ถนนยุติธรรมที่แสน “ขรุขระ” และ “ทอดยาว” ของผู้ต้องหาประชามติ

ใกล้บริเวณแยกห้างสรรพสินค้าโรบินสันราชบุรี มีถนนชื่อเท่ๆ อยู่หนึ่งเส้นชื่อว่า ‘ถนนยุติธรรม’ ถนนเส้นนั้นจะพานักเดินทางไปยังหน่วยงานราชการด้านความยุติธรรมหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ศาลจังหวัดราชบุรี’ และแม้ผู้ที่ขับขี่อยู่บนท้องถนนจะพูดในทำนองเดียวกันว่า ‘ถนนค่อนข้างราบรื่นดี’ แต่ผู้ที่ต่อสู้อยู่ใต้บัลลังก์ศาลแห่งนี้ กลับต้องเผชิญหน้ากับความขรุขระของกระบวนการยุติธรรมอันเป็นเหตุให้ล่าช้าและยากลำบากอยู่หลายประการ
คงไม่ใช่ทุกคนและทุกคดี แต่อย่างน้อยก็ในคดีทางการเมือง ….
21 มีนาคม 2560 จำเลยทั้งห้าของ “คดีสติกเกอร์โหวตโน” เดินทางมาที่ศาลจังหวัดราชบุรี เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ที่ อ.บ้านโป่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึง 4 อันได้แก่ “แมน” ปกรณ์ อารีกุล “แชมป์” อนุชา รุ่งมรกต “บอย” อนันต์ โลเกตุ เดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านที่ถูกตั้งข้อหาจากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยมี “อ๊อตโต้” ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท เดินทางไปร่วมทำข่าว แต่การเดินทางครั้งนั้นทำให้ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ทำผิดฐานฝ่าฝืน “พ.ร.บ.ประชามติฯ” จากการแจกสติกเกอร์โหวตโน
ส่วน “เหน่อ” ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเปิดศูนย์ประชามติที่บ้านโป่ง ก็กลายมาเป็นผู้ต้องหาคนที่ 5 เนื่องจากตำรวจกล่าวหาว่า เขามีส่วนรู้เห็นกับจำเลยสี่คนก่อนหน้าด้วย
แม้การทำประชามติจะผ่านไปแล้วอย่างสงบเงียบงัน โดยฝ่ายโหวตโนแพ้ไปหลายช่วงตัว คดีความของพวกเขาในฐานแจกจ่ายสติ๊กเกอร์สีน้ำเงินแผ่นกลมๆ ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป
การเดินทางของคดีนี้ค่อนข้างมีความขรุขระ โดยเหตุผลประการแรก เกิดขึ้นจากการที่ศาลกำชับกับจำเลยและผู้สังเกตการณ์คดี อันประกอบไปด้วยผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และประชาชนทั่วไปว่า ‘ห้ามจดบันทึกคำเบิกความหรือรายละเอียดการสืบพยาน’ รวมไปถึงห้ามเผยแพร่เนื้อหาของการสืบพยานโดยเด็ดขาด จนกว่าการสืบพยานจะสิ้นสุด โดยศาลอ้างว่า เป็นระเบียบของศาล
แต่จากการค้นหาในเอกสาร “คู่มือการติดต่อราชการศาลยุติธรรมฉบับประชาชน” ยังไม่พบระเบียบที่กำหนด “ห้ามจดบันทึกคำเบิกความหรือรายละเอียดการสืบพยาน” และพบแต่เพียงว่า “ห้ามบันทึกภาพ เสียง หรือบันทึกวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานศาลในหน้าที่ 28
นอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 เรื่องการละเมิดอำนาจศาล ก็บัญญัติการกระทำที่จะละเมิดอำนาจศาลไว้สองกรณี ได้แก่
  1. กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมอื่นๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใดๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผยหรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง
  2. กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาลหรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น
              ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ
              ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ
              ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินคดีของคู่ความหรือคำพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริง หรือ
              ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ
ซึ่งหมายความว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 มีข้อห้ามสำหรับ “การเผยแพร่” กับ “เจตนาที่เผยแพร่” แต่มิใช่การ “ห้ามจดบันทึก”
ทั้งนี้ การสั่งห้ามผู้มาสังเกตการณ์คดีจดบันทึก จึงเป็นกรณีที่ศาลใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ที่จะออกข้อกำหนดใดๆ ต่อบุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาล เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล
แม้ในคดีของศาลจังหวัดราชบุรี ศาลจะไม่อนุญาตโดยไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ชัดเจน แต่เหตุผลหนึ่งที่พอเข้าใจกันได้ ก็คือ ระหว่างการสืบพยานศาลเกรงว่าจะมีการจดบันทึกคำเบิกความของพยานเพื่อนำไปเตรียมพยานที่จะเข้าเบิกความต่อไปให้เบิกความได้ตรงกัน ซึ่งในข้อกังวลนี้ก็สามารถแก้ไขได้โดยการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จดบันทึกเป็นรายๆ ไป
การที่ไม่มีใครสามารถจดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดีได้เลยนั้น ยังเป็นปัญหาต่อการ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และการเรียนรู้ของสังคมในระยะยาว” เนื่องจาก บางครั้งรายละเอียดบรรยากาศระหว่างการพิจารณาคดีอาจมีอะไรที่ “มากกว่า” ในสำนวนของศาล ขึ้นอยู่กับว่าผู้สังเกตการณ์แต่ละคนค้นพบอะไรบ้างในระหว่างทาง แต่ถ้าขาดการจดบันทึก การเก็บข้อมูลอย่างถี่ถ้วน โอกาสที่สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการหาความจริงพิสูจน์ความผิดจะถูกถ่ายทอดต่อไปก็แทบจะถูกปิดกั้นไปด้วย
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต้องมาช่วยสังเกตการณ์คดีได้ให้ความเห็นว่า การไม่ให้จดบันทึกเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ เพราะโดยปกติศาลต้องมีการพิจารณาโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเข้าฟังคดีได้ การจดบันทึกก็เป็นการนำข้อมูลในห้องพิจารณามาสู่สาธารณะ
“ไม่ใช่ว่าเราจะจับผิดอย่างเดียว แต่ส่วนนึงการพิจารณาที่เปิดเผยข้อมูลการพิจารณามันได้เผยแพร่จริงๆ ส่วนนึงศาลก็ได้ประโยชน์จากมันด้วย”
“อย่างพวกคดีที่เป็นกระแสสังคมว่าทำไมศาลตัดสินไม่ดี ในแง่นึงก็คือว่าในระหว่างการสืบพยานมันไม่มีการติดตามอย่างเป็นระบบ ข่าวมักจะเริ่มต้นจากตอนเกิดเหตุใหม่ๆ เป็นคดีดังคนสนใจเยอะ แต่พอเข้าสู่กระบวนการศาลข่าวก็เงียบหายไป มาอีกทีก็ศาลตัดสินเลย ทั้งที่เอาจริงๆ ถ้ามันมีการเผยแพร่ด้วยว่าระหว่างการสืบพยานในชั้นศาลมันมีพยานหลักฐานแค่ไหนที่ถูกเอาขึ้นมาแสดงในศาลบ้าง พยานหลักฐานมันมีน้ำหนักพอไหมที่จะเอาผิด หรือข้อกฎหมายมันก็สามารถให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้เท่านี้ถ้าพยานหลักฐานมันมีเท่านี้ แต่พอสังคมรู้แค่เหตุการณ์ตอนต้นแล้วกระโดดข้ามมาศาลพิพากษาเลย บางทีคำพิพากษาของศาลมันก็เลยไม่เมคเซนส์ในสายตาคนทั่วไป”
ส่วนความขรุขระประการที่สองก็คือ “ผู้พิพากษาใช้เวลาไปกับการติติงการทำงานของทนายความ” เช่น เวลาทนายความจำเลยจะนำสืบให้ศาลเห็นว่า เอกสารที่ผู้ต้องหาทั้งห้าแจกนั้นไม่เป็นความผิด ศาลก็เห็นว่า ไม่ใช่ประเด็นในคดี และขอให้ทนายความจำเลยนำสืบให้ศาลเห็นว่า มีการแจกจ่ายเอกสารตามฟ้องจริงหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นความถูกผิดของเนื้อหาให้ไปนำสืบโดยอาศัยปากคำพยานจำเลยก็พอ
ทั้งนี้ หากไปดู “พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2” จะพบว่า การพิจารณาองค์ประกอบความผิดของกฎหมายมีอยู่หลายส่วนด้วยกัน
“มาตรา 61 วรรค 2  ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”
เท่ากับว่า องค์ประกอบของการกระทำความผิดตามกฎหมาย ได้แก่
(1)     ต้องมีพฤติกรรมหรือการทำในลักษณะ เผยแพร่ข้อมูล ภาพ ในช่องทางอื่นใด
(2)     ข้อมูลที่ทำการเผยแพร่นั้น ต้องมีลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
(3)     ผู้กระทำต้องมีเจตนาเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง
ดังนั้น ทนายความของจำเลยจึงไม่ยอมที่จะถามค้านพยานโจทก์โดยจำกัดอยู่เพียงประเด็นว่า มีการแจกจ่ายเอกสารตามฟ้องจริงหรือไม่ เพราะทนายความของจำเลยยังต้องการพิสูจน์ให้ศาลเห็นด้วยว่า ไม่ว่าจะมีการแจกจ่ายหรือไม่แจกจ่าย เอกสาร “สติกเกอร์โหวตโน” ที่เป็นของกลางในคดี ก็ไม่ได้มีลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ แต่อย่างใด
ส่วนความขรุขระประการสุดท้ายคือ “ศาลเริ่มพิจารณาคดีช้า” เนื่องจากศาลต้องใช้ห้องพิจารณาคดีเดียวกันอ่านคำพิพากษาคดีอื่นก่อนหน้าเริ่มพิจารณาคดี “คดีสติกเกอร์โหวตโน” เกือบทุกนัด ทำให้เวลานัดสืบพยานที่กำหนดว่า เริ่ม เวลา 9.00 น. ก็กลายเป็นเริ่ม 10.30 น. ถึง 10.45 น. แทน ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลว่า มันเป็นช่วงฤดูกาลโยกย้ายตำแหน่งของผู้พิพากษา ทำให้ผู้พิพากษาที่ดูแลคดีนี้ต้องรีบอ่านคำพิพากษาในคดีอื่นๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนถึงวันต้องเดินทาง
อย่างไรก็ดี คนที่แบกภาระสูงสุดจากความขรุขระที่เกิดขึ้นในคดีนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น จำเลยทั้งห้า โดยหนึ่งในผู้ต้องหา อย่าง “เหน่อ” ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ออกอาการหัวเสียที่คดีนี้จะไม่สิ้นสุดในเร็ววัน และเขาต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลอีกหลายครั้งหลังจากนี้
“เดี๋ยวพฤษภาฯ ก็จะเปิดเทอมแล้วพี่ ถ้าคดีไม่เสร็จก็ต้องเสียค่าเดินทางจากแพร่มาอีก ค่าเครื่องบินไปกลับก็สี่พัน แต่ถ้านั่งรถทัวร์ก็พันกว่าแต่เสียเวลาเกือบสิบชั่วโมง เหนื่อยฉิบหาย” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าว
ด้าน “อ๊อตโต้” ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ก็ให้ความเห็นไว้ไม่ต่างกัน เขาโอดครวญถึงเวลาสีวันที่เสียไป เพราะแทบไม่ได้ทำงานเลยตลอดอาทิตย์ที่ต้องไปศาล และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาต้องไปเกณฑ์ทหารและกลัวว่า ถ้าคดีจะยังไม่สิ้นสุดก็จะทำให้เขามีภาระเพิ่มขึ้นมาอีก..
ท้ายที่สุดคดีดังกล่าวนี้ก็ดำเนินไปอย่างเงียบๆ จนบางคนอาจเผลอลืมไปว่า พวกเขาเหล่านี้ยังต้องเดินทางบนถนนยุติธรรมที่แสนขรุขระและทอดยาว