เลือกอะไรได้ไหม?? สำรวจทางเลือกในการออกเสียงเมื่อคำถามประชามติ “ล็อกหมวด1-2”

25 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ สรุปผลการศึกษา ซึ่งออกมาไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีประกาศไว้ตั้งแต่ตอนแรก คือ จะจัดให้มีการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างน้อย 3 ครั้ง และจะมีการทำประชามติครั้งแรกขึ้นก่อน ซึ่งเป็นประชามติที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำแต่เกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มให้จัดทำเอง โดยเสนอให้ตั้งคำถามในการทำประชามติว่าท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์

การตั้งคำถามลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการตั้งคำถามที่มีสองคำถามสองประเด็นอยู่ในคำถามเดียว คือ 1) ท่านเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2) ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งประชาชนบางคนอาจจะเห็นด้วยกับประเด็นที่ 1) แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ 2) หรือบางคนอาจจะเห็นด้วยกับประเด็นที่ 2) แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ 1) ก็จะไม่มีทางเลือกที่จะออกเสียงตามที่ตัวเองคิดเห็น เพราะคำถามได้ล็อกมาแล้วให้ต้องตอบทั้งสองประเด็นไปในทางเดียวกันว่าเห็นชอบกับทั้งสองประเด็นหรือไม่เห็นชอบกับทั้งสองประเด็น เท่านั้น  

คำถามที่จะใช้ในการทำประชามติ จะถูกตัดสินใจขั้นตอนสุดท้ายโดยคณะรัฐมนตรี ที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งการตัดสินใจน่าจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2567 แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากประชามติครั้งนี้ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดให้ต้องจัดทำ ดังนั้น ความสำคัญของการทำประชามติจึงเป็นการสอบถามความเห็นประชาชนคนไทยเพื่ออยากทราบความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลสำคัญอย่างมากในทางการเมือง เสียงของประชาชนจะมีความหมายและถูกใช้ยืนยันเพื่อดำเนินการหรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไปอีกในภายภาคหน้า แต่ไม่ได้เป็นประชามติที่มีผลในทางกฎหมาย ไม่ว่าผลการทำประชามติจะออกมาอย่างไรก็ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายใด

ภายใต้คำถามที่มีสองประเด็นซ้อนกันอยู่และอาจจะนำไปสู่ปัญหาได้มาก จึงชวนประชาชนช่วยกันคิด และชวนทำความเข้าใจว่า หากเกิดการทำประชามติขึ้นด้วยคำถามนี้  ประชาชนมีทางเลือกที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ได้อย่างไรบ้าง โดยวิเคราะห์จากผลของการออกเสียงในแต่ละแนวทาง และผลต่อเนื่องทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นหลังทราบผลการออกเสียงประชามติ

VOTE YES รัฐบาลเดินหน้าตามนโยบายหมวด1 หมวด2″ ถูกล็อกยาว  

เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขในหมวด1 และหมวด 2 เป็นนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ประกาศไว้เมื่อเข้าจับมือร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นแบบผสมข้ามขั้วเรียบร้อยแล้ว หากประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติเห็นชอบหรือ Vote YES ต่อคำถามนี้ ก็จะเป็นการลงฉันทามติทางการเมืองครั้งสำคัญให้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ดำเนินนโยบายตามแนวทางที่วางไว้ได้อย่างสะดวกโดยมีเสียงจากประชาชนให้การสนับสนุน 

ซึ่งขั้นตอนต่อไปหลังผ่านการทำประชามติครั้งที่ 1 แล้ว รัฐบาลก็จะต้องเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อจัดตั้งสสร. รวมทั้งกำหนดที่มาของสสร. หากร่างผ่านการพิจารณาของทั้งสส. และสว. ก็ต้องมีการทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อรับรองร่างฉบับนี้ และหากผ่านประชามติครั้งที่ 2 ก็จะนำไปสู่การจัดตั้งสสร. และทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อมีร่างฉบับใหม่แล้วก็จะนำไปสู่การทำประชามติรับรองร่างฉบับใหม่ เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งรวมแล้วอาจใช้เวลาอย่างเร็วประมาณสองปี 

โดยประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ คือ ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็จะมีการเขียนล็อกไว้ชัดเจนว่า สสร. ชุดใหม่จะไม่มีอำนาจในการแก้ไขหรือจัดทำหมวด 1 และหมวด 2 ใหม่ แต่จะต้องใช้ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ทุกตัวอักษรต่อไป หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จ ก็จะต้องมีหมวด 1 และหมวด 2 ที่เหมือนกับฉบับปี 2560 เท่านั้น และในอนาคตอีกหลายปี หากมีการเสนอให้แก้ไขหมวด 1 หรือหมวด 2 ก็ย่อมจะมีเสียงคัดค้านจากคนที่ไม่ต้องการให้แก้ไข โดยหยิบยกผลการทำประชามติครั้งที่ 1 มาเป็นหลักอ้างอิงว่าประชาชนไม่ต้องการให้แก้ไข รวมทั้งหากมีองค์กรใดเข้ามาใช้อำนาจวินิจฉัย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีน้ำหนักมากที่จะอ้างผลการทำประชามติครั้งนี้เพื่อสั่งห้ามแก้ไขหมวด 1-2 ได้ในทุกประเด็น

VOTE NO รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้เริ่ม แต่ไม่ปิดตายสภาเสนอร่าง+แก้ไข

ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติไม่เห็นชอบหรือ Vote NO ต่อคำถามนี้ ก็จะเกิดผลที่ชัดเจนตามประเด็นที่ 1) คือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้รัฐบาลอาจดำเนินนโยบายตามที่ประกาศไว้ได้ลำบากเพราะขาดเสียงสนับสนุนจากประชาชน หากรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดตั้งสสร. ก็เป็นไปได้มากที่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนอาจลงมติไม่เห็นชอบโดยอ้างว่าต้องลงมติไปตามผลการทำประชามติที่ประชาชนออกเสียงมา ทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เริ่มขึ้นตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ หรืออาจจะไม่ได้เริ่มขึ้นในรัฐบาลนี้เลยก็ได้ 

แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดความผูกพันของประชามติครั้งที่ 1 และไม่มีข้อห้ามว่า หากไม่ผ่านประชามติแล้วจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดตั้งสสร. ไม่ได้ และไม่มีกฎหมายบังคับว่าสมาชิกรัฐสภาต้องลงมติอย่างไร หากสมาชิกรัฐสภาบางคนจะตีความว่า ผลการทำประชามติเกิดจากประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขในประเด็นที่ 2) ก็ยังลงมติให้ผ่านได้ เส้นทางของการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยรัฐสภาจึงยังไม่ได้ปิดตายในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองเป็นไปได้ยาก ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ลงมติไม่เห็นชอบจะสามารถส่งเสียงสร้างคำอธิบายในทางสังคมได้หรือไม่ว่า การไม่เห็นชอบนั้นเป็นการไม่เห็นชอบกับเงื่อนไขประเด็นที่ 2) แต่ประชาชนยังคงต้องการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ทั้งฉบับ) 

โดยประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ คือ เมื่อรัฐบาลจัดทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนตามนโยบายที่ประกาศไว้ และได้ผลว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบรัฐบาลจะมีความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไร จะมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่ออย่างสง่างามได้อย่างไร หากผลการทำประชามติออกมาในแนวทางนี้ก็จะต้องทวงถามกันต่อไป

NO VOTE นอนอยู่บ้านก็มีผล คนใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งเท่ากับคว่ำ 

...ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.. 2564 (...ประชามติฯ) มาตรา 13 กำหนดว่าการออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้นหมายความว่า ในการทำประชามติที่สำเร็จทุกครั้งนอกจากจะต้องมีผู้ออกเสียงเห็นชอบเกินครึ่งแล้ว ยังต้องมีคนมาใช้สิทธิเกินครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิด้วย ในทางวิชาการเรียกว่าต้องใช้ เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้นหรือ Double Majority 

หมายความว่า หากประชาชนมากกว่าครึ่งของผู้มีสิทธิไม่เข้าร่วมกระบวนการทำประชามติครั้งนี้ อาจจะเพราะไม่สะดวก หรือไม่ได้ติดตามข่าวสาร หรือไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับประชามติที่เห็นว่าการตั้งคำถามมีปัญหา ก็อาจทำให้จำนวนผู้ไปใช้สิทธิไม่ถึงครึ่ง และไม่ว่าผู้ที่ไปออกเสียงส่วนใหญ่จะออกเสียงอย่างไรก็ทำให้การทำประชามติครั้งนี้ไม่สำเร็จหรือเมื่อใช้ถ้อยคำตามมาตรา 13 ก็ต้องเรียกว่าไม่ถือว่ามีข้อยุติเท่ากับรัฐบาลเศรษฐาล้มเหลวในการผลักดันและเดินหน้านโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามที่ได้ประกาศไว้ 

การที่ประชามติไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของมาตรา 13 ทำให้ไม่มีใครสามารถนำผลการทำประชามตินี้ไปอ้างอิงว่าเป็นความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเพื่อดำเนินการใดหรือขัดขวางการดำเนินการใดต่อได้ ผลการทำประชามติที่ได้อาจเป็นเพียงการส่งสัญญาณทางการเมืองว่าประชาชนเท่าที่มาออกเสียงคิดเห็นอย่างไร แต่ถ้ารัฐบาลชุดนี้จะยืนยันดำเนินการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยไม่ต้องมีผลประชามติครั้งที่ 1 รองรับก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่มีความชอบธรรมทางการเมืองน้อยและสมาชิกรัฐสภาอาจจะไม่ลงคะแนนให้ หรือรัฐบาลอาจจะอยากแก้ตัวโดยการจัดทำประชามติอีกครั้งแล้วหวังว่าประชาชนจะไปลงคะแนนเสียงกันมากขึ้น ในทางกฎหมายก็ยังสามารถทำได้  

ไม่ออกเสียงหรือบัตรเสีย” มีผลทำให้ประชามติตกไม่ได้ข้อยุติ 

สำหรับการเลือกตั้งสส. หากในเขตเลือกตั้งใดที่มีประชาชนออกเสียงในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดเป็นจำนวนมากกว่าคนที่ได้คะแนนสูงที่สุดแปลว่าต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้นเพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจตัวผู้สมัคร

แต่สำหรับการทำประชามติ หากประชาชนลงคะแนนในช่องไม่แสดงความคิดเห็นมากที่สุด ก็จะได้ผลลัพธ์สุดท้ายเท่ากับทำให้ประเด็นประชามตินั้นไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้นหากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถามในการทำประชามติ จึงอาจสามารถออกเสียงไปในทางนี้ได้

สำหรับการเลือกทำบัตรเสียไม่ว่าจะเป็นการไม่กากบาทในช่องใดเลย หรือขีดเขียนข้อความใดเพิ่มเติม ก็อาจจะส่งผลทำให้ประชามติไม่ได้ข้อยุติได้ เพราะถ้ามีจำนวนคนที่ทำบัตรเสีย กาไม่ประสงค์คะแนนจำนวนมาก จนทำให้ไม่มีคะแนนที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบอันใดอันหนึ่งสามารถได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิได้ก็จะทำให้ประชามตินั้นไม่ได้ข้อยุติ

ผลลัพธ์ของการทำประชามติจึงขึ้นอยู่กับว่า มีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่งหรือไม่ และมีคนลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ” อันใดอันหนึ่งเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ ทำให้จำนวนผู้ที่ไม่แสดงความคิดเห็นหรือบัตรเสีย มีความสำคัญในการตัดสินผลประชามติ ซึ่งมีโอกาสที่ประชามติจะไม่ได้ผลยุติตามกฎหมาย ซึ่งอาจหมายความว่าคำถามนี้ไม่ผ่านในสายตาประชาชนทำให้รัฐบาลอาจจำเป็นต้องทำประชามติเปลี่ยนคำถามใหม่ 

ดังนั้นการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนช่วยกัน ส่งเสียงสร้างคำอธิบายในทางสังคมได้ว่า การไม่แสดงความคิดเห็นหรือการทำบัตรเสียนั้นสามารถสร้างความหมายในทางการเมืองว่าไม่เห็นชอบกับประชามติครั้งนี้