คุยยังไม่จบ กด LIKE ผิดกฎหมายหรือไม่?

ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าสรุปแล้วการกดไลค์ข้อความที่ผิดกฎหมาย เป็นความผิดด้วยหรือไม่? ฝ่ายตำรวจบอกว่าผิดเพราะมีเจตนาเผยแพร่ต่อ ขณะที่นักวิชาการบอกว่า ต้องดูเจตนา และการกดไลค์ไม่ได้หมายความว่าถูกใจเสมอไป ไอลอว์ชวนสำรวจความเห็นฝ่ายต่างๆ ในสังคมเพื่อมองหาคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ก่อนฟังศาลตัดสิน

หลังกรณีการจับกุมฐนกร หรือเอฟ พนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ด้วยข้อกล่าวหาตอนแรก คือ ส่งแผนภาพแสดงการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ไปยังเพจ “สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ” และต่อมาถูกตั้งข้อหาเพิ่มจากการกดไลค์และแชร์ข้อความหรือรูปภาพที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ทำให้ผู้คนในสังคมตื่นเต้นและหวาดกลัวในการใช้งานโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะกังวลว่าตนเองอาจจะกระทำผิดโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการกดไลค์ภาพหรือข้อความที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย เช่น การหมิ่นประมาท ภาพลามกอนาจาร ความผิดต่อความมั่นคง หรือความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด ก็ย่อมไม่ผิด

เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ว่า แม้การเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่าย “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นความผิด แต่การกดไลค์ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุน เพราะไม่มีฐานความผิดกำหนดไว้ในกฎหมาย และจะถือว่าเป็นการสนับสนุนไม่ได้เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ซึ่งการกดไลค์ไม่เข้าเงื่อนไขใดเลย เพราะการกดไลค์เกิดขึ้นหลังจากผู้โพสต์เนื้อหาผิดกฎหมายโพสต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว 

ด้านสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทในเรื่องเดียวกันว่า

“คุณเชื่อไหมว่า ในทางกฎหมายอาญานั้น ขนาดคุณเห็นคนอื่นกำลังลงมือฆ่าใครสักคนต่อหน้าแล้วคุณนิ่งเฉย แถมแอบเห็นด้วยนิดๆ แต่ไม่ได้ออกแอ๊คชั่นอะไรเลย คุณยังไม่ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการฆ่านั้นเลยนะ! เต็มที่ก็คือผิดลหุโทษฐานละเว้นเท่านั้น …ดังนั้น นับประสาอะไรกับการมากดไลค์ความผิดที่สำเร็จไปแล้ว”

กดไลค์ = เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด?

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เคยให้สัมภาษณ์กับ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ไว้ว่า โดยหลักการกดไลค์เป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย ที่เขาจะแสดงว่าชอบหรือไม่ชอบ สามารถทำได้ ในฐานะคนที่ร่างกฎหมายเก่า โดยหลักการ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ใช้ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสถาบัน หรือความมั่นคงของชาติโดยตรง การไปกดไลค์ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนและอาจถูกดำเนินคดีได้  ซึ่งอาจเป็นได้ในฐานะผู้สนับสนุน แต่ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปก็เป็นสิทธิในการกดไลค์ได้อยู่แล้ว

สาวตรี สุขศรี กล่าวไว้ว่า หลักการเรื่องนี้ จะเป็นผู้สนันสนุนได้ต้องมี action “ช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวก” แก่ผู้กระทำผิด และต้องทำ “ก่อนหรือขณะความผิดเกิด” เท่านั้นด้วย การกดไลค์ไม่ได้ให้ผลเป็นการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกอะไรให้คนโพสต์นะ ทั้งยังเป็นการกดภายหลังความผิดสำเร็จไปแล้วอีกด้วย จึงผิดไม่ได้

กดไลค์ = เจตนาเผยแพร่ต่อ?

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เคยให้สัมภาษณ์ว่า “การกดไลค์ถือว่ามีเจตนาและเป็นการเผยแพร่ทางหนึ่ง เพราะข้อความหรือรูปภาพที่กดไลค์จะถูกส่งต่อให้เห็นในเฟซบุ๊ก ดังนั้นจึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย”

พงศกร มาตระกูล หัวหน้าฝ่ายกฏหมาย www.finlawtech.com เคยกล่าวในรายการต่างคนต่างคิดไว้ว่า คนที่กดไลค์บางคนอาจจะไม่ทราบว่าการกดไลค์จะทำให้เพื่อนเห็นข้อความนั้นเยอะขึ้น  ถ้าเป็นการกดไลค์แฟนเพจการอาจจะทำเพื่อติดตามข้อมูลจากเพจนั้นก็ได้ ไม่ได้หมายความว่ามีเจตนาเผยแพร่ข้อความทุกอย่างในเพจนั้นเสมอไป เรื่องนี้กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด

ขณะที่แถลงการณ์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นว่า การกดไลค์ก็ไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำ แม้จะมีโอกาสที่ระบบซอฟต์แวร์ของเว็บไซต์สื่อสังคมจะเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกกดไลค์ต่อไปโดยอัตโนมัติ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง และคนกดไลค์ก็ไม่สามารถคาดหมายได้ว่า การกดไลค์นั้นจะทำให้เนื้อหาไปปรากฏให้ผู้อื่นเห็นหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นผู้กดไลค์ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาของข้อความต้นทางได้ เพราะผู้โพสต์ข้อความสามารถแก้ไขข้อความได้ทุกเมื่อ ดังนั้นข้อความที่แสดงในช่วงเวลาหนึ่ง อาจต่างจากข้อความที่กดไลค์ก็ได้

กดไลค์ มีความผิดเพราะ “เล็งเห็น” ผลว่าจะช่วยเผยแพร่ข้อความ?

อย่างไรก็ตาม กองบังคับการปราบปรามได้ติดประกาศเรื่อง “การกด LIKE หรือ SHARE เป็นความผิดหรือไม่” ระบุว่า การกดไลค์เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1)-(4) ถ้ามีเจตนาโดยประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลว่าการกดไลค์นั้นจะเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้อื่น 

ขณะที่เรื่องการเล็งเห็นผลนั้น ตามคําพิพากษาฎีกาที่ 9805/2554 อธิบายไว้ว่า การกระทำโดยเล็งเห็นผลหมายความว่า “ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้”

ซึ่งกรณีการกดไลค์แล้วทำให้ผู้อื่นเห็นข้อความนั้น เป็นเพียงเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้น การกดไลค์จึงไม่อาจเล็งเห็นผลว่าผู้อื่นจะเห็นข้อความนั้นต่อ

ส่วนเรื่องเจตนาในการกระทำผิด คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น บอกว่ามีสองแบบ แบบแรกคือคนที่มีเจตนา รู้อยู่ว่าเป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จ แล้วยังกดไลค์และรู้ด้วยว่าการกดไลค์คืออะไร รู้ว่าการกดไลค์ทำให้ข้อมูลปรากฏบนหน้าแสดงผลของผู้ใช้งานที่เป็นเพื่อนอยู่ ตรงนี้มีความเสี่ยงว่าจะมีความผิด

อีกแบบหนี่งคือ กรณีที่ไม่รู้ เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่รู้การทำงานของระบบสื่อสังคมออนไลน์ว่า การกดไลค์จะกระจายข้อมูลในหน้าฟีดให้คนอื่นรู้ ตนมองว่าคนกลุ่มนี้ขาดขาดเจตนา 

“กดไลค์” มีความหมายหลายอย่าง ไม่ได้แปลว่าชื่นชอบเสมอไป

“ลำพัง ‘สามัญสำนึก’ ก็บอกเราได้ว่าการกดไลค์ไม่น่าจะผิดกฎหมายอะไรเลย เพราะมันเป็นเพียงการแสดงความรู้สึกเท่านั้น ซึ่งความรู้สึกนี้บ่อยครั้งก็ไม่ใช่‘ถูกใจ’ ด้วยซ้ำไป หลายคนอาจ ‘ไม่ถูกใจ’ แต่เลือกที่จะกดไลค์เพจหรือข้อความนั้นๆ เพียงเพื่อจะได้กลับมาติดตาม (ทำให้ลิงก์เพจ/ข้อความยังเวียนวนอยู่ในfeed หน้าจอ) หรือเป็นสัญญาณบอกผู้สร้างเพจ/ข้อความว่า ‘ฉันแวะมาแล้วนะ’ บางคนไลค์กดไลค์ดะข้อความของเพื่อนเพียงเพราะอยากให้กำลังใจ ไม่เคยกดเข้าไปอ่านด้วยซ้ำ ไม่นับเหตุผลอื่นๆ อีกร้อยแปดพันเก้า”

ความเห็นของสฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่มองว่าการกดไลค์ไม่น่าจะเป็นการแสดงเจตนาเผยแพร่ 

ด้านพงศกร มาตระกูล เคยกล่าวในรายการต่างคนต่างคิดไว้ด้วยว่า การกดไลค์โดยตัวมันไม่เป็นความผิด การกดไลค์ไม่ใช่แปลว่าชอบเสมอไป อาจจะเป็นการกดไลค์เพื่อให้รู้ว่าอ่านแล้ว หรือเพื่อแนะนำให้เพื่อนๆ เข้ามาดูก็ได้ ว่าเพจนี้มีเนื้อหาแบบนี้แล้วเราควรทำอย่างไร? ต้องดูด้วยว่าคนกดไลค์นั้นเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับคนโพสต์อย่างไร

นอกจากนั้น หากผู้ใช้เฟซบุ๊กต้องการจะเผยแพร่เนื้อหาก็สามารถใช้ปุ่ม “แชร์” ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นเห็นเนื้อหาด้วย ไม่ใช่การกดปุ่ม “ไลค์” ที่เป็นเพียงการแสดงความรู้สึกเท่านั้น ดังนั้นจึงพอจะเห็นได้ว่าการกดไลค์ ไม่ใช่การกระทำที่มีเจตนาจะเผยแพร่เนื้อหาต่อ