Military rule: อะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้ “ศาลทหาร”

“…ผมก็ได้สั่งให้ชี้แจงไปว่าการที่นำตัวขึ้นศาลทหารนั้นก็เหมือนกับศาลธรรมดา แต่ที่เป็นศาลทหารเนื่องจากใช้คณะในการพิจารณาเป็นทหาร จบจากทหารพระธรรมนูญซึ่งเรียนจบกฎหมายมาทั้งหมด แตกต่างกันก็แค่มียศเท่านั้น แต่ใช้วิธีการพิจารณาของศาลปกติ สามารถประกันได้ มีทนายได้ ผมอยากจะถามว่าใช้ศาลทหารมันผิดตรงไหน และที่ต้องใช้ศาลทหารก็เพราะสถานการณ์มันไม่ปกติ คนเหล่านี้ไม่เคารพกฎหมายปกติ เรื่องเหล่านี้สื่อช่วยแยกให้หน่อย ไม่ใช่ว่าเราต้องการไปปิดบังบิดเบือน หรือต้องการไปละเมิดสิทธิ…” 
นานมาแล้วที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องศาลทหารกัน จนหลายคนอาจลืมไปว่า แม้จะมีคำสั่งยุติการใช้ศาลทหาร แต่ยังมีคดีของพลเรือนที่ค้างคาอยู่ที่ศาลทหารอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ แม้รัฐบาลพยายามชี้แจงต่อสื่อและนานาชาติว่า ศาลทหารไม่ได้แตกต่างจากศาลพลเรือนมาโดยตลอด แต่จากข้อเท็จจริงเท่าที่รู้ก็พบว่า ศาลทหารแตกต่างกับศาลยุติธรรมและเสี่ยงต่อการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง พอแบ่งออกได้เป็นสี่ประเด็นที่อยากนำเสนอ ได้แก่ หนึ่ง โครงสร้างของศาลทหาร สอง ที่มาและคุณสมบัติของตุลาการศาลทหาร สาม ความผิดที่ทำให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร และ สี่ การรับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร 
รัฐบาลชุดไหนก็สามารถ “กำกับ” ศาลทหารได้
ความเป็นอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษาถือเป็นหลักประกันสำคัญว่า สิทธิของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ ดังนั้น โครงสร้างทางอำนาจของฝ่ายตุลาการจึงต้องเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ให้อำนาจตุลาการแยกออกจากอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ถ่วงดุลและคานกัน และที่สำคัญต้องไม่ให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจให้คุณให้โทษฝ่ายตุลาการได้ มิเช่นนั้นอำนาจฝ่ายอื่นๆ อาจจะแทรกแซงอำนาจตุลาการได้ในที่สุด
แต่ทว่า เมื่อ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ที่ให้คดีของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ทำให้หลักประกันความเป็นอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษาถูกตั้งคำถาม ซึ่งส่งผลต่อการยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีและผลของคดี เนื่องจาก พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 และ มาตรา 30 ระบุว่าอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บังคับบัญชา ดังนั้น หน่วยงานของศาลทหารจึงมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารมิได้แยกขาดเหมือนศาลยุติธรรมปกติ และการที่รัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชายังสามารถให้คุณให้โทษต่อตุลาการศาลทหารได้ ก็เท่ากับว่า ผู้พิพากษาศาลทหารมิได้เป็นอิสระแต่อยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายบริหาร 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษา คสช. และเป็นผู้ออกประกาศ คสช. มาบังคับใช้กับพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารอีกด้วย
ใครๆ ก็เป็นตุลาการศาลทหารได้ เพราะไม่บังคับต้องจบกฎหมายทุกคน
นอกจากโครงสร้างของศาลทหาร เรื่องคุณสบัติของผู้พิพากษาศาลทหารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สังคมตั้งคำถามต่อความยุติธรรมในศาลทหาร เนื่องจาก มาตรา 27 บัญญัติว่า ศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจําหน่วยทหาร ต้องมี ตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตรสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญหนึ่งนาย ซึ่งนายตุลาการพระธรรมนูญจะเป็นเพียงคนเดียวจากองค์คณะสามคนที่จบกฎหมาย ส่วนนายทหารอีกสองคนเพียงมียศชั้นสัญญาบัตรแต่ไม่ต้องจบนิติศาสตร์ก็สามารถนั่งบัลลังก์พิพากษาคดีได้
กรมพระธรรมนูญเคยให้ข้อมูลกับสำนักข่าวคมชัดลึกว่า สำหรับ “องค์คณะ” ที่ร่วมพิจารณาคดีประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตรอีก 2 นาย ซึ่งจะต้องจบปริญญาตรี และแม้ว่าในข้อกฎหมายจะไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องจบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ แต่ในการคัดเลือก “ตุลาการร่วม” จะต้องมีนายทหารที่จบ “ปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์” รวมอยู่ด้วย
ส่วนกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตุลาการพระธรรมนูญ จะมี “ปลัดกระทรวงกลาโหม” เป็นประธาน เจ้ากรมพระธรรมนูญเป็นรองประธาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และหัวหน้าศาลทุกศาลที่จะร่วมกันพิจารณาคัดกรองว่า ใครเหมาะสมที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินคดี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุดในการพิจารณาคดีที่มีพลเรือนมาขึ้นศาลทหาร การแต่งตั้งองค์คณะในการพิจารณาคดีตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 ทางหัวหน้าสำนักงานตุลาการศาลทหารได้ให้นโยบายไว้ว่า จะต้องเอาตุลาการร่วมที่จบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์มาร่วมพิจารณาคดีด้วยทั้งหมด 
ใครๆ ก็ขึ้นศาลทหารได้ เมื่อกฎหมายถูกตีความกว้าง
ในประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีที่เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติต้องขึ้นศาลทหารไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศคสช. รวมไปถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 – 118 และข้อหาที่ถูกนำมาใช้มากหลังรัฐประหารก็คือ ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ทั้งที่องค์ประกอบความผิดของกฎหมายนี้ ดูไม่ค่อยจะสมดุลกับการกระทำที่ถูกฟ้องเสียเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น
ปรีชา ถูกตั้งข้อหา ยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พร้อมกับข้อหารวมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง จากการที่เขาไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” และนำดอกไม้และถุงอาหารมามอบให้ผู้จัดกิจกรรม ปรีชาตัดสินใจรับสารภาพ ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาให้จำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ส่วนข้อหายุยงปลุกปั่น พิพากษายกฟ้อง ซึ่งตลอดกระบวนการจำเลยต้องถูกควบคุมตัว มาให้การต่อศาล และใช้หลักทรัพย์มาประกันตัวถึง 150,000 บาท
ธีรวรรณ หญิงสาวจังหวัดเชียงใหม่ ถูกทหารเรียกตัวมาที่ค่ายกาวิละ จากนั้นก็ตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายในค่ายทหาร เนื่องจาก เธอถือขันน้ำสีแดงและถือภาพโปสเตอร์สวัสดีวันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ซึ่งมีรูปภาพอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถ่ายรูป ทั้งนี้ ธีรวรรณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวผู้ต้องหาด้วยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
ชญาภา ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า จะมีการปฏิวัติซ้อน ทำให้ตำรวจและทหารบุกเข้าจับกุมที่บ้าน และเมื่ออัยการส่งฟ้อง ชญาภาถูกฟ้องเป็นความผิด 5 กรรม โดย 3 ใน 5 กรรม เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งนี้ เธอให้การรับสารภาพโดยไม่มีทนายความและระหว่างการพิจารณาคดีก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว สุดท้ายศาลทหารกรุงเทพพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 116 กรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพเหลือ จำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวม 3 ปี 18 เดือน 
รินดา ถูกจับจากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท เธอถูกตั้งข้อหาฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เธอถูกฝากขังที่เรือนจำเป็นเวลา 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว ก่อนที่ศาลทหารจะให้ความเห็นว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาไม่น่าจะเป็นความฐานยุยงปลุกปั่น แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร
ชัชวาลย์ เป็นนักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” บนเว็บไซต์ manageronline อันอาจเป็นการยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่ท้ายที่สุด เมื่อกระบวนการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลทหารพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อย่างไรก็ดี ชัชวาลย์ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ 15 วัน เนื่องจากศาลไม่ให้กันประกันตัวในช่วงแรกๆ และต้องใช้หลักทรัพย์เงินสด 4 แสนบาทยื่นประกันตัว
จากคดีตัวอย่างที่ยกมา พอจะทำให้เห็นว่า การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารมีการตีความตัวบทอย่างกว้างขวางไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่คุ้มครองความมั่นคงของรัฐ แต่ในระยะหลังนับตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการทหาร หรือแม้กระทั้งตุลาการทหาร ล้วนตีความกฎหมายอย่างกว้างเพื่อให้ใช้เอาผิดได้กับทุกกรณี และหากยังมีการตีความกว้างเช่นนี้โดยมีกระบวนการยุติธรรมรองรับก็ย่อมจะส่งผลให้พรมแดนเสรีภาพของประชาชนหดแคบยิ่งกว่าเดิม
ใครๆ ก็ติดคุกได้ เพราะอำนาจคสช. คือกฎหมายที่ห้ามฝ่าฝืน
จากข้อมูลที่ไอลอว์ได้ติดตามมาตลอดหลังการรัฐประหาร พบว่า มีคดีการแสดงออกของพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 93 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 47 คดี และมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว 40 คดี (เท่าที่ทราบ) โดยใน 40 คดี เป็นคดีที่ศาลพิพากษาภายหลังผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแทบทั้งสิ้น  
ส่วนคดีที่มีการต่อสู้คดีนั้น การอ้างสิทธิเสรีภาพเพื่อต่อสู้คดีไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ อันจะเห็นได้จากคำพิพากษาคดีของ สิรภพ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เรื่องไม่ไปรายงานตัว ซึ่งเป็นคำพิพากษาเดียวตามข้อหานี้ในตอนนี้ที่จำเลยต่อสู้คดีและศาลทหารพิพากษาเสร็จแล้ว 
ในคำพิพากษาของสิรภพระบุว่า “…ที่จำเลยไม่มารายงานตัว เพราะเหตุที่มีการรัฐประหาร จำเลยเลือกที่จะปกป้องประชาธิปไตยโดยวิธีสันติอหิงสา ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร และเห็นว่าการประกาศกฎอัยการศึกและมีคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวนั้นไม่ชอบ ไม่เป็นกฎหมาย เพราะเป็นคำสั่งที่ออกโดยคณะกบฏ ไม่มีการประกาศพระบรมราชโองการ และไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำเลยไม่ยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์”
แต่ศาลพิเคราะห์แล้วว่า “เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจการปกครองบ้านเมือง และบรรดาประกาศหรือคำสั่งใดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) สั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือเป็นคำสั่งของรัฐ อันเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมา…”
นอกจากนี้ ในคำพิพากษาศาลทหารยังระบุอีกว่า “…แม้จำเลยจะนำสืบต่อสู้ว่า การที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวนั้นเป็นการอารยะขัดขืนก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำสั่งของรัฐ และไม่มีบทกฎหมายเรื่องความรับผิดทางอาญาบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่มีความผิดหรือไม่ต้องได้รับโทษ ดังนั้น การกระทำอารยะขัดขืน จึงยังคงเป็นความผิดต่อกฎหมาย”