วุฒิสภามีมติไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียก สว.อุปกิต ไปสอบสวนระหว่างสมัยประชุม ปมถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

ตามรัฐธรรมนูญ 2560  กำหนดหลักความคุ้มกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไว้ว่า ห้ามจับ คุมขัง หรือหมายเรียก สส. สว. ไปทำการสอบสวน ในฐานะที่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ในระหว่างสมัยประชุม แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด และหากเป็นกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด ก็ต้องรายงานไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาด้วย ซึ่งประธานสภาก็สามารถสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับเพื่อให้มาประชุมสภาได้ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการประชุมสภา ทั้งนี้ ความคุ้มกันดังกล่าว จะอยู่ภายในระยะสมัยประชุมสภาเท่านั้น เท่ากับว่าการจับ คุมขัง หรือออกหมายเรียกนอกสมัยประชุมสภา ก็สามารถทำได้

ข้อยกเว้นความคุ้มกันโดยใช้ช่อง “ได้รับอนุญาตจากสภา” ถูกนำมาใช้แล้วกับวุฒิสภา สืบเนื่องจากวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาอนุญาตออกหมายเรียกตัวสว. อุปกิต ปาจรียางกูร โดยในหนังสือดังกล่าว มีใจความว่า อุปกิต ปาจรียางกูร กับพวก ถูกดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 122/2565 เนื่องจากคดีดังกล่าวมีโทษตามกฎหมายไทยแต่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดจึงมอบหมายให้ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งพนักงานสอบสวนแจงข้อกล่าวหา และสอบปากคำอุปกิตไว้แล้ว และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุด ต่อมาอัยการสูงสุด อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 11/7 อนุมัติให้แจ้งข้อความหาเพิ่มเติมแก่อุปกิต ในความผิดฐาน ”สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมและได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่สมคบกัน และสนับสนุนการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด” จึงให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนเพิ่ม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงส่งหนังสือมายังประธานวุฒิสภาเพื่อขอออกหมายเรียก สว.อุปกิต ให้ไปพบพนักงานสอบสวน

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมวุฒิสภา มีนัดพิจารณาในวาระอนุญาตออกหมายเรียกตัวสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยการลงมติตัดสินใจว่าวุฒิสภาจะอนุญาตหรือไม่ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 120 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ

ผลการลงมติ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกตัว สว. อุปกิต ไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย (อนุญาต) 7 เสียง ไม่เห็นด้วย (ไม่อนุญาต) 174 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง ดังนั้น หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะออกหมายเรียก ต้องออกในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภานี้คือวันที่ 30 ตุลาคม 2566

ยันไม่ได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา โต้ก้าวไกลเล่นการเมืองสกปรก

อุปกิต ชี้แจงว่า ก่อนตนมาเป็นสว. ในปี 2562 ตนได้สละและนำชื่อออกจากกรรมการหุ้นส่วนบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด และไม่ได้มีข้อเกี่ยวข้องใดๆ อีกแล้ว ที่ผ่านมา 15 ปี ตนเป็นตัวแทนซื้อขายไฟกับพม่าที่ด่านท่าขี้เหล็ก ไม่เคยมีปัญหาแม้แต่ครั้งเดียว ปัญหาเกิดขึ้นช่วงปี 2563-2565 ทุน มิน ลัต นักธุรกิจชาวพม่าเข้ามาทำธุรกิจไฟฟ้าต่อจากตน ช่วงนั้นด่านปิดจากสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องชำระเงินผ่านการโอนเงินให้โต๊ะแลกเงิน (Money Changer : MC) แต่พนักงานสืบสวนเมื่อเห็นเส้นทางการชำระค่าไฟฟ้า ก็เร่งกล่าวหาว่าเป็นบัญชียาเสพติด

“ไม่มีใครหรอกครับที่จะเอาค่าไฟฟ้าที่บริสุทธิ์ ที่ถูกกฎหมาย ไปฟอกผ่าน Money Changer และทำให้เป็นเงินผิดกฎหมาย” อุปกิตกล่าว

อุปกิต ยังกล่าวถึงกรณีที่รังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าตนเป็น “สว.ทรงเอ” ว่า ข้อมูลที่นำมาอภิปรายก็เป็นข้อมูลเท็จ ตำรวจที่พยายามออกหมายจับตนโดยไม่ชอบ ให้หลักฐานนี้แก่รังสิมันต์ โรม

“…กล่าวหาปรักปรำผมอย่างร้ายแรงว่าพัวพันกับขบวนการยาเสพติด ซึ่งหลักฐานที่เอามาอภิปราย ก็เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จนะครับ สารวัตรมานะพงษ์ (พ.ต.ท. มานะพงษ๋  วงศ์พิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้) ซึ่งพยายามออกหมายจับผมโดยไม่ชอบ ได้ให้หลักฐานนี้กับนายรังสิมันต์ โรม กระผมเองเคยขอทนายให้ขอหลักฐานนี้มา แต่ศาลไม่ให้ผมเนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างศาลและผู้ร้องขอ…”

อุปกิต กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “ทฤษฎีสมคบคิด” เนื่องจากพันตำรวจโท มานะพงษ๋  วงศ์พิวัฒน์ เป็นเพื่อนรักกับธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล ซึ่งพยายามปล่อยข่าวทางโซเชียลอย่างเป็นระบบ อุปกิตระบุว่า ธีรวัตร์ เคยร่วมเสวนากับ iLaw เคยออกรายการกับช่อง SpokeDark และมีภรรยาคือ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม สส.พรรคก้าวไกล

“…ทำให้เห็นได้ว่า คนกลุ่มนี้ มีวัยใกล้เคียงกัน มีอุดมการณ์เดียวกัน ร่วมทำงานกันอย่างเป็นขบวนการ รังสิมันต์ โรม สามารถอภิปรายโจมตีผมเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง ให้วุฒิสภาแปดเปื้อน เพื่อโยงไปถึงอดีตนายกฯ ที่มีส่วนสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และพรรคการเมืองที่ท่านเคยสังกัดนั้น (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เช่าตึกกระผมอยู่ อีกทั้งเป็นการด้อยค่าและโจมตีกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า เป็นการเล่นการเมืองแบบสกปรก ตัวเองอ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ใช้วิธีสกปรกมากยิ่งกว่าสมัยเก่า…”

อุปกิตกล่าวว่า ตนมาจากตระกูลที่รับใช้แผ่นดินมาสามชั่วคน ในตระกูลของตนมีคุณหญิงสามคน คือ คุณย้าย คุณแม่ คุณน้า คุณพ่อของตนเคยเป็นเอกอัครราชทูตมากว่าหกประเทศ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาสามสมัย ตนและครอบครัวตระหนักดีถึงบุญคุณแผ่นดิน ไม่มีวันทำสิ่งใดที่เลวร้ายตามที่เขากล่าวหา

หลังจากอุปกิตชี้แจงเสร็จ ก็มีสว. บางส่วนที่ผลัดเปลี่ยนกันอภิปราย ได้แก่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ จัตุรงค์ เสริมสุข พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม กิตติ วะสีนนท์ อนุสิษฐ คุณากร วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร คำนูณ สิทธิสมาน อนุพร อรุณรัตน์ สมชาย แสวงการ หลังจากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาจึงลงมติไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกตัว สว. อุปกิต ไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย (อนุญาต) 7 เสียง ไม่เห็นด้วย (ไม่อนุญาต) 174 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง

Vote Check ย้อนดูการลงมติเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ-เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 

การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ จำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยเสียงของ สว. เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยาก ด่านแรกต้องอาศัยเสียง สว. ถึงหนึ่งในสาม หรือคิดเป็นประมาณ 84 เสียง

หากย้อนดูผลการลงมติที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พบว่า สว.อุปกิต เคยโหวตเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญเพียงสองครั้งเท่านั้น คือ การแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดย สส. พรรคประชาธิปัตย์ ลงมติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 และการตั้ง สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เสนอโดยสส. พรรคพลังประชารัฐ ลงมติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ดี แม้จะมีร่างแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องทำนองเดียวกันพิจารณาด้วยกัน เพียงแต่ผู้เสนออยู่ต่างฝ่าย เป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น อุปกิตก็ไม่ได้โหวตเห็นด้วยแต่อย่างใด

วันที่
การพิจารณาของรัฐสภา
เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ/เขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ผลการลงมติของอุปกิต ปาจรียางกูร
21 กุมภาพันธ์ 2566
การลงมติกรณีรัฐสภาให้ครม. ทำประชามติ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ไม่ได้ลงมติ
(ไม่ได้เข้าประชุม)
7 ธันวาคม 2565การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น เสนอโดยประชาชนไม่เห็นด้วย
7 กันยายน 2565การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ สว. เสนอโดยประชาชน ไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญประเด็นสิ่งแวดล้อม เสนอโดยสส.พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญประเด็นสิทธิ-เสรีภาพ เสนอโดยสส.พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็นสส. เสนอโดยสส.พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย
17 พฤศจิกายน 2564การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ รื้อระบอบประยุทธ์ เสนอโดยประชาชนไม่เห็นด้วย
24 มิถุนายน 2564การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้ง เสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย

การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ แก้หลายประเด็น เสนอโดย สส.พรรคพลังประชารัฐ

ไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพ เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้ง เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจ สว. ร่วมเลือกนายกฯ เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและยกเลิกอำนาจ สว. บางประการ เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ แก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติ เสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ หลักประกันรายได้ถ้วนหน้า (UBI) เสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค เสนอโดยสส. พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ สว. ในการแก้รัฐธรรมนูญ เสนอโดยสส. พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ กระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช. เสนอโดยสส. พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เสนอโดยสส. พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เสนอโดยสส. พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย
18 พฤศจิกายน 2563การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยงดออกเสียง
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เสนอโดยสส. พรรคพลังประชารัฐเห็นด้วย
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจ สว. ปฏิรูปประเทศ เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยงดออกเสียง
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจ สว. เลือกนายกฯ เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยงดออกเสียง
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกนิรโทษกรรม คสช. เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยงดออกเสียง
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้ง เสนอโดยสส. พรรคเพื่อไทยงดออกเสียง
การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ รื้อ “สร้าง ร่าง รัฐธรรมนูญใหม่” เสนอโดยประชาชนไม่เห็นด้วย
ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *