อารยะขัดขืนและข้อเรียกร้องจาก ‘ไผ่’ หลัง 2 ปีเลยผ่าน

ก่อนลงประชามติเพียงหนึ่งวัน ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ก่อนผันตัวเป็นไผ่เอ็นดีเอ็มอีสาน นักศึกษาหนุ่มวัย 25 ปี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวศิน ในวัย 20 ปี นักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมธรณี ชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559

หลังศาลจังหวัดภูเขียวอนุญาตให้ประกันตัว วศินประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท ตามคำแนะนำของไผ่เพราะเห็นว่ายังต้องกลับไปเรียน ส่วน ‘การสู้ยกใหม่ของไผ่ ดาวดิน’ ก็เริ่มต้นอีกครั้ง ด้วยการยืนยันไม่ขอประกันตัวเพราะเห็นว่าข้อกล่าวหาที่ถูกจับกุมนั้นเป็นความอยุติธรรม สิ่งที่เขาทำนั้นควรเป็นสิทธิที่จะรณรงค์ได้ตามกฎหมาย และประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ สิ่งที่เขาทำเป็นเพียงการแจกเอกสาร ซึ่งไม่ใช่เอกสารปลอมหรือบิดเบือน ไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง การจับกุมคุมขังจึงเป็นความอยุติธรรม ซึ่งศาลก็ให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน โดยให้เหตุผลเรื่องความสะดวกในการสอบสวนเพิ่มเติม

ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2559 ไผ่อดอาหารประท้วง จากคำบอกเล่าของวิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ระบุว่า “ที่ทำไม่ได้มาเรียกร้องอะไร ทำเพื่อให้สังคม รวมถึงผู้ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องฉุกคิดดูบ้างว่าเรื่องอย่างนี้มันใช่หรือไม่ และถ้าสังคมปล่อยให้เป็นไปอยู่อย่างนี้แล้วบ้านเมืองจะอยู่กันอย่างไร” ระหว่างการอดอาหารประท้วง ร่างกายของเขาเริ่มอ่อนแอลง กระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2559 เขามีอาการวูบ ทำให้มีเสียงเรียกร้องอย่างมากมายด้วยความห่วงใยให้เขาประกันตัวออกมาสู้คดีแทน อย่างไรก็ตามเขาเลือกที่จะเดินหน้าสู้ตามความเชื่อของเขา ซึ่งถ้าหัวใจเราไม่แคบจนเกินไป ย่อมเห็นได้ว่าแม้ร่างกายจะอ่อนแรงลงได้จากการขาดอาหาร แต่หัวใจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมของไผ่กลับถูกหล่อเลี้ยงด้วยความหวังและกำลังใจอย่างมากมาย ซึ่งเป็นของหายากอย่างน่าใจหายในบางสังคม

แม้เสรีภาพถูกจำกัด แต่นักกิจกรรมและคนที่ห่วงใยมากมายต่างร่วมกันรณรงค์ทั้งผ่านกิจกรรมออนไลน์ ‘จดหมายลูกโซ่ ถึงคุณไผ่ จตุภัทร์’ ด้วยการแท็กเพื่อนเพื่อชวนให้เขียนเรื่องราวและความรู้สึกเมื่อครั้งพบเจอเขา ซึ่งได้รับการสนับสนุนไม่แพ้กิจกรรมเขียนโปสการ์ดถึงนักกิจกรรมคนเดียวกันนี้ และไอลอว์ก็มีเรื่องราวมาร่วมแบ่งปันเช่นกัน

ไอลอว์มีโอกาสพบและสัมภาษณ์ จตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน ครั้งแรกเมื่อมิถุนายน 2558 ขณะนั้นเขาทำกิจกรรมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร

บ้านอยู่ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ไผ่เติบโตในครอบครัวที่มีแม่เป็นทนายความ ส่วนพ่อก็เป็นทนายความสายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับทีมทองใบ ทองเปาว์ ความตื่นตัวทางการเมืองส่วนหนึ่งได้มาจากพ่อ เพราะตั้งแต่เด็กๆ ก็ตามพ่อไปตลอด ไปว่าความให้ชาวบ้าน ไปอบรมสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาไผ่เคยเป็นนักดนตรีพื้นเมือง สามารถเล่นดนตรีได้หลายชนิด เช่น พิณ โหวต แคน เคยเข้าร่วมแข่งขันดนตรีได้รางวัลอันดับหนึ่งในระดับภาคอีสานทั้งรุ่นประชาชนและเยาวชนมาเเล้ว

ด้วยบุคลิกเป็นนักกิจกรรมพูดจาฉะฉาน เมื่อเริ่มบทสนทนา เขาเล่าถึงชีวิตตอนเด็กๆ ที่ได้เห็นพ่อของเขาในบทบาททนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า “ผมเกลียดพ่อด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านั้นเรามีฐานะ มีรถ มีบ้านหลังใหญ่ แต่พอพ่อทำแบบนี้ รับคดีชาวบ้านคนจนมา รับเขามาหมด เลยต้องขายทุกอย่าง แต่ก็ได้ความรู้สึกว่า เติบโตกับชาวบ้าน” กระทั่งก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เขาเคยดูหนังเรื่องหนึ่ง เป็นหนังเกี่ยวกับนักศึกษาแนวแบ็คแพ็ค ที่ออกไปทำกิจกรรมทางสังคม แต่พอเข้ามาในมหาวิทยาลัยจริงๆ มาเจอการรับน้องแบบเต้น “ไก่ย่างถูกเผา” เลยรู้สึกผิดหวัง “มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ”

ไผ่เล่าว่า เขามาเข้าใจพ่อจริงๆ ตอนอยู่ปี 1 เมื่อได้มาทำงานกับชาวบ้าน มาอยู่กลุ่มดาวดิน รู้จักดาวดินเพราะพี่เขาชวนไปที่บ้าน พี่รู้จักพ่อ เพราะพ่อเป็นทนายเกี่ยวกับคดีที่ดิน เหมือนรุ่นพี่เคยได้ยินมาว่า ลูกของทนายอู๊ดนะ เรียนอยู่นิติศาสตร์ มข. พี่เขาเลยชวนไปสังสรรค์ที่บ้าน

“ก่อนหน้านี้รับรู้ทุกอย่าง แต่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ความรับรู้ตอนเป็นเด็กคือ ช่วยชาวบ้านเเล้วจนไง ช่วยชาวบ้านเเล้วไม่มีกินไง แต่ตอนนี้ลงรอยกับพ่อเเล้ว ภูมิใจมากเลย คุยกันถูกคอ”

ย้อนไปเมื่อช่วงกันยายน 2556 ถ้ายังจำกันได้ ภาพนักศึกษานั่งคุกเข่าตากฝนกันไม่ให้ตำรวจเข้าไปทำร้ายผู้ชุมนุมที่ประท้วงคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย ถูกส่งต่อไปในเว็บบอร์ดและเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ มีคนจำนวนมากเข้ามาคอมเมนท์แสดงความชื่นชมนักศึกษาในภาพ ซึ่งเป็นนักศึกษากลุ่มดาวดิน และหนึ่งในนั้นคือไผ่  

กระทั่งหลังรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 ปัญหาเรื่องผลกระทบของการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติที่มีต่อชาวบ้านทวีความตึงเครียดขึ้น บางพื้นที่มีทหารเข้ามาแสดงตัวแสดงบทบาทเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการต่างๆ รวมทั้งจำกัดไม่ให้ชาวบ้านใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการรวมตัวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิชุมชนในการจัดการพื้นที่

พฤศจิกายนปีเดียวกัน ไผ่และเพื่อนถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว คัดค้านการรัฐประหาร ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้เริ่มมีกระแสวิจารณ์ว่า ดาวดินอาจเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร แต่เขาและเพื่อนทั้งกลุ่มดาวดินและกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ต่างร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมา กระทั่งถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากนั้นวันรุ่งขึ้น พวกเขาเดินสายและปราศรัยกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงถูกแจ้ง 2 ข้อหาคือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ห้ามชุมนุมเกินห้าคน และ มาตรา 116 

“ทำก่อน คิดทีหลัง” คือ สไตล์การทำงาน แม้หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะไม่ยอมคิดก่อนทำจึงทำให้ไม่เห็นผลที่จะตามมาว่ารุนแรงเพียงใด แต่ไผ่บอกว่า “ถ้าคิดก็ไม่ได้ทำ เพราะบางครั้งคิดมากเกินไปจนกลัว ข้อดีของการ ‘ทำก่อน คิดทีหลัง’ คืออย่างน้อยก็ได้ทำอะไรที่อยากทำ เราให้คุณค่ากับสิ่งที่เราจะทำอะไรก่อนเสมอ”

ส่วนเรื่องอารยะขัดขืน เขามองว่า “เราไม่รู้หรอกว่าการที่เราเข้าคุกจะนำไปสู่การเรียกร้องอะไรที่สำเร็จบ้าง เราไม่รู้ เราก็เลยต้องลองดู ตอนนี้เรามีแค่ความเชื่อ ผมเบื่อแล้วกับคำว่ารอให้สถานการณ์สุกงอมก่อน ผมคิดว่าเราต้องทำให้สถานการณ์มันสุกงอมด้วยตัวเอง เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้สังคมเรียนรู้ว่าการรัฐประหารนั้นไม่ดีได้หรือไม่ หรือทำให้คนอื่นๆ ในสังคมลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร เราไม่สามารถคาดหวังตรงนั้นได้ แต่เรารู้สึกว่าเราอยากทำในฐานะที่เราเป็นมนุษย์นี่แหละ ที่เรายอมไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้” และไผ่เอง ก็ไม่ลังเลที่จะอธิบายตัวเองว่า “ถ้าสุดท้ายการติดคุกไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงก็ไม่เสียใจ เพราะเราแค่ทำในสิ่งที่ใจเราต้องการ เราเรียนกฎหมายมาเราก็รู้อยู่แล้วว่ากฎหมายนี้มัน ‘ส้นตีน’ ที่สุดแล้วเท่าที่ชีวิตผมเกิดมาเคยเจอ คำว่า ‘ไม่ยุติธรรม’ มันก็เป็นคำใหญ่ไป ใช้คำว่าส้นตีนเนี่ยแหละ”

นอกจากนี้เขามีคดีใหม่เป็นหมายเรียกจากกรณีจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับประชามติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเวทีดังกล่าวนับเป็นเวทีสาธารณะเวทีแรกในภาคอีสานที่พูดถึงร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะมีการลงประชามติ หมายดังกล่าวระบุข้อหา “ร่วมกันขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” และให้เขา(ผู้ต้องหาที่ 1) ไปรับทราบข้อกล่าวที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในวันที่ 18 สิงหาคม 2559 อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ติดต่อไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อขอเลื่อนนัดการรายงานตัวแล้ว เนื่องจากไผ่ยังอยู่ในเรือนจำภูเขียว ซึ่งวันนี้ (18 สิงหาคม 2559) ศาลจังหวัดภูเขียวนัดกำหนดฝากขังผัดที่สอง