2567 wish list : สี่ประเด็นชวนจับตาในปี 2567

หลายประเด็นทางการเมืองที่มีบทสนทนาหรือมีความเคลื่อนไหวในปี 2566 แล้วยังไม่ได้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การนิรโทษกรรมประชาชน การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพื่อสมรสเท่าเทียม ขณะเดียวกันปี 2567 ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่น่าจับตา คือ สว. ชุดใหม่ ชวนจับตาสี่ประเด็นนี้กันต่อในปี 2567
รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน
การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือคำสัญญาของพรรคเพื่อไทยที่ให้ไว้กับสังคมทันทีที่เกิดการ “สลายขั้ว” ในการจัดตั้งรัฐบาล และได้รับกล่าวถึงโดยแกนนำพรรคอยู่เสมอ ปี 2567 จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันจะต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ด้วยการผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน
นับตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลได้ แทนที่จะมีมติให้จัดทำประชามติทันทีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกตามที่สัญญาไว้ รัฐบาลกลับมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อศึกษาการทำประชามติ โดยหลังจากผ่านไปเกือบสามเดือน คณะกรรมการก็สรุปผลให้มีการทำประชามติเพื่อตัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ในขณะที่ประเด็นอื่น ๆ ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน
แม้การตั้งกรรมการประชามติจะช่วยทอดเวลาที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจออกไปได้สามเดือน แต่ในปี 2567 พรรคเพื่อไทยก็จะต้องตัดสินใจไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หากยังคงต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังที่สัญญาไว้ โดยมีประเด็นที่ประชาชนต้องจับตาดังนี้
๐ ครม. และเศรษฐาเคาะทำประชามติ
อำนาจในการทำประชามติอยู่ที่ ครม. ที่มีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นหัวโต๊ะ แม้ว่าคณะกรรมการประชามติจะมีผลสรุปออกมาว่าจะให้มีการทำประชามติรอบแรกเพื่อถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ การตัดสินใจตามกฎหมายก็ยังอยู่ที่ ครม. ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
คำถามสำคัญคือหาก ครม. จะตัดสินใจทำประชามติจริง จะตัดสินใจเมื่อใด เพราะจะส่งผลต่อเวลาการทำประชามติและกรอบเวลาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย คณะกรรมการประชามติแถลงผลว่าจะส่งเรื่องไปที่ ครม. อย่างเร็วภายในมกราคม และ ครม. ก็จะตัดสินใจอย่างช้าภายในไตรมาสแรกหรือมีนาคม 2567 หากเศรษฐาประวิงเวลาการตัดสินใจถึงเดือนมีนาคม ประชาชนไทยก็จะได้เดินเข้าคูหาหลังจากนั้น 90-120 วันหรือกลางปี 2567 ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับ สว. แต่งตั้งหมดอำนาจ จึงเป็นเรื่องน่าคิดต่อว่าหากไม่มี สว. แล้ว การทำประชามติครั้งแรกยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่
๐ คำถามประชามติ ทั้งฉบับหรือมีข้อยกเว้น
คณะกรรมการประชามติสรุปผลการประชุมกว่าสามเดือนว่าให้ใช้คำถาม “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” เท่ากับว่าคณะกรรมการนี้ไม่ได้ “มีอะไรใหม่” ในเชิงของเนื้อหา เพราะคำถามนี้ก็เป็นสิ่งที่ตัวแทนรัฐบาลกล่าวเน้นย้ำตั้งแต่ก่อนการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาแล้ว
ทว่า การตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็ยังอยู่ในมือของ ครม. และเศรษฐา รัฐบาลอาจจะเลือกเอาคำถามตามที่คณะกรรมการเสนอหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่ยังมีคำถาม “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ที่ภาคประชาชนรวมตัวกันว่า 200,000 รายชื่อวางอยู่บนโต๊ะ ครม. หาก ครม. เลือกที่จะ “ล็อก” บางหมวดบางมาตรา ก็อาจจะเจอกับอุปสรรคในการทำประชามติ ประชาชนที่สับสนไม่เข้าใจคำถาม ประชาชนที่อยากแก้ไขทั้งฉบับ และประชาชนที่ไม่อยากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลย รวมกันอาจจะออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ทำให้รัฐบาลแก้ประชามติ และปิดประตูการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นการตัดสินใจของ ครม. เรื่องคำถามประชามติจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่าพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
๐ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 - ที่มา สสร.
หากมีการทำประชามติในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 และได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง ขั้นตอนต่อไปก็คือการเสนอและพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในรัฐสภาเพื่อให้มี สสร. รัฐสภาก็จะเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่และที่มาของ สสร. ในรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร โดยต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา อย่างน้อยหนึ่งในสามของ สว. และอย่างน้อยร้อยละ 20 ของพรรคฝ่ายค้าน ถึงจะทำให้กระบวนการนี้ผ่านตลอดรอดฝั่ง
หากคำถามประชามติไม่ได้การันตีว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็จะเป็นคำถามใหญ่ว่ารัฐสภาที่มี สว. ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมด้วยนั้นจะมีบทบาทอย่างไรในการกำหนดคุณสมบัติของ สสร. พรรคร่วมรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไรในการเจรจากับหลายกลุ่มองค์กร และบทบาทของภาคประชาชนในเสนอรูปแบบ สสร. ของตนเองจะมีหรือไม่
นิรโทษกรรมประชาชน
แม้ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะไม่ได้เป็นผู้นำรัฐบาลแล้ว แต่มรดกที่สำคัญของหัวหน้าคณะรัฐประหารก็คือคดีทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่มีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม เพื่อรวมกับคดีอื่น ๆ เช่น ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินฉุกเฉิน คดีทางการเมืองก็มีหลักพันคดี โดยส่วนใหญ่ที่คั่งค้างมาหลายปีก็กำลังจะมีคำพิพากษา ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอีกจำนวนมากต้องโทษจำคุก
หลังจากที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจ คดีเหล่านี้ก็ไม่มีสัญญาณว่าจะลดลงหรือสถานการณ์การบังคับใช้ดีขึ้น ผู้คนที่เคยออกไปใช้สิทธิชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลได้ ยังคงเดินหน้าเข้าสู่เรือนจำ ในระหว่างที่การแก้ไขกฎหมายยังไม่สำเร็จ ทางออกที่พอจะทุเลาปัญหานี้ได้ก็คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมือง
ในปี 2567 การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา
๐ แคมเปญเข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชน
ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเปิดตัวร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนเพื่อนำเสนอทางออกต่อปัญหาคดีทางการเมือง โดยอาจจะมีการเปิดรับรายชื่อในต้นปี 2567 ให้ได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อตามกฎหมาย และนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคการเมืองในสภา ประเด็นการนิรโทษกรรมนั้นยังต้องการการสื่อสารกับสาธารณชนอีกมากให้เข้าใจความจำเป็นและเหตุผลของการปล่อยนักโทษทางการเมือง ประชาชนจึงต้องคอยจับตาและเตรียมตัวให้พร้อมกับแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนของภาคประชาชนเสนอให้นิรโทษกรรมคดีที่มีแรงเหตุจูงใจทางการเมือง คดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันที เช่น มาตรา 112 พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และความผิดตามคำสั่งหรือประกาศ คสช. อีกทั้งยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณานิรโทษกรรมในคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองอีกด้วย
อ่านสรุปร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน https://ilaw.or.th/node/6696 
๐ ท่าทีและร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทยคือตัวละครที่สำคัญที่สุดในการผลักดันการนิรโทษกรรม ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยยังมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน แต่หากว่าพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ จะไม่เห็นพ้องด้วย ก็สามารถรวมเสียงกับพรรคก้าวไกลเพื่อให้เกินกึ่งหนึ่งและผ่านกฎหมายได้
ทางเลือกของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันมีอยู่สามช่องทาง ทางแรกคือการนิ่งเฉยและปล่อยให้ประเด็นนี้ไม่ถูกพูดถึงในสภา แต่พรรคก็จะเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นเพราะนักโทษทางการเมืองนั้นส่วนหนึ่งก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเรียกร้องประชาธิปไตยและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลได้ ทางที่สองคือการถ่วงเวลาโดยการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อบรรเทาแรงต้านโดยสามารถอ้างได้ว่าอยู่ในกระบวนการ “ศึกษา” ทางเลือกสุดท้ายคือการสนับสนุนการนิรโทษกรรม โดยอาจจะเสนอร่างกฎหมายในนามพรรคหรือรัฐบาล ซึ่งก็จะต้องจับตาเนื้อหาในร่างกฎหมายต่อไป
๐ เนื้อหาร่างกฎหมาย - นิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือเหมาเข่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ
หากมีการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในสภา “ใครจะได้รับนิรโทษกรรมบ้าง” ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาเช่นกัน พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้าน อ้างว่าหากร่างกฎหมายมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 พรรคของตนจะไม่ลงคะแนนสนับสนุน ในขณะที่มีพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวเท่านั้นที่ประกาศตัวจะสนับสนุนการนิรโทษกรรมคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นยังไม่มีจุดยืนชัดเจน
เนื้อหาอีกประการหนึ่งคือกฎหมายจะเป็นการ “นิรโทษกรรมประชาชน” หรือ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” กล่าวคือ จะรวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเข้าไปด้วยหรือไม่ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา การออกกฎหมายนิรโทษกรรมน้อยครั้งที่จะสำเร็จหากไม่มีการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทยเคยผลักดันในปี 2556 ได้รับชื่อว่าสุดซอยก็ด้วยเหตุว่ามีการนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ดังนั้น เนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่สภาจะพิจารณาเห็นชอบจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามในปี 2567
วุฒิสภาชุดใหม่
11 พฤษภาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 250 คนก็จะหมดอายุ สว. ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ คาดว่าน่าจะได้ สว. ชุดใหม่อย่างเร็ว ภายในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567
สว. ชุดใหม่ มีจำนวน 200 คน มีที่มาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม การเลือกกันเองนั้นจะเป็นการเลือกภายในกลุ่มเดียวกันและเลือกข้ามกลุ่ม ลำดับการเลือกนั้นทำตั้งแต่ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือระดับประเทศ เพื่อให้ได้ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพกลุ่มละ 10 คน รวมเป็น 200 คน
ผู้ที่จะสมัครเป็น สว. ได้ ต้องมีอายุอย่างน้อย 40 ปี มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือมีลักษณะต้องห้ามอื่นๆ ข้อสำคัญก็คือใครก็ตามที่มีคุณสมบัติครบก็สมัครได้ แม้ว่าสุดท้ายอาจจะไม่ได้รับเลือกให้เป็น สว. แต่การสมัครเป็น สว. ก็จะทำให้ผู้สมัครสามารถใช้สิทธิเลือกผู้สมัครคนอื่นที่เห็นว่ามีคุณสมบัติทัศนคติเหมาะสมได้ ผู้ที่มีคุณสมบัติหากไปสมัคร สว. ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดคนที่จะมาเป็น สว. ชุดใหม่ รวมถึงมีโอกาสสังเกตการณ์กระบวนเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงด้วย
ความแตกต่างในอำนาจของ สว. ชุดใหม่คือจะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. เหมือนกับ สว. ชุดพิเศษ แต่อำนาจในด้านอื่นๆ ที่สำคัญก็ยังคงอยู่ ได้แก่ การตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายทั่วไป การให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ การพิจารณาร่างกฎหมาย รวมถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
เส้นทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หลังจากรัฐบาลทำประชามติครั้งที่หนึ่ง เพื่อหยั่งเสียงประชาชนว่าจะเห็นสมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ กระบวนการถัดมาคือการเสนอและพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในรัฐสภาเพื่อให้มี สสร. รัฐสภาก็จะเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่และที่มาของ สสร. ในรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร โดยต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา อย่างน้อยหนึ่งในสามของ สว. และอย่างน้อยร้อยละ 20 ของพรรคฝ่ายค้าน ถึงจะทำให้กระบวนการนี้ผ่านตลอดรอดฝั่ง
สว. จึงมีบทบาทสำคัญมากต่อกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอและพิจารณาไม่ทัน สว. ชุดพิเศษนี้ 200 สว. ชุดใหม่จากการเลือกกันเองก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพื่อ สมรสเท่าเทียม
หลังจากเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จำนวนสี่ฉบับ 1) ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน 2) ฉบับที่เสนอโดยครม. 3) ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล และ 4) ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง นับเป็นก้าวแรกของการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมในสภาอีกครั้ง หลังจากเคยเข้าสภาชุดก่อนมาแล้วแต่พิจารณาไม่เสร็จและร่างตกไป
อย่างไรก็ดี เส้นทางของการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพื่อสมรสเท่าเทียม ยังมีขั้นตอนกระบวนการพิจารณากฎหมายอีกหลายขั้นตอนที่ประชาชนควรจับตา ดังนี้
๐ การพิจารณาวาระสอง-สาม ชั้นสภาผู้แทนราษฎร 
หลังจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาในวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กระบวนการถัดมาคือการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งจะพิจารณาเชิงรายละเอียด และนำเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติรายมาตราในวาระสองต่อไป กระบวนการตรงนี้มีความสำคัญต่อเนื้อหาร่างกฎหมายมาก ข้อความ ถ้อยคำ หรือการรับรองสิทธิคู่สมรสสามารถถูกแก้ไขเพิ่มเติมได้ในวาระสอง
หลังจากการพิจารณาวาระสองและเสร็จ จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายในวาระสาม ซึ่งทางปฏิบัติมักจะทำหลังลงมติรายมาตราวาระสองแล้วเสร็จ
การลงมติเห็นชอบในวาระสาม จะเป็นจุดชี้สำคัญว่าร่างกฎหมายนั้นจะได้ไปต่อหรือมี หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาต่อไป แต่หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะตกไป
๐ การพิจารณาชั้นวุฒิสภา
หากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎรสามวาระแล้ว ลำดับถัดไปก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภามีกำหนดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ร่างกฎหมายมาถึงวุฒิสภา และสามารถขยายเวลาออกไปได้ไม่เกิน 30 วัน (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 136) หากวุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติไม่เสร็จภายในเวลากำหนด ถือว่าให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนั้นแล้ว (มาตรา 136 วรรคสาม) ก็คือร่างกฎหมายนั้นผ่านสามวาระของวุฒิสภาโดยอัตโนมัติ 
วุฒิสภา เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วหายไปได้ แต่หากวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมาย หรือแก้ไขร่างกฎหมายนั้น ก็จะทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายล่าช้าขึ้น หากวุฒิสภาแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็ต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้กฎหมาย นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้กฎหมายได้เลย แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการแก้ไข ก็ต้องตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม” ของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ทำให้กระบวนการพิจารณาช้าขึ้นไปอีก
อ่านขั้นตอนการออกกฎหมายได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5343
๐ การแก้ไขกฎหมายอื่นๆ เพื่อรับรองสิทธิคู่สมรส
นอกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่รับรองเรื่องการสมรสโดยตรง ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่รับรองสิทธิคู่สมรสอีกมาก แต่กฎหมายเหล่านั้นอาจใช้คำที่ไม่สอดคล้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น คำว่า สามี-ภริยา ซึ่งในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเสนอแก้ไขใช้คำที่เป็นกลางทางเพศคือคู่สมรส
สำหรับการออกแบบวิธีแก้ไขปัญหากรณีที่กฎหมายอื่นใช้ถ้อยคำที่ระบุเจาะจงเพศและอาจส่งผลต่อการรับรองสิทธิหน้าที่ของคู่สมรส หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาและบังคับใช้ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแต่ละฉบับ เสนอแนวทางแก้ไขแตกต่างกัน ดังนี้
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล และฉบับที่เสนอโดย ครม. : กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบ ที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับ สามี ภริยา หรือคู่สมรส และให้เสนอผลการทบทวน ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นๆ ก็เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นต่อ ครม. ด้วย ภายใน 180 วันนับแต่กฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน : กำหนดให้คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้แล้ว เป้นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สมรส สามีภริยา หรือบิดามารดา เพราะในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน เสนอแก้ไขคำว่าบิดามารดา ใช้คำว่าบุพการีแทน
สรุปสั้นๆ คือ ร่างฉบับนี้ กำหนดให้คู่สมรสมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ โดยอัติโนมัติ แม้ว่ากฎหมายเหล่านั้นจะใช้คำมีลักษณะเป็นระบบสองเพศ เช่นคำว่า สามีภริยา
การจะเลือกแนวทางใดมาใช้กับกรณีนี้นั้น โดยหลักจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาขั้นวาระสองของสภาผู้แทนราษฎร หากกมธ. รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรเลือกแนวทางตามร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ ครม. เสนอ ซึ่งเป็นร่างหลักที่พิจารณาในชั้นกมธ. และฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องผลักดันการแก้ไขกฎหมายต่อไป ประชาชนต้องช่วยกันติดตาม-จับตาการแก้ไขกฎหมายในระยะยาว