เปรียบเทียบการพิจารณาคดี112 ในศาลทหารและศาลพลเรือน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้การพิจารณาคดีในหมวดความมั่นคง และคดีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง ของคสช. อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งรวมทั้งคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย นับถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 มีคดีมาตรา 112 ที่ต้องพิจารณาที่ศาลทหารอย่างน้อย 8 คดี นับเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพการแสดงออก ไม่นับรวมคดีที่ถูกกล่าวหาว่ามีการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ทางทรัพย์สิน เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่างการพิจารณาคดีโดยศาลทหารและศาลพลเรือน จึงต้องพิจารณาสถิติการพิจารณาคดีมาตรา 112 ย้อนหลัง

 

สถิติการพิจารณาคดีเป็นการลับ

 

 

นับตั้งแต่ปี 2553 ถึงปลายปี 2557 มีการพิจารณาคดีมาตรา 112 เท่าที่มีข้อมูลอย่างน้อย 46 คดี เป็นการพิจารณาในศาลพลเรือน 41 คดี และศาลทหาร 5 คดี
ใน 41 คดีของศาลพลเรือน มีการสั่งให้พิจารณาคดีลับ 4 คดี คือ คดีบัณฑิต ในปี 2548, คดีดา ตอร์ปิโด ในปี 2552, คดีป้ายผ้าปัตตานี ในปี 2556 และคดีคนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ในปี2557 อีก 37 คดีเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผ   ใน 5 คดีของศาลทหาร มีการสั่งให้พิจารณาคดีลับ 4 คดี คือ คดีทหารอากาศเล่นเฟซบุ๊ค ในปี 2554 และอีกสามคดีในปี 2557 คือ  คดีคฑาวุธคดีสมศักดิ์, และคดีสิรภพ ส่วนคดีที่พิจารณาโดยเปิดเผย คือ คดีสมัคร ซึ่งพิจารณาที่ศาลทหารเชียงราย ซึ่งแม้ศาลจะไม่ได้สั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับแต่ก็มีการตรวจบัตรประชาชนหน้าค่ายเม็งรายมหาราช หากไม่ปรากฏว่าเป็นญาติหรือเกี่ยวข้องกับคดีก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในบริเวณค่ายทหาร

 

สถิติการกำหนดความหนักเบาของโทษ

 

 

นับตั้งแต่ปี 2553 ถึงปลายปี 2557 มีคำพิพากษาของศาลที่ลงโทษจำคุกจำเลยในคดีมาตรา 112 ทั้งศาลชั้นต้นและศาลสูง เท่าที่มีข้อมูลอย่างน้อย 33 คดี แบ่งเป็นคำพิพากษาจากศาลพลเรือน 31 คดี และศาลทหาร 2 คดี
คำพิพากษาของศาลทหารทั้งสองคดี คือ คดีของคฑาวุธ พิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปีจากการกระทำหนึ่งกรรม และคดีของสมศักด์ พิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ตัดสินลงโทษจำคุก 9 ปีจากการกระทำหนึ่งกรรม ทั้งสองคดีได้ลดโทษครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ 
เท่ากับว่าศาลทหารพิพากษาลงโทษมาแล้ว 2 คดี เฉลี่ยลงโทษจำคุกกรรมละ 9.5 ปี ซึ่งหากพิเคราะห์อัตราโทษโดยยังไม่นับโทษที่ปรับลดแล้ว จะเห็นว่าศาลทหารกำหนดบทลงโทษจำเลยสูงว่าแนวทางของศาลพลเรือนมาก 
ทั้ง 31 คดี ที่ศาลพลเรือนลงโทษจำคุก เป็นการกำหนดโทษจำคุกกรรมละ 2 ปี 2 คดี กรรมละ 3 ปี 7 คดี กรรมละ 4 ปี 2 คดี กรรมละ 5 ปี 17 คดี และกรรมละ 6 ปี 3 คดี เฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ศาลพลเรือนกำหนดบทลงโทษจำเลยในคดีมาตรา 112 เฉลี่ยกรรมละ 4.4 ปี