24 ธ.ค. 66 เตรียมเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรก ผู้ใช้สิทธิต้องรีบลงทะเบียนล่วงหน้า

24 ธันวาคม 2566 เป็นกำหนดวันเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตัว (ลูกจ้าง) ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปตัดสินใจด้านนโยบายการประกันสังคมครั้งแรกของประเทศไทย หลังมีกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2558 และการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากการเลือกตั้งส.. โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ สมาชิกในระบบประกันสังคมกว่า 24 ล้านคน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องผ่านการรอคอยที่ยาวนานและการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง จนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกำลังจะได้มีสิทธิออกเสียงเลือกตัวแทนร่วมกำหนดนโยบาย แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก อุปสรรคสำคัญ คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ และยังไม่เข้าใจระบบและวิธีการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ คนที่จะออกเสียงได้ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนภายในเดือนตุลาคม 2566

กฎหมายประกันสังคมของ คสช. เขียนให้มีเลือกตั้ง แต่ให้ชุดแต่งตั้งอยู่ยาว

...ประกันสังคม ที่ถูกแก้ไขในยุคสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2558 เขียนขึ้นเป็นครั้งแรก ไว้ในมาตรา 8 ว่า ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละเจ็ดคนมาจากการเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส 

แต่ภาพฝันที่จะได้เลือกตั้งกรรมการประกันสังคมในยุคของ คสช. ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2558 ออกมาตามอำนาจพิเศษของมาตรา 44″  สั่งว่าให้งดการบังคับใช้บางมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมทุกตำแหน่งเข้ามาทำหน้าที่เลย โดยให้มีกำหนดวาระการทำงานสองปี และเมื่อครบสองปีแล้ว วิษณุ เครืองาม ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงแรงงานและเห็นว่าการจัดการการดำเนินการเลือกตั้งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่มีความคุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ รวมทั้งอาจขัดกับคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่สั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้ยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกฎหมายและเกิดเป็นภาวะสุญญากาศอยู่พักหนึ่ง

ต่อมาก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจไปก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 9/2562 ให้คณะกรรมการประกันสังคมชุดเดิมที่แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 พร้อมที่ปรึกษา อยู่ในตำแหน่งไปก่อนระหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้งซึ่งใช้เวลาอีกอย่างน้อยสองปี ทำให้พ...ประกันสังคม ที่บอกให้มีการเลือกตั้งยังไม่เคยได้ใช้จริง และคณะกรรมการชุดแต่งตั้งมีอยู่ในตำแหน่งลากยาวมาได้นานกว่าแปดปีเต็ม เรียกได้ว่า คณะกรรมการประกันสังคมกลายเป็นมรดกอีกชิ้นหนึ่งที่ คสช. ฝากไว้ ก่อนจะหมดเวลาและต้องมีการเลือกตั้งขึ้นในช่วงประมาณปี 2564

ผู้มีสิทธิต้องอยู่ในระบบประกันสังคมแล้ว 6 เดือน จ่ายเงินสมทบแล้ว 3 เดือน

วันที่ 8 กรกฏาคม 2564 กระทรวงแรงงานได้ออก ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.. 2564 (ระเบียบเลือกตั้งประกันสังคมฯ) โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคมมาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน นับถึงเดือนที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง หรือต้องอยู่ในระบบประกันสังคมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 หรือก่อนหน้านั้น หากเข้าสู่ระบบประกันสังคมในเดือนเมษายน 2566 ก็จะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และในระยะเวลาหกเดือนนี้ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าสามเดือน

ระเบียบเลือกตั้งประกันสังคมฯ ยังกำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย หมายความว่า คนสัญชาติอื่นที่ทำงานในประเทศไทยและเข้าระบบประกันสังคม มีส่วนได้เสียกับนโยบายของกองทุนประกันสังคมก็จะไม่มีโอกาสออกเสียงเลือกตัวแทนเพื่อไปกำหนดนโยบายประกันสังคมด้วย

นอกจากนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยังต้องเป็นนายจ้างหรือผู้ประกันตนที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้จะใช้สิทธิเลือกตั้ง เท่ากับว่าคนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้จะต้องมีการลงทะเบียนล่วงหน้าก่อน หากไม่ได้ลงทะเบียนตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดก็ไม่สามารถออกเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ได้

ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะเปิดลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งระหว่างวันที่ 12-31 ตุลาคม 2566 โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th และจะเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานจังหวัด และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566

คูหาเปิด 8.00-16.00 เข้าคูหาเขียนหมายเลขผู้สมัคร ไม่ใช่กากบาท

ระเบียบเลือกตั้งประกันสังคมฯ ข้อ 13 กำหนดให้ใช้ประเทศไทยเป็นเขตเลือกตั้ง หมายความว่าไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นรายจังหวัด หรือรายภูมิภาค สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนก็สามารถลงคะแนนให้กับผู้สมัครได้ทุกคน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงเลือกผู้สมัครได้ไม่เกินเจ็ดคน จะออกเสียงให้น้อยกว่าเจ็ดคนก็ได้ และให้แต่ละจังหวัดมีสถานที่ลงคะแนนจังหวัดละหนึ่งหน่วย

การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม จะเปิดให้ลงคะแนนในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 8.00-16.00 . โดยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือใบขับขี่ ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ หรือนำบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือบัตรที่หมดอายุแล้ว ก็สามารถนำไปใช้แสดงตนได้ แต่สำหรับฝ่ายนายจ้างต้องมีหนังสือการจดทะเบียนนิติบุคคลที่มีการรับรองไม่เกินหกเดือนมาแสดงด้วย

การออกเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ไม่ใช่วิธีการกากบาทตามหมายเลข แต่ใช้วิธีเขียนหมายเลขของผู้สมัครเป็นเลขอารบิกลงในช่องว่าง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องจดจดหมายเลขของผู้สมัครทั้งเจ็ดคนที่ต้องการจะลงคะแนนให้ได้เองจะนำเอกสารใบปลิวหาเสียงของผู้สมัครติดตัวเข้าไปในคูหาเพื่อดูหมายเลขไม่ได้ ผู้ใช้สิทธิจะเขียนหมายเลขซ้ำเพื่อลงคะแนนหลายคะแนนให้ผู้สมัครคนเดิมไม่ได้ โดยยังมีช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ถ้าหากไม่ต้องการออกเสียงให้ผู้ใดก็สามารถกากบาทลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนได้

การนับคะแนนจะทำที่หน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ทันทีที่ปิดการลงคะแนนในเวลา 16.00 โดยการนับคะแนนต้องทำโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปทั้งผู้มีสิทธิและไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถเข้าสังเกตการณ์การนับคะแนนได้ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งสส. 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *