Con for All Talk : เสียงสะท้อนจาก 8 นักเคลื่อนไหว ทำไมต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน?

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่ 16.30 น. เป็นต้นไป กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All จัดกิจกรรม ‘ปักธง ส่งต่อ สสร.เลือกตั้ง’ เพื่อส่งเสียงและเรียกร้องไปยังรัฐบาลผ่านคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน
โดยช่วงแรกของงาน จะมีกิจกรรม Con for All Talk เปิดพื้นที่ให้แปดนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมมาพูดถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 และข้อเรียกร้องที่ทำให้ต้องมีการผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ในหลากหลายประเด็น ได้แก่ ประเด็นระบบเลือกตั้ง ประเด็นรัฐสวัสดิการ ประเด็นการกระจายอำนาจ ประเด็นสิทธิแรงงาน ประเด็นคนชาติพันธ์ ประเด็นคนพิการ ประเด็นสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์

แก้ระบบเลือกตั้งให้สะท้อนเจตจำนงประชาชน ต้องให้ประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

นนทวัฒน์ เหลาผา จากกลุ่ม We Watch เล่าว่า ตนเป็นคนอีสาน เป็นคนมุกดาหาร ทรัพยากรส่วนกลางแทบจะไม่ได้ โอกาสเดียวที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาประเทศ คือการเลือกตั้ง แต่ขณะที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง คณะรัฐประหาร 2557 ก็มาพรากโอกาสการเลือกตั้งไป จนปี 2562 หวังว่าการเลือกตั้งครั้งแรกจะนำพาประเทศไปสู่หนทางที่ดีขึ้น แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นก็ไม่ได้ต่างจากเดิม ยังเป็นรัฐบาลชุดเดิม เผด็จการทหารก็ยังอยู่รอดมาเช่นเดิมผ่านวิธีการที่แอบอ้างประชาธิปไตย การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้ชุบตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงเวลาที่ต้องกู้การเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือการเปลี่ยนผ่านสู่อำนาจประชาชน
ปัญหาการเลือกตั้ง คือ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ผู้แทนที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ การเลือกตั้งในปี 2566 พรรคที่ประชาชนเลือกมาเป็นอันดับหนึ่งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะกลไกทางกฎหมายรวมถึงวัฒนธรรม
นนทวัฒน์ ระบุว่า มีข้อเสนอ 5 ข้อ
1) ทุกคนต้องมีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เว้นแต่นักบวช พระสงฆ์ ผู้ต้องขัง
2) ถ้าต้องมีสว. ควรมาจากการเลือกตั้ง และไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกฯ
3) คนที่มีสิทธิเลือกนายกฯ ต้องมาจากประชาชน
4) กกต. ต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่มีอำนาจในการตัดสิทธิพรรคการเมืองหรือยุบพรรค
5) ระบบเลือกตั้งต้องตรงไปตรงมา สะท้อนเจตจำนงประชาชนทั้งประเทศ
ข้อเสนอทั้งห้าข้อจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังมีรัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ

สร้างรัฐสวัสดิการ ปักหลักประกันชีวิตประชาชนบนรัฐธรรมนูญ

ลลิตา เพ็ชรพวง จากโครงการนักนวัตกรรมสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ มูลนิธิโกมลคีมทอง เล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งพ่อแยกทางกับแม่ เธอจึงต้องอาศัยอยู่กับแม่และยาย อยู่ในบ้านที่มีความยาวเท่าคนเหยียดขาได้ อยู่ในตรอกซอกซอยที่มีบ้านหลังใหญ่ที่เธอและพี่น้องต้องแย่งกันไปเปิดรั้วบ้านเพื่อให้ได้ขนมเล็กๆ น้อยๆ บ้านแห่งนั้นอยู่ในใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร
เด็กผู้หญิงคนนั้นย้ายไปอยู่กับแม่และสามีใหม่ของแม่และน้องสาว แต่สามีใหม่ของแม่ซึ่งเป็นพ่อของน้องก็ถูกลิฟต์หนีบต้องออกจากงาน 
หลังจากนั้น แม่แต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยงชาวต่างชาติ เธอจึงมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เมื่อพ่อเลี้ยงแก่ตัวลง ป่วย ติดเตียง ดูแลตัวเองไม่ได้ ก็มีค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือค่าจัดงานศพ เงินบำนาญของพ่อเลี้ยงที่เหลือก็ไม่ได้พอที่จะใช้เรียนจบจน เธอจึงกู้เงินเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เธอหวังว่าชีวิตตัวเองและคนอื่นจะดีขึ้น จึงเลือกมาทำงานเพื่อสังคม 
ลลิตากล่าวต่อว่า เธอไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเผชิญเรื่องราวเหล่านี้ มีคนมากมายที่ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ ความจน ความยากไร้ แบ่งแยกคนออกจากกัน แม้แต่รัฐธรรมนูญที่เป็นข้อตกลงร่วมของคนในประเทศ เรายังต้องกลายเป็น “คนยากไร้” เพื่อมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขที่ไร้ค่าใช้จ่าย
มันจะดีกว่านี้ไหม ถ้าเราเลิกสงเคราะห์ ทำทานให้ผู้ยากไร้ มันจะดีกว่าไหม ถ้าทุกคนจะมีหลักประกันชีวิตที่ดี มีสวัสดิการที่ถ้วนหน้า ต่อเนื่อง เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ครอบคลุมทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ 
ถ้าพวกเราได้สร้างเส้นคุณภาพชีวิตที่ดี มีมาตรฐานรายได้ขั้นต่ำ โดยที่รัฐมีส่วนช่วยผลักดันให้ประชาชนไปถึงจุดนั้นได้ มันจะดีกว่าไหม
การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะเป็นประตูบานแรก หลักประกันอันแรกที่จะประกันให้เรามีชีวิตที่ดี รัฐธรรมนูญจากประชาชน จะเป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ เป็นหลักประกันของประชาชน

รัฐธรรมนูญต้องเปิดทางกระจายอำนาจ ให้ประชาชนเลือกชีวิตตัวเอง

พายุ บุญโสภณ จากกลุ่มราษฎร โขง ชี มูน และอีสานใหม่ เล่าว่า จังหวัดเลย หมู่บ้านกับภูเขาอยู่ด้วยกัน บริเวณตีนภูเขาจะมีบ้านคนอาศัยอยู๋ หมู่บ้านนาหนองบง เป็นหมู่บ้านที่รัฐบาลประกาศให้สัมปทานพื้นที่ป่าบนภูเขากับนายทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ เมื่อมีการทำเหมืองแร่ ก็มีการระเบิดภูเขาเอาก้อนหินไปสกัดทองคำ ในกระบวนการทำงานของเหมืองแร่ทองคำต้องใช้สารเคมีอันตรายด้วยซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกายคนในพื้นที่ เมื่อส่วนท้องถิ่นไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ ชาวบ้านจึงต้องเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนกลาง การเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อเรียกร้องสิทธิ ทำให้ชาวบ้านต้องเสียค่าจ้างรายวันที่ควรจะได้ เสียโอกาสที่จะได้ผลิตผลจากการทำไร่นา บ้างต้องจากลูกเมียมา บ้างต้องหอบลูกเล็กเด็กแบเบาะมาด้วย
เมื่อชาวบ้านเข้ามาเรียกร้องสิทธิในกรุงเทพมหานคร ก็เผชิญกับปัญหาการสลายการชุมนุม ข้อเรียกร้องง่ายๆ ที่ชาวบ้านอยากได้ชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดี แต่รัฐกลับให้ไม่ได้ พี่น้องชาวนาหนองบง ต้องต่อสู้ถึง 12 ปี จนท้ายที่สุดศาลปกครองพิพากษาว่าเหมืองทองที่มาสร้างในพื้นที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตประชาชน และต้องเยียวยาประชาชนและทรัพยากรธํรรมชาติแถวนั้น
จะดีกว่าไหม หากการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีเนื้อหาที่ให้ประชาชนสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเอง กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง อยากเห็นการกระจายอำนาจในท้องถิ่น ไม่ใช่การกำหนดนโยบายต่างๆ มาจากคนที่นั่งโตีะทำงานในกรุงเทพมหานคร รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนได้ทุกมาตรา และคนเขียนรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

แรงงาน คน 99% ของประเทศ ต้องมีส่วนสร้าง-ร่างรัฐธรรมนูญ

ฉัตรชัย พุ่มพวง จากสหภาพคนทำงาน กล่าวใจความว่า 
ชีวิตแบบใด ทำไมคนส่วนใหญ่ต้องมีมากกว่าหนึ่งอาชีพ ต้องทำงานอาทิตย์ละเจ็ดวัน ไม่ได้อยู่กับครอบครัว 
ชีวิตแบบใด ของแพง ค่าแรงถูก ไม่มีความมั่นคง อาจถูกเลิกจ้างได้ตลอด 
ชีวิตแบบใด ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ อาจจะต้องตายไปอย่างยากจน
รัฐธรรมนูญรับรองอำนาจรัฐ แต่ไม่ได้รับรองอำนาจต่อรองของแรงงานมากพอ คน 1% ของประเทศร่ำรวยความสุข เพราะเขาไม่ได้รับการต่อรอง คน 99% ของประเทศ ไม่เคยมีส่วนร่วมในการต่อรองได้เลย เราทุกคนที่เป็นคนสำคัญของสังคม ต้องร่วมกันสร้าง-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา เพราะไม่ว่าชาติใดในโลก แรงงานก็มีส่วนในร่วมกันสร้างประเทศขึ้น 
รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องกำหนดให้อำนาจต่อรองของแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นจะถูกละเมิดไม่ได้ และรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเขียนโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 100% แรงงานจะมีอำนาจในรัฐธรรมนูญใหม่

ชาติพันธ์ก็คือเป็นประชาชน เปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

พรชิตา ฟ้าประทานไพร จากกลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก เล่าเรื่องราวของชีวิตว่า ตนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เผ่ากะเหรี่ยงโปว์ ที่อาศัยอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภออมก๋อย พูดถึงอมก๋อยทุกคนจะนึกถึงความห่างไกล อมก๋อยเป็นที่อยู่อาศัยของชาติพันธุ์หลายเผ่า ตนเติบโตท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและมีขีดจำกัดเรื่องสิทธิ ตอนเด็กๆ ที่บ้านไม่มีไฟฟ้า ไม่ได้ดูทีวี ทั้งหมู่บ้านต้องไปดูที่บ้านที่มีโซลาร์เซลล์หลังเดียว น้ำไม่ไหลทุกช่วงและช่วงหน้าฝนน้ำจะเป็นสีส้มเหมือนชาเย็น
ตนเติบโตในท่ามกลางมายาคติที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มค้ายาเสพติด สกปรก พูดไม่ชัด โง่ และเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ไม่มีความมั่นใจในตัวเองในการดำรงชีวิตประจำวัน หรือบางคนไม่กล้าบอกว่าตนเองเป็นชาติพันธุ์ด้วยมายาคติเหล่านี้ ตัวอย่างที่เจอ คือ การเข้าโรงเรียนที่มีทั้งคนเมืองและคนบนดอย มักจะถูกคนเมืองต่อว่าและดูถูก เช่น พวกคนยางพูดไม่ชัด หรือถูกล้อเลียนจากเพื่อนๆ บ่อยครั้ง
บนผืนแผ่นดินไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 40 กลุ่ม 6,100,000 คน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรประเทศใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับทุกๆคน  ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประชากรส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศนี้ แล้วเพราะเหตุใดกลุ่มชาติพันธุ์ถึงถูกจำกัดสิทธิและไม่มีสิทธิในการจัดการตนเองในหลายๆ ด้าน รวมถึงเข้าไม่ถึงด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การมีสัญชาติ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกจำกัดด้วยนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายการจัดการพื้นที่ ทำให้พวกเราไปหาเห็ดหาหน่อไม้ตามฤดูกาลไม่ได้ การเลี้ยงสัตว์ หรือการสัมปทานโครงการต่างๆ 
ด้วยภาวะปัญหาเหล่านี้ทำให้ตนนึกถึงกฎหมายและอยากเห็นกลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสุงสุดของประเทศ ที่พูดถึงเรื่องชาติพันธุ์และคุ้มครองสิทธิของชาติพันธุ์ในทุกด้าน โดยคนชาติพันธุ์มีโอกาสร่วมเขียนรัฐธรรมนูญด้วย
การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100% จะเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถปลดปล่อยชาติพันธุ์ต่อมายาคติต่างๆ และเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม 

คนพิการก็เป็นมนุษย์ เปิดพื้นที่คนพิการเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญ

อธิพันธ์ ว่องไว จากโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนพิการสองล้านกว่าคน มีคนพิการทางการเคลื่อนไหวหนึ่งล้านกว่าคน มีคนพิการที่ต้องการผู้ช่วย เจ็ดแสนกว่าคน 
ตนพิการร้ายแรงตั้งแต่กำเนิด พ่อแม่เลิกกันตั้งแต่ยังเล็ก จำความได้ต้องอยู่กับแม่และยาย ตอนอยู่กับแม่และยายไม่เคยรู้สึกว่าตนเองเป็นคนพิการเลยเพราะคนในครอบครัวมีมุมมองและทำให้การใช้ชีวิตของเราเหมือนคนทั่วไป จนวันหนึ่ง แม่ของตนเสียจากการผูกคอตาย ตอนนั้นตนอายุประมาณ 12-13 ปี ยายจีงต้องงานเงินมาเลี้ยงดูตน ด้วยเศรษฐกิจและสวัสดิการที่ไม่ดี ทำให้ยายต้องเลือกไปขายยาเสพติดและถูกจับในเวลาต่อมา จนยายติดคุกและต้องเสียชีวิตในคุก
ตนจึงต้องย้ายไปอยู่กับพ่อที่ไม่เคยดูแลตนเองเลย ห้าปีที่อยู่กับพ่อ ตนเพิ่งรู้จักว่าความพิการคืออะไร ห้าปีที่ออกจากบ้านไม่ได้ กินอาหารวันละมื้อ กินเยอะไม่ได้เดี๋ยวท้องจะเสีย อายุ 13-14 ปีที่กำลังโตเป็นหนุ่ม ก็ต้องไปอาบน้ำที่หน้าบ้านมีคนข้างบ้านคนผ่านไปมาเห็น เวลาขับถ่าย ต้องรอจนกว่าพ่อจะว่างมาช่วย
จนวันหนึ่งโตขึ้นมีโอกาสได้ทำงาน ได้ออกมาใช้ชีวิตอิสระ จนรู้จักระบบ “ผู้ช่วย” ที่ช่วยให้คนพิการรู้จักความเป็นมนุษย์มากขึ้น มีศักดิ์ศรี ดูแลตัวเอง จัดการตัวเองได้ การมีผู้ช่วยทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ชีวิตดีขึ้น แต่แลกมาด้วยการต้องทำงาน หาเงินเพื่อมาจ้างผู้ช่วย
ในประเทศไทย คนพิการสามารถขอผู้ช่วย แต่กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นคนพิการที่ยากจน ไม่มีคนดูแลอยู่แล้ว ตนเคยไปขอผู้ช่วยจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ได้รับคำตอบว่าคุณมีงานทำแล้ว คุณมีคนดูแล ไม่สามารถให้ผู้ช่วยได้
ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น รัฐจัดสวัสดิการมีผู้ช่วยให้คนพิการหนึ่งคนต่อผู้ช่วยสามคน ขณะที่ประเทศไทยผู้ช่วยหนึ่งคนดูและคนพิการสามคน วันละหกชั่วโมง
ถ้าวันหนึ่งแก่ตัว ไม่มีแรงทำงาน ใครจะดูแลเรา เราทุกคนต้องมีชีวิตตกอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือ ท้ายที่สุดแล้วสวัสดิการผู้ช่วยไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับคนพิการอย่างเดียว หากคนไม่พิการแก่ตัวไปก็สามารถใช้สวัสดิการผู้ช่วยได้เช่นกัน
ตนอยากให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญได้ อยากเห็นคนพิการรากหญ้าเข้าไปเป็นตัวแทนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่คนเขียนรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง

บอกลารัฐธรรมนูญจากชายแท้ เปิดพื้นที่คนหลากหลายเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญ

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาไม่เคยเห็นหัวผู้มีความหลากหลายทางเพศเลย รัฐธรรมนูญยังเป็นถึงเพียงแค่ชาย-หญิงรักต่างประเทศ จะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 กำหนดในเรื่องการเลือกตั้งผู้แทน ใช้คำว่า “ราษฎรไม่ว่าเพศใด” ที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเพศใด
การที่รัฐธรรมนูญรับรองตัวตนของบุคคลตามกรอบสองเพศ ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสุ่มเสี่ยงจะถูกเลือกปฏิบัติ จะเห็นได้จาก ศาลรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วยผู้ชาย อันเป็นผลผลิตของคณะรัฐประหาร คสช. กลุ่มชายแท้ ก็เคยมีคำวินิจฉัยที่มีเนื้อหาสวนทางการรับรองสิทธิเรื่องสมรสเท่าเทียม แตกต่างจากศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังตีตราผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่าเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ แตกต่างจากชาย-หญิง จนมีแฮชแท็กติดเทรนด์ทวิตเตอร์ว่า #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ
ปกป้อง อ่านข้อความบางส่วนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ซึ่งมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการสมรสยังรับรองสิทธิสมรสชาย-หญิง นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำว่าวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญ โดยบางส่วนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า 
“กฎหมายจะต้องรับรู้และแยกเพศชายและเพศหญิงเป็นหลักไว้ก่อนจึงจะให้ความเสมอภาคได้” เช่น หญิงมีประจำเดือน หญิงตั้งครรภ์ได้ หญิงมีสรีระที่อ่อนแอบอบบางกว่าชาย เห็นได้ว่า “สิ่งที่ไม่เหมือนกันจะปฏิบัติให้เหมือนกันไม่ได้” การปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติจะสร้างความเสมอภาคระหว่างชายหญิงได้ “ มิใช่ถือเอาผู้ที่กำหนดเพศไม่ได้มารวมกับความเป็นหญิงชายที่แยกกันไว้อย่างชัดเจน” การยอมรับสิ่งที่แตกต่างให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างจึงไม่อาจกระทำได้ 
ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังระบุว่า การไม่ได้กำหนดเพศในการสมรสอาจมีผู้มีความหลากหลายทางเพศ มาจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ หรือประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี อันอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ตอนท้าย ปกป้องกล่าวว่า ประชาชน ต้องเขาไปมีส่วนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น LGBTQI+ คนพิการ กลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลาย ต้องเข้าไปมีตัวตนในรัฐธรรมนูญอย่างเป็นหลายลักษณ์อักษร เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กระทบกับประชาชน ก็ต้องให้ตัวแทนประชาชนเข้าไปเขียนทั้งฉบับ ทุกตัวอักษร
อ่านสรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 20/2564 และข้อวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6036

เปิดพื้นที่ประชาชนพูดคุย เขียนรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวด ทุกมาตรา

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดีตกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวใจความว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาธิปไตยในไทยก็ขึ้นๆ ลงๆ มาตลอด ร่างรัฐธรรมนูญมาก็หลายฉบับ แต่ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จะถูกห้ามแตะต้อง ห้ามแก้ไข รัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนแปลงมาตลอดทุกหมวด แม้กระทั่งในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้อยู่นี้เอง ในหมวด 2 ก็เคยถูกแก้ไขหลังการทำประชามติ
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 มีการแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี โดยรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งองคมนตรี เหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนั้นเพื่อยืนยันหลักการ The King Can Do No Wrong เพื่อให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ 
การเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนุญใหม่ มีคนบางส่วนเห็นว่าไม่ควรแก้ไขหรือแตะต้องหมวด 1 หมวด 2 แต่พระบรมราชโองการแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรี กลับไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทั้งที่รัฐธรรมนูญเขียนชัด พอเกิดเหตุการณ์ที่มีอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ กลับไม่มีใครปกป้อง แต่พอจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กลับห้ามแตะต้องหมวด 1 หมวด 2 แบบนี้จะไม่ดูย้อนแย้งหรือ
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังเป็นที่ถกเถียง พูดคุย สิ่งสำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถพูดคุยกันได้ หากอำนาจธิปไตยเป็นของประชาชนจริง รัฐจะไม่กีดกันประชาชน ประชาชนจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ
รับชมไลฟ์ย้อนหลัง https://web.facebook.com/iLawClub/videos/899117655175074/
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป