จากควบคุมตัววัฒนาสู่การจับกุมพลเมืองโต้กลับ: บททดสอบความจริงใจของ คสช. ก่อนไปถึง ‘ประชามติ’

ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าชื่อของวัฒนา เมืองสุข กำลังเป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นก็เพราะ เขาเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีชื่อปรากฎอยู่บนหน้าสื่อเป็นอันดับต้นๆ แต่ทว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเขาคือขาประจำที่ คสช. จะเรียกตัวเข้าค่ายทหาร ซึ่งที่ผ่านมาวัฒนาถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารอย่างน้อยสี่ครั้งและหลายครั้งมีสาเหตุมาจากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 
 
อย่างไรก็ดี การควบคุมตัววัฒนาครั้งล่าสุด คือวันที่ 18 เมษายน 2559 และดูเหมือนว่าการควบคุมตัวครั้งนี้จะถูกประชาชนเพ่งเล็ง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ออกมาจัดกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจควบคุมตัววัฒนาเพียงเพราะว่าวัฒนาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 
 
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจจากการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพลเมืองโต้กลับก็คือ ท่าทีของ คสช. เพราะไม่ใช่แค่ไม่รับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ แต่ คสช. ยังจัดการกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องด้วยการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปสถานีตำรวจเป็นการตอบแทน ถึงแม้ว่ากลุ่มพลเมืองโต้กลับจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา แต่ทว่า มันก็เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณบางอย่างจาก คสช. 
 
และท่าทีเหล่านี้คือจุดชี้ชะตา เพราะการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญกำลังใกล้เข้ามา อีกทั้ง คสช. จำเป็นต้องมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านเพื่อเป็นหลักประกันในความชอบธรรมของตนเอง ดังนั้น หากมีการรณรงค์ประชามติในแบบที่ คสช. ไม่ต้องการ คสช. จะจัดการกับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วยวิธีที่ทวีความเข้มข้นกว่านี้หรือไม่
 

วัฒนา เมืองสุข เด็กดื้อของคสช?

 
วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เคยถูก คสช. เรียกให้ไปรายงานตัวอย่างน้อย 5 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเรียกผ่านโทรทัศน์ตามคำสั่งคสช.ฉบับที่ 3/2557 หลังการรัฐประหาร ก่อนจะถูกเรียกปรับทัศนคติในเวลาไล่เลี่ยกันอีกสี่ครั้งจากการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัว ครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม 2559 หลังวัฒนาโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีกล่าวว่าทหารติดตามอดีตนายกยิ่งลักษณ์เพราะท่านสวย  ครั้งนั้นวัฒนาถูกควบคุมตัวในค่ายทหารหนึ่งคืนก่อนถูกนำตัวไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อตั้งข้อกล่าวหาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ 
 
หลังจากครั้งนั้นวัฒนาก็ถูกเรียกจากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและคสช.ในเวลาไล่เลี่ยกันอีกอย่างน้อยสามครั้ง ครั้งสุดท้ายมีเหตุมาจากการโพสต์ข้อความแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ วัฒนาเดินทางมารายงานตัวกับคสช.ในวันที่ 18 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 13.00 น. พร้อมประกาศ คสช.ไม่มีอำนาจควบคุมตัวเขา เพราะเขาไม่ได้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง และเขาแจ้งกับคสช.แล้วว่าต้องการออกมาในเวลาบ่ายสามโมง ดังนั้น หากคสช.ไม่ปล่อยเขาภายในเวลาบ่ายสามโมงก็ถือว่า คสช. ใช้กำลังบังคับควบคุมตัวโดยไม่ชอบ
 
การเดินทางเข้ารายงานตัวกับคสช.ของวัฒนาในวันที่ 18 เมษายน ได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในและต่างประเทศ สำนักข่าวบีบีซีรายงานข่าวการควบคุมตัวครั้งนี้พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การปรับทัศนคติเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาให้จัดการผู้เห็นต่าง แต่ก็ไม่อาจทำให้วัฒนาคลายความ “ดื้อ” ลงไปได้ เท่าที่มีข้อมูล วัฒนาเป็นบุคคลรายแรกที่ถูกเรียกเข้าค่ายทหารเนื่องจากการแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่าในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังไปสู่การทำประชามติ คสช. จะใช้มาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้นกับผู้เห็นต่าง
 

พลเมืองโต้กลับ: ข้อสอบ PRE-TEST ของคสช. 

 
การควบคุมตัววัฒนาในวันที่ 18 เมษายนกลายเป็นประเด็นต่อเนื่องเมื่อกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โดย อานนท์ นำภา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในช่วงเย็นวันเดียวกันว่า หากวัฒนาไม่ได้รับการปล่อยตัวในช่วงเที่ยงวันที่ 19 เมษายน ทางกลุ่มจะจัดกิจกรรมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการควบคุมตัวโดยอำเภอใจครั้งนี้ในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 19 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 
 
 
เจ้าหน้ากองร้อยปราบจลาจลหญิง (กองร้อยน้ำหวาน) เข้าตรึงกำลังบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 
 
แม้ในช่วงเช้าวันที่ 19 เมษายน  พล.อ.ประวิตร รมว.กลาโหมจะออกมาปรามว่าการชุมนุมของพลเมืองโต้กลับทำไม่ได้และวัฒนาก็ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่อย่างดี แต่พลเมืองโต้กลับก็ตัดสินใจเดินหน้ากิจกรรมต่อ โดยอานนท์ โพสต์ข้อความหลังเที่ยงวันที่ 19 เมษายน ยืนยันทำกิจกรรมต่อเพราะวัฒนายังไม่ได้รับการปล่อยตัว การประกาศจัดการชุมนุมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับสวนทางกับการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประวิตร เป็นหมุดหมายที่น่าจับตาว่าคสช.จะเริ่มใช้ไม้แข็งจัดการกับผู้เห็นต่างดังที่สำนักข่าวบีบีซีตั้งข้อสังเกตไว้หรือไม่    
 
จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์การจัดกิจกรรมของไอลอว์ พบว่า ตำรวจเข้ามาประจำการบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งแต่ช่วง 17.00 น. จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มอ่านแถลงการณ์บนสกายวอล์คฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี มีตำรวจหญิงประมาณ 30 คน มากันตัวผู้ชุมนุมห้าคน ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และณัฐภัทร อัคฮาด ไปขึ้นรถ ขณะที่พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของณัฐภัทร ขอตามไปด้วย ทั้งห้าคนจึงถูกนำไปส่งที่สน.พญาไท
 
อานนท์ นำพา และ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ สองในห้าสองในห้าผู้ชุมนุมที่ถูกจับขณะถูกควบคุมตัวขึ้นรถตำรวจ
แม้จะมีการจับตัวแกนนำจากที่ชุมนุมแต่กิจกรรมยังคงดำเนินต่อไป ผู้ชุมนุมบางส่วนตะโกนให้ปล่อยตัววัฒนาพร้อมกับชูสัญลักษณ์สามนิ้ว ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไปปรากฎว่ามีผู้เห็นต่างมาตะโกนแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมจนเกิดความตึงเครียด แต่ก็ไม่ได้มีเหตุกระทบกระทั่งกันแต่อย่างใด การชุมนุมดำเนินไปถึงช่วง 19.30 ตำรวจจึงเริ่มยึดพื้นที่บริเวณสกายวอล์คพร้อมกับประกาศให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลออกไป การชุมนุมจึงยุติลง
 
สำหรับแกนนำที่ถูกจับตัว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่นำตัวไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท โดยมีนักข่าวและประชาชนส่วนหนึ่งติดตามไปด้วย ไม่นานก็มีทหารมารับตัวทั้งห้าออกจากสถานีตำรวจไป เบื้องต้นมีการคาดการณ์กันว่าทั้งห้าจะถูกนำตัวไปที่มทบ.11 แต่ภายหลังก็มีรายงานว่าแกนนำทั้งห้าได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหาในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยทหารพาไปทำประวัติในค่ายทหารบริเวณสนามเป้า และพามาปล่อยตัวบริเวณ บิ๊กซี สาขาสะพานควาย 
 
ดูเหมือนว่าในภาพรวมคสช.จะยังรับมือกับการแสดงออกของกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้อย่างละมุนละม่อม ไม่ให้จัดกิจกรรมแสดงออกได้โดยสะดวกแต่ก็ไม่ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย 
 
 
หลังผู้ชุมนุมห้าคนถูกควบคุมตัวออกจากพื้นที่ ผู้ชุมนุมที่เหลือยังคงปักหลักทำกิจกรรมต่อบริเวณสกายวอล์คฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี
 
อย่างไรก็ตามจากการสังเกตการณ์ของไอลอว์ การทำข้อสอบ Pre-Test ของคสช.ครั้งนี้มีข้อน่ากังวลที่ต้องยกขึ้นมา่พูดถึงอย่างน้อยสองข้อ ได้แก่ 
 
1. การรับมือเมื่อมีการเผชิญหน้าระหว่างฝูงชนที่เห็นต่าง แม้การชุมนุมครั้งจะไม่มีการเผชิญหน้าที่รุนแรงเหมือนกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ แต่เจ้าหน้าที่ภาคสนามของไอลอว์รายงานว่า ในขณะที่ผู้ชุมนุมกับคนที่ขายของในบริเวณนั้นบางส่วนเริ่มตะโกนต่อว่ากัน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีทีท่าจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อคลายความตึงเครียดระหว่างสองฝ่าย 
 
2. การจับกุมและควบคุมตัวกลุ่มพลเมืองโต้กลับในครั้งนี้ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องการใช้อำนาจ และเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ กล่าวคือ หากเป็นการจับกุมตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ต้องเป็นการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งมา และต้องเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่ทว่า จากข้อเท็จจริงกลับพบว่า การจับกุมเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งหมายความว่าเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวต้องหลุดพ้นไปจากอำนาจของทหารตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558
 
นอกจากนี้ ในการควบคุมตัวกลุ่มพลเมืองโต้กลับของเจ้าหน้าที่ทหารภายหลังการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ กล่าวคือ ปลายทางของการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารคือส่งคืนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้ง การควบคุมตัวต้องเป็นไปเพราะ เรียกบุคคลมาสอบถามข้อมูล แต่ทว่าในข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ต้องสงสัยได้อยู่อำนาจของตำรวจแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องส่งกลับไปให้เจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งไม่มีการเปิดว่าที่ควบคุมตัวไปนั้น เป็นการใช้อำนาจเรียกตัวบุคคลไปสอบถามข้อมูลด้วยหรือไม่
 
จากทั้งสองประเด็นนี้จึงทำให้เกิดความกังวลว่า การรับมือต่อการรณรงค์ประชามติในอนาคตจะเสี่ยงต่อการใช้อำนาจที่มิชอบซึ่งถิอเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกลายเป็นความรุนแรงในท้ายที่สุดหรือไม่
 

การรณรงค์ประชามติข้อสอบสนามจริงที่กำลังจะเข้ามา

 
แม้คสช.จะรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้อย่างละมุนละม่อม แต่ก็ยังต้องจับตาต่อไปในอนาคตอันใกล้ว่า เมื่อการทำประชามติงวดเข้ามาและมีการเคลื่อนไหวของประชาชนอีกหลายกลุ่มคสช.จะจัดการอย่างไร เพราะหากเปรียบการควบคุมการชุมนุมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นข้อสอบ PRE-TEST การชุมนุมหรือรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงที่การลงประชามติใกล้เข้ามาจะเป็นข้อสอบสนามจริงที่ยากและซับซ้อนกว่ามาก
 
การชุมนุมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นการชุมนุมของคนกลุ่มเล็ก การควบคุมของเจ้าหน้าที่จึงไม่ยากจนเกินไป นอกจากนี้ ประเด็นที่ผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องย่อมเป็นผลดีต่อ คสช. ในแง่ของการอ้างความชอบธรรมในการลงประชามติ เพราะหากการลงประชามติเป็นไปอย่างไม่เสรี หรือประชาชนไม่มีเสรีภาพในการความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากที่ผู้มีอำนาจ การประชามติครั้งนั้นก็ไม่มีทางจะสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนออกมาได้
 
อย่างไรก็ตาม การสอบสนามจริงอย่างการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะแตกต่างออกไปเพราะมีตัวแสดงที่มากขึ้นโดยดูจากจำนวนองค์กรที่ออกมาแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากนี้หลายองค์กรต่างก็มีจุดยืนในการคัดค้านที่ต่างกัน การชุมนุมหรือรณรงค์ที่อาจจะเกิดจึงไม่น่าจะรวมศูนย์และกระจัดกระจาย ถึงแม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวจะไม่เข้มแข็งเหมือนการเคลื่อนไหวรวมศูนย์แต่ก็จะยากแก่การคาดเดาสำหรับ คสช. ที่จะจัดการและประครองอำนาจ 
 
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ คสช. จะใช้ไม้แข็งอย่าง “หลักสูตรปรับทัศนคติ” ที่คสช. ออกมาชี้แจ้ง หรือการบังคับใช้กฎหมายใหม่อย่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ซึ่งบัญญัติข้อห้ามรณรงค์ไว้อย่างคลุมเคลือ เช่น ผู้ใดเผยแพร่ข้อมูลผิดจากข้อเท็จจริง ก้าวร้าว รุนแรง ข่มขู่ หรือปลุกระดม ให้ไปใช้สิทธิแบบใดหรือไม่ใช้สิทธิ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ