สมยศ: Give my Dad the right to Justice.

                                                                                                 1
บรรยากาศฟ้าโปร่งในแดดช่วงสาย ถนนรัชดาฯ กุมภาพันธ์ปีนั้นผมจำได้ดี แม้จะอยู่ใกล้ฤดูสอบปลายภาค แต่ด้วยนัดสำคัญต้องมาพบเพื่อนคนหนึ่ง เขากำลังอดอาหาร 112 ชั่วโมงเพื่อเรียกร้องให้ศาลให้สิทธิประกันตัวแก่พ่อของเขา ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตั้งแต่เมษายนปีที่แล้ว (2554) บริเวณด้านหน้าศาลอาญาวันนั้นคราคร่ำไปด้วยสื่อมวลชน นักกิจกรรม และผู้มาให้กำลังใจลูกชายของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษคดี 112 จากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารการเมืองฉบับหนึ่งที่มีบทความเผยแพร่เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง
การอดอาหารระหว่างวัน มีหลายคนเข้าไปเจอและคุยกับเขาด้วยความเป็นห่วงต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ นักข่าวหลายสำนักรอสัมภาษณ์ถึงที่มาและเหตุผลของกิจกรรมเพื่อพ่อนี้ เช่นเดียวกับผมและเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งที่มาพบเขาแม้เพียงไม่กี่นาที สภาพที่เริ่มอิดโรย ผมเผ้าถูกโกนโล้นเตียน ในเสื้อสีขาวสกรีนข้อความภาษาอังกฤษ “Give my dad be Right on bail.” สื่อตรงไปตรงมาถึงเรื่องที่ทำ เขาพยายามยกมือไหว้แสดงความขอบคุณทุกคนที่ไปพบในวันนั้น แม้กับคนที่ไม่รู้จักและเคยเห็นหน้าค่าตา ก่อนพวกเราจะลาจากเขา ซึ่งตอนนั้นแทบไม่มีเรี่ยวแรงจะพูดอะไร เพราะอดอาหารล่วงเข้าวันที่ 3 จากกำหนด 6 วันแล้ว ผมเหลือบไปเห็นบริเวณซุ้มที่เขาอยู่ มีภาพถ่ายเอกสารและสมุดบันทึกข้อความเพื่อฝากถึงลูกของสมยศ หลายคนเขียนชื่่นชมเขาเพราะเห็นถึงการแสดงออกอย่างสันติวิธี หลายคนทึ่งในหลักนิติศาสตร์ที่เขายึดถือ ทุกคนย่อมได้รับการพิสูจน์จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุด ขณะที่ผมยังอ่อนไหว ไม่แน่ใจ ในความถูกผิดหรือความรู้สึกนึกคิดต่อเหตุการณ์ที่พบเจอ มีเพียงข้อความผ่านเสียงข้างในจิตใจ เขียนทิ้งไว้เผื่อเขาจะได้อ่าน ใจความสั้นๆ …
“อาจไม่เห็นด้วย หรือรับรู้เข้าใจอุดมการณ์ทั้งหมด แต่ก็มาเป็นกำลังใจ ในฐานะเพื่อน”
                                                                                     2
หากย้อนหลังไปสองปีจากวันที่เขาอดอาหารประท้วง ผมพบ “เพื่อน” ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือไท ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เข้ามหาวิทยาลัย ครั้งแรกทราบจากเพื่อนบางคนว่า เขาคือลูกชายของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสูงในพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ เพราะผมเองก็ยังไม่ประสีอะไรนักกับการเมืองและช่วงนั้นสนใจประเด็นทางสังคมอื่นมากกว่า ระหว่างเราแม้จะอยู่กันคนละคณะ แต่กิจกรรมขณะเรียนทำให้พบเจอกันบ่อย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มล้อการเมือง ทำแคมเปญรณรงค์ต่อต้านรับน้องรุนแรง หรือแม้กระทั่งชุมนุมบนท้องถนนกรณีทวงค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงาน ซึ่งรัฐบาลพรรคที่ชนะเลือกตั้งในปีนั้นให้คำมั่นสัญญาไว้ เขาค่อนข้างมีความโดดเด่นกว่าคนอื่น ในฐานะผู้นำ กล้าคิด และเสนอสิ่งท้าทายต่อจารีตสังคมไทย โดยเฉพาะการติดป้ายผ้าบนสแตนด์เชียร์ของงานฟุตบอลประเพณีในปีหนึ่ง บนผ้ามีตัวอักษรเขียนไว้ว่า “Free SomYot” มีจุดประสงค์ให้สังคมตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมที่ครอบครัวเขาได้รับและรณรงค์ปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองในคดีอื่นๆ ถึงแม้สิ่งที่เขาได้รับตอบแทนตอนนั้นจะเป็นเสียงโห่ร้องและท่าทีไม่เห็นด้วยจากคนที่คิดเห็นแตกต่าง จากผู้คนที่มองว่าพวกเขาบ่อนทำลายสถาบันฯ
                                                                                    3
จากเหตุในงานฟุตบอลปีนั้น แม้ผมไม่ได้มีส่วนและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเขาเท่าไรนัก เพราะเห็นเป็นประเด็นที่ล่อแหลมและท้าทายสังคมเกินไป แต่กลับทำให้สนใจใคร่รู้เรื่องพ่อเขามากขึ้น เท่าที่ค้นและอ่าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข นอกจากเป็นบรรณาธิการนิตยสารเล่มหนึ่งแล้ว ยังมีอาชีพหลักทำธุรกิจทัวร์ท่องเที่ยวไปกัมพูชาและเดินทางไปกัมพูชาเป็นประจำ เขาถูกจับกุมที่ด่านอรัญประเทศขณะนำลูกทัวร์เดินทาง ก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภรรยาของเขาพยายามยื่นขอประกันตัวระหว่างเมษายน 2554 – กันยายน 2555 ไปมากกว่า 10 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลในทุกครั้งว่า คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นความผิดร้ายแรง กระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมของประชาชน ขณะเดียวกัน การพิจารณาคดีของสมยศถูกกำหนดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย เช่น สระแก้ว, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์ และสงขลา ทำให้เขาประสบความยากลำบากมากในการเดินทางระหว่างสู้คดี กระทั่งมกราคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกสมยศรวม 10 ปี จากความผิดสองกรรม
หลังวันพิพากษา องค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนทั่วโลกต่างร่วมประณามมาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมไทย ที่กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง คุกคามสิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการไม่ให้สิทธิประกันตัวนักโทษทางความคิด หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาคดีนั้น ผมและไท เราเจอกันที่มหาวิทยาลัยน้อยลง เพราะต่างคนต่างมุ่งทำกิจกรรมในทางที่ตนถนัด ผมมักไปออกค่ายอาสาตามต่างจังหวัดและติดตามเรื่องการเมืองบ้างอยู่ห่างๆ ขณะที่เขาปักหลักทำกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองอยู่ในกรุงเทพเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองที่เขาและครอบครัวเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ยังได้พบเจอและทักทายกันบ้างตามงานเสวนาวิชาการหรือการเมืองต่างๆ ที่เขามักมีส่วนร่วมจัด
                                                                                    4
กระทั่งเรียนจบ เราต่างแยกย้ายไปตามทางที่แต่ละคนหวังใฝ่ เพื่อนผมที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันสมัยเรียนไปเป็นข้าราชการบ้าง ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนบ้าง เท่าที่ทราบถึง ไท เขาไปทำบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ขณะที่ผมได้งานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งและทิ้งเรื่องราวหลายอย่างให้เลือนห่างตามกาลเวลา จนเมื่อเดือนที่แล้ว บนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ผมหยิบมาอ่าน ปรากฎภาพชีวิต สมยศ พฤกษาเกษมสุข ในเรือนจำ ซึ่งสื่อมวลชนเข้าไปเก็บบรรยากาศมา ใบหน้าอันยิ้มแย้มของสมยศแสดงถึงจิตใจอันเข้มแข็ง ไม่ยอมจำนนต่ออิสรภาพที่สูญเสีย จากปากคำสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง สมยศ ในขณะถูกจองจำที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด และยังค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนบทความวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยอยู่เสมอ
                                                                                     5
มากไปกว่าข่าวสารที่รับรู้ ผมหวนนึกถึงความหลังเมื่อครั้งสี่ปีก่อน ที่พ่อของ “เพื่อน” ถูกจองจำในกรงขังอันแน่นหนา เป็นสี่ปีที่สามีพรากห่างภรรยา และสี่ปีที่ลูกพรากจากพ่อ จากวันนั้นถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในเมืองไทยที่ถูกจำกัดโดยชนชั้นนำ และโทษอันกระหน่ำของคดีหมิ่นฯ ดูจะไม่ลดน้อยถอยลงเลย มิหนำซ้ำยังพบแต่ข่าวร้ายเป็นส่วนใหญ่ในวิธีพิจารณาของศาลทหาร จากอดีตนักศึกษาที่สนใจประเด็นสังคมและการเมืองบ้าง โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนถกเถียงถึงระบอบบริหารประเทศตามจริตและเสื้อสีที่ตนยึดถือ ผมคงไม่อาจทึกทักไปเองว่า ระบอบการเมืองแบบไหนดีกว่า หรือทุกครั้งที่มีรัฐประหาร สถานการณ์จะย่ำแย่ลงหรือไม่ แต่เมื่อความไม่เป็นธรรมของการต่อสู้ในชั้นศาล ดังเช่นคดีมาตรา 112 ของครอบครัว “พฤกษาเกษมสุข” ยังคงมีอยู่ในสังคมที่ผมอาศัย มันน่าจะบอกถึงทัศนคติและปัญหาภายในที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขใดๆ เลย
*แม้ทนายความจะยื่นอุทธรณ์คดีก็ไม่เป็นผล โดยศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คงจำคุก 10 ปี เมื่อเดือนกันยายน 2557
*ขณะนี้สมยศต้องโทษที่เรือนจำมาแล้วอย่างน้อย 1,380 วัน ทั้งยังมีโทษจากคดีหมิ่นประมาท พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกอีกหนึ่งปี โดยยืนยันไม่ขอพระราชทานอภัยโทษ