สำรวจกฎหมายไทย-ระหว่างประเทศ ทหารลักพาตัวแอดมินเพจไป 8 วัน ผิดกฎหมายอะไรบ้าง

จากข่าวร้อนในช่วงหลายวันที่ผ่านมา กรณีทหารและตำรวจกว่า 30 นายบุกเข้าจับกุมตัว สราวุธ บำรุงกิตติคุณ ผู้ดูแลเพจ“เปิดประเด็น” ไปจากบ้านพักในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2559 จนกระทั่งปล่อยตัวในวันที่ 16 มีนาคม 2559 โดยให้ญาติมารับจากค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. ทั้งการจับกุมและควบคุมตัวรวมแปดวัน เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ปฏิบัติฝ่าฝืนทั้งกฎหมายของไทยที่ใช้บังคับอยู่ ฝ่าฝืนประกาศที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอง และฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ขณะเข้าควบคุมตัวที่บ้านพัก เมื่อ 9 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเข้าจับกุม ไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัวที่จะพาสราวุธไป ไม่ได้แสดงหมายจับ และระหว่างการควบคุมตัวญาติไม่สามารถติดต่อกับสราวุธได้ รวมถึงได้รับการปฏิเสธที่จะทราบชะตากรรมของสราวุธระหว่างถูกควบคุมตัว
เมื่อสราวุธถูกปล่อยตัว ทหารได้คืนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือที่ยึดไปตรวจสอบ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาว่าสราวุธกระทำความผิดข้อหาใด
สราวุธ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า  เขายินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจอุปกรณ์ทุกอย่างเพราะเชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด เขาทราบว่าถูกควบคุมตัวที่ มทบ. 11 และยืนยันว่า ได้รับการดูแลและปฏิบัติอย่างดี แต่สิ่งที่กระทบความรู้สึกคือ เขาไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะถูกควบคุมตัวนานแค่ไหน และกำลังถูกตรวจสอบเรื่องอะไร สำหรับข้อตกลงก่อนปล่อยตัวนั้น เขาระบุว่า ต้องยุติการทำเพจ
สถานการณ์ปัจจุบันกฎหมายไทยที่คุ้มครองสิทธิมีไม่มาก แต่กฎหมายระหว่างประเทศยังทำงานได้
กรณีของสราวุธ ไม่ใช่กรณีแรกหรือกรณีเดียวที่เกิดขึ้นภายใต้ยุครัฐบาลคสช. ทั้งระหว่างที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและระหว่างที่บังคับใช้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แทนกฎอัยการศึก คนจำนวนมากถูกปฏิบัติในลักษณะคล้ายกันกับสราวุธ คือ ถูกทหารและตำรวจบุกไปจับกุมที่บ้านพัก ถูกยึดเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปตรวจสอบ ถูกลักพาตัวไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาและสถานที่ควบคุมตัว ถูกควบคุมตัวเพื่อการสอบสวนในสถานที่ปิดลับโดยไม่ให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยม และในการปล่อยตัวต้องลงชื่อในข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
กรณีที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันไม่มีรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่รับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานเอาไว้ มีเพียงมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เขียนรับรองไว้ว่า สิทธิเสรีภาพบรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว  ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งก็ยังเป็นการคุ้มครองที่คลุมเครือ
นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐยังปฏิบัติการโดยอ้างอิงอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่เพิ่มอำนาจให้กับทหารเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ฯ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน และความผิดตามประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ด้วย
ดังนั้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนภายใต้ยุคของรัฐบาล คสช.  จึงต้องพิจารณาลงรายละเอียดของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในกรณีปกติ  เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ประกอบกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าผูกพันด้วย
UDHR – ICCPR หลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีอยู่มากมาย ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศจะมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ก็ต่อเมื่อประเทศไทยได้ลงนามเข้าไปเป็นรัฐภาคีของกฎหมายนั้นๆ แล้ว แต่กฎหมายระหว่างประเทศแต่ละฉบับก็จะมีสถานะและสภาพการบังคับใช้แตกต่างกันออกไป ที่น่าสนใจมีดังนี้
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ Universal Declaration of Human Rights (UDHR) เป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรอง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ซึ่งร่างขึ้นเนื่องจากหลังเหตุการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงและโหดร้ายทารุณต่อมนุษยชาติ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ต้องการให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก จึงจัดตั้งองค์กรสหประชาชาติขึ้น และผลักดันให้องค์การสหประชาชาติเร่งกำหนดแนวทางคุ้มครองสิทธิมนุษชนขึ้นมา
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษชนแห่งสหประชาชาติวางหลักการที่สำคัญ รับรองสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ จำนวน 30 ข้อ แต่ไม่มีพันธะผูกพันในแง่ของกฏหมายระหว่างประเทศ และไม่มีกลไกการบังคับใช้หากมีประเทศใดฝ่าฝืน
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2519 (ค.ศ.1976) โดยประเทศไทยลงนามเข้าเป็นภาคี ตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2539 ICCPR ถูกร่างขึ้นเนื่องจากหลักการใน UDHR เป็นเพียงหลักการกว้างๆ ที่ยังไม่มีกลไกการบังคับใช้ได้จริง จึงต้องร่างกติกาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดรายละเอียดของสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองให้ชัดเจนขึ้น โดยอ้างอิงมาจากหลักการของ UDHR และกำหนดกลไกการบังคับใช้หากรัฐใดฝ่าฝืนกติกาด้วย
ICCPR กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยมีที่มาจากการลงคะแนนเลือกบุคคลที่รัฐภาคีเสนอชื่อเข้ามา และประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีของ ICCPR จะต้องเสนอรายงานต่อคณะกรรมการว่าได้ปฏิบัติอย่างไรบ้างตามกติกาฉบับนี้ และคณะกรรมการจะส่งความเห็นกลับไปยังประเทศนั้นๆ หากเห็นว่ากติกาข้อใดไม่ถูกนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร
นอกจากนี้ ถ้าประเทศที่เป็นภาคีของ ICCPR เห็นว่าประเทศอื่นฝ่าฝืนกติกาของ ICCPR ก็มีสิทธิแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังประเทศนั้นๆ เพื่อให้แก้ไขได้ หากระหว่างสองประเทศหาข้อยุติไม่ได้ก็จะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการทำรายงานความเห็น หากยังไม่มีข้อยุติก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการประนีประนอมเฉพาะกิจขึ้นมาหาข้อยุติด้วยกันอีก
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ASEAN Human Rights declaration (AHRD) จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights (AICHR) โดยผู้นำของประเทศอาเซียนทั้งสิบลงนามรับรองร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2555
ภายใต้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในอันเป็นหลักการใหญ่ของชาติอาเซียน ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นเอกสารทางการเมืองที่ไม่มีข้อผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แม้ในระดับอาเซียนจะมีคณะกรรมการ AICHR อยู่แต่คณะกรรมการนี้ก็ไม่มีอำนาจบังคับใช้หลักปฏิญญาโดยตรง คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่เพียงการส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนฉบับต่างๆ จัดการศึกษา ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นๆ เฉพาะเมื่อได้รับการร้องขอ เท่านั้น
วิเคราะห์การกระทำกรณีสราวุธ กับกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
จากพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในกรณีของสราวุธ พอจะแบ่งประเด็นเพื่อวิเคราะห์การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ได้เป็น 4 ประเด็น สำหรับการวิเคราะห์ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ การเข้าจับกุมตัว การควบคุมตัว การตรวจค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก
ประเด็นแรก การเข้าจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจที่บ้านพักซึ่งเป็นสถานที่รโหฐาน โดยไม่แสดงหมายจับจากศาล ไม่ระบุเหตุผลในการจับกุม ไม่เปิดเผยสถานที่ที่จะพาตัวไป โดยไม่ใช่การจับกุมขณะที่ผู้ถูกจับกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้า เข้าลักษณะที่เป็นการจับกุมบุคคล “ตามอำเภอใจ” อาจขัดกับหลักกฎหมายหลายประการ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
1. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 4. 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 4. (2) ระบุว่า เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจจับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป ซึ่งหมายถึงทหารจะจับกุมตัวใครได้ก็ต่อเมื่อพบเห็นขณะกำลังกระทำความผิดเท่านั้น แต่หากเป็นกรณีสงสัยว่ากระทำความผิดอื่น จะเข้าจับกุมทันทีไม่ได้ ต้องดำเนินการขอหมายจับจากศาลก่อน แต่กรณีการจับกุมสราวุธไม่ใช่การจับกุมจากการกระทำความผิดซึ่งหน้า และไม่มีหมายจับจากศาล
2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78, 81, 83 
ป.วิ.อาญา มาตรา 78 ระบุว่า การจับกุมบุคคลตามขั้นตอนปกตินั้นต้องมีหมายจับจากศาล ยกเว้นเป็นความผิดซึ่งหน้า หรือเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน มาตรา 81 ระบุว่า การจับบุคคลในบ้านพัก หรือในสถานที่ของเอกชนก็ต้องมีหมายค้นจากศาลเพื่อที่จะเข้าไปในสถานที่นั้นๆ ประกอบด้วย แต่ในกรณีของสราวุธ ไม่ปรากฏว่ามีความผิดซึ่งหน้า ไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ ไม่ปรากฏว่ามีหมายจับและหมายค้นจากศาล
นอกจากนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 83 ยังกำหนดว่า ในการจับนั้น เจ้าพนักงานต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับว่าเขาต้องถูกจับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ และถ้าผู้ถูกจับต้องการแจ้งให้ญาติหรือผู้ที่ไว้วางใจทราบก็สามารถดำเนินการได้ แต่กรณีการจับกุมสราวุธไม่ปรากฎว่าขณะเข้าจับกุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนและแจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับทราบอย่างครบถ้วนตามมาตรา 83
3. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 3. 
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล และข้อ 9 ซึ่งระบุว่า บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ข้อ 9.
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ข้อ 9. ระบุว่า
   1. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
   2. ในขณะจับกุม บุคคลที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน
5. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ข้อ 12.
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ระบุว่า ข้อ 12. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยส่วนบุคคล บุคคลใดจะถูกจับกุม ค้น กักขัง ลักพาตัว หรือถูกพรากอิสรภาพในรูปแบบอื่นใดโดยอำเภอใจมิได้
ประเด็นที่สอง การควบคุมตัวสราวุธเป็นเวลา 8 วันเพื่อสอบสวน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาอันเป็นเหตุที่ทำให้ถูกควบคุมตัวอย่างชัดเจน และไม่แจ้งว่าจะต้องถูกควบคุมตัวนานเท่าใด ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวให้ญาติรับรู้ ไม่อนุญาตให้ติดต่อญาติและทนายความ เข้าลักษณะที่เป็นการคุมขังบุคคล “ตามอำเภอใจ” อาจขัดกับหลักกฎหมายหลายประการ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
1. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6. 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6. ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน
กรณีของสราวุธ แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าใช้อำนาจการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6. เพื่อควบคุมตัวไว้สอบสวนได้ ไม่เกินเจ็ดวัน แต่เมื่อสราวุธถูกปล่อยตัวเมื่อล่วงเข้าวันที่แปด การควบคุมตัวจึงไม่เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6.
2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 9.
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)  ระบุว่า ข้อ 9. บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือ เนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ข้อ 14 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า ข้อ 14.
   3. ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค
         (ก) สิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหา ในภาษาซึ่งบุคคลนั้นเข้าใจได้
         (ข) สิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อต่อสู้คดี และติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้
4. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ข้อ 12. 
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD)  ระบุว่า ข้อ 12. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยส่วนบุคคล บุคคลใดจะถูกจับกุม ค้น กักขัง ลักพาตัว หรือถูกพรากอิสรภาพในรูปแบบอื่นใดโดยอำเภอใจมิได้
5. อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย หรือ International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED) ข้อ 1, 2
อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (CED) ระบุว่า ข้อ 1. บุคคลจะถูกกระทำให้หายสาบสูญโดยถูกบังคับไม่ได้ โดยไม่มีข้อยกเว้นแม้ในพฤติการณ์พิเศษ สภาวะสงคราม หรือภาวะฉุกเฉินอื่นใด สภาพคุกคามที่จะ โดยอนุสัญญานี้ข้อ 2. กำหนดนิยามว่า “การหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย
กรณีการควบคุมตัวสราวุธมีลักษณะปกปิดสถานที่ควบคุมตัวและชะตากรรมของคนที่ถูกควบคุมตัว และยังมีพฤติการณ์ที่รัฐออกมาปฏิเสธการควบคุมตัว โดยเมื่อ 12 มีนาคม 2559 พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน และไม่ทราบว่า สราวุธถูกทหารเชิญตัวไปจริงหรือไม่ และถูกเชิญตัวด้วยเหตุผลใด ดังนั้น กรณีการควบคุมตัวสราวุธจึงเป็นการจับกุมและควบคุมตัวที่เข้าข่ายการบังคับให้สูญหาย ซึ่งขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย
6. ชุดหลักการว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนภายใต้การควบคุมตัวและการคุมขังทุกรูปแบบ หรือ  The Body of Principles for the Protection of All Persons under any Form of Detention or Imprisonment, 1988 หลักการที่ 12, 16 
ชุดหลักการว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนภายใต้การควบคุมตัวและการคุมขังทุกรูปแบบ ไม่ใช่สนธิสัญญาที่ไทยต้องลงนามเข้าเป็นภาคีแต่เป็นมาตรฐานสากลที่ผ่านการลงคะแนนรับรองโดยเสียงข้างมากของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติให้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังทุกรูปแบบ ซึ่งระบุว่า หลักการที่ 12
   1. จะต้องมีการบันทึกอย่างดีในส่วนต่อไปนี้
          ก. เหตุผลในการจับกุม
          ข. เวลาจับกุม การนำตัวผู้ถูกจับไปสถานที่ควบคุมตัว การปรากฏตัวครั้งแรกต่อเจ้าหน้าที่ศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่น
          ค. รายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
          ง. ข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับสถานที่ควบคุมตัว
   2. บันทึกเหล่านี้จะต้องมีการให้ข้อมูลกับผู้ถูกควบคุมตัว และทนายความ ตามที่กฎหมายกำหนด
หลักการที่ 16 ระบุว่า ทันทีหลังการจับกุมและระหว่างการนำตัวจากสถานที่คุมขังหนึ่งไปยังอีกแห่ง ผู้ถูกควบคุมตัวจะมีสิทธิในการแจ้งด้วยตัวเอง หรือให้เจ้าหน้าที่แจ้งคนในครอบครัวหรือผู้อื่นที่ประสงค์ เกี่ยวกับการจับกุม, ควบคุมตัว, การส่งตัว และสถานที่ที่ถูกควบคุมตัว
7. หลักการว่าด้วยการป้องกันและการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในการวิสามัญฆาตกรรม การลงโทษประหารชีวิตโดยปราศจากเหตุอันควรและรวบรัดตัดตอน  หรือ The Principles on the Effective Prevention and Investigation of Extra-legal, Arbitrary and Summary Executions, 1989 ข้อ 6. 
หลักการว่าด้วยการป้องกันและการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในการวิสามัญฆาตกรรม การลงโทษประหารชีวิตโดยปราศจากเหตุอันควรและรวบรัดตัดตอน ไม่ใช่สนธิสัญญาที่ไทยต้องลงนามเข้าเป็นภาคีแต่เป็นมาตรฐานสากลที่ผ่านการลงคะแนนรับรองโดยเสียงข้างมากของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติให้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการลงโทษประหารชีวิตโดยไม่มีเหตุสมควรซึ่งระบุว่า ข้อ 6. รัฐบาลจะประกันว่าผู้ที่ถูกลิดรอนเสรีภาพนั้นถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่ทางการประกาศไว้อย่างเป็นทางการ และข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัว ชะตากรรม รวมทั้งการส่งตัวที่ถูกต้องแม่นยำ จะถูกจัดทำขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ญาติ ทนายความและคนที่ไว้วางใจสามารถเข้าถึงได้
ประเด็นที่สาม การยึดโทรศัพท์มือถือ และเครื่องคอมพิวเตอร์ของสราวุธไปเพื่อตรวจสอบการใช้งานและการสื่อสาร โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายใด
ข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น หรือข้อมูลที่ระบุประวัติว่าเคยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ หรืออินเทอร์เน็ตอย่างไร และเมื่อไรบ้าง เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เป็นพื้นที่ความเป็นส่วนตัวที่รัฐไม่อาจเข้ามาแทรกแซงหรือล่วงรู้ได้โดยไม่มีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจไว้ แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ ความเป็นส่วนตัว แต่การที่เจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ของสราวุธไปตรวจสอบ ก็เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของสราวุธ ซึ่งอาจขัดกับหลักกฎหมายหลายประการ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 18, 19 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีหลักการในมาตรา 18 ว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลส่งมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิด
โดยขั้นตอนการใช้อำนาจที่กล่าวมานี้ มาตรา 19 กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดมอบให้เจ้าของคอมพิวเตอร์ที่จะยึดไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วต้องส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 48 ชั่วโมง
ในเมื่อกฎหมายพิเศษอย่าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่ได้ให้อำนาจใดๆ เป็นพิเศษแก่เจ้าพนักงานในการตรวจค้นคอมพิวเตอร์ หรือตรวจค้นข้อมูลการสื่อสารของประชาชนได้ ดังนั้น การตรวจค้นข้อมูลเหล่านี้จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 ซึ่งกำหนดว่า การยึดเครื่องคอมพิวเตอร์และการตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ข้างในคอมพิวเตอร์ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน และในขั้นตอนการตรวจค้นต้องทำบันทึกมอบไว้ให้กับเจ้าของคอมพิวเตอร์ และยังต้องรายงานผลการตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อศาลด้วย แต่ในกรณีของสราวุธไม่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้เลย
2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 12. 
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ระบุว่า ข้อ 12 บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจ ในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น
3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17. 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า ข้อ 17 บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงหรือลบหลู่เช่นว่านั้น
4. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ข้อ 21. 
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ระบุว่า ข้อ 21. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นอิสระจากการแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร ซึ่งรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือการดูหมิ่นเกียรติและชื่อเสียงของบุคคลนั้น บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการแทรกแซงหรือการดูหมิ่นดังกล่าว
ประเด็นที่สี่ การที่สราวุธ ถูกจับกุมเนื่องมาจากเขาทำเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เปิดประเด็น” ที่นำเสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยสราวุธต้องทำข้อตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่ก่อนปล่อยตัวว่า เขาต้องยุติการทำเพจ เท่ากับว่าการจับกุมและควบคุมตัวสราวุธเป็นไปเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบัน แม้ปัจจุบันมีเพียงมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เขียนรับรองเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างคลุมเครือ โดยยังไม่มีรัฐธรรมนูญที่จะรับรองคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 ก็รับรองสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย การกระทำเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ จึงอาจขัดกับหลักกฎหมายหลายประการ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 19. 
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ระบุว่า ข้อ 19. ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและ ข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน
2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า ข้อ 19
   1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
   2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน
แม้ว่าข้อย่อย 3. จะระบุว่า 3. การใช้สิทธิของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย อาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง โดยข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ (ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น (ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน แต่กรณีของสราวุธเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยอ้างว่าการแสดงความคิดเห็นของสราวุธขัดต่อกฎหมายฉบับใด ที่คุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่นหรือความมั่นคงของชาติ
3. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ข้อ 23. 
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ระบุว่า ข้อ 23. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพที่จะมีข้อคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และมีสิทธิในการแสวงหา ได้รับและส่งข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นทางวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือผ่านสื่ออื่นใดตามทางเลือกของบุคคลนั้น
4. อนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องและสนับสนุนความหลากหลายทางการแสดงออกทางวัฒนธรรม หรือ Convention on the Protection and Promotion of the Diversity of Cultural Expressions 2005 มาตรา 2
อนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องและสนับสนุนความหลากหลายทางการแสดงออกทางวัฒนธรรม ระบุว่า มาตรา 2  ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะได้รับการคุ้มครองและปกป้อง หากสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพในการแสดงออก ข้อมูลและการสื่อสารและศักยภาพของบุคคลในการเลือกสื่อสารทางวัฒนธรรมนั้นต่างได้รับการประกัน ห้ามอ้างอนุสัญญานี้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพฯ ดังที่ระบุไว้ใน UDHR หรือรับประกันไว้โดยกฎหมายระหว่างประเทศหรือ อ้างเพื่อจำกัดเสรีภาพนี้ในตัวเอง
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ UNESCO ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ ขณะที่อย่างน้อย 141 ประเทศได้ลงนามเข้าร่วมแล้ว ซึ่งพอจะถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กฎหมายที่ควรจะเป็นหลักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ และยังมีกฎหมายพิเศษอย่าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยก็ไม่มีอำนาจที่จะทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด เจ้าหน้าที่รัฐยังคงต้องดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกรอบของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่ง คสช. ประกาศขึ้นใช้เองแล้ว ก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเจ้าหน้าที่รัฐไทยก็ยังคงต้องเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับกันในระดับสากลอีกด้วย