ภาคประชาชนเดินหน้า เข้าชื่อเสนอต่อสภา ยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี

“ตำรวจลุยตรวจพัทยา ไม่พบคนขายบริการ” หนึ่งในพาดหัวข่าวที่ยังคงเป็นที่จดจำและถูกนำมาเป็นบทสนทนาในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์อยู่เป็นระยะ นัยหนึ่งที่พาดหัวข่าวดังกล่าวถูกนำมาใช้ เพื่อเสียดสีการทำงานของตำรวจที่ออกมายืนยันว่าไม่มีผู้ให้บริการทางเพศ ทั้งๆ ที่สังคมต่างก็รับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้ให้บริการ และในอีกด้านหนึ่ง ก็มีรายงานข่าวที่สะท้อนถึงปัญหาการกดทับผู้ให้บริการทางเพศ ทั้งในเชิงทัศนคติที่เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลของรัฐแสดงออกมา หรือแม้กระทั่งการถูกผู้บังคับใช้กฎหมายเอารัดเอาเปรียบจากการเรียกรับประโยชน์ หรือ “ส่วย” ไปจนถึงการล่อซื้อ ซึ่งละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ให้บริการ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกี่ยวพันกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งมีบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ให้บริการทางเพศ ทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ให้บริการทางเพศ

ภาคประชาชนนำโดยมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) จึงใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพื่อให้การค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจไม่เป็นความผิดอาญา (Decriminalization) และเพื่อให้ผู้ให้บริการทางเพศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในฐานะแรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิและได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย สามารถร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายนี้ให้ได้เกินกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

เช็ค 2 ขั้นตอนลงชื่อเสนอยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี

สำหรับการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 สามารถเข้าชื่อได้ทางระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (e-initiative) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผู้ที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องมีแอปพลิเคชัน ThaID แอปบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าชื่อ

ขั้นตอนการสมัครใช้แอป ThaID และขั้นตอนลงชื่อ ดังนี้

[1] โหลดและลงทะเบียนแอปพลิเคชัน ThaID เพื่อยืนยันตัวตนในตอนลงชื่อ

แอปพลิเคชัน ThaID สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์หรือแท็บเลตได้ทั้งในระบบ Android และ iOS แอปพลิเคชันจะมีการใช้อินเทอร์เน็ต อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) กล้อง และระบบการแจ้งเตือน ซึ่งผู้ใช้จะต้องอนุญาตแอปพลิเคชันให้ใช้ระบบดังกล่าวเพื่อใช้แอปพลิเคชันได้ หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaID และอนุญาตให้ใช้ระบบดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้แอปพลิเคชัน ThaID นั้นมีสองวิธี คือ การลงทะเบียนด้วยตนเองและการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่

สำหรับการลงทะเบียนด้วยตนเองจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. อ่านและกด “ยอมรับ” ข้อตกลงและเงื่อนไขของการใช้แอปพลิเคชัน ThaID
  2. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายด้านหน้าของบัตรประจำตัวประชาชน
  3. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายด้านหลังของบัตรประจำตัวประชาชน
  4. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันความถูกต้องของข้อมูล หากข้อมูลที่แอปพลิเคชันอ่านไม่ตรงกับข้อมูลที่ปรากฎบนบัตรประขำตัวประชาชน ผู้ใช้สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้
  5. หากแอปพลิเคชัน ThaID ตรวจสอบใบหน้าไม่ผ่าน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากภาพใบหน้าของผู้ใช้บนบัตรประจำตัวประชาชนไม่ชัด ผู้ใช้จะต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ซึ่งจะต้องแสดงใบหน้าได้อย่างชัดเจน
  6. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายใบหน้าของผู้ใช้ (เซลฟี)
  7. สร้างรหัสผ่านแปดหลัก หลังจากที่สร้างรหัสผ่านแล้ว การลงทะเบียนการใช้แอปพลิเคชัน ThaID ก็เสร็จสิ้น

สำหรับการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. นำบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตที่มีแอปพลิเคชัน ThaID ไปที่สำนักทะเบียนที่สำนักงานเขตสำหรับผู้ใช้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือนำบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตที่มีแอปพลิเคชัน ThaID ไปที่สำนักทะเบียนที่ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเทศบาลสำหรับผู้ใช้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน 76 จังหวัด
  2. เปิดแอปพลิเคชัน ThaID ในโทรศัพท์หรือแท็บเลตและกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  3. ส่งบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตให้กับเจ้าหน้าที่แล้วเจ้าหน้าที่จะยืนยันตัวตนของผู้ใช้ด้วยการดูใบหน้าของผู้ใช้และให้ผู้ใช้ประทับลายนิ้วมือบนเครื่องอ่าน
  4. เจ้าหน้าที่จะนำโทรศัพท์หรือแท็บเลตไปสแกน QR Code และให้ผู้ใช้สร้างรหัสผ่านแปดหลัก ซึ่งผู้ใช้จะต้องกรอกรหัสผ่านแปดหลักนี้ทุกครั้งเมื่อจะใช้งานแอปพลิเคชัน หลังจากที่สร้างรหัสผ่านแล้ว การลงทะเบียนการใช้แอปพลิเคชัน ThaID ก็เสร็จสิ้น

[2] ลงชื่อเสนอยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี

  1. คลิก/กดที่ปุ่ม “ร่วมเข้าชื่อ” จะขึ้นหน้าป๊อปอัพ “การยืนยันตัวตนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย” เด้งขึ้นมา ให้อ่าน ข้อตกลงและเงื่อนไข หากยอมรับให้ติ๊กที่ช่อง ข้าพเจ้ายอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้งานระบบเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
  2. คลิกที่ปุ่ม “การยืนยันตัวตนด้วย ThaID” จะนำไปสู่หน้าคิวอาร์โคด เข้าสู่ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางเทคโนโลยี

ถ้าเข้าเว็บลงชื่อด้วยมือถือเครื่องที่มีและลงทะเบียนแอป ThaID อยู่แล้ว ให้กดที่ปุ่ม “เข้าสู่ระบบด้วย ThaID” (ไม่ต้องสแกนคิวอาร์โคด) แอป ThaID จะมีหน้า “ยืนยันตัวตน” เด้งขึ้นมา หากประสงค์ลงชื่อ ให้กด “ยินยอม” และระบุรหัสผ่านแปดหลัก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ถ้าเข้าเว็บด้วยคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือเครื่องอื่นที่ไม่ได้มีและลงทะเบียนแอป ThaID ให้นำมือถือเครื่องที่มีและลงทะเบียนแอป ThaID มา สแกนคิวอาร์โคดจากหน้าจออุปกรณ์เครื่องที่เข้าหน้าเว็บลงชื่อ (ปุ่มสแกนคิวอาร์โคดแอป ThaID จะอยู่ที่หน้าหลัก) แอป ThaID จะมีหน้า “ยืนยันตัวตน”  เด้งขึ้นมา หากประสงค์ลงชื่อ ให้กด “ยินยอม” และระบุรหัสผ่านแปดหลัก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

เปิดพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 เอาผิดโฆษณาเพื่อค้าบริการทางเพศ จำคุกสูงสุดสองปี ปรับ 10,000-40,000 บาท

ในอดีต มีการยอมรับว่าอาชีพค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายจากการออกประกาศท้องตราภาษีบำรุงถนนในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าบริการทางเพศ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 (พ.ศ. 2451) ขึ้นโดยใช้การจดทะเบียนเพื่อควบคุมการค้าประเวณีที่มีจำนวนมากขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและการเข้ามาของชาวตะวันตก

การค้าประเวณีหรือการให้บริการทางเพศถูกกำหนดให้เป็นการกระทำที่มีความผิดอาญาเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503[2] ต่อมาได้มีการตราพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ขึ้นมาแทนที่  เพื่อลดโทษทางอาญาและปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการทางเพศ กำหนดอัตราโทษแก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการค้าประเวณีให้สูงขึ้น และเพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 กำหนดความผิดของบุคคลสองประเภท ด้วยกัน อันได้แก่ ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ และความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ มีสามกรณี

  1. ผู้ใดที่ติดต่อหรือชักชวนบุคคล เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  2. ผู้ให้บริการที่เข้าไปมั่วสุมในสถานที่ค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้อาจผู้ที่เสี่ยงผิดกฎหมายอาจจะเป็นได้ทั้งตัวผู้ให้บริการทางเพศเอง หรือผู้อื่นที่ปฏิบัติงานในสถานบริการ อย่างไรก็ดี ถ้าถูกบังคับหรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ไม่มีความผิด
  3. ผู้ให้บริการที่โฆษณาหรือทำให้แพร่หลายไปยังสาธารณะเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้ผู้ที่มีความผิดทางกฎหมายมีทั้งผู้ให้บริการทางเพศ รวมไปถึงบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่โฆษณาการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ของตัวผู้ให้บริการทางเพศ

ทั้งนี้ การกำหนดให้การติดต่อและการโฆษณาเพื่อค้าประเวณีเป็นความผิด ทำให้ผู้ให้บริการทางเพศต้องเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องประกอบอาชีพอย่างหลบซ่อน หรือพึ่งพาผู้มีอิทธิพลเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อสูญเสียอำนาจในการต่อรอง ก็มักจะถูกนายหน้าหรือนายจ้างเอาเปรียบค่าจ้างหรือเวลาทำงาน และเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมอื่นๆ เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่ผู้ให้บริการอาจไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติเพราะกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้เสียเอง

ความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ มีสี่กรณี ดังต่อไปนี้

  1. นายหน้าเพื่อการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หากได้กระทำต่อบุคคลอายุมากกว่า 15 แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท แต่ถ้าได้กระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท นอกจากนี้ ผู้กระทำยังต้องระวางโทษหนักขึ้นหากได้กระทำโดยใช้อุบายหลอกหลวง หรือใช้วิธีข่มขืนใจ
  2. บิดา มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งรู้เห็นในการกระทำนายหน้าค้าประเวณีต่อผู้อยู่ในความปกครองของตนซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี และมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 – 400,000 บาท
  3. เจ้าของกิจการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการหรือสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 300,000 บาท นอกจากนี้ หากปรากฏว่ามีเยาวชนค้าบริการอยู่ด้วยก็จะต้องระวางโทษจำคุกห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท และกรณีที่มีเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท
  4. ผู้ใช้บริการทางเพศ โดยหลักแล้วไม่มีความผิด เว้นแต่จะใช้บริการทางเพศจากอายุเกิน 15 แต่ไม่ถึง 18 ปี ในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท ถ้าใช้บริการทางเพศจากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี รับโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท กรณีนี้ แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะยินยอมก็มีความผิด

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีการกำหนดมาตรการรับผู้ให้บริการทางเพศเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกทั้งศาลยังมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ให้บริการที่กระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแทนการลงโทษก็ได้ และหากเกิดการหลบหนีจากสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองอาชีพ กฎหมายก็เพียงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ออกติดตามตัวผู้หลบหนีเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องมีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด

กำหนดความผิดผู้ให้บริการทางเพศอาจได้ไม่คุ้มเสีย นักวิชาการชี้ยกเลิกกฎหมาย ≠ ค้าบริการทางเพศเสรี

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รับรองสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ในมาตรา 28 และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ในมาตรา 40 ผู้ให้บริการทางเพศมีสิทธิจะยินยอมให้ผู้อื่นกระทำต่อร่างกายของตนได้ และมีเสรีภาพที่จะเลือกประกอบอาชีพ การให้บริการทางเพศโดยสมัครใจที่อยู่บนพื้นฐานของความยินยอม (Consent) จากผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจึงไม่ได้ก่อความเสียหายต่อบุคคลอื่น แตกต่างจากกรณีแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีโดยผิดกฎหมาย และการกำหนดให้การค้าบริการทางเพศเป็นความผิดอาจเข้าข่ายเป็นจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้ให้บริการเกินสมควรแก่เหตุด้วย

ช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะไม่ถูกกีดกันจากการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เสียทีเดียว แต่ก็ยังมีสถานะเป็นแรงงานที่ไม่สามารถเข้าถึงความคุ้มครองสวัสดิการแรงงานขั้นพื้นฐานเหมือนอาชีพอื่น หากต้องตกงานจากการระบาดนี้ ก็ไม่อาจได้รับเงินทดแทนอย่างแรงงานที่มีสิทธิประกันสังคมได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง อาชีพผู้ให้บริการทางเพศมีส่วนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก  และควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกัน

ในมิติด้านกฎหมาย ปิยวัฒน์ วิทูราภรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา เรื่อง “ปัญหาในการกำหนดความรับผิดของผู้ค้าประเวณี” ว่า การกำหนดความผิดอาญาแก่ผู้ให้บริการทางเพศในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีขอบเขตการบังคับใช้ไม่แน่นอนและทับซ้อนกับความผิดในกฎหมายอื่น เช่น กรณีความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาการค้าประเวณี ซึ่งมุ่งหมายจะใช้แก้ปัญหาธุรกิจการค้าบริการทางเพศ แต่ก็ปรากฏว่าถูกนำมาบังคับใช้กับผู้ให้บริการทางเพศเช่นกัน และทับซ้อนกับความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่สิ่งลามกอนาจารสู่สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 หรือกรณีนิยามของคำว่า “สถานการค้าประเวณี” หมายความรวมไปถึงสถานที่ที่แม้จะมีการค้าประเวณีเพียงหนึ่งครั้งก็เข้าข่ายตามนิยามนี้ ส่งผลให้การปรับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีมีขอบเขตกว้างกว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบและประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว การยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับนี้ย่อมเป็นหมุดหมายสำคัญในการทบทวนสิทธิที่ผู้ให้บริการทางเพศควรจะได้รับเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ โดยในโครงการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี รองศาสตราจารย์ มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงความพยายามในการควบคุมและคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีทั้งหมดผ่านการยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีการวางนโยบายคุ้มครองสิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ การคุ้มครองไม่ให้ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ให้บริการตามความจำเป็น อันแสดงให้เห็นว่าการยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะไม่ได้นำไปสู่การค้าบริการทางเพศอย่างเสรีในประเทศไทยตามที่มีความกังวลแต่อย่างใด

ย้อนจุดยืนพรรคการเมือง ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์ หนุนยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี

ย้อนกลับไปช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 30 มีนาคม 2566  คณะทำงานเครือข่ายสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566 (LGBTIQNA+ Civil Rights Network for Political Party Policy 2023) จัดเวที “สิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566”  โดยส่วนหนึ่งของเวทีนี้ คือให้ตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองข้าร่วมเวทีเพื่อรับฟังเสียงและข้อเสนอจากภาคประชาชน และนำเสนอนโนบายเพื่อแสดงจุดยืนของพรรคในด้านการสนับสนุน คุ้มครอง และจัดสรรทรัพยากรเพื่อประชาชนเพศหลากหลาย และความเท่าเทียมทางเพศ

โดยตัวแทนจากพรรคการเมืองที่มีสส. ในสภาหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 มีสองพรรคการเมืองที่ตัวแทนประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 คือ พรรคก้าวไกล โดยมีธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เป็นตัวแทนแสดงจุดยืนในเวทีนี้ และพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี แทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นตัวแทนแสดงจุดยืน

การพิจารณาร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ขอแค่ได้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็มีโอกาสที่ร่างกฎหมายนั้นจะผ่านแล้ว เงื่อนไขไม่ได้ซับซ้อนเท่าการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม จากจำนวน สส. ทั้งสองพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุนยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะเพียงพอให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาไปได้ จำเป็นที่จะต้องได้เสียงจาก สส. พรรคอื่นๆ เข้ามาโหวตเห็นชอบด้วย ก่อนที่ร่างกฎหมายจะเข้าสภา ประชาชนที่เห็นด้วยกับการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ช่วยกันส่งเสียงไปยัง สส. ในสภาพรรคให้ร่วมกันสนับสนุนยกเลิกกฎหมายนี้

ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
TN Pridi Clinic
อ่าน

11 พ.ค. 67 เปิด “คลินิก” ให้คำปรึกษาผู้เตรียมสมัครสว. ก่อนออกพ.ร.ฎ.

ขอเชิญพี่ๆ อายุ 40 ปีขึ้นไปมาเจอกันในการเปิดคลินิกครั้งใหญ่ ให้คำปรึกษาการเตรียมตัวของผู้จะสมัคร #สว67