“ก่อนจะถึงประชามติรัฐธรรมนูญ” รวมเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเสนอประชามติรัฐธรรมนูญหลังรัฐบาลเพื่อไทย

ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย วาระการแก้รัฐธรรมนูญใหม่เป็นหนึ่งในวาระที่สำคัญและจะเกิดการถกเถียงตลอดสมัยของรัฐบาลพรรคอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นการทำประชามติที่อาจเกิดขึ้นถึงสามครั้งภายในสี่ปี ซึ่งทำให้ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน ต่างพยายามช่วงชิงการนำเสนอคำถามประชามติและรูปแบบการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

ก่อนจะถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ชวนทบทวนความเคลื่อนไหวสำคัญของแต่ละฝ่ายเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่หลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา

13 สิงหาคม 2566

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยหลายองค์กรที่ผลักดันประเด็นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จัดเวทีแถลงการณ์เปิดแคมเปญ  “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

28 สิงหาคม 2566

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำรายชื่อประชาชนที่เสนอคำถามประชามติ จำนวน 205,739 รายชื่อ เสนอข้อเรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทยให้รับคำถามประชามติจากภาคประชาชน โดยไม่ต้องคำนึงถึงขั้นตอนทางธุรการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้ง

30 สิงหาคม 2566

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญนำรายชื่อเสนอคำถามประชามติ จำนวน 211,904 รายชื่อ มาส่งที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นอกจากรวบรวมเอกสารที่ประชาชนลงชื่อบนกระดาษแล้ว ยังมีข้อมูลรูปแบบไฟล์ PDF สแกนรูปเอกสาร และ EXCEL ที่ระบุข้อมูลของผู้ลงชื่อ บันทึกลงในแผ่น CD และนำส่งกกต. ด้วย ตามกฎเกณฑ์ที่ประกาศ กกต.กำหนด

13 กันยายน 2566 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ และได้มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ในวันเดียวกัน ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่จำเป็นต้องฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน และทำความเข้าใจกับทุกกลุ่ม

19 กันยายน 2566

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าได้ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอจัดทำประชามติเสร็จเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 กันยายน 2566 โดยตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนรายชื่อขั้นต่ำตามกฎหมาย 50,000 รายชื่อ หลังจากนี้ สำนักงาน กกต. ได้ส่งเรื่องต่อไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อไป

3 ตุลาคม 2566

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนทั้งหมด 35 คน โดยมีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน

16 ตุลาคม 2566 

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสองชุด คือ

1) คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยมี นิกร จำนง เป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับแนวทางทำประชามติ คณะอนุกรรมการชุดนี้ สามารถเชิญบุคคลเข้ามาให้ข้อมูลหรือความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาได้

2) คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยมี วุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ศึกษาแนวทางทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้สอดคล้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และสามารถเชิญบุคคลเข้ามาให้ข้อมูลหรือความเห็นได้เช่นกัน

25 ตุลาคม 2566

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาญัตติเสนอให้จัดทำประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผลการพิจารณาญัตติเสนอให้จัดทำประชามติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วย 262 เสียง เห็นด้วย 162 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เป็นผลให้ญัตติดังกล่าวตกไป

30 ตุลาคม 2566

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ตั้งอนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอเรื่องระบบเลือกตั้ง และแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อจัดทำข้อเสนอและทางเลือกต่างๆ ว่าหาก สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้ง และรูปแบบการทำงานต่าง ๆ (เช่น การมีกรรมาธิการยกร่างที่ถูกแต่งตั้งโดย สสร.) ของ สสร. อย่างไรได้บ้าง เพื่อคลายข้อกังวลที่ยังคงมี ควบคู่กับการคงความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของ สสร. ที่ยังมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด