ผู้มีอำนาจออกคำสั่งเซ็นเซอร์เนื้อหาในสื่อ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อ ให้อำนาจแก่องค์กรหลายรูปแบบเป็นผู้พิจารณาและออกคำสั่งเพื่อปิดกั้นหรือ เซ็นเซอร์สื่อ กฎหมายแต่ละฉบับต่างให้อำนาจในการใช้วิจารณญาณแก่องค์กรที่แตกต่างกัน แสดงถึงความหลากหลายของลักษณะของผู้ถืออำนาจและความอ่อนไหวในการปิดกั้นสื่อ

 

วิทยุ และโทรทัศน์

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37 วรรคสอง กำหนดว่า

 

“ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน”

 

ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ตรวจสอบและเซ็นเซอร์เนื้อหาของรายการที่จะออกอากาศ คือ ผู้รับใบอนุญาต หรือ ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ ผู้บริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์นั้นๆ

 

ทุกสถานีจึงต้องมีเจ้าหน้าที่และระบบสำหรับทำหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหา และหากเจ้าของสถานีไม่ดำเนินการ ก็ให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการในที่นี้หมายถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า “กสทช.”               กล่าวคือ องค์กรที่เซ็นเซอร์เนื้อหาของรายการวิทยุและโทรทัศน์ มีอยู่สองระดับ คือ เจ้าของสถานีในฐานะสื่อที่ต้องรับผิดชอบกันเอง และมีรัฐกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง

 

สิ่งพิมพ์

พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 10 กำหนดว่า

 

“มาตรา 10 ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้”

 

กล่าวคือ กฎหมายให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติผู้เดียวในการออกคำสั่งห้ามสั่งเข้า หรือ นำเข้าซึ่งสิ่งพิมพ์

 

ภาพยนตร์

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดให้ภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศทุกเรื่องต้องผ่านการอนุญาตและจัดเรทติ้งโดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ตรวจพิจารณาก่อนนำออกฉายในประเทศไทย และมาตรา ๑๖ วรรคสอง กำหนดว่า

 

“มาตรา ๑๖ วรรคสอง คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๑) ให้มีจำนวนไม่เกินเก้าคน โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการต่างประเทศ ภาพยนตร์ ศิลปวัฒนธรรม สื่อสารมวลชน หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการภาพยนตร์”

 

อินเทอร์เน็ต

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๐ กำหนดว่า

 

“มาตรา ๒๐ ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้”

 

พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์เป็นผู้ยื่นคำร้องขอปิดเว็บ โดยต้องให้รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารลงนามให้ความยินยอม ก่อนจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาและออกคำสั่งให้ปิดกั้นเนื้อหาได้              

 

กล่าวคือ ผู้เกี่ยวข้องกับการบล็อคเว็บ มีทั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ โดยได้รับความยินยอมจากฝ่ายบริหาร คือรัฐมนตรี และสุดท้ายผู้ที่มีอำนาจใช้วิจารณญาณและออกคำสั่งคือศาลซึ่งเป็นอำนาจตุลาการ

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ