อัพเดทความคืบหน้าร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ จับตาหลังปีใหม่ #สมรสเท่าเทียม อาจได้เข้าสภา

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 13 ธันวาคม 2566 อันเป็นวันแรกของสมัยประชุมครั้งที่สองของรัฐสภาชุดนี้ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.พรรคก้าวไกล เสนอขอเปลี่ยนระบบวาระการประชุมสภา โดยเลื่อนวาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ขึ้นมาพิจารณาก่อนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไป ซึ่งจะตรงกับวันที่ 14 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวก็ตกไป เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวขึ้นมา ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 235 เสียง ต่อคะแนนเสียงเห็นด้วย 149 เสียง
โดยทางฝั่ง สส. พรรครัฐบาลอย่าง ศรัณย์ ทิมสุวรรณ และ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส. พรรคเพื่อไทย ยกเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการของรัฐบาล คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในเดือนธันวาคม จึงไม่เห็นด้วยให้เลื่อนระเบียบวาระเพราะจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อน
เมื่อสภาปัดตกข้อเสนอให้เลื่อนวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมขึ้นมาพิจารณาก่อน ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่น่าจะได้พิจารณาในช่วงกลางเดือนสุดท้ายของปี 2566 และนอกจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล ยังมีร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีสาระสำคัญแบบเดียวกันแต่รายละเอียดแตกต่างกันอีกสองฉบับ ซึ่งเสนอโดยบุคคลองค์กรที่แตกต่างกันออกไป ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ร่างทั้งสามฉบับมีความคืบหน้าแตกต่างกัน ดังนี้

ร่างก้าวไกล เสนอซ้ำอีกรอบหลังจากร่างที่ผ่านสภาชุดที่แล้วตกไป

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 สส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเนื้อหาร่างเหมือนกันกับร่างที่เคยผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 แต่เนื่องจากสภาชุดที่แล้วพิจารณาไม่แล้วเสร็จก่อนการยุบสภา เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ได้ร้องขอต่อรัฐสภาให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาต่อไปภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ซึ่งตรงกับ 1 กันยายน 2566 ดังนั้นร่างกฎหมายดังกล่าวจึงตกไป
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 147 กำหนดว่า
ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป
บรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบที่ตกไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไป ถ้ารัฐสภาเห็นชอบด้วยก็ให้รัฐสภาสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไปได้ แต่คณะรัฐมนตรีต้องร้องขอภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป
ปัจจัยเรื่องการตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ซึ่งสืบเนื่องมาจาก สว. ชุดพิเศษเป็นตัวแปรสำคัญในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาในขั้นตอนต่อจากเดิม ส่งผลให้ต้องนำมาเสนอต่อสภาใหม่และเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
โดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่ง 

ภาคประชาชนเสนอกฎหมาย รายชื่อครบแล้ว เตรียมจ่อเข้าสภา

ด้านภาคประชาชน ก็ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ที่รับรองสิทธิให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติได้โดยต้องเข้าชื่อจำนวน 10,000 ชื่อเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร (แต่หากเป็นการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมใช้ 50,000 ชื่อ) โดยการเข้าชื่อทำผ่านระบบ e-initiative ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยได้จำนวนผู้ลงชื่อ 11,906 ชื่อซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชนยังอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบรายชื่อโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
หลังจากกระบวนการตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าชื่อเสร็จสิ้น ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชนจะถูกนำไปรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร https://www.parliament.go.th/section77 และเมื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้วเสร็จ ก็จะถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรอเข้าสู่การพิจารณาในวาระหนึ่งต่อไป

กระทรวงยุติธรรมเดินหน้าผลักดันสมรสเท่าเทียม จากเดิมที่เคยเสนอพ.ร.บ.คู่ชีวิต

ฟากฝั่งฝ่ายบริหาร กรมคุ้มครองสิทธิเสรีและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังจากเดิมก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงปี 2556 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายแยกออกไปเพื่อรับรองสิทธิการตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังไม่ได้มีแนวทางการผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เป็นรับรองสิทธิสมรสสำหรับทุกคนแต่อย่างใด
ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่ผลักดันโดยกระทรวงยุติธรรม เกือบได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ฝ่ายนิติบัญญัติที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมาทำงานในช่วงสภาวะยกเว้นหลังการรัฐประหาร แต่ก็เข้าสู่การพิจารณาไม่ทันเนื่องจาก สนช. หมดอายุไปเสียก่อน 
ในสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ที่ได้เป็นนายกฯ ต่อเนื่องสมัยที่สอง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยังคงผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตอย่างต่อเนื่อง จนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่งเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 พร้อมกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่กระทรวงยุติธรรมผลักดันและเสนอเข้าสภาโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ถูกใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระสอง อย่างไรก็ตาม หลังจากยุบสภาและเลือกตั้งสภาชุดใหม่เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 สถานะของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ ตกไป ด้วยเหตุผลเดียวกันกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยที่มีที่นั่ง สส. ในสภาเป็นอันดับสองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับหลายพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลชุดก่อน ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยชูนโยบายหาเสียงเรื่องสมรสเท่าเทียม ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ทางหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงยุติธรรมเปลี่ยนทิศทางจากผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต มาผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรับรองสิทธิสมรสสำหรับประชาชนไม่ว่าเพศใด 
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่ผลักดันโดยกระทรวงยุติธรรม เปิดรับฟังความเห็นประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ law.go.th และเว็บของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไปแล้วเมื่อ 31 ตุลาคม – 14 พฤศจิกายน 2566 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย ซึ่งหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำร่างเสร็จ ก็ต้องเสนอต่อครม. เพื่อให้ ครม. เคาะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่ผลักดันกระทรวงยุติธรรม จึงยังไม่ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด