ต้องชัดเจนและคุ้มครองสิทธิ ดูบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนากฎหมาย ‘ละเมิดอำนาจศาล’

ในช่วงเวลาประมาณสิบปีที่ผ่านมา สถาบันศาลเข้ามามีบทบทในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะในการเมืองไทยมากขึ้น เพราะท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง การใช้สิทธิทางศาลถือเป็นวิธีการหนึ่งที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองเลือกเดินเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม เช่น การฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในความผิดฐานกบฎต่อศาลอาญา โดยคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การฟ้องศาลแพ่งให้เพิกถอนการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร รวมทั้งยังมีกรณีที่บุคคลจำนวนมากแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติแล้วถูกดำเนินคดีในศาล 
 
ฝ่ายรัฐเองก็อ้างอิงคำสั่งของศาลหลายๆ ครั้งเพื่อบังคับใช้กฎหมาย ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจรัฐก็หวังให้ศาลเป็นเครื่องมือช่วยถ่วงดุลอำนาจ สถาบันศาลจึงถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม คำตัดสินและคำสั่งของศาลย่อมมีบางฝ่ายได้ประโยชน์ขณะที่บางฝ่ายเสียประโยชน์ การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและการทำงานของศาลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” จึงเป็นประเด็นตามมา
 
ที่ผ่านมามีอย่างน้อยสองกรณีที่ผู้ไม่พอใจคำสั่งศาลประท้วงหรือแสดงออก จนถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” ได้แก่ กรณีของสุดสงวนหรือ “อาจารย์ตุ้ม” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดชุมนุมวางพวงหรีดที่ศาลแพ่ง หลังศาลมีคำสั่งห้ามรัฐบาลยิ่งลักษณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มกปปส. จนถูกพิพากษาจำคุกหนึ่งเดือนโดยไม่รอลงอาญา และกรณีนักกิจกรรมเจ็ดคน ที่ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นเรียกไปไต่สวนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจากการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ประท้วงกรณีที่ศาลไม่ให้ประกัน ‘ไผ่ดาวดิน’ 
 
การใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนของขอบเขตว่า การกระทำใดบ้างจะเป็นความผิด จนสร้างบรรยากาศที่เป็นภัยต่อเสรีภาพการแสดงออก และการถกเถียงแลกเปลี่ยนในสังคม ตัวกฎหมายเองมีปัญหาที่ให้ผู้พิพากษาที่ถูกวิจารณ์หรือถูกละเมิดนั้น มีอำนาจตัดสินคนที่ถูกกล่าวหาเองโดยตรง และให้อำนาจผู้พิพากษาเต็มที่สั่งลงโทษได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนโดยตำรวจ อัยการ เหมือนความผิดอื่น
 
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสามผู้ทำงานวิจัยเรื่อง “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล” จะช่วยคลี่คลายปัญหาของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในไทย และมองแบบอย่างที่ดีในต่างประเทศเพื่อหาทางพัฒนาบ้านเราต่อไป 
 
ผศ.ดร.เอื้อารีย์ อึ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

กฎหมายละเมิดศาลไทยความคลุมเครือและไม่คุ้มครองสิทธิ มรดกจากบริบทปี 2477

 
ผศ.เอื้ออารีย์ ระบุว่า ใจกลางปัญหากฎหมายละเมิดอำนาจศาลของไทย คือ การขาดความชัดเจนและขาดมิติการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดี อาจเป็นเพราะบริบทของสังคมในปี 2477 อันเป็นปีที่เริ่มใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาล ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นมองกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในมิติของการคุ้มครองศาลว่า ศาลควรมีอำนาจพิเศษเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทำได้กระชับรวดเร็ว 
 
กฎหมายละเมิดอำนาจศาลแม้จะมีโทษทางอาญาคือโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนรวมอยู่ด้วย ถูกนำไปใส่ไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการนำคดีเข้าสู่กระบวนการตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการระงับเหตุและอำนวยความยุติธรรม 
 
ผศ.เอื้ออารีย์ เล่าว่า ในปี 2528 คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นในเรื่องเสร็จที่ 444/2528 ว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่ความผิดทางอาญา ผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงไม่ได้รับการคุ้มครองหรือ ไม่ได้รับสิทธิตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เช่น สิทธิได้รับแจ้งข้อกล่าวหา สิทธิที่จะไม่ให้การใดๆ สิทธิที่จะมีทนายความร่วมในการสอบสวน ฯลฯ แต่ผู้ต้องหายังอาจต้องรับโทษจำคุกหรือปรับซึ่งเป็นโทษทางอาญา 
 
นอกจากนี้การที่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่ความผิดทางอาญา ยังมีผลให้ผู้ถูกพิจารณาคดีต้องถูกดำเนินคดี และต้องรับโทษซ้ำซ้อนหลายครั้งจากการกระทำครั้งเดียวด้วย 
 
ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีบุคคลปาระเบิดใส่ศาลอาญาในปี 2558 ผู้ถูกกล่าวหาสองคนถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาห้าเดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และการกระทำเดียวกันยังเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดและข้อหาอื่นๆ ตามมาอีก เท่ากับว่าทั้งสองจะถูกลงโทษสองครั้งจากการกระทำเพียงครั้งเดียว (กรณีตัวอย่างยกโดยiLaw)

ตัวอย่างดีๆยังมีในโลก ข้อค้นพบจากการศึกษากฎหมายละเมิดอำนาจศาลจากต่างประเทศ

เพื่อหาแนวทางปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลให้ดีขึ้น ผ.ศ.เอื้ออารีย์และคณะผู้วิจัยได้สำรวจกฎหมายละเมิดอำนาจศาลจากประเทศตัวอย่างห้าประเทศ ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา อินเดีย ผรั่งเศสและเยอรมัน พบว่าจุดร่วมของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในห้าประเทศตัวอย่าง คือ มีความพยายามที่จะประกันสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล
 
เช่น ในกรณีของอินเดีย ผู้ที่ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิร้องขอให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษา จากตัวผู้พิพากษาในคดีที่ถูกละเมิดให้เป็นผู้พิพากษาชุดอื่น ในกรณีของอังกฤษแม้จะไม่ได้ระบุเรื่องสิทธิในการเปลี่ยนผู้พิพากษา แต่อย่างน้อยในห้องพิจารณาก็มีลูกขุนที่ช่วยกลั่นกลองว่าผู้พิพากษาที่เป็นคู่พิพาทเองสั่งลงโทษหนักไปหรือไม่ ในกรณีของฝรั่งเศสมีกำหนดไว้ในกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจนว่า ผู้พิพากษามีอำนาจตักเตือนหรือไล่บุคคลออกจากห้องพิจารณาคดีเท่านั้น หากประสงค์จะลงโทษหนักกว่านี้ต้องส่งเรื่องให้อัยการไปเริ่มกระบวนการคดีอาญาเป็นคดีใหม่ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้ถูกดำเนินคดีอาญา 
 
ในส่วนของการประกันเสรีภาพในการแสดงออก กรณีของสหรัฐอเมริกา หากคดีถึงที่สุดแล้วการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาหรือประเด็นในกระบวนการต่างๆ สามารถทำได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ก็มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทม์ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากการวิจารณ์คำตัดสินของผู้พิพากษาว่า ลำพังการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อหากมีเพียงแนวโน้มที่จะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมยังไม่ถือว่ามีเหตุอันสมควรที่จะลงโทษ เพราะต้องคำนึงถึงเสรีภาพของสื่อ การเผยแพร่ข้อความที่จะเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาลต้องแสดงให้เห็นถึงภยันตรายในลักษณะที่ชัดแจ้งและใกล้จะถึงต่อการบริหารความยุติธรรมของศาล หากเป็นเพียงคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่มีภยันตราย การที่ผู้พิพากษาไปถือว่าคำพูดดังกล่าวว่ามีอิทธิพลกลับจะแสดงว่าผู้พิพากษาเป็นผู้ขาดความหนักแน่นเสียเอง ขณะที่อังกฤษก็มีการยกเลิกกฎหมายที่กำหนดโทษการให้ข้อมูลหรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาลไปในปี 2013
 
ในส่วนของปัญหาเรื่องการลงโทษซ้ำ ในกรณีของเยอรมัน หากมีการลงโทษจำคุกในความผิดละเมิดอำนาจศาลไปแล้ว และยังถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆ อีก จะต้องนำวันที่ถูกจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไปหักออกจากวันที่จะต้องรับโทษจำคุกในคดีอาญาอื่น ในส่วนของอังกฤษและอินเดียหากการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดในข้อหาอื่นด้วย จะตัดเหลือการลงโทษในข้อหาอื่นเท่านั้น     
 
 

ทางออกของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลไทย ขั้นแรกต้องชัดเจนก่อน

 
ผศ.เอื้ออารีย์ เสนอสองแนวทางที่เห็นจากการศึกษาว่า ต้องมีการทำกฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้ชัดเจน โมเดลแรกอาจใช้แนวทางของฝรั่งเศส คือ ให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้จัดทำกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการกำหนดว่าการกระทำอะไรบ้างที่เป็นความผิด โดยข้อจำกัดของการแก้ไขในกฎหมายลักษณะนี้คือน่าจะต้องใช้เวลานาน วิธีที่สอง คือ การให้ศาลประกาศข้อกำหนดให้ชัดเจนผ่านทางเว็บไซต์ แผ่นป้ายในบริเวณศาล หรือทำเอกสารแจกผู้มาติดต่อศาลว่าการกระทำลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งวิธีนี้น่าจะทำได้อย่างรวดเร็ว 
 
ไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีนี้ไปว่า การให้ศาลประกาศข้อกำหนดอาจตอบโจทก์เฉพาะกรณีความชัดเจนของกฎหมาย แต่อาจมีปัญหาในแง่ของเสรีภาพการแสดงออกเพราะการที่ศาลทั้งเป็นผู้กำหนดข้อห้ามและบทลงโทษและเป็นผู้บังคับโทษเอง อาจให้อำนาจมีศาลกำหนดข้อห้ามที่เป็นการจำกัดการแสดงออกโดยไม่มีการตรวจสอบหรือโต้แย้ง ต่อประเด็นปัญหานี้ ผศ.เอื้ออารีย์มองว่า ขั้นแรกต้องมีการประกาศทำกฎให้ชัดเจนก่อนหลังจากนั้นการถกเถียงเรื่องความเหมาะสมหรือการแก้ไขกฎจะตามมา แต่หากกระทั่งการประกาศกฎให้ชัดเจนยังไม่มี การแก้ปัญหาอื่นๆก็คงยากจะทำได้
 
ผศ.เอื้ออารีย์ยังยกตัวอย่างด้วยว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของศาลปกครอง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจที่จะนำมาเป็นแบบอย่าง เพราะมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่ชัดเจน คือ ให้ศาลองค์คณะที่มีข้อพิพาทมีอำนาจตักเตือนหรือไล่ออกจากบริเวณศาลเท่านั้น หากจะมีการลงโทษจำคุกหรือปรับต้องให้องค์คณะอื่นเป็นผู้พิจารณาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังมีการประกันเสรีภาพการแสดงออกในระดับหนึ่งนั่นคือการวิจารณ์การพิจารณาหรือพิพากษาในเชิงวิชาการไม่ถือเป็นความผิด และกำหนดโทษจำคุกเพียงไม่เกินหนึ่งเดือนส่วนโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  
 
แต่เนื่องจากงานวิจัย “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล” ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ข้อเสนอของ ผศ.เอื้ออารีย์ในวันนี้ จึงเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย เมื่องานวิจัยฉบับนี้เสร็จสิ้นเสร็จแล้วก็จะมีข้้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมอีกชุดหนึ่ง ที่จะนำเสนอต่อไป