หนังสือ 842+

 

 

 

ศาลทหารที่เราเคยกลัว ต้องเป็นศาลทหารที่เป็นบทเรียน
ในภาวะที่ทุกคนกำลังสับสน หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจและประกาศให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารความสับสนและความหวาดกลัวก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ 
ตอนแรกเราสับสนและกลัว กลัวความไม่เป็นธรรม กลัวมีผู้ถูกกระทำและกลัวการปิดหูปิดตา ในวันที่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดไหน เราก็ยังต้องพยายามเดินหน้าสื่อสารความรู้ให้สังคมพอมีข้อมูลและเท่าทันความเป็นไป
แม้ตอนแรกเราจะเปิดอ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาลทหารแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่เราก็เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านคดีจริงที่ทยอยตามมา
ครั้งแรกที่ไปศาลทหาร เราต้องเปิด google map นำทาง เดินผ่านปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหม ผ่านทหารยามรักษาการณ์ที่ถือปืนอยู่หน้าถนน ผ่านการตรวจกระเป๋า แลกบัตร ต้องพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ใส่ชุดทหาร ทั้งสีเขียว สีกากี สีน้ำเงิน บรรยากาศแบบนี้อย่างไรเสียก็ต้องเรียกว่า “ไม่เป็นมิตร” คนที่ไปครั้งแรกถ้าจิตไม่แข็งเป็นหินก็คงมีสั่นกันบ้าง ไม่นับรวมความรู้สึกของจำเลยที่ต้องเผชิญหน้ากับตุลาการในชุดทหารออกนั่งบัลลังก์ ทับด้วยครุยยาวแถบพาดบ่าสีทอง 
เมื่อคดีมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องไปศาลทหารเพื่อสังเกตการณ์คดีบ่อยเข้า เราเริ่มคุ้นเคยหรืออาจจะชินชาต่อปืนในมือของพลทหารยาม เจ้าหน้าที่แลกบัตรเริ่มยิ้มให้ เจ้าหน้าที่รับคำร้องก็เริ่มเข้าใจ แม้กระทั่งทหารนอกเครื่องแบบที่คุมการปิดถนนเวลามีคดีใหญ่ก็เริ่มคุ้นหน้าคุ้นตากัน
กว่า 2 ปีในยุค คสช. มีพลเรือนหลายพันหรืออาจจะถึงหลักหมื่นคนต้องเดินเข้าออกศาลทหาร ในฐานะจำเลย ญาติ เพื่อน ทนายความ นายประกัน และผู้ไปสังเกตการณ์
ระหว่างที่พลเรือนพยายามทำตัวให้ชินศาลทหารเองก็ต้องดิ้นรนปรับตัวเพื่อรองรับสายตาที่เพ่งมองจากสังคมไทยและนานาชาติ
คดีการเมืองหลายคดีศาลทหารออกคำสั่งหรือคำพิพากษาที่ค้านสายตาค้านความรู้สึกมีทั้งลงโทษหนัก มีทั้งที่ตีความกฎหมายแบบน่าประหลาดใจ ขณะที่หลายคดีศาลทหารก็ผ่อนปรน สั่งปล่อยผู้ต้องหา สั่งให้ประกันตัว หรือสั่งไม่รับฟ้องเอาเสียก็ได้ ซึ่งอาจจะเพื่อลดแรงกดดันต่อศาลทหารและ คสช. เอง
จนวันหนึ่งในเดือนกันยายน 2559 คสช. สั่งยุติการเอาคดีพลเรือนมาเพิ่มที่ศาลทหาร บางคนอาจเข้าใจไปว่า ยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารไปหมดแล้ว และอาจลืมเลือนประเด็นเหล่านี้ไปทีละน้อย แต่อันที่จริงแล้วคดีเก่าที่ค้างอยู่อีกเพียบก็ยังเดินหน้าพิจารณากันที่ศาลทหารต่ออย่างไม่เร่งรีบตามวันเวลาและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จากประสบการณ์ติดตามสังเกตการณ์คดีในศาลทหารกว่า 2 ปี เราพยายามจะเล่าออกมาในหลากหลายรูปแบบ แม้จะยังมีหลายคนไม่ค่อยอยากได้ยินในช่วงนี้ แต่หวังว่าในระยะยาวสังคมไทยจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากประสบการณ์ที่เอาความยุติธรรมไปฝากไว้ในมือของนักรบ
……………………………………………………………………………
842 วัน เป็นจำนวนวันนับตั้งแต่ คสช. ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557 เรื่อยมาจนถึงวันที่ออกคำสั่งยุติ เมื่อ 12 กันยายน 2559 แต่คดีที่ยังคงตกค้างอยู่ในศาลทหารก็ยังเดินหน้าพิจารณาต่อไปจนถึงวันไหนก็ไม่อาจทราบได้ 
หนังสือ 842+ จึงรวบรวมบทเรียน เรื่องราว ความรู้ ประสบการณ์ ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอีกหลายวันข้างหน้า จากการเอาคดีทางการเมืองของพลเรือนขึ้นศาลทหาร