การปิดปากสื่อในพม่า

นักข่าวท้องถิ่น ส่อ มอ ทุน (Soe Moe Tun) ในรัฐสะกาย (Sagaing) ประเทศพม่า ถูกฆาตกรรมขณะที่เขากำลังรายงานข่าวเรื่องการตัดไม้ผิดกฎหมายและลักลอบขนส่งไม้ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า เขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหนังสือพิมพ์อิสระเดลี่ อีเลเว่น ของ อีเลเว่นมีเดียกรุ๊ป มาตั้งแต่ต้นปี 2558 เดอะเมียนม่าร์ไทมส์ รายงานว่า นายตำรวจ เตง เสว่ มินท์ (Thein Swe Myint) กล่าวว่า เหยื่อถูกพบเมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ธันวาคม 2559 บริเวณใกล้สนามกอล์ฟและถูกทารุณ มีแผลหลายแผลตรงศีรษะ นอกจากนั้นแล้ว ตำรวจยังสันนิษฐานว่าเขาถูกฆ่าแต่ยังไม่ทราบผู้ต้องสงสัยหรือแรงจูงใจในการฆ่า ในขณะที่ไม่มีอะไรจะบ่งชี้ได้ว่า รัฐมีส่วนเกี่ยวกับกับการใช้วิธีสกปรกครั้งนี้ นักข่าวในพม่ากลับค้นพบว่า สภาพแวดล้อมการทำงานของพวกเขาไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

ตั้งแต่ปลายปี 2553 การปฏิรูปเสรีประชาธิปไตยซึ่งเริ่มขึ้นโดยรัฐบาลของนายพลเตง เส่ง (Thein Sein) ส่งผลให้มีการยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อก่อนตีพิมพ์ ซึ่งก่อนหน้านี้กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้นักข่าวแสดงผลงานให้รัฐตรวจสอบก่อน การยกเลิกกฎหมายนี้ถูกกล่าวขานไปอย่างกว้างขวางว่า มีความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างมากขึ้นต่อการพูด การสื่อสาร และการกระจายข้อมูลข่าวสารในพม่า มากไปกว่านั้น ก่อนหน้านี้ ตัวแทนสื่อต่างๆ ที่ถูกเนรเทศ อย่างเช่น มิซซิมา (Mizzima) เดอะอิระวดี (The Irrawaddy) เดอะบรอดคาสเตอร์เดมอกคราติกวอยส์ออฟเบอมาร์ (The Broadcaster Democratic Voice of Burma) (ภายหลังตั้งชื่อใหม่เป็นดีวีบี มัลติมีเดียกรุ๊ป) และสื่ออีกจำนวนมากซึ่งรายงานเรื่องของงชนกลุ่มน้อยได้เริ่มต้นกิจการการพิมพ์ อย่างไรก็ตาม ขณะที่พม่าได้รับการสรรเสริญเรื่องการปฏิรูปเชิงบวก รัฐบาลก็ได้เข้าควบคุมสื่ออย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และส่งผลให้นักข่าวต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง

ตามรายงานที่ชื่อว่า “เสรีภาพที่ไม่มีวันจบสิ้น: ใบพิมพ์เขียวเพื่ออนาคตการแสดงออกโดยเสรีในพม่า” (Unfinished Freedom: A Blueprint for the Future of Free Expression in Myanmar) โดยเพนอเมริกันเซ็นเตอร์ (PEN American Centre) นักข่าวได้เผชิญกับการคุกคามอย่างเป็นปกติ การฟ้องร้องคดีและการคุมขังโดยรัฐ

ที่เป็นเช่นนี้นั้นสืบเนื่องจากบทบัญญัติของยุคทหารหลายฉบับในรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) ซึ่งบรรจุข้อจำกัดบางประการต่อเสรีภาพของการเป็นนักข่าว มาตรา 354 กำหนดให้ “ความมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน, ความแพร่หลายของกฎหมายและระเบียบ สันติภาพของชุมชนและความสงบเรียบร้อยหรือความเป็นระเบียบของสาธารณะ และศีลธรรม เป็นเหตุผลที่จะใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการผลิตสิ่งพิมพ์ได้” มาตรา 365 ได้บัญญัติว่า “สิทธิอย่างเสรีในการสร้างสรรค์วรรณกรรม วัฒนธรรม กฎหมาย จารีต และ ขนบธรรมเนียมประเพณี” ตราบเท่าที่ประชาชน “หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันเป็นอันตรายต่อความเป็นปึกแผ่นแห่งรัฐ”  เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะสังเกตว่า รัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้รับประกันอย่างชัดเจนถึงสิทธิในการปกป้องเสรีภาพสื่อ

นอกจากนั้น กฎหมายฉุกเฉิน ปี 1950 (พ.ศ. 2493) กำหนดให้มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี สำหรับ “ข่าวสารที่เป็นเท็จ” หรือมีผลด้านลบต่อความมั่นคงของรัฐ ศีลธรรม และความเชื่อมั่นสาธารณะต่อเศรษฐกิจ ประมวลกฎหมายอาญา ปี 1957 (พ.ศ. 2500) ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี สำหรับคดีก่อความไม่สงบและการกระทำอื่นๆ ที่สนับสนุน “ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ หรือความเกลียดชัง” การทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและการหมิ่นศาสนา

นอกจากนี้ สื่อต่างๆ ยังคงถูกบังคับโดยนโยบายรัฐตามสมควร ให้ส่งสำเนาสื่อสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์พร้อมจำหน่ายไปยังศูนย์จดลิขสิทธิ์และลงทะเบียน และกระทรวงข้อมูลข่าวสาร

ศาลได้บังคับใช้ความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาท และการก่อความไม่สงบเหล่านี้ ในการปิดปากสื่อซึ่งายงานข่าวหรือสืบสวนในเรื่องที่ท้าทายอำนาจรัฐ ข้อมูลด้านล่างคือคดีซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ตามรายละเอียดที่ได้มาจากเพนอเมริกันเซนเตอร์ (PEN American Centre)

  • ในเดือนมิถุนายน 2557 นักข่าวและบรรณาธิการ 5 คนจากยูนิตี้วีคลี่ (Unity Weekly) ซึ่งได้รายงานข่าวเรื่องข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการผลิตอาวุธเคมีภายใต้ฐานลับของทหาร ถูกจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ในแดนนักโทษงานหนัก ต่อมาถูกลดเหลือ 7 ปี
  • ในเดือนตุลาคม 2557 นักข่าวและบรรณาธิการ 4 คน จากบี มอน เท เนย์ ถูกตั้งข้อหาว่าก่อความไม่สงบ และถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี จากการรายางนข่าวว่า กลุ่มนักกิจกรรมอ้างว่า อองซานซูจี และผู้สนับสนุนทางการเมืองได้ก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่แทนที่การทำงานของรัฐบากึ่งพลเรือน พวกเขาถูกปล่อยตัวในฐานะส่วนหนึ่งของการนิรโทษกรรม ก่อนการเลือกตั้ง ในปี 2558
  • พนักงาน 5 คน ของอีเลเว่นมีเดียกรุ๊ป (Eleven Media Group) ถูกฟ้องร้องค่าเสียหายฐานหมิ่นประมาทในปลายปี 2557 โดยกระทรวงข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากรายงานข่าวเรื่องการใช้เงินงบประมาณสาธารณะในทางที่ผิดของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร
  • พนักงาน 5 คน ของอีเลเว่นมีเดียกรุ๊ป (Eleven Media Group) ถูกฟ้องร้องค่าเสียหายฐานหมิ่นประมาทในปลายปี 2557 โดยกระทรวงข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากรายงานข่าวเรื่องการใช้เงินงบประมาณสาธารณะในทางที่ผิดของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร
  • เดือนมีนาคม 2558 บรรณาธิการ 2 คนจากเมียนมาร์โพสต์วีคลี่ (Myanmar Post Weekly) ถูกจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน ในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากรายงานข่าวว่าสมาชิกสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยทหารได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการศึกษาต่ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนอื่นๆ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยทหารเช่นเดียวกัน
  • เดือนกรกฎาคม 2558 นักข่าวจาก เมียนมาร์เฮราลด์ (Myanmar Herald) ถูกปรับเป็นเงิน 800 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 24,000 บาท) เนื่องจากรายงานข่าว โดยโคว้ทคำพูดของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งพูดถึง เตง เส่ง ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น โดยมีความว่า “พูดไม่รู้เรื่อง ไร้ตรรกะ ไร้ศีลธรรม และทำตัวไม่เป็นไปตามที่พูด เหลวไหล ไร้สาระและวิกลจริต”

นอกจากนั้น รายงานยังได้ลงรายละเอียดว่า การคุกคามและทำร้ายที่นักข่าวต้องเผชิญอยู่นั้น สะท้อนภาพบรรยากาศของการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ข้อมูลด้านล่างเป็นตัวอย่างของคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

  • นักข่าวอิสระและอดีตนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ออง กยอว นาย (Aung Kyaw Naing) (รู้จักกันในนามพาร์ กยี (Par Gyi)) เสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2557 หลังจากถูกคุมขังโดยทหารขณะที่รายงานข่าวในรัฐมอญเรื่องสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์และทหารรัฐบาล การสืบสวนสอบสวนโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนพม่า (Myanmar Human Rights Commission) แสดงให้เห็นว่าเขาถูกทรมาน ในเดือนพฤษภาคม 2558 ศาลทหารที่พิจารณาโดยลับยกฟ้องทหาร 2 นายที่ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรม ในเดือนมิถุนายน 2558 คดีที่ยื่นฟ้องทักท้วงเรื่องความตายของเขาถูกเลื่อนออกไปหลังจากที่สมาชิกกองทัพ 2 นายผู้ทำการคุมขัง ไม่มาปรากฎตัวในศาล
  • เดือนมีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายนักข่าว 2 คนซึ่งรายงานข่าวเรื่องการประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาในเลปาดาน (Letpadan)
  • ในเดือนเดียวกัน นักข่าว 2 คน จากดีวีบี มัลติมีเดีย (DVB Multimedia) และเซเว่นเดย์เดลี่ (7 day daily) ถูกจับและขังคุกเป็นเวลาหลายชั่วโมงเนื่องจากรายงานข่าวเรื่องการประท้วงหยุดงานในโรงงานเสื้อผ้า
  • ในเดือนมิถุนายน 2558 ผู้บริหารสูงสุดของอีเลเว่นมีเดียกรุ๊ป ตาน ทุต อ่อง ( Than Htut Aung) ถูกยิงโดยหนังสติ๊กซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่รถยนต์ของเขา ตานได้รายงานข่าวเรื่องบทบาททางการเมืองของทหารและการก่อกวนรัฐโดยสื่ออยู่บ่อยครั้ง คดีนี้ยังคงไม่ยุติ

นอกจากนั้น ทีมเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารแห่งกองทัพ (Armed Forces Accurate Information team) ซึ่งขับเคลื่อนโดยทหารใช้ชื่อว่า “ทีมแนวทางของบรรณาธิการ” ก็ได้รับหน้าที่ให้รับผิดชอบในการบงการสื่อ ได้ปฏิบัติการในฐานะผู้สังเกตการณ์สื่อขับเคลื่อนโดยรัฐ องค์กรดังกล่าวได้วิพากษ์ เมียนมาร์ไทมส์ (Myanmar Times) และอีเลเว่นเดลี่ (Eleven Daily) ในเดือนมีนาคม 2558 เนื่องจากรายงานข่าวเกี่ยวกับปฏิบัติการของทหารในจังหวัดโกก้าง (Kokang)

ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/kaysse/3310077538/sizes/c/