สภาคว่ำข้อเสนอ สส. ฝ่านค้าน ขอให้ทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

25 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาญัตติเสนอให้จัดทำประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคก้าวไกล ใช้กลไกตามพระราชบัญญัติว่าการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) 

ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 กำหนดกลไกการออกเสียงประชามติไว้ห้ากรณี คือ

1) การทำประชามติตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุสมควร

2) การทำประชามติกรณีรัฐสภาพิจารณาและมีมติเห็นว่าสมควรให้มีการทำประชามติ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ

3) การทำประชามติ กรณีที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอคณะรัฐมนตรี

4) การทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนด

5) การทำประชามติเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องทำประชามติ

สำหรับญัตติเสนอให้จัดทำประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วย 262 เสียง เห็นด้วย 162 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เป็นผลให้ญัตติดังกล่าวตกไป

การใช้กลไกตามพ.ร.บ. ประชามติ ให้รัฐสภามีมติเพื่อให้จัดทำประชามตินั้น เคยถูกเสนอมาแล้วในสมัยของสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 และผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เมื่อ 15 กันยายน 2565 สส. ฝ่ายค้านในขณะนั้น คือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย และณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จากพรรคก้าวไกล เคยเสนอญัตติเพื่อให้รัฐสภาลงมติให้จัดทำประชามติ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ญัตติดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างดี 3 พฤศจิกายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ไปต่อ เพราะตกไปในชั้นวุฒิสภา เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566 วุฒิสภามีมติไม่เห็นด้วยกับการส่งให้ ครม. ทำประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วย 157 เสียง เห็นด้วย 12 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

นอกจากข้อเสนอของ สส. ที่เสนอให้รัฐสภาเคาะทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ตกไปแล้วนั้น เส้นทางการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ยังมีข้อเสนอจากภาคประชาชน รวมถึงรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายที่จะจัดทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยทั้งสองช่องทางมีความคืบหน้าแตกต่างกัน ดังนี้

ภาคประชาชน : นับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ก็เริ่มผลักดันแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ที่อาศัยช่องทางตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 (5) โดยยื่น 211,904 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปแล้วเมื่อ 30 สิงหาคม 2566 และเมื่อ 19 กันยายน 2566 ทางกกต. ก็แจ้งว่าตรวจสอบรายชื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงส่งต่อไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ครม. พิจารณาต่อไป โดยครม. มีดุลยพินิจที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของประชาชน หาก ครม.ไม่เห็นชอบ ข้อเสนอของประชาชนก็เป็นอันตกไป

รัฐบาล : เมื่อ 3 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนทั้งหมด 35 คน โดยมีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ภายหลังพรรคก้าวไกลออกมาชี้แจงว่าไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการ ส่งผลให้คณะกรรมการชุดนี้มีเพียง 34 คนเท่านั้น สำหรับกรอบระยะเวลาทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ภูมิธรรมชี้แจงว่า ตั้งเป้าว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2566 และจะมีการทำประชามติเกิดขึ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2567

สำหรับข้อเสนอของสส. ที่ตกไปแล้วนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 25 ตุลาคม 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคก้าวไกล ผู้เสนอญัตตินี้ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาทั้งด้านที่มา กระบวนการร่าง และมีปัญหาทางด้านเนื้อหา ดังนั้น จึงต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทางด้านเนื้อหา โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% โดยเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติ ว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมัการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน”

พริษฐ์ชี้แจงว่า หากเราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โอบรับทุกความแตกต่าง และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง ก็ไม่ควรกำหนดคำถามประชามติที่คิดแทนประชาชน ควรเขียนคำถามที่เปิดกว้างต่อทุกความเห็น ทั้งนี้ การที่คำถามประชามติเปิดทางให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่เขียนใหม่ถูกแก้ไขได้ ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาทั้งหมดจะถูกแก้ไข หากมาตราใดในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คนส่วนใหญ่มองว่าดีอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไข มาตราเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับความเห็นชอบให้แก้ไข

สำหรับที่มาของสสร. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด พริษฐ์ระบุว่า เป็นหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย สภาผู้แทนราษฎรที่มีหน้าที่ออกกฎหมายยังต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แล้วทำไมสสร. ที่จะมาเขียนกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญจึงจะมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนน้อยกว่า สส. ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ต้องการให้ สสร. ถูกผูกขาด และมีความหลากหลาย ก็ยิ่งไม่ควรให้มี สสร. จากการแต่งตั้งโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็น สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เพราะเป็นตัวแทนทุกชุดความคิดที่มีอยู่ในสังคม ตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ

สำหรับข้อกังวลเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าไปช่วยยกร่าง พริษฐ์ระบุว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง เข้ามาช่วยให้ความคิดเห็นหรือช่วยยกร่างได้ แต่สุดท้ายทุกการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับ สสร. ที่เป็นตัวแทนประชาชน

ญัตตินี้ มี สส. ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอภิปรายหลายราย ทั้งจากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดย สส. พรรคร่วมรัฐบาล มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่พอจะสรุปได้สามข้อ คือ 1) รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแล้ว ควรให้คณะกรรมการดังกล่าวทำงานก่อน 2) การกำหนดให้ สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจถูกตีความได้ว่าสามารถแก้ไข หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ได้ 3) ข้อถกเถียงเรื่องที่มา สสร. ว่าจะกำหนดอย่างไร ยังไม่ยุติ

โดยอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.พรรคพลังประชารัฐ  ที่อภิปรายว่าจะไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ เพราะรัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ไปแล้ว จึงควรให้เวลาคณะกรรมการชุดนี้รวมถึงอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาอีกสองคณะได้ทำงานก่อน หากตนเห็นด้วยกับญัตตินี้ ความเห็นชอบของสภาจะข้ามหัวของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ 

ด้านลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ดี ก็ไม่สามารถเห็นชอบกับญัตตินี้ได้ ด้วยเหตุผลสองข้อ คือ 

1) ความละเอียดอ่อนในการจัดทำคำถามประชามติ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน การระบุคำถามว่า จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจนำไปสู่ข้อกังวลของหลายภาคส่วนในสังคมว่า การจัดทำใหม่ทั้งฉบับรวมถึงการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ด้วยหรือไม่ พรรคเพื่อไทยเสนอว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไข หมวด 1 หมวด 2 เพื่อปลดล็อกข้อกังวลของทุกฝ่าย

2) การกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ถือเป็นการตีกรอบที่มาของ สสร. จนเกินเหตุ ขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงในรายละเอียดอย่างกว้างขวาง เช่น ให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม เหมือนปี 2540 รายละเอียดเหล่านี้ยังต้องมีการตกผลึก สิ่งที่เสนอในญัตตินี้ยังไม่ได้เกิดจากการตกผลึก

You May Also Like
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ