รวมวาทะนักการเมืองต่อประเด็นนิรโทษกรรม

20 เมษายน 2566
ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

“ถ้าใช้คำว่านิรโทษกรรมก็เป็นเรื่องเซนซิทีฟ ผมคิดว่าเพื่อให้ก้าวข้ามความขัดแย้งได้ กลุ่มที่เห็นต่างทางการเมืองก็ไม่เหมือนคดียาเสพติดหรือฆ่าคนอาญาร้ายแรง สังคมไทยก็ควรจะหาทางออกร่วมกัน โดยหาวิธีบรรเทาโทษ บรรเทาคดีต่าง ๆ ผมมีความคิดอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาต้องพูด ไม่ว่าอย่างไร จะทำก็ต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ไม่ใช่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่คิดกัน ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาอีก ดังนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม หาทางช่วยเหลือผู้ต้องคดีทางการเมืองหรือกรณีอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้กลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในลักษณะประชามติ เพื่อที่จะได้หาทางออกของประเทศได้จริง ๆ”

13 มีนาคม 2566
อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

“เห็นด้วยมาโดยตลอด และการนิรโทษกรรมได้อย่างชัดเจนมากสุดคือเราต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป อย่าให้ผู้ที่ได้ออกมาแสดงความเห็นใช้สิทธิ์ ตามหลักประชาธิปไตย เรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ถ้าเขาออกมาแล้ว เกิดสถานการณ์พาเขาไปโดยที่เขาไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง คนเหล่านี้สมควรได้รับการนิรโทษกรรม”

“ไม่ต้องไปบอกว่า ความสงบสุขต้องเห็นพ้องต้องกันทุกคน แต่ให้มีความเข้าใจกฎกติกามารยาทในการที่จะนำพาประเทศไทยไปจะเป็นอย่างนี้ ถ้ามีความเห็นขัดแย้งกันใช้เวทีไหนแก้ปัญหา ใช้เวทีสภา หรือใช้เวทีที่มีตามหลักรัฐธรรมนูญ ไปเกิดเวทีปราศรัยที่ไหนก็ทำตามกฎหมาย แล้วยึดถือตามหลักกฎหมายทุกประการก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ในส่วนที่เป็นการนิรโทษกรรม ความเห็นต่างทางการเมืองต้องมี แต่เรื่องนิรโทษกรรมเรื่องทุจริต การทำให้บ้านเมืองแตกแยกโดยความจงใจ การทำลายทรัพย์สินของบ้านเมือง ทำร้ายประชาชน ทุจริตคอร์รัปชั่น สิ่งเหล่านี้พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย”

11 มีนาคม 2566 แทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์

กลุ่มแรกคือผู้ถืออำนาจนำตัวจริง อาจจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง และมีคดีอาญาซึ่งไม่ได้เกิดจากมูลเหตุทางการเมือง เช่น คดีทุจริตคอร์รัปชัน เป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริง กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการนิรโทษกรรม ซึ่งไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ 

กลุ่มที่สองอาจเรียกว่าแกนนอน เป็นภาคประชาชน ตัวแทน ที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำการเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้ประสงค์ที่จะไปเป็นนักการเมือง ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม

กลุ่มที่สามเป็นฝ่ายฮาร์ดคอร์ “เผาเลยพี่น้อง” ทำให้เกิดเหตุขึ้นจริงๆ กลุ่มนี้ถึงจะมีคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ เพราะต่อไปอาจจะมีการกระทำแบบนี้เกิดขึ้นอีก

กลุ่มที่สี่เป็นฝ่ายนักวิชาการที่อภิปรายและออกความเห็นเป็นแนวร่วม ไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม

กลุ่มที่ห้าควรได้รับการนิรโทษกรรมแน่นอนคือประชาชน ที่ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดจราจร

24 ตุลาคม 2566
วันชัย สอนศิริ สว. 

“ผมเรียกร้องว่าจบได้ควรจบ เลิกได้ควรเลิก คนเหล่านี้ไม่ใช่คนชั่วหรือเลวทั้งสิ้น แต่คนที่ก้าวมามีอำนาจแล้วนั่งเฉย ๆ ผมว่าแย่มาก ควรจะต้องแสดงความจริงใจ ประกาศให้ชัดว่าจะทำหรือไม่ จะทำเมื่อไหร่ ไม่ใช่สักแต่ว่าก้าวข้ามความขัดแย้งสลายสี ผมว่าน่าอับอาย ไม่น่าหดหู่หรือที่มานั่งมีอำนาจบนคนที่เขาต่อสู้กันมา ผมจึงเรียกร้องรัฐบาลจะทำอะไรก็ทำเสีย จะออกเป็นกฎหมายหรือพระราชกำหนดก็ให้รีบทำ อย่าปล่อยให้เขารับเวรกรรมกันอยู่เช่นนี้”

6 ตุลาคม 2566 ชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการณ์หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวหลังพรรคก้าวไกลยื่นร่างนิรโทษกรรม

“นิรโทษกรรมจะต้องระวังอย่างมาก เพื่อไม่ให้ไปสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งใหม่ เพราะปัญหาการตีความคดีทางการเมืองยังไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงต้องมีความชัดเจนก่อน รวมไปถึงความครอบคลุมการนิรโทษกรรม เช่น คดีความผิดที่ไปเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 หรือการชุมนุม ควรตกผลึกร่วมกันก่อน”

“เพื่อไทยยังไม่มีการหารือกันว่าควรยื่นร่างประกบไปกับก้าวไกลหรือไม่ ความเห็นของพรรคตอนนี้ยังมีความหลากหลาย และเพื่อไทยก็เคยตกเป็นจำเลยในประเด็นนี้ในอดีตด้วย ดังนั้น ถ้าจะมีการเสนอก็ต้องหารือกันในพรรคก่อน”

“ความขัดแย้งหากยุติลงได้ก็จะเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่ต้องตอบคือสามารถยุติลงได้จริง ๆ หรือไม่ หรือจะสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม”

18 เมษายน 2566
สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

“เราคิดว่าเรื่องทางการเมืองโดยสากลเป็นสิทธิเสรีภาพ ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องผิด ก็ควรจะถึงเวลาต้องเอามาทบทวนดูว่าใครที่ถูกลงโทษจับกุมด้วยเหตุว่าคิดต่าง เห็นต่าง ก็ถึงเวลาที่ต้องนิรโทษกรรมให้กัน เว้นเสียแต่ว่าเป็นคดีที่ไหลเลยไปถึงอาชญากรรม ถึงขั้นที่ไม่เชื่อมโยงกับความคิดทางการเมือง ตรงนั้นก็ต้องแยกเป็นข้อ ๆ”

“ก่อนหมดสมัยประชุมก็มีคนคิดเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าเวลาน้อย ผมคิดว่าสมัยหน้ามีบรรยากาศที่จะทำ แต่ถ้าทำเรื่องนี้ก็ต้องละเอียดอ่อน ต้องคุยกันถึงกรอบให้ชัด ถ้าเพื่อไทยคิดจะทำ คนก็จะระแวง เราจะต้องระมัดระวัง แต่ถ้าตัดเรื่องนี้ออกไป คิดถึงคนทั้งหมด ผมคิดว่าถึงเวลาที่ต้องคุยกัน”

“ต้องเป็นความผิดทางการเมืองจริง ๆ ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับการทุจริตหรือก่ออาชญากรรม ไม่ครอบคลุมถึง แต่ต้องไปดูอีกทีว่าเป็นการใส่ร้ายกันหรือไม่”