จตุพร – ณัฐวุฒิ หนุนนิรโทษกรรมประชาชน รวมคดีมาตรา112

ท่ามกลางบรรยากาศการเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ของเศรษฐา ทวีสิน ที่มาจากการเลือกตั้งและการหลอมรวมกลุ่มที่เคยเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองให้มาเป็นรัฐบาลร่วมกันเดินหน้าสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่คดีความทางการเมืองที่เกิดจากการแสดงออกต่อต้านการทำรัฐประหาร ขับไล่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงคดีความจากความขัดแย้งทางการเมืองหลายระลอกตลอดเวลากว่าสิบปียังต้องเดินหน้าต่อ

ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยที่มีการดำเนินคดีอาญาจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะในระลอกความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งก่อนหน้านี้ จบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายอย่างรวดเร็ว ทำให้ในปี 2566 เกิดข้อเสนอนิรโทษกรรมประชาชนที่จะผลักดันให้รัฐสภาออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อการยกเลิการดำเนินคดีความทางการเมืองที่คั่งค้างอยู่ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 จนถึงวันที่กฎหมายบังคับใช้

อย่างไรก็ดี แม้ข้อเสนอให้ยกเลิกคดีเล็กๆ น้อยๆจากการชุมนุมจะได้รับการตอบรับดีจากหลายกลุ่มการเมือง แต่ประเด็นที่ยังเป็นความขัดแย้งสูง คือ ข้อเสนอให้นิรโทษกรรมคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ซึ่งมีเสียงคัดค้านจากพรรคร่วมรัฐบาล และมีความอึดอัดที่ชัดเจนจากพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเพื่อไทย ด้านอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีความผูกพันเป็นอดีตสส. พรรคเพื่อไทย ก็ยังคงให้ความเห็นต่อสาธารณะสนับสนุนให้นิรโทษกรรมแก่คดีมาตรา 112 ด้วย

จตุพร พรหมพันธ์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว TODAY รายการ Today Live เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 

จตุพร พรหมพันธ์ ให้ความเห็นถึง ความพยายามเสนอร่างพ...นิรโทษกรรม ในสมัยรัฐบาลของพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า มีหลายความพยายามเคยเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง

หัวข้อที่มีการเจรจาสมัยรัฐบาลพล..ประยุทธ์ หลังยึดอำนาจแล้ว ก็มีแนวคิดการนิรโทษกรรม ตอนนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องมาตรา 112 นะ ชวนกันไปทุกฝ่าย แต่พล..ประยุทธ์ ก็เก็บเข้าไปในลิ้นชักทุกครั้ง มาวันนี้ผมก็เห็นเหมือนกันว่า การนิรโทษกรรมเป็นคนละเรื่องกับการการแก้ไขมาตรา 112”

การแก้ไขมาตรา 112 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และแกนนำอีกหลายคนก็พูดเหมือนกันว่าต้องแก้ และอัยการสูงสุดก็สั่งฟ้องคุณทักษิณ วันที่ปล่อยตัวจากโรงพยาบาลต้องนำตัวไปศาลนะเพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยต้องไม่ลืมว่าตัวเองต้องแก้ไขมาตรา 112 ด้วย

แต่การนิรโทษกรรมเป็นคนละเรื่องกับการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งหาความเป็นไปได้ยากลำบาก เป็นศูนย์เลย พอเข้าที่ประชุมสภา สภาก็ยกมือว่าขอประชุมลับ ขอให้ลงมติเลยโดยไม่มีการอภิปราย แล้วก็คว่ำกันตอนนั้น ไม่มีใครได้ยิน มาวันนี้เอาสองเรื่องมารวมกัน ผมเห็นว่าการนิรโทษกรรมไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถ้าเอานิรโทษกรรมแค่คนในอดีตแล้วทิ้งคนรุ่นใหม่ มันจะเป็นความขัดแย้งใหม่ที่รุนแรงมากที่สุด

ถ้าเราต้องการจะให้การนิรโทษกรรม มันไม่มีอะไรรุนแรงกว่าสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับกองทัพไทยแล้ว อันนั้นตายกันเป็นหมื่นนะ ยังให้กันได้ กรณีนี้ผมเห็นปัญหาช่วงที่รัชกาลที่ 10 ครองราชย์ใหม่ๆ ท่านไม่ประสงค์จะใช้มาตรา 112 กับใคร คดีที่อยู่ในชั้นอัยการสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด คดีที่อยู่ในชั้นศาลยกฟ้องทั้งหมด และคดีที่พิพากษาถึงที่สุดแล้วก็อภัยโทษตามลำดับ สามปีที่ไม่ดำเนินคดีมาตรา 112 กับใครเลย มากลับในวันที่พล..ประยุทธ์ พูดว่า ในหลวงทรงไม่เอาโทษกับใคร พอพูดเสร็จคนเลยเอาไปพูดไง ก่อนหน้านี้ทุกคนรู้เป็นวงในของคนที่โดนคดี แบบนี้ก็เหมือนไปเรียกคนมาเพิ่ม เสร็จก็ต้องกลับมาดำเนินคดีแทน ต้นตอมันมาจากตรงนี้

ทีนี้ถ้าเราต้องการสร้างความสงบสุข ผาสุข ให้ทุกฝ่ายเริ่มกันไปได้ ก็อย่ากลัวว่าเขาจะทำซ้ำ สามารถเขียนป้องกันไว้ได้หมดในกฎหมาย แต่ถ้าจะทำก็ไม่ควรทิ้งใครเอาไว้ ให้นิรโทษกรรมก็ต้องไม่ใช่ให้แค่คนที่มีความขัดแย้งเดิม ซึ่งความขัดแย้งก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนรุ่นใหม่ในเรือนจำอาจจะติดคุกมากกว่าโทษประหารชีวิตอีก โทษประหารชีวิตจะลดโทษจำคุกเหลือตลอด และ 50 ปีเรียงลงมา บางคนมี 30-50 คดี สมมติคดีละสามปี เวลาสั่งฟ้องก็ขอให้นับโทษต่อกัน มาตรา 112 ให้รับโทษคดีแรกให้จบก่อนแล้วค่อยมารับโทษคดีที่สอง ทำให้หลายคนอายุไม่เพียงพอจะติดคุก

อนาคตของบ้านเมืองเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ สังคมนี้ควรที่จะให้ แล้วอย่ากลัวที่เขาจะทำซ้ำถ้ากลัวเขาทำซ้ำก็เขียนเงื่อนไขไว้ในกฎหมาย

ประชาชน เยาวชนทั้งหลายก็ควรได้รับโอกาสเดียวกัน เพราะวันที่เขาชุมนุมคุณ (พรรคเพื่อไทย) ก็ไป ดูยูทูป ดูเฟสบุ๊ก ก็เห็น การพูดคุยของชัยธวัชกับพุทธอิสระก็คุยกันได้ อะไรเห็นต่างก็คุยได้ มันไม่ต้องจบในวันเดียว วางแผนการพูดคุยกันแล้วหาทางออกให้มันสงบร่มเย็นกันทุกฝ่าย ไม่เป็นปัญหาใหม่ก็พอ

บางส่วนของข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมืองของจตุพรมีความแตกต่างจากข้อเสนอการนิรโทษกรรมของพิภพ ธงชัย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มองว่าให้แยกการนิรโทษกรรมออกเป็นสอง พ...

คดีนี้เป็นคดีการเมืองใช่ไหม แล้วอะไรเป็นอุปสรรคกับการเดินหน้าคดีการเมืองที่ทำให้ พ...นิรโทษกรรม ไปต่อไม่ได้ ตอนนี้ที่ สว. ออกมาแสดงออก คือ เรื่องมาตรา 112 ดังนั้นถ้าเป็นอุปสรรคก็แยกออกเป็นสอง พ... ไหม มาดูว่าคดีการเมืองเฉพาะที่ไม่มี 112 จะเอายังไงกัน ผมว่าอันนี้มันไปต่อได้ ถ้าเรายอมรับว่าเป็นคดีการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่งั้นก็ติดขัดกันไปหมด

อะไรเป็นอุปสรรคก็เอาออกมาก่อน แยกเป็นอีก พ... แต่เราจะยอมรับว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีการเมืองหรือไม่ ก็เถียงกันอีกยาว ผมเห็นด้วยนะว่าต้องมีการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม แต่ในเมื่อมันเป็นอุปสรรคอยู่ก็แยกออกมาก่อน เอากันทีละตอน เหมือนที่คุณทักษิณแยกตัวเองออกมาก่อน เป็นต้น แต่ไม่ได้บอกให้ทิ้งคดี 112 นะ

จตุพร พรหมพันธ์ มีคดีติดตัวจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และการกล่าวปราศรัย กล่าวให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้ง โดยเข้าต้องรับโทษจำคุกจากคำพิพากษามาแล้วอย่างน้อยสองคดี จากการกล่าวหมิ่นประมาทอภิสิทธิ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งการคนเสื้อน้ำเงินยิงคนเสื้อแดงในการประชุมอาเซียนปี 2552 จำคุกหนึ่งปี กรณีกล่าวหาว่า ประวิงเวลาในการทำความเห็นเสนอต่อสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ...ทักษิณ ชินวัตร จำคุก 12 เดือน 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: ให้สัมภาษณ์กับรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566

การสนทนาของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เริ่มด้วยความเห็นต่อร่าง พ...นิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งให้รวมคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งรวมมาตรา 112 ด้วย แต่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112

เรื่องนี้สื่อหลายแห่งไปมองว่าผมเห็นด้วยกับแบบก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับแบบพรรคเพื่อไทย ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ ผมเห็นในแบบของผมมาตั้งแต่ต้น คือ หากเงื่อนไขการเมืองแบบปัจจุบันที่เส้นแบ่งฝ่ายทางการเมืองพร่าเลือนไปหมดแล้ว ไม่รู้ใครแดง เหลือง มือตบ ตีนตบ นกหวีด ดังนั้น ควรเอาวาระนี้คืนโอกาสทางการเมือง คืนชีวิตปกติ ปลดเปลื้องพันธนาการทางการเมืองทุกคน ทุกฝ่าย ให้กลับไปเริ่มต้นกันใหม่ โดยไม่ได้หมายว่าให้ปฏิเสธหรือไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ที่เคยทำมาหรือเคยเกิดขึ้น ผมเสนอว่าการนิรโทษกรรมควรเกิดขึ้นในบรรยากาศเช่นนี้ เงื่อนไขรัฐบาลแบบนี้ควรทำ ก็อธิบายว่า ความขัดแย้งมันคลี่คลายไปแล้ว ฝ่ายที่ยืนตรงข้ามกันก็มายืนด้วยกันได้แล้ว การนิรโทษกรรมคดีความอันเกิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมืองก็ควรจะทั้งหมด ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะสีไหน

ผมโพสต์ข้อความก่อนที่ร่างของพรรคก้าวไกลหรือฝ่ายประชาชนอีกว่า ผมเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เพราะหากนิรโทษให้ทุกกลุ่มทุกฝ่าย แต่คงเหลือผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ขณะนี้มีจำนวนไม่น้อยไว้ ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวเยาวชน สิ่งที่จะเกิดคือคู่เผชิญหน้าเดียวในสังคมในการเมือง คือ คนรุ่นใหม่กับประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว และขณะนี้แต่ละคนที่โดนมา 20-30 คดี บางคนเกิน 50 คดี ประสบการณ์ผมสู้มาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันนี้คดีเก่ายังสู้ไม่จบและไม่รู้ไปจบเมื่อไร เด็กๆ วันนี้ที่โดน 40-50 คดีอาจจะต้องสู้คดีตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ ยี่สิบกลางๆ จนถึงอายุ 60 ปี ในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซ้ำไปเรื่อยๆ ผมว่าแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใครฝ่ายไหนหรอก มิสู้ว่าให้นิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 ด้วย แล้วให้เริ่มต้นกันใหม่

อย่างที่ผมบอกว่า ไม่ใช่ให้ปฏิเสธหรือไม่ต้องรับผิดชอบมาทั้งหมด เพราะถ้าเราดูกันดีดี คนที่เคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองต่างประสบชะตากรรมในทางการเมืองกันไปมากน้อยต่างกัน น้องๆ เยาวชนคนหนุ่มสาวที่สู้มาตั้งแต่ปี 2562-2563 ก็ไม่ได้เดินมาง่ายๆ ก็เจออะไรมาเยอะแล้ว ผมไม่ได้เสนอให้คนในสังคมเห็นด้วยกับพวกเขา แต่ผมเสนอให้เห็นใจ เปิดโอกาสให้เขาตั้งหลักกันใหม่ ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาช่วงสามสี่ปีนี้กำหนดทิศทางชีวิตของตัวเองอีกที เขาอาจจะผิดหรือถูก คิดเหมือนหรือต่างก็เป็นไปได้ แต่จะให้เยาวชนคนหนุ่มสาวของประเทศในยุคสมัยหนึ่งแบกรับสิ่งนี้ไปตลอดทั้งชีวิตของพวกเขา ผ่านยุคผ่านสมัยไป ไม่เป็นผลดี

ถ้าหากมีการนิรโทษกรรมแล้วมีการกลับไปทำแบบเดิมอีกจะทำยังไง ผมว่าต้องมีผู้รู้หลายๆ คนมาปรึกษาหารือกัน สร้างเป็นกลไกว่า ถ้าได้รับการนิรโทษกรรมในความผิดประเภทใดประเภทหนึ่งไปแล้ว หากอนาคตกระทำผิดอีกก็อาจจะต้องกลับมารับผิดชอบของเดิมด้วยหรือไม่ มันอาจจะต้องมีหลักประกันพวกนี้กันด้วยหรือไม่ รวมกระทั่งว่า ต่อไปนี้การใช้มาตรา 112 ต้องถูกบังคับใช้ไม่ให้ถูกตั้งคำถามเรื่องหลักนิติธรรมมากนักมันไม่มีผลดีกับใครทั้งสิ้น

สมัยก่อน 66/23 ความผิดอันเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ความผิดในการกระทำเช่นนั้นมันหมายรวมถึงทุกมิติ อาจจะหมายรวมทุกแนวคิดที่ไม่ถูกต้องกับมาตรา 112 ด้วยซ้ำ ก็ยังสามารถเปิดโอกาสให้ได้ ตอนนี้คนจำนวนมากจาก 66/23 ก็เป็นคนที่มีความคิด ออกมาวางรากฐานบ้านเมืองทั้งนั้น ผมคิดว่าบรรยากาศแบบนี้ วาระแบบนี้ สังคมที่มีบาดแผลจากความขัดแย้งเกือบ 20 ปี เราทำเรื่องนี้ร่วมกันได้ ที่พยายามเสนออยู่ก็เพื่อเป้าหมายนี้นี่แหละครับ

ที่ผมพูดเรื่องเงื่อนไขนี่เป็นตุ๊กตานะครับ แต่ให้ผู้รู้ผู้เกี่ยวข้องมาปรึกษากัน พอมาถึงมุมนี้ผมก็อาจจะไม่ตรงกับคนหนุ่มสาวที่เขาสู้มาอีก ว่าณัฐวุฒิมาเชื่ออะไร พวกผมก็เชื่อกันแบบนี้ หรืออาจจะไม่ตรงกับพรรคก้าวไกลหรือฝ่ายประชาชนที่เสนอร่างไปแล้ว แต่ว่านี่คือที่ผมคิด มันต้องช่วยกันหลายฝ่าย คิดด้วยกัน มันละเอียดอ่อน พอจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็ได้ หรืออาจจะกลายเป็นความขัดแย้งใหม่อีก

ผมไม่ได้อยากเห็นว่ากลุ่มที่เคยสู้กับผมแต่ติดคุกน้อยกว่าผมเลยต้องมาติดคุกอีก ผมไม่ได้อยากเห็นภาพแบบนั้น ผมอยากเห็นภาพว่า ตรงนี้พอกันได้แล้วหรือยัง ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันนะครับ แต่ตกผลึกกันได้แล้วไหมว่าที่มันเดินกันมาเนี่ย บ้านเมืองก็ไม่ได้เดินไปข้างหน้าอย่างที่ทุกฝ่ายตั้งใจ เราก็เห็นอยู่นี่ ดังนั้น ตั้งหลักกันใหม่ แล้วเดินไปข้างหน้าอีกทีแบบคนที่แบกรับประสบการณ์มาในยุคสมัยเดียวกัน

ผมจึงเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่ง ไม่สามารถจะนำไปเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองใดได้ เพราะมันไม่เหมือนกัน แต่สำหรับผมจะพยายามพูดเรื่องนี้ และอธิบายเหตุผลเรื่องนี้ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น แต่ถ้าเราพยายามทำให้คนเกิดความพอใจพร้อมๆ กัน อันนั้นเป็นสัญญาณของความล้มเหลว เพราะเราไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจกับสิ่งที่เราเสนอทุกอย่างพร้อมๆ กันได้

ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ในคดีจากการชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อปี 2550 ซึ่งต่อมาได้รับการพักโทษและปล่อยตัวเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563