25 ธันวาฯ รู้ผล คกก. ประชามติเตรียมแถลงแนวทางประชามติสู่รธน.ใหม่

10 ธันวาคม 2566 นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เข้าร่วมงานเสวนาที่จัดขึ้นบริเวณลานประชาชนหน้ารัฐสภา อธิบายถึงความคืบหน้าในการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่นิกรทำมาตลอด คือ การเดินสายชี้แจงและพูดคุยกับคนต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้

โดยนิกรเล่าถึง กำหนดการที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องทำงานให้เสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ว่า ในระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2566 จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากสส. และระหว่างวันที่ 18-19 จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากฝั่งสว.  หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 และจะแถลงข่าวถึงแนวทางในการทำประชามติต่อไป

รัฐบาลนี้มีคำสัญญาประชาชนแล้ว นี่คือให้พูดก่อนแล้วค่อยทำ สัญญาว่าอย่างนี้นโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือการแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มากขึ้นก็คือว่าตีความว่าให้มาจากประชาชน โดยยึดรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมการออกกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง 

นี่คือคำมั่นสัญญาเป็นนโยบาย พอมาตรงนี้แล้ว รัฐบาลเองก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมามีท่านภูมิธรรมเป็นประธาน ทีนี้คนก็หาว่าเราดึงเวลา จริงๆมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากยากมาก ขณะนี้ถามว่าไปถึงไหนแล้ว ขณะนี้เราได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา สองชุด ชุดของผมคือรับฟังความเห็นตอนนี้รับฟังความเห็นประชาชนคนรุ่นใหม่ฟังแล้ว กลุ่มอาชีพต่างๆเชิญไปที่ทำเนียบฯแล้ว 15 กลุ่มออกไปยังภาคต่างๆแล้วสี่ภาคแล้ว เหลือรออย่างเดียวก็คือรอสมาชิกรัฐสภา 

วันที่ 13 แบบสอบถามที่ออกมายังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คน จะวางอยู่แล้วให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติ๊กเป็นคำถาม เราต้องการความเห็นจากคนที่โหวตด้วย เราจะใช้เวลาสองวันคือ 13 14 15 เรามาเก็บของสส. พอวันที่ 18 19 ให้วุฒิฯ [วุฒิสภา] งั้นผมจะรอดูวันที่ 18 19 20 จะเอาดูว่า เขาติ๊กยังไง แล้วตรงนี้มันไม่ใช่เป็นข้อประเด็นกฎหมาย เป็นประเด็นการเมืองที่จะนำไปสรุปวันที่ 22 แล้ววันที่ 25 ท่านประธานภูมิธรรมนัดชุดใหญ่แล้ว 25 จะสรุปทั้งหมดว่า จะเอายังไง 

แล้วต่อจากนั้นถ้าทำประชามติก็ประมาณมกราคม กุมภาฯ มีนาฯ ประมาณเมษาฯ ก็ต้องออกทำประชามติแล้ว ที่ห่วงอยู่เรื่องเดียวตอนนี้ก็คือ เรื่องประชามติว่า ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิกันถึงตามระบบสองชั้นของเราไหม ก็คือว่าต้องออกมา 26 ล้านแล้วใน 26 ล้านนั้นจะต้องเห็นชอบกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นะครับ 13.5 ล้าน  เราจะทำได้ไหมก็หวาดเสียวตรงนี้อยู่ พรุ่งนี้ผมจะไปที่สถานทูต สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเขาทำประชามติปีนึงหลายครั้งมากจะไปถามความเห็นเขาว่าเขามีวิธีการอย่างไร ทั้งหมดนี้ผมพูดในนามผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ว่าเราจะทำให้จนได้ด้วยความตั้งใจด้วยความจริงใจเต็มที่เพื่อให้มีฉบับใหม่ เพื่อให้มีรูปธรรม

คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ถูกตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ภูมิธรรม เวชชยะชัย รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยนั่งเป็นประธาน พร้อมกรรมการอีก 33 คน ที่ภูมิธรรมแต่งตั้งขึ้นทั้งหมด รวมทั้งนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนาก็มารับหน้าที่เป็นโฆษกคนสำคัญในชุดนี้ด้วย 

การตั้งแต่คณะกรรมการขึ้นก็เนื่องจากรัฐบาลใหม่เคยสัญญาว่าจะเร่งให้ทำประชามติเพื่อการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วตั้งแต่การเปิดประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก แต่ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน เช่น จะต้องทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง? จะตั้งคำถามในการทำประชามติอย่างไร? จะต้องมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่? และสมาชิกหรือสสร. จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่? คณะรัฐมนตรีจึงขอเวลาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนและจะส่งเรื่องกลับไปให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจภายหลัง โดยกำหนดกรอบเวลาไว้สามเดือนก่อนสิ้นปี 2566

ในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นกำหนดที่จะประชุมสรุปตามที่นิกร จำนง ได้ชี้แจงไว้ จึงคาดหวังว่าจะมีผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ออกมาให้เห็น พร้อมรายละเอียด ข้อมูลที่ชัดเจนว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้ผลลัพธ์อย่างไร และการตัดสินใจของคณะกรรมการชุดนี้ซึ่งอย่างน้อยควรจะเปิดเผยให้เห็นถึงแนวทาง กรอบเวลา Roadmap ข้างหน้าที่จะเดินไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามที่รัฐบาลสัญญาไว้