ประชดประชันหรือปลุกปั่นยั่วยุ? คดีป้ายผ้าประเทศล้านนาและกฎหมายอาญามาตรา 116

“ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา”
 
ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึง ต้นเดือนมีนาคม 2557 ป้ายไวนิลที่มีข้อความนี้ถูกติดตามสะพานลอยของหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงราย พะเยา พิษณุโลก ช่วงเวลานั้น กลุ่ม กปปส. ยื่นข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และใช้มาตรการต่างๆ ขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง ภายหลังเมื่อมีความพยายามที่จะหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ศาลอาญากลับไม่อนุมัติหมายจับแกนนำ กลุ่มกปปส. ในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างมาก
 
ไม่ว่าผู้ติดป้ายดังกล่าวจะทำไปด้วยจุดประสงค์ใด เพื่อแสดงเจตนารมณ์บางประการหรือเพื่อประชดต่อกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขามองว่าไม่ยุติธรรม ป้ายไวนิลอันหนึ่งบนสะพานลอยหน้าห้าง เซนทรัล พลาซา เชียงราย ก็กลายเป็นเหตุให้ประชาชนชาวเชียงรายสามคน ต้องตกเป็นจำเลยคดี “ปลุกปั่นยั่วยุ” ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามกฎหมายอาญามาตรา 116
 
ออด อายุ 64 ปี พื้นเพเป็นคนนครปฐม มีอาชีพทำสวนลำไย ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ออดเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง และเป็นแกนนำคนเสื้อแดง อ.แม่สรวยในปี 2553 เวลาไปร่วมชุมนุม มักใส่หมวกใบใหญ่จนได้รับฉายาว่า “ลุงออด หมวกใหญ่”
 
ถนอมศรี มีชื่อเล่นว่าหน่อย อายุ 54 ปี ประกอบกิจการส่วนตัว เป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย ถนอมศรีติดตามเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด และเคยเป็นผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
 
สุขสยาม อายุ 63 ปี ประกอบอาชีพทำสวนลำไย บุคลิคดูสุขุมแต่พูดจาน่าฟัง เพราะเคยเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน รู้จักกันในนาม “ดีเจสยาม” และเป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย
 
 
มิถุนายน 2557  สองสัปดาห์หลังการรัฐประหาร ในสภาวะที่มีการออกประกาศเรียกคนให้มารายงานตัวกับคณะรัฐประหารเป็นระยะๆ และในจังหวัดต่างๆ คนจำนวนมากก็ต้องเข้ารายงานตัวที่ค่ายทหารประจำจังหวัด ที่จ.เชียงราย ทหารโทรตามให้ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ซึ่งรู้จักกันว่าเป็นแกนนำกลุ่ม นปช. อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ให้ไปรายงานตัวที่ค่ายพญาเม็งราย ทั้งสาม ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 2 คืน เพราะถูกสงสัยว่าเป็นผู้ติดป้ายผ้าที่มีเนื้อหาเรียกร้องการแบ่งแยกประเทศอันนั้น
 
หลังถูกเรียกรายงานตัวและต้องไปนอนในค่ายทหารสองวัน ทั้งสามคนถูกปล่อยตัวกลับบ้าน จนกระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เชียงรายนำกำลังลงพื้นที่อำเภอแม่สรว ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกจับกุมตัวและสอบสวนในข้อหา “ปลุกปั่นยั่วยุ” ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 ทั้งสามให้การปฏิเสธ โดยรับว่าเป็นคนติดป้ายผ้าจริง แต่ไม่ทราบว่าข้อความในป้ายผ้าคืออะไร วันเกิดเหตุรักษาการนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.เชียงราย กลุ่มคนเสื้อแดงเลยจัดชุมนุมต้อนรับ เมื่อเห็นคนเสื้อแดงเอาป้ายผ้าไปติดจึงไปช่วยติดด้วย
 
ทั้งสามถูกนำตัวไปที่ศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดเชียงรายเป็นเวลา 2 คืนก่อนได้รับการประกันตัว โดยออดและสุขสยามวางเงินประกันคนละ 120,000 บาท ขณะที่ ถนอมศรีต้องวางเงินประกัน 400,000 บาท เพราะศาลเห็นว่ามีพฤติการณ์จะหลบหนี
 
 
“ข้าพเจ้าขอสัญญาต่อหน้าพญาเม็งรายและสิ่งศักดิ์ในจังหวัดเชียงราย…”            
 
การสืบพยานในศาลทุกแห่งต้องเริ่มด้วยการสาบานตัวตามศาสนาที่นับถือ ที่ศาลจังหวัดเชียงรายต้องสาบานตัวต่อปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์มังราย ผู้สร้างเมืองเชียงรายและรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทยจนเจริญรุ่งเรืองจวบจนปัจจุบัน…
 
12,14,15 และ 19  พฤษภาคม 2558 กำหนดนัดสืบพยานที่ศาลจังหวัดเชียงราย ก่อนเริ่มสืบพยาน ออดและสุขสยามที่แต่งตั้งทนายความร่วมกัน แถลงต่อศาลขอเปลี่ยนทนายความ โดยทนายความที่มาแทนนั้น ออดและสุขสยามก็ยังไม่ทราบชื่อ ทราบแค่มาจากอุตรดิตถ์และเป็น “คนเสื้อแดง” เหมือนกัน ได้รับการแนะนำจากกลุ่มนปช. เชียงรายมาอีกที และไม่เคยนัดหมายเรื่องคดีกกับทนายความอีกคนที่เป็นทนายความของถนอมศรีมาก่อน
 
พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ผู้กล่าวหาจำเลยทั้งสาม ขึ้นเบิกความเป็นคนแรก เล่าวว่าหลังได้รับแจ้งว่ามีผู้ติดป้ายข้อความที่จะก่อความไม่สงบ อาจเกิดความวุ่นวายได้  จึงประสานที่ห้างสรรพสินค้าเพื่อขอดูกล้องวงจรปิด  พบว่าบุคคลที่นำป้ายข้อความมาติดเป็นชาย 3 คน หญิง 3 คน เมื่อนำภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดไปเทียบกับบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงระบุตัวได้ทั้งสามคน ส่วนผู้ต้องสงสัยอีกสามคนยังระบุตัวไม่ได้เพราะไม่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน
 
พยานปากที่สอง พนักงานรักษาความปลอดภัยประจำห้างสรรพสินค้า เซนทรัล พลาซ่า เชียงราย จำวันเกิดเหตุไม่ได้ แต่เห็นป้ายติดอยู่สะพานลอย ช่วงประมาณ 17.00 น. พยานอีกสามปากหลังจากนั้น เป็นคนขับรถรับจ้างคิวจอดอยู่ที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซนทรัลให้การลักษณะเดียวกันว่า ไม่เห็นตอนที่มีคนนำป้ายมาติด 
 
 
 
 
“เห็นว่าเป็นเสื้อแดงด้วยกัน ผมเลยมาช่วย ผมบอกท่านตรงๆ อย่างงี้แหละครับ”
 
จากนั้นช่วงบ่าย ก่อนเริ่มสืบพยานต่อ เกิดเหตุวุ่นวายในศาล ออดและสุขสยามแจ้ง ขอถอนทนายความอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าทนายความซักพยานมากเกินไป เนื่องจากทนายควาที่เพิ่งมาในวันนี้พยายามถามค้านในประเด็นภาพในกล้องวงจรปิด เพื่อจะพิสูจน์ว่าออด และสุขสยามไม่ได้เป็นคนติดป้ายผ้า แต่ออดและสุขสยามไม่ต้องการต่อสู้ในประเด็นนั้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เตรียมทนายมาแทน
 
เพื่อนของออดที่มาให้กำลังใจการพิจารณาคดี พยายามเกลี้ยกล่อมให้ออดและทนายปรับความเข้าใจกัน เพื่อให้กระบวนการวันนี้เสร็จสิ้นไปก่อน แต่ทั้งฝ่ายต่างไม่ยอม โดยทนายความเองก็แสดงออกการไม่พอใจและไม่ต้องการว่าความให้ออดและสุขสยามอีกแล้ว ทนายความแจ้งต่อศาลว่า “เห็นว่าเป็นเสื้อแดงด้วยกัน ผมเลยมาช่วย ผมบอกท่านตรงๆอย่างงี้แหละครับ”
 
ศาลเห็นว่าเป็นเหตุขัดแย้งกันระหว่างตัวแทนของฝ่ายโจทก์และจำเลย เกลี้ยกล่อมให้ทนายความของถนอมศรี ชื่อ ทนายความนภดล มาเป็นทนายความให้ออด และสุขสยามด้วย โดยทนายความนภดล ไม่ได้เน้นถามค้านในประเด็นภาพจากกล้องวงจรปิด แต่มุ่งชี้ให้เห็นว่าข้อความในป้ายผ้าไม่ได้เป็นภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ และมุ่งต่อสู้ว่าเจตนาของจำเลยไม่ได้เป็นการ “ปลุกปั่นยั่วยุ” ตามข้อกล่าวหา แต่สถานการณ์การเมืองในช่วงเวลานั้นทำให้เกิดความรู้สึกคับแค้นใจว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงแสดงออกโดยการประชดประชัน
 
จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารหัวหน้าฝ่ายข่าวจากค่ายเม็งรายมหาราช พยานปากสำคัญ บุคคลแรกๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการกล่าวหาจำเลยทั้งสาม เบิกความว่ายืนยันในประเด็นว่าข้อความในป้ายผ้า ถือเป็นการปลุกปั่น ยั่วยุ ในหมู่ประชาชน ที่อาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้ 
 
ประเด็นหลักของคดีตอนนี้จึงเป็นการตีความข้อความในป้ายผ้าที่ว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ว่าจะเข้าข่ายการ “ปลุกปั่นยั่วยุ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือไม่
 
 

 

โจทก์เบิกพยานอย่างต่อเนื่อง จำเลยเบิกพยานปากเดียว ชี้ข้อความประชดประชัน ไม่ได้จะแยกประเทศจริงๆ

 
ศาลบรรยายการสืบพยานให้ออด ถนอมศรี และสุขสยามฟังตลอดทั้งสามวันว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง  มีความละเอียดอ่อน  จึงต้องอธิบายให้จำเลยทั้งสามเข้าใจว่าขณะนี้ถึงขั้นไหนแล้วบ้าง มีตัวละครที่เป็นพยานเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไรบ้าง และที่สำคัญ  คดีนี้ภาระพิสูจน์เป็นของโจทก์ว่า มีการติดป้ายข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ และใครเป็นผู้ติดป้าย  เมื่อหาผู้กระทำได้แล้ว ก็จะพิสูจน์ข้อกฎหมายว่า ข้อความอย่างนี้ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องจริงหรือไม่  มีความผิดจริงหรือไม่ อันจะเป็นแนวทางการการต่อสู้ของคดีนี้
 
พยานฝ่ายโจทก์ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2558  เป็นพนักงานสอบสวน ให้การว่า เห็นภาพของทั้งสามจำเลยจริง และยืนยันตัวบุคคลได้  และพยานอีกสามปากที่ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับถิ่นที่อยู่ของจำเลย  เริ่มจาก ผู้ใหญ่บ้านของหมู่ที่ออดอาศัยอยู่  สมาชิกในหมู่บ้านของถนอมศรี  และสารวัตกำนันของหมู่บ้านที่สุขสยามอยู่ โดยมายืนยันบุคคลว่าจำเลยในคดีนี้เป็นคนเดียวกับตามที่โจทก์ฟ้อง
 
พยานโจทก์ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ป็นพนักงานสอบสวน ของ สภ.เมืองเชียงราย ถึง 3 ปาก ทั้งสามปากต่างมายืนยันถึงเหตุผลที่ต้องดำเนินคดีกับออด ถนอมศรี และสุขสยาม แต่พยานทั้งสามไม่ได้เป็นผู้สอบสวนหลัก
 
19 พฤษภาคม 2558 ถนอมศรี หนึ่งในจำเลยสามคน ขึ้นเบิกความเป็นพยานฝ่ายจำเลยเพียงปากเดียว และขอตัดพยานปากอื่น เนื่องจากมีเนื้อหาการเบิกความที่ใกล้เคียงกัน ถนอมศรีเบิกความปฏิเสธเรื่องการติดป้ายดังกล่าว และเบิกความถึงสถานการณ์ทางการเมืองช่วงต้นปี 2557 ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มกปปส.และพยายามขัดขวางการเลือกตั้ง รวมทั้งการใช้สองมาตรฐานในควบคุมการชุมนุมระหว่างกลุ่มเสื้อแดงกับกลุ่มกปปส. ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมขึ้น ป้ายดังกล่าวจึงมีลักษณะประชดประชันต่อการไม่ได้รับความยุติธรรม มากกว่าจะต้องการแบ่งแยกประเทศจริงๆ และหลังจากมีการติดป้ายก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย โดยศาลจังหวัดเชียงรายจะนัดฟังคำพิพากษาคดี ของ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม วันที่ 22 กรกฎาคม 2558
 
 
นอกจากคดีนี้ หลังการรัฐประหาร ยังมีการตั้งข้อหา “ปลุกปั่นยั่วยุ” ตามมาตรา 116 กับการแสดงออกของประชาชน อย่างน้อย 6 คดี เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่โพสต์ข้อความอารยะขัดขืน ไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. พร้อมนัดผู้คนให้ออกมาชุมนุม  พลวัฒน์ โปรยใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร สี่จุดในจังหวัดระยอง หรือกระทั่งการแพร่ภาพข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร แต่ลงวันที่ผิดวัน ของชัชวาลย์ นักข่าวอิสระในจังหวีดลำพูน ก็เป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง  แต่เเล้วคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง ถือได้ว่าเป็นคดีแรก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หลังรัฐประหารที่มีคำพิพากษาออกมา
 
 
นอกจากนี้ยังมีประชาชนในจังหวัดเชียงรายที่เคลื่อนไหวทางการเมืองยังถูกจับกุมดำเนินดคีอีกอย่างน้อย 8 คน คือคดี”กินแม็คต้านรัฐประหาร” ที่ร้านแม็คโดนัลด์ สาขาเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงราย 4 คน โดยมี สุรีรัตน์(เจี๊ยบ แม่ลาว) และชายชาวเชียงรายอีก 2 คน ถูกจับเพราะกินแม็คต้านรัฐประหารด้วยนอกจากนี้สราวุทธิ์ที่ออกมาชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำเสื้อแดงที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายเม็งรายมหาราช ก็ถูกจับกุมเช่นกัน  โดยทั้ง 8 คน ถูกตั้งข้อหา ชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช. ที่ 7/2557