ปัญหาและข้อสังเกตต่อเนื่องจากการตรวจสอบการสนทนาของ “บุรินทร์” กับ “แม่จ่านิว”

ยังคงหยิบยกมาเป็นบทเรียนได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่ตำรวจนำบทสนทนาส่วนตัวของ “บุรินทร์” และ “แม่จ่านิว” มาตั้งข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลหรือพยานหลักฐาน เพราะกรณีดังกล่าวย่อมส่งผลเสียต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวและระบบยุติธรรมในภาพรวม

ขอบคุณรูปภาพจาก Page Banrasdr Photo

ประเทศไทยภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงในการออกกฎหมายพิเศษ เช่น ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่มีข้อกล่าวหา และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการค้น ยึด อายัดทรัพย์สินได้ ซึ่งถือเป็นอำนาจที่กว้างขวางกว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาหรือกฎหมายอื่นๆ ที่ออกโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมา การบังคับใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 มีความน่าสงสัยว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการจับกุมและตั้งข้อหา ‘บุรินทร์’ ก็สะท้อนให้เห็นว่า อำนาจเหล่านั้นได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวและสร้างความน่าเคลือบแคลงต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมมากน้อยเพียงใด

 

ข้อสังเกตต่อการได้มาซึ่งพยานหลักฐาน ก่อนการตั้งข้อหาบุรินทร์และแม่จ่านิว

วันที่ 27 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม “บุรินทร์” หลังจากที่ไปแสดงออกทางการเมืองบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเขาไว้ที่ สน.พญาไท ทหารก็เข้ามาพาตัวบุรินทร์ไปโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล ซึ่งมาทราบภายหลังว่าบุรินทร์ถูกควบคุมตัวไว้ในค่าย มทบ.11 

สองวันถัดมา (29 เมษายน) รองผู้กำกับการ ปอท. เดินทางไปขออำนาจศาลทหารออกหมายจับบุรินทร์ ในข้อหาตามมาตรา 112 และอีกไม่กี่วันถัดมา พัฒน์นรี แม่ของสิรวิชญ์หรือ ‘จ่านิว’ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ถูกออกหมายจับและถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับบุรินทร์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ทั้งสองคนถูกตั้งข้อหาจากสิ่งเดียวกันคือบทสนทนาส่วนตัวในเฟซบุ๊ก

สิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีการเข้าไปตรวจค้นข้อมูลการกระทำความผิด เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการทั้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารว่า ใช้วิธีการหรืออำนาจตามกฎหมายใดในการเข้าถึงข้อมูลบทสนทนาระหว่างบุรินทร์และพัฒน์นรี มีเพียงคำบอกเล่าของพนักงานสอบสวนอย่างไม่เป็นทางการในระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาว่า ข้อมูลการกระทำความผิดได้มาโดย “การซักถาม” ของเจ้าหน้าที่ทหาร และบุรินทร์เป็นคนให้รหัสกับทหารเพื่อเข้าสู่บัญชีเฟซบุ๊กของตนเองเพื่อตรวจค้นการกระทำความผิด

โดยหลักแล้ว หากเจ้าหน้าที่จะเข้าถึงข้อมูลโดยการยึดโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบการใช้งานและการสื่อสาร ก็จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 18 และ 19 ดังนี้ 

หนึ่ง เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลส่งมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิด (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18)

สอง การจะสั่งให้บุคคลส่งมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดมอบให้เจ้าของคอมพิวเตอร์ที่จะยึดไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วต้องส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 48 ชั่วโมง  (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 19)

ภายใต้สองมาตรานี้ จะเห็นได้ว่า การยึดหรือส่งมอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐจะมีข้อผูกมัดอย่างหนึ่งก่อนจะไปขอหมายศาลคือ ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดของเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะยึดไว้เป็นหลักฐาน 

แต่กรณีของบุรินทร์ การกระทำตามข้อกล่าวหาอยู่ในบทสนทนาเฟซบุ๊กซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว และรัฐไม่มีทางล่วงรู้ได้ล่วงหน้าว่ามีการกระทำความผิดในพื้นที่นั้น เว้นแต่จะได้รับแจ้งจากพยานผู้เป็นคู่สนทนา ซึ่งกรณีนี้แม่ของ “จ่านิว” ในฐานะคู่สนทนาก็ไม่ได้ไปให้ข้อมูลกับรัฐ อีกทั้งยังมาถูกตั้งข้อหาร่วมกระทำความผิดกับบุรินทร์ไปด้วยเสียอีก

ดังนั้น สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า การเข้าถึงข้อมูลบทสนทนาระหว่างบุรินทร์และแม่ “จ่านิว” ไม่ได้เริ่มจากการขอหมายศาลโดยมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และแม้จะมีการขอหมายศาลก็ยังมีความน่าสงสัยว่า ศาลใช้อะไรเป็นเหตุในการอนุมัติหมายเพื่อให้ค้นข้อมูลของบุรินทร์

นอกจากนี้ หากเจ้าหน้าที่อ้างว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพราะผู้ต้องหายินยอมให้รหัสผ่าน ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจใดในการขอรหัสผ่านเพราะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ อีกทั้งภายใต้การควบคุมตัวด้วยอำนาจพิเศษในค่ายทหาร ก็น่าสนใจว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการซักถามแบบใด เพราะอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลไว้ได้โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา ไม่ต้องมีทนายความเข้าร่วม รวมถึงไม่ต้องแจ้งสถานที่ควบคุมตัวหรือให้สิทธิติดต่อญาติ 

 

บุคคลย่อมมีเสรีภาพที่จะคิดต่างจากรัฐ และได้รับการคุ้มครองในความเป็นส่วนตัว

ลองจินตนาการอย่างง่ายว่า ถ้าฝ่ายความมั่นคงสามารถควบคุมตัวเราไปไว้ในค่ายทหารเพื่อซักถามโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีทนายความ และยึดทรัพย์สินทุกอย่างไปตรวจสอบว่าเรามีความคิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ เราจะรู้สึกอย่างไร ถึงแม้ว่าในกรณีของบุรินทร์และแม่จ่านิวจะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า รัฐใช้วิธีการละเมิดความเป็นส่วนตัวแบบใด แต่จากข้อสังเกตที่ตั้งไว้ย่อมสะท้อนถึงความไม่ชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

สิทธิความเป็นส่วนตัว ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และมีการกำหนดไว้ใน ข้อ 12 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ซึ่งไทยเองก็เป็นภาคี ไว้ว่า บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจ ในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น 

รวมถึง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อที่ 17 ก็ยังกำหนดว่า บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงหรือลบหลู่เช่นว่า

โดยเหตุผลอย่างหนึ่งที่รัฐต้องให้หลักประกันต่อความเป็นส่วนตัวก็คือ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพทางความคิด ดังนั้น รัฐจะละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยเข้าไปคุกคามในพื้นที่ที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของประชาชนไม่ได้ มิเช่นนั้น สังคมนั้นคงเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและรู้สึกไม่มั่นคงว่า ถ้ารัฐล่วงรู้ว่าตนคิดไม่เหมือนกับรัฐ แล้วตนจะถูกรัฐนั้นจัดการอย่างไร

 

ระบบยุติธรรมไทยสมควรถูกตั้งคำถาม หากมีการใช้พยานหลักฐานที่ไม่โปร่งใส

นอกจากเรื่องความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงพยานหลักฐานที่ไม่โปร่งใสย่อมส่งผลเสียต่อระบบยุติธรรม หากพยานหลักฐานที่มาจากกระบวนการที่ไม่ปกติ หรือไม่ได้มาตรฐานสากล ย่อมมีความเป็นไปได้ที่พยานหลักฐานนั้นจะมีข้อพิรุธและไม่สมควรถูกนำมาใช้เป็นหลักฐาน

ที่ผ่านมา คดีของผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ก็มีกรณีที่ศาลยกฟ้องจากพยานหลักฐานที่ไม่โปร่งใส อย่างเช่น คดีของสุรภักดิ์ โดยสุรภักดิ์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตั้งชื่อว่า “เราจะครองxxx” ซึ่งเขียนข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยฝ่ายโจทก์อาศัยหลักฐานทางเทคโนโลยี เช่น ร่องรอยการเข้าใช้เฟซบุ๊กเพื่อพิสูจน์ตัวตนของผู้กระทำผิด แต่สุรภักดิ์ก็ได้ต่อสู้ให้ศาลเห็นได้ว่า หลักฐานนั้นเกิดจากการทำปลอม เพราะเฟซบุ๊กตั้งระบบให้ไม่ปรากฏร่องรอยการใช้งาน 

ท้ายที่สุด ทั้งสามศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกาสั่งยกฟ้อง เนื่องจากตรวจไม่พบประวัติการใช้อีเมลและเฟซบุ๊กจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในวันที่โพสต์ข้อความ และมีข้อพิรุธว่า มีการทำหลักฐานปลอมไปไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง อีกทั้งคอมพิวเตอร์ของกลางยังถูกเปิดหลังจากที่จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและยึดคอมพิวเตอร์ จึงทำให้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์มีข้อบกพร่องและกระทบต่อความน่าเชื่อถือ

ประเด็นหนึ่งในคดีของสุรภักดิ์ที่ศาลได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจก็คือ ศาลเห็นว่า คดีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นคดีที่มีความสำคัญและมีความอ่อนไหว จำเลยในคดีนี้ นอกจากจะถูกลงโทษทางอาญาแล้ว ยังจะถูกลงโทษโดยสังคมด้วย การพิเคราะห์พยานหลักฐาน จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนั้น การพิพากษาลงโทษจำเลยโดยที่พยานหลักฐานมีข้อพิรุธ นอกจากจะเป็นความอยุติธรรมต่อตัวจำเลยแล้ว ยังอาจเป็นเหตุสร้างความแตกแยกในสังคมด้วย แต่ถึงอย่างนั้น สุรภักดิ์ก็ต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีเพราะไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี

จากคดีสุรภักดิ์ชวนให้มองย้อนกลับมาที่คดีของบุรินทร์และแม่จ่านิวหรือคดีอื่นๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันว่า หากศาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพิจารณาคดีแต่กลับมองข้ามพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบแล้วไซร้ เราจะไว้ใจกระบวนการยุติธรรมได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในยามที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร และผู้ต้องหาบางส่วนยังเป็นเป็นคู่ขัดแย้งของรัฐบาลโดยตรง