไม่ได้สืบพยานปากแรกด้วยซ้ำ เธอจึงตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เพื่อหวังจะได้รับอิสรภาพโดยเร็วเช่นจำเลยคนอื่นในคดีเดียวกันบ้าง 

ข่าวลืออภัยโทษ เป็นความหวังชั้นดีของนักโทษ

ในปี 2560 มีวาระโอกาสสำคัญที่กำลังจะมาถึงอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และ พิธีพระบรมราชาภิเษกซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี จึงมี “ข่าวลือ” ในหมู่นักโทษที่อยู่ในเรือนจำว่า ในวาระสำคัญจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ และจะมีการลดโทษครั้งใหญ่ให้กับนักโทษเด็ดขาด  จำเลยคดี 112 บางส่วนที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา จึงทยอยเปลี่ยนใจรับสารภาพเพื่อให้คดีจบก่อนการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ และหวังว่า จะได้ประโยชน์จากวาระพิเศษเหล่านี้
อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีมาตรา 112 โดยเฉพาะเมื่อจำเลยต้องขึ้นศาลทหารและไม่ได้ประกันตัว กระบวนการที่เกิดขึ้นได้ “บีบ” ให้จำเลยต้องเลือกรับสารภาพ เพื่อเป็นหนทางสู่อิสรภาพโดยเร็วที่สุด และเร็วกว่าการพยายามพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตัวเอง 
จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและปัจจุบันยังคงยืนยันต่อสู้คดีอยู่ เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้น คือ สิรภพ ซึ่งถูกจับในเดือนกรกฎาคม 2557 ปัจจุบันถูกจำคุกมา 2 ปี 10 เดือนแล้ว สืบพยานเสร็จไปได้หนึ่งปาก แต่จำเลยยังยืนยันที่จะไม่รับสารภาพและขอต่อสู้คดีของตัวเองเพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตัวเองต่อไป