ปิยะ: ความหวังของพ่อ รอยยิ้มของปิยะ…ที่เลือนหายไป

“ผมรับไม่ได้ครับ ผมไม่ได้ทำ ผมไม่รู้เรื่องจริงๆ” ปิยะพูดด้วยนำเสียงที่หนักแน่นแต่สดใด น้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยกำลังใจนี้เองที่ส่งให้การต่อสู้คดียืดยาวมาปีเศษ
ปิยะเป็นชายวัยกลางคน รูปร่างสูงใหญ่ บุคลิกเหมือนคนมีการศึกษาและมีฐานะ เวลาตอบคำถามก็พูดจาฉะฉานชัดเจนแสดงถึงความมั่นใจในตัวเอง วันที่ถูกจับปิยะอายุ 48 ปี เขาจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยทำงานซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับธนาคารขนาดใหญ่ แต่เส้นทางธุรกิจของเขาผกผันต่อเนื่อง ก่อนถูกจับปิยะทำอาชีพอิสระเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมแอพลิเคชั่น
หลังผ่านประสบการณ์มาครึ่งค่อนชีวิต สิ่งที่ปรากฏเป็นจุดเด่นของปิยะเสมอ คือ “รอยยิ้ม” แม้ขณะพูดคุยเรื่องคดีความ หรือเรื่องคุกตาราง  ปิยะยังคงมีรอยยิ้มกว้างสดใส อยู่คู่กับตัวเขาเสมอ
“ปิยะมันเป็นคนมนุษย์สัมพันธ์ดี มันเป็นคนจิตใจดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น มีข้อเสียอย่างเดียว มันเชื่อคนง่าย” พ่อของปิยะเล่า
พ่อของปิยะอายุเจ็ดสิบกว่าปี เป็นลูกจีนแท้ๆ พูดจาเนิบช้าติดสำเนียงจีนเล็กน้อย พ่อของปิยะไม่ได้ร่ำรวยนัก เมื่อก่อนเคยประกอบอาชีพค้าขาย แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานแล้ว หลังปิยะถูกจับ พ่อของเขาเป็นคนเดียวที่คอยไปเยี่ยมที่เรือนจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และฝากเงินเป็นค่าใช้จ่ายให้ปิยะเดือนละ 2,000 บาท เนื่องจากบ้านอยู่ไกลจากเรือนจำ พ่อของปิยะจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อนั่งรถเมล์หลายต่อกว่าจะถึงที่หมาย แทบทุกครั้ง พ่อของปิยะจะต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับเกือบทั้งวันเพื่อเยี่ยมเจอหน้าลูกชายในเวลา 20 นาที
“ผมอายุเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว ยังไม่เคยขึ้นโรงขึ้นศาลเลย แม้แต่โรงพักก็ยังไม่เคยไปสักครั้ง ต้องมาทำอะไรแบบนี้ตอนแก่ มันทำใจยากจริงๆ” พ่อปิยะตัดพ้อด้วยความน้อยใจ
ปิยะถูกจับเมื่อ 11 ธันวาคม 2557 ตำรวจตั้งข้อหามาตรา 112 กล่าวหาว่าปิยะโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หลักฐานในคดีนี้มีเพียงภาพหนึ่งภาพ ซึ่งในภาพประกอบด้วยภาพย่อยๆ จากการแคปหน้าจอมือถือรวมอยู่ด้วยกัน มีภาพของปิยะ มีภาพถ่ายจากหน้าเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความหยาบคายอยู่ข้างๆ พระบรมฉายาลักษณ์ ในภาพนั้นเป็นเฟซบุ๊กที่ใช้รูปของปิยะเป็นรูปประจำตัวใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า “นายพงศธร บันทอน”
“ผมชื่อปิยะครับ ผมไม่ได้ชื่อพงศธร ผมไม่ได้ทำเฟซบุ๊กนี้ครับ ใครก็ไม่รู้เอารูปผมไปใช้” ปิยะบอกกับศาลในวันนัดสอบคำให้การ
ศาลบันทึกไว้ในสำนวนว่า จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา …
ภาพที่มีรูปของปิยะปรากฏอยู่ถูกแชร์ต่อกันบนเฟซบุ๊ก มีพลเมืองดีอย่างน้อยสามคนจากจังหวัดน่าน นครปฐม และกรุงเทพฯ เห็นภาพนี้แล้วทนไม่ได้จึงนำไปมอบให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดี ตำรวจทั้งสามท้องที่มีหลักฐานคือภาพใบเดียวกัน แต่ไม่มีทั้งพยานบุคคล หมายเลขไอพีแอดเดรส และเมื่อยึดโทรศัพท์กับคอมพิวเตอร์ของปิยะไปตรวจเจ้าหน้าที่ก็ไม่พบร่องรอยการเข้าถึงเฟซบุ๊กเจ้าปัญหา
ในชั้นพิจารณาคดี อัยการแสดงหลักฐานการเปลี่ยนชื่อที่บ่งบอกว่าปิยะเคยเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง และเคยสวมสิทธิเอาหมายเลขบัตรประชาชนของผู้อื่นมาใช้เป็นของตัวเองและใช้ชื่อ “นายพงศธร บันทอน” เป็นชื่อของเลขบัตรประชาชนนั้น ปิยะยอมรับต่อศาลว่าสาเหตุที่เปลี่ยนชื่อครั้งแรกเป็นเพราะความเชื่อเรื่องโชคลางหลังประสบอุบัติเหตุ ต่อมาต้องเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งเพราะเหตุผลทางด้านธุรกิจ แต่ยืนยันว่าไม่ได้โพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้อง
“ผมมีเฟซบุ๊กจริงๆ ของผมครับ ใช้ชื่อว่าปิยะ” ปิยะบอก
“รูปที่เขาเอาของผมไปจริงๆ เป็นรูปผมถ่ายคู่กับแฟน แต่เขาไปตัดแฟนออกแล้วเอารูปผมไปใช้ รูปนี้ผมก็ใช้ที่เฟซบุ๊กผม คุณดูสิ” ปิยะเล่าด้วยน้ำเสียงมั่นใจ เขาพูดถึงสิ่งที่เขาถูกกล่าวหาด้วยรอยยิ้ม
“ไม่รู้ครับ ผมไม่รู้จริงๆ ว่าใครจะทำแบบนี้กับผมทำไม” ปิยะตอบ เมื่อถูกถามว่าเคยมีเรื่องโกรธแค้นกับใครหรือไม่
พ่อของปิยะมีทรัพย์สินไม่มากพอ และตัดสินใจไม่ยื่นขอประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี ปิยะถูกคุมขังนานกว่าหนึ่งปี ก่อนศาลพิพากษา ปิยะอ่านคำฟ้องของเขา อ่านเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เขามีรอยยิ้มกว้างตลอดช่วงการพิจารณาคดี เพราะมั่นใจว่าจะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้
“คดีนี้ไม่มีอะไรเลยครับ คอมพิวเตอร์ของผมตรวจแล้วก็ไม่เจออะไร ผมมั่นใจครับ” ปิยะมีรอยยิ้มเต็มหน้า เมื่อพูดถึงการต่อสู้คดีของเขา
แม้ปิยะจะมั่นใจในคดีของเขา แต่สำหรับพ่อของเขาคดีความถือเป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะคดีของปิยะที่มีความซับซ้อนเพราะสู้กันด้วยหลักฐานทางอิเล็กทรอนิคส์และเฟซบุ๊ก
“ผมฟังไม่เข้าใจว่าตกลงเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เห็นปิยะมันบอกว่าเราได้เปรียบอยู่ ในเมื่อมันบอกว่ามันไม่ได้ทำ ผมก็เชื่อมัน” พ่อของปิยะให้ความเห็นต่อคดีความของลูกชาย
“ดูจากข้อความที่ปรากฏในภาพนี้ก็ค่อนข้างรุนแรง ผมเป็นคนมีการศึกษาครับ มีอาชีพสุจริต ผมไม่มีเหตุผลต้องทำอะไรแบบนี้” ปิยะเบิกความต่อศาล
12 พฤศจิกายน 2558 ขณะที่การต่อสู้คดี112จากการโพสต์เฟซบุ๊กยังไม่จบ ปิยะก็ถูกพาตัวไปที่ศาลอาญาโดยไม่ทันได้ตั้งตัว เขาถูกอัยการยื่นฟ้องคดีที่สองด้วยข้อหาเดิม คดีที่สองเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนส่งอีเมล์ไปยังอีเมล์ info ของธนาคารกรุงเทพ หลังอ่านคำฟ้องคดีที่สองเขายังยิ้มร่าได้อยู่เช่นเคย
“ผมปฏิเสธครับ ผมถูกใส่ร้าย อีเมล์ที่ส่งก็ไม่ใช่อีเมล์ของผม แล้วผมจะไปทำแบบนั้นทำไม” ปิยะยังเต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจ และรอยยิ้มกว้าง
ด้านพ่อของปิยะเมื่อทราบข่าวคดีที่สองของเขาเริ่มสงสัยในโชคชะตาของตัวเองและครอบครัว ความหวังที่เคยมีระหว่างการต่อสู้คดีแรกเริ่มเลือนลางออกไปเมื่อได้ยินข่าวคดีที่สอง
“ผมไม่รู้ว่าโชคชะตาหรืออะไรที่เล่นตลกกับเรา หรืออาจจะเป็นกรรมของผมตั้งแต่ชาติไหน” พ่อของปิยะตัดพ้อ
“ผมอ่านข้อความที่เขาฟ้องมันแล้ว คนปกติเขาไม่น่าจะทำอย่างนี้กันนะ ไอ้คนที่จะเขียนไปแบบนี้นี่ต้องเป็นบ้าเท่านั้นแหละ” พ่อปิยะให้ความเห็น หลังอ่านข้อความใส่ร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ ตามที่ปรากฏในคำฟ้อง ข้อความถูกเรียงขึ้นอย่างหยาบคายและไม่เป็นเหตุเป็นผล คนทั่วไปที่มีสติสปชัญญะสมบูรณ์อ่านแล้วย่อมทราบได้ว่าไม่เป็นความจริง และอีเมล์ที่เขียนขึ้นถูกส่งไปยังผู้รับที่เป็นหน่วยงานไม่ใช่บุคคล คดีที่สองของปิยะจึงดูแปลกพิศวงกว่าคดีแรก
“บอกพ่อให้หน่อยนะว่าไม่ต้องห่วง คดีนี้ผมไม่ได้ทำ ตอนนี้ผมอยู่ได้ บอกพ่อว่าผมไม่เป็นไร” ปิยะตะโกนผ่านลูกกรง ฝากมายังคนข้างนอกด้วยท่าทางสบายใจ
20 มกราคม 2559 ศาลนัดปิยะฟังคำพิพากษาคดีแรก แม้ในการสืบพยาน ศาลอาญาจะสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ แต่ในการอ่านคำพิพากษาก็ทำโดยเปิดเผย และมีสื่อมวลชนหลายสำนักมารอฟังคำพิพากษา 
ก่อนหน้านี้ศาลเคยเลื่อนการอ่านคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่ง โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญจึงต้องปรึกษากับอธิบดีผู้พิพากษาก่อน บรรยากาศแวดล้อมก่อนการอ่านนัดฟังคำพิพากษาจึงไม่สู้จะดีนักสำหรับปิยะแต่นั่นก็ยังไม่ทำให้รอยยิ้มบนใบหน้าของเขาจางหายไป
“ผมโดนเต็มๆ เลย นักข่าวเขามารอถ่ายรูปผมเต็มๆ เลย” ปิยะเล่าด้วยรอยยิ้มและสีหน้าตื่นเต้น
“ถ่ายก็ได้ครับไม่เป็นไร ผมไม่ได้ทำอะไรผิด วันนี้ผมมั่นใจนะครับ” ไม่กี่นาทีก่อนการอ่านคำพิพากษา ปิยะยังพูดอย่างมั่นใจ
“ข้อความที่ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์เข้าใจได้ทันทีว่ามีเจตนา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14” ศาลกล่าว
“พฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้มีการเปลี่ยนชื่อและสวมชื่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่อเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้อื่นสามารถทราบถึงตัวตนได้ พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) (5) ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ในฐานะกฎหมายที่มีโทษหนักสุด กำหนดโทษ 9 ปี เนื่องจากการให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อทางพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี” ส่วนหนึ่งจากเนื้อหาของคำพิพากษา ที่ศาลอ่านให้ฟัง
“ทำไมเอาตรงนี้มาตัดสินเรา ทั้งที่หลักฐานอื่นไม่มีเลย” ปิยะพูดเสียงอ่อย เขาไม่ยิ้มแล้ว ใบหน้าเขาดูเครียดและสับสน
“โอ้โห ทำไมต้องลงโทษกันขนาดนี้นะ ไม่ได้ไปฆ่าใครตายซะหน่อย” พ่อปิยะรำพึง
“ผมเป็นพ่อ ถ้ามันจะเอายังไงผมก็คงต้องแล้วแต่มัน เรื่องคดีผมไม่รู้จะทำยังไง ผมก็คงจะฝากเงินให้ทุกเดือนแล้วก็จะไปเยี่ยมมันแบบนี้แหละ” พ่อปิยะบอก
“ผมอุทธรณ์ครับ ผมต้องยืนยันว่าผมไม่ได้ทำ เพราะหลักฐานมันไม่มี ผมไม่สนใจเรื่องขออภัยโทษ” ปิยะก้มหน้าตอบ ไม่มีรอยยิ้มบนใบหน้าเขาอีกต่อไป