ศาลทหารไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องเขตอำนาจเหนือคดีพลเรือน

ภายหลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพียง 3 วัน  คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และความผิดตามคำสั่งและประกาศของคสช. ในระหว่างที่ประกาศใช้บังคับนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 ที่ประกาศใช้ในวันเดียวกัน  ก็กำหนดให้คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างที่เกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเองและไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารก็ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารด้วย ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 จึงเป็นการให้อำนาจกับ “ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ” เข้ามาพิจารณาพิพากษาคดีของพลเรือนแทนการทำหน้าที่ตามปกติของศาลยุติธรรม
ท่ามกลางการจับกุมตัวผู้ฝ่าฝืนคำสั่งและประกาศของคสช. จำนวนมากในระหว่างที่ประกาศฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ใช้บังคับ ประชาชนที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดจึงต้องขึ้นต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนในศาลทหาร
ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกนั้นไม่มีขั้นตอนการอุทธรณ์หรือฎีกา คำตัดสินของศาลทหารไม่ว่าอย่างไรถือเป็นที่สิ้นสุดทันที นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องของความเป็นอิสระและการมีส่วนได้ส่วนเสียของตุลาการ  เนื่องจากตุลาการล้วนเป็นข้าราชการทหารอยู่ภายใต้โครงสร้างของกระทรวงกลาโหมซึ่งมีสายบังคับบัญชาอย่างชัดเจน อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลทหารหลายประการก็ยังแตกต่างไปจากศาลพลเรือน อันเป็นอุปสรรคในการต่อสู้คดีและส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จากคดีทางการเมืองที่ถูกส่งขึ้นศาลทหารอย่างน้อย 46 คดี มีจำเลยอย่างน้อย 5 คนที่ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพว่า ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีของตน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ได้รับรองไว้ จึงขอให้ศาลทหารกรุงเทพส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยเฉพาะมาตรา 4 หรือไม่ โดยคดีที่ยื่นคำร้องในลักษณะดังกล่าว มีดังนี้
จาตุรนค์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถูกฟ้องต่อศาลในความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามกำหนด ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557, ฐานปลุกปั่นยั่วยุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เนื่องจากการปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศมีเนื้อหาปลุกปั่น ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบสุข และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
                
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ-
แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่  อีกทั้งยื่นคำร้องว่า คดีของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร เนื่องจากการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงก่อนการออกประกาศคสช.ทั้งสองฉบับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
                
สิรภพ กรณ์อรุษ  ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของนามปากกา “รุ่งศิลา” หรือ “Rungsila” ซึ่งเป็นเจ้าของเว็บบล็อกและเฟซบุ๊กที่เขียนบทความและกวีเกี่ยวกับการเมือง สิรภพถูกฟ้องต่อศาลในความผิด มาตรา 112  และความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามกำหนด ฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 41/2557 แยกเป็นสองคดี
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ระหว่างการพิจารณาคดีในความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามกำหนด จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอให้คำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่
                
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ กลุ่มนักวิชาการที่รวมตัวกันเสนอแนะให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ถูกฟ้องต่อศาลในความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามกำหนด ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ-
แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่
สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) หรือ “บ.ก.ลายจุด” เป็นอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา และเป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง นอกจากนี้ยังเป็นแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ถูกฟ้องต่อศาลในความผิดมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามกำหนด ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557  จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ-
แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่
                
จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เคยเป็นแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้าง และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ร่วมกับพรรคพลังประชาธิปไตย ถูกฟ้องต่อศาลในความผิดฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ไม่มารายงานตัวตามกำหนด
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ-
แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่
ข้ออ้างในคำร้องของจำเลย
                
จำเลยทั้งห้าคดียกเหตุผลขึ้นกล่าวอ้างคล้ายกัน ดังนี้     
ประเด็นที่หนึ่ง จำเลยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ที่ระบุว่า 
“ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้” 
มาใช้ประกอบเหตุผลในการยื่นคำร้องต่อศาลทหารให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากจำเลยเห็นว่า การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลทหารเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ 
                
ประเด็นที่สอง  จำเลยอ้างว่า ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557  รวมถึงพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พุทธศักราช 2498  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  โดยการอ้างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Right (ICCPR ) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 อันถือเป็น “พันธะกรณีระหว่างประเทศ” ตามที่ประกาศไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติว่า 
ประชาชนมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผย เป็นธรรม ด้วยคณะตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง (มาตรา 14.1) และสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ (มาตร14.5) ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 
                
การนำพลเรือนขึ้นพิจารณาในศาลทหาร ในเวลาที่ประกาศกฎอัยการศึกจึงขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR เนื่องจากศาลทหารยังอยู่ในสังกัดของกระทรวงกลาโหม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนตุลาการ ทำให้ตุลาการไม่ได้รับการประกันความเป็นอิสระ ซึ่งขัดกับหลักการของ ICCPR มาตรา 14.1 และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พุทธศักราช 2498 มาตรา 61 วรรคสอง ที่กำหนดว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ห้ามมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสิทธิประชาชนที่จะอุทธรณ์ไปยังคณะตุลาการในระดับที่สูงกว่า อันขัดหลักการของ ICCPR มาตรา 14.5
นอกจากนี้ จำเลยยังกล่าวอ้างด้วยว่าประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ไม่มีฐานะเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้  ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะรับรองว่า ประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของคณะรักษาความlสงบแห่งชาติให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็ตาม
                
ประเด็นที่สาม แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จะมิได้บัญญัติถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ให้ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับในคดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาจากประเพณีการปกครองของไทย นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540-2550 ได้มีการบัญญัติรับรองให้ศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจวินิจฉัยดังกล่าว ดังนั้นในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีหน้าที่วินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 นั้นขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่  ศาลทหารมีอำนาจในการเข้ามาพิจารณาพิพากษาคดีบุคคลแทนการใช้ศาลยุติธรรมตามคำร้องที่ยื่นไปหรือไม่
               
ข้ออ้างในคำแถลงคัดค้านของอัยการทหาร
ประเด็นที่หนึ่ง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เนื่องจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 47 บัญญัติรับรองให้ประกาศ และคำสั่งของ คสช. หรือคำสั่งของหัวหน้าคสช. มีผลใช้บังคับต่อไป และการกระทำตามประกาศหรือคำสั่งไม่ว่าก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด
ประเด็นที่สอง ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้น รัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณีได้ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยรัฐภาคีต้องแจ้งการเลี่ยงพันธกรณีให้รัฐภาคีอื่นทราบ โดยยื่นเรื่องผ่านสหประชาชาติ ซึ่งปรากฎว่าประเทศไทยโดยคณะผู้แทนไทยประจำองค์การสหประชาชาติแจ้งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ให้สหประชาชาติทราบแล้ว
คำวินิจฉัยของศาล
                
ศาลทหารกรุงเทพอ่านคำสั่งคำร้องคดีของสิรภพ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 อ่านคำสั่งคำร้องคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 และอ่านคำสั่งคำร้องคดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 โดยศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องของจำเลยทั้งสามคดี 
ศาลทหารกรุงเทพได้วินิจฉัยแล้วว่าตัวเองมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนโดยไม่ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำสั่งทั้งสามคดีศาลให้เหตุผลไว้ในลักษณะคล้ายกัน ส่วนคดีของจาตุรนต์ ฉายแสง และจิตรา คชเดช ศาลยังไม่อ่านคำสั่งแต่เชื่อว่าจะมีการคำสั่งเป็นแนวทางเดียวกันภายในวันนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไป
                
คำสั่งศาลทหารกรุงเทพในคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ พอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประกาศฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพราะ มาตรา 47 วรรคหนึ่งได้บัญญัติรับรองอำนาจดังกล่าว ว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าประกาศ หรือสั่งให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด และให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎข้อบังคับมติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก”
ศาลทหารในเวลาไม่ปกติมีอำนาจและความชอบธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ได้บัญญัติว่า “ในเวลาไม่ปกติ คือ ในเวลาที่มีการรบ หรือสถานะสงคราม หรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารซึ่งมีอยู่แล้วในเวลาปกติ คงพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามอำนาจ แต่ถ้าผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศ หรือผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุดได้สั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาใดๆ อีกก็ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศหรือคำสั่งนั้นได้ด้วย” ดังนั้น การที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เป็นผลให้ศาลทหารที่มีอยู่แต่เดิม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตลอดจนผลคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ จึงเป็นไปตามหลักกฎหมายโดยชอบ
ตุลาการศาลทหารมีความเป็นอิสระ แม้ศาลทหารจะอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็เป็นเพียงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานทางธุรการของศาลทหารเท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดี ตลอดถึงการที่จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาบังคับคดีนั้น เป็นดุลยพินิจของศาลทหารโดยเฉพาะ โดยตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ศาลทหารไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ได้บัญญัติหลักเกณฑฺ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่า กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยบัญญัติเฉพาะที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก็ได้ แต่ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีมติประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับศาลทหารดังกล่าว ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่อาจส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้