คดี 112 จากชั้นต้นถึงอุทธรณ์ กับการให้เหตุผลของศาลที่ต่างกัน

แน่นอนว่า การวินิจฉัยและพิพากษาคดีต้องมาจากพยานหลักฐานเป็นข้อมูลสำคัญ แต่ท้ายที่สุดแล้ว การตีความข้อเท็จจริงก็เป็นเรื่องอัตวิสัยที่ผู้พิพากษาอาจมีผิดถูกหรือคิดเห็นไม่ตรงกัน กระบวนการศาลยุติธรรมของไทยจึงออกแบบมาให้มี ศาลชั้นต้น – ศาลอุทธรณ์ – ศาลฎีกา เพราะดุลพินิจของผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีของแต่ละคนแต่ละคณะไม่เหมือนกัน

และแม้ว่าผู้พิพากษาเป็นอาชีพที่ถูกคาดหวังให้เป็นอิสระจากอิทธิพลทั้งปวง แต่ในคดีที่ต้องตีความถ้อยคำที่พาดพิงกษัตริย์ฯ ดังเช่นในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือคดีตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ศาลไทยให้คุณค่ากับคดีเหล่านี้มากเป็นพิเศษ จนความละเอียดอ่อนในการอ่านและตีความถ้อยคำในคดี อาจเข้ามารบกวนความเป็นอิสระของผู้พิพากษาได้

คดีมาตรา 112 จึงอาจถือเป็นงานยากที่สุดงานหนึ่งของผู้พิพากษา และอาจเป็นที่งุนงนสำหรับนักเรียนกฎหมาย เพราะแม้ระยะหลังจะมีคดีจำนวนมากขึ้น แต่คดีก็มักไปไม่ถึงศาลสูงจึงไม่ค่อยมีตัวอย่างคำพิพากษาให้ศึกษา ทั้งนี้เพราะจำเลยในคดี 112 มักถูกควบคุมตัวในเรือนจำโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ประกอบกับกระบวนการพิจารณาคดีกินระยะเวลานาน จำเลยจึงมักเลือกใช้ช่องทางที่จะได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุดคือ รับสารภาพแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ แทนการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด ซึ่งในอีกทางหนึ่ง การรับสารภาพก็ตัดตอนกระบวนการเปิดเผยพยานหลักฐาน และทำให้ไม่ค่อยมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 แบบละเอียดให้คนรุ่นหลังได้วิเคราะห์และศึกษามากนัก

ในบรรดาคดีส่วนน้อยที่จำเลยต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ตัวเอง พบลักษณะร่วมกันของคดีเหล่านั้น คือ มีการพิพากษากลับ ดังคดี “นายสนธิ ลิ้มทองกุล” คดี “เบนโตะ” และคดี “นายบัณฑิต อาณียา” ซึ่งในสองคดีแรก ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์สั่งลงโทษ ส่วนคดีนายบัณฑิต อาณียา นั้น จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ที่น่าสนใจคือ ด้วยข้อมูลชุดเดียวกันนั้น ศาลแต่ละคณะเลือกที่จะเชื่อไม่เหมือนกัน

 

 

กรณีสนธิ ลิ้มทองกุลแค่พูดต่อก็ผิดแล้ว

เมื่อปี 2551นายสนธิ ลิ้มทองกุลนำคำปราศรัยของน.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่กล่าวถ้อยคำดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ มาปราศรัยซ้ำหลายครั้งบนเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยผ่านเครื่องขยายเสียงที่มีผู้ฟังจำนวนมาก และมีการถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีและเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ โดยนายสนธิกล่าวในทำนองที่เรียกร้องให้ตำรวจดำเนินคดีกับน.ส.ดารณีโดยเร็ว และนายสนธิยังได้ตีความคำพูดของน.ส.ดารณีโดยเอ่ยพระนามของทั้งสองพระองค์ออกมาในการปราศรัยด้วย

นายสนธิถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และวันที่ 26กันยายน 2555ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า

 

“แม้คำพูดของจำเลยจะหมิ่นเหม่ และในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งอาจใช้วิธีอื่นดำเนินการในเรื่องเดียวกันนี้ได้ก็ตาม แต่วิญญูชนก็ไม่อาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยมีเจตนาใส่ร้ายโจมตีสถาบันฯ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง”

 

กล่าวคือ ศาลชั้นต้นเห็นว่า การนำถ้อยคำหรือข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ มาพูดต่อโดยไม่ได้มีเจตนาให้สถาบันเบื้องสูงเสื่อมเสียไม่เป็นความผิด จากคำพิพากษานี้เมื่อปี 2555 ส่งผลให้บรรยากาศการแสดงออกในเรื่องที่อ่อนไหว คลายความตึงเครียดไปได้เล็กน้อย อย่างน้อยย่อมส่งผลให้วงวิชาการ สามารถนำถ้อยคำหรือข้อความเหล่านี้มาพูดคุยถกเถียงในที่สว่างได้อย่างเปิดเผย  

 

แต่อัยการยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ และเมื่อวันที่ 1ตุลาคม2556ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุกนายสนธิ 3ปี เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก2ปี ไม่รอลงอาญา โดยเหตุผลที่ศาลใช้พิจารณาลงโทษก็แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของศาลต่อเรื่องการนำมา “พูดต่อ” ได้อย่างดี เช่น

 

“…การที่จำเลยนำคำปราศรัยของนางสาวดารณีที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 18 และวันที่ 19 กรกฎาคม 2551 อันเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมาพูดในที่เกิดเหตุย่อมมีผลเท่ากับจำเลยกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น ด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์และพระราชินี…”

 

จากคำพิพากษานี้ ชี้ให้เห็นว่า ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หากคนได้ฟังถ้อยคำก็อาจตั้งข้อสงสัยถึงความจริงและวิพากษ์วิจารณ์ และจะนำไปสู่ความเสื่อมเสีย ศาลจึงเห็นว่าการกระทำที่อาจนำไปสู่การการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในสถาบันเบื้องจึงต้องเป็นความผิด

 

ผลของคำพิพากษาอุทธรณ์คดีนี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกในบ้านเราดีขึ้น ซ้ำยังตอกย้ำบรรยากาศของความกลัวให้มากขึ้นไปอีก เหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ที่ไม่สามารถนำคำพูดหรือข้อความที่ถูกกล่าวหาหรือตัดสินว่าหมิ่นฯ มาพูดในที่สาธารณะได้ ทำให้เรื่องเหล่านี้พูดได้แค่ในวงจำกัดเท่านั้น และยังตอกย้ำว่า ทัศนคติของศาลยังไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูง ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใดก็ตาม

 

 

กรณีน..นพวรรณสมัครใช้อินเทอร์เน็ตชื่อใคร คนนั้นก็เอาขาข้างหนึ่งเข้าคุกแล้ว

เดือนตุลาคม2551มีผู้ใช้นามแฝง “Bento” โพสต์ข้อความในลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท สมเด็จพระราชินีและองค์รัชทายาทลงในเว็บบอร์ดประชาไท ไม่กี่เดือนต่อมา ตำรวจเข้าจับกุม น.ส.นพวรรณ ต. ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ใช้นามแฝง “Bento” โพสต์ข้อความนั้น

สองปีต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานของโจทก์อย่างไอพีแอดเดรส (IP Address) ไม่สามารถระบุตัวตนได้แน่นอน และไอพีแอดเดรสสามารถปลอมแปลงได้ง่ายโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 ตุลาคม 2556ศาลอุทธรณ์กลับไม่เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น ตัดสินให้น.ส.นพวรรณมีความผิด พิพากษาลงโทษจำคุก5ปี ไม่รอลงอาญา โดยศาลเชื่อว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบนั้น อย่างไอพีแอดเดรส การเป็นผู้สมัครใช้อินเทอร์เน็ต และระยะเวลาในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าน.ส.นพวรรณเป็นผู้ใช้นามแฝง “Bento” เข้าไปโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทเบื้องสูงที่เว็บบอร์ดประชาไทจริง โดยศาลให้เหตุผลว่า…

 

“…แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่โจทก์ก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ ปอท.เบิกความยืนยันว่า จากการตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ที่โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ประชาไทและตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต พบว่าไอพีแอดเดรส ตรงกับ เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กของจำเลย นอกจากนี้ตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของจำเลย พบว่า วันและเวลา ตรงกับการกระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งผู้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจะต้องมีรหัสผ่าน และใช้หมายเลขโทรศัพท์ ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่าข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตดังกล่าวตรงกับจำเลย ที่สมัครสมาชิกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และได้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตเรื่อยมา

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบผู้ใช้งานในวันและเวลาขณะเกิดเหตุพบว่า มีผู้ใช้งานเพียงคนเดียว ซึ่งไอพีแอดเดรส ของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะไม่ซ้ำกันและมีเพียงไอพีแอดเดรสเดียวเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆได้ ไอพีแอดเดรส จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้ทราบ ชื่อผู้ใช้ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งตรงกับข้อมูลของจำเลย ทั้งนี้แม้ว่าข้อความที่โพสต์ลงบนเว็บไซต์ประชาไท จะโดนลบไปแล้ว แต่ข้อความที่โพสต์ดังกล่าวยังถูกเก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธได้…”

 

“…การเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ไอพีแอดเดรสของจำเลยทำได้ยาก เพราะไอพีแอดเดรสของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องไม่สามารถปลอมแปลงได้…”

 

“…พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตรงไปตรงมา ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย อีกทั้งความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังในการตรวจสอบ จนทราบว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจึงจะดำเนินคดีตามกฎหมาย พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงจริง”

 

จากการพิเคราะห์ของศาลข้างต้น ไอพีแอดเดรส (IP Address)เป็นหลักฐานที่ศาลให้ความสำคัญ โดยศาลเชื่อว่า ไอพีแอดเดรสเป็นหลักฐานที่ทำให้ทราบชื่อผู้ใช้ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ อันเป็นข้อมูลที่ตรงกับจำเลย และไอพีแอดเดรสนี้ก็ตรงกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของจำเลย ซึ่งคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะมีไอพีแอดเดรสแตกต่างกัน คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องจะมีเพียงไอพีแอดเดรสเดียวเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ จำเลยแย้งว่า ที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยและโรงงาน มีเครื่องคอมพิวเตอร์สิบเอ็ดเครื่องและมีคนใช้งานหลายสิบคน และในเวลาเกิดเหตุ ก็มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยเลขหมายที่จำเลยเป็นคนสมัครพร้อมกันหลายเครื่อง ศาลได้นำข้อมูลการสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตมาพิเคราะห์ด้วย โดยกล่าวว่า ผู้ที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ตจะต้องทราบหมายเลขโทรศัพท์และรหัสผ่านถึงจะเข้าใช้อินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นผู้ที่จดทะเบียนสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตเอง

การที่ศาลนำเอาสาระเรื่องการเป็นผู้มีชื่อจดทะเบียนสมัครใช้อินเทอร์เน็ตมาเป็นเหตุผลพิเคราะห์ อาจเกิดเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวกับการนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ จากที่เพียงเป็นผู้สมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ต

 

ที่สำคัญ จากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ข้างต้น ไม่ว่าคดีนั้นๆ จะมีข้อมูลทางเทคโนโลยีน่าเชื่อถือหรือมีข้อกังขาเพียงใดแต่อย่างไรเสีย ศาลมักเห็นว่า ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ย่อมไม่มีเหตุโกรธเคือง ไม่มีเหตุให้กลั่นแกล้งจำเลย

 

บัณฑิต อาณียา เขียนเอกสารเสียดสีพระราชอำนาจ

คดีของบัณฑิต อาณียา ก็เป็นอีกคดีที่ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์มีคำตัดสินออกมาแตกต่างกัน บัณฑิตถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการไปกล่าวแสดงความคิดเห็นและแจกเอกสารในงานสัมมนาของกกต.

เนื่องจากบัณฑิตต่อสู้มาตลอดว่าเป็นโรคจิตเภท พยานจำเลยเองก็มาให้การต่อศาลไปในทำนองเดียวกันว่า บัณฑิตมีอาการเพี้ยน พูดเพ้อเจ้อ สติไม่ดี มีจิตบกพร่อง อีกทั้งผู้ตรวจวินิจฉัยตามคำสั่งศาลก็ประเมินว่า บัณฑิตป่วยด้วยโรคจิตเภท งานเขียนของบัณฑิตก็มีลักษณะไม่เชื่อมโยงกัน กระโดดไปกระโดดมา เหมือนนึกอะไรได้ก็เขียน ศาลชั้นต้นจึงเชื่อว่าบัณฑิตป่วยเป็นโรคจิตเภท ตัดสินให้บัณฑิตมีความผิด 2 กรรม ลงโทษจำคุก 4 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ เพื่อให้โอกาสไปบำบัดรักษาให้หายเป็นปกติเพื่อเป็นพลเมืองดีต่อไป

แต่ในชั้นอุทธรณ์ศาลกลับเห็นว่า ข้อความในข้อเขียนและคำพูดตามเอกสารถอดเทปคำพูดของบัณฑิต เป็นข้อความที่คนทั่วไปอ่านหรือรับฟังแล้วสามารถเข้าใจได้ทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจข้อความใด หรือเป็นการเขียนแบบสติเลอะเลือน นอกจากนี้ข้อความทั้งหมดก็สอดคล้องกันเป็นเอกภาพ มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่า บัณฑิตไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ให้พระราชอำนาจเหนือสถาบันต่างๆ และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในลักษณะเสียดสี ศาลจึงเชื่อว่าขณะที่บัณฑิตเขียนหรือกล่าวข้อความดังกล่าว ยังสามารถรู้ผิดชอบและบังคับตัวเองได้ทั้งหมด จึงไม่ควรรอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้ให้ไม่รอการลงโทษ แต่เนื่องจากบัณฑิตให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน

เมื่อคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ออกมาแตกต่างจากศาลชั้นต้น บทสรุปสุดท้ายของสองคดีจึงอยู่ที่คำพิพากษาศาลฎีกา ก็น่าติดตามต่อไปว่าในชั้นศาลสูงสุดจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร คำพิพากษาที่จะชี้ว่าการนำข้อความหมิ่นฯ ไปเผยแพร่ต่อ โดยไม่ได้มีเจตนาให้เกิดความเกลียดชังเป็นความผิดหรือไม่ หรือพยานหลักฐานที่ยังมีข้อน่าสงสัยจะเป็นเหตุผลในการลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดี 112 ต่อไป