เปิดข้อเสนอหยุดวงจรรัฐประหาร เขียนกลไกห้ามล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายยกเลิกประกาศคำสั่งคณะรัฐประหาร

9 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น. ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ การทำให้รัฐประหารหมดไป ด้วยมาตรการทางกฎหมาย ณ ห้องประชุมศาลจำลอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยช่วยแรกจะเป็นการนำเสนอบทความหัวข้อดังกล่าว โดย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากนั้นจะเป็นช่วงแลกเปลี่ยนอภิปราย โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2540 กีรติ กาญจนรินทร์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549  รศ. ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ. ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 
ล้างผลรัฐประหาร : ศาลต้องเปลี่ยนบรรทัดฐาน ฝ่ายนิติบัญญัติแก้รัฐธรรมนูญ-ออกพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศ คำสั่ง คณะรัฐประหารที่เป็นกฎหมาย
ช่วงแรก ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นำเสนอบทความวิชาการในหัวข้อ การทําให้รัฐประหารหมดไปด้วยมาตรการทางกฎหมายและการเปลี่ยนบรรทัดฐานของศาล มีใจความว่า 
การรัฐประหารในยุคแรก ตั้งแต่การรัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 ไปจนถึงการรัฐประหารครั้งที่สี่ 9 เมษายน 2491 บรรดาคณะรัฐประหารยังไม่มีการออกประกาศหรือคำสั่งเหมือนการรัฐประหารภายในยุคหลังๆ ขณะที่การรับรองการทำรัฐประหาร จะอยู่ในรูปแบบการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม)
ขณะที่การรัฐประหารยุคที่สอง ในการรัฐประหาร ครั้งที่ 5 เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2494 ไปจนถึงการรัฐประหารครั้งที่เจ็ด เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 จะพบความเปลี่ยนแปลงว่าคณะรัฐประหารในเริ่มออกแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง แต่การรับรอบการรัฐประหารยังปรากฏอยู่ในรูปแบบการออกพระราชบัญญัติเช่นเดิม
การรัฐประหารยุคที่สาม ได้แก่ การรัฐประหารครั้งที่แปด เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2514 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ไปจนถึงการรัฐประหารครั้งที่ 10 เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 ก็เริ่มเห็นพัฒนาการของคณะรัฐประหารที่ยกระดับการรับรองการยึดอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีขึ้นภายหลังการรัฐประหาร และรับรองให้ประกาศรวมถึงคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรูปแบบนี้ก็ส่งผลให้คณะรัฐประหารในยุคที่สี่ ได้แก่การรัฐประหาร ครั้งที่ 11 เมื่อ  23 กุมภาพันธ์ 2534 ไปจนถึงการรัฐประหารครั้งที่ 13 เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เดินรอยตามโดยรับรองการยึดอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่แตกต่างคือยกระดับของประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหาร ไม่ใช่เพียงแต่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ปริญญา นำเสนอข้อเสนอไว้ในบทความ ส่วนแรก คือ ให้ศาลเปลี่ยนบรรทัดฐานที่จะไม่รับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร โดยประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารครั้งที่ 13 เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่รับรองการประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีรัฐธรรมนูญรับรองว่าชอบด้วยกฎหมายหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกต่อไป หากการรัฐประหารครั้งนั้นถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลสามารถเปลี่ยนบรรทัดฐานของศาลได้เลย ส่วนการรัฐประหารที่ถูกรับรองด้วยพระราชบัญญัติ ศาลสามารถเปลี่ยนบรรทัดฐานได้หากมีคดีความที่เกิดจากการใช้ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารขึ้นสู่ศาล
ส่วนประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 จะรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจตรวจสอบได้ว่า ประกาศหรือคําสั่งของ คสช. ที่มีสถานะทางกฎหมายเทียบเท่าพระราชบัญญัติ มีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนประกาศ คําสั่งของ คสช. ที่มีสถานะเป็นการใช้อํานาจของฝ่ายบริหาร มีลักษณะเป็นกฎหมายลําดับรอง หรือเป็นคําสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในเขตอํานาจของ ศาลปกครองก็สามารถพิจารณาได้ว่าประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือไม่
ส่วนที่สอง การทําให้รัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยมาตรการทางรัฐธรรมนูญ และมาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ 1) แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งรับรองประกาศ คำสั่ง คสช. 2) ยกเลิกประกาศและคําสั่งคณะรัฐประหารที่ยังมีผลทางกฎหมายด้วยการตราพระราชบัญญัติ และ 3) บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทําไม่ได้ ห้ามผู้นําเหล่าทัพยึดอํานาจ และฝ่ายตุลาการจะต้องไม่รับรองการรัฐประหาร
ปฏิรูปกองทัพคืนบทบาทนำให้พลเรือน เพิ่มกลไกป้องกันรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ
รศ. ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่าในสภาชุดที่แล้ว (ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในปี 2562) พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเคยเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่รับรองประกาศ คำสั่ง คสช. แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดเงื่อนไขเรื่องจำนวนเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ และในสมัยสภาชุดนี้ พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการรัฐประหาร  มีใจความว่า กำหนดหน้าที่หน่วยงานรัฐไม่ให้รับรองการรัฐประหาร และมีระเบียบแบบแผนการปฏิบัติของข้าราชการห้ามยอมรับสนับสนุนการรัฐประหาร หากฝ่าฝืนผิดวินัยราชการ กำหนดความผิดอาญาและบทลงโทษการรัฐประหาร ไม่มีอายุความ และกำหนดยกเลิกประกาศ คำสั่งคณะรัฐประหาร
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคก้าวไกล กล่าวเสริมข้อเสนอสี่ข้อที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการรัฐประหาร คือ 
1) ควรมีการเพิ่มหมวดการป้องกันการรัฐประหาร ไว้ในรัฐธรรมนูญ กำหนดคุ้มครองสิทธิประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร คุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนเตรียมการรัฐประหาร ห้ามศาลรัฐธรรมนูญรับรองการรัฐประหาร สถาบันการเมืองมีหน้าที่ต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตย และห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร ประชาชนเป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องต่อศาลได้เมื่อมีการรัฐประหาร
2) การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยสสร. มาจากประชาชนทั้งหมด 
3) ปฏิรูปกองทัพ ในฐานะเป็นองค์กรที่ทำรัฐประหารเรื่อยมา หากไปดูในพ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 กำหนดให้สภากลาโหม ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการทหารเป็นหลัก มีอำนาจบางส่วนเหนือรัฐบาลพลเรือน จะเห็นได้จากในมาตรา 43 กำหนดให้การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เช่น การดำเนินนโยบายการทหาร การพิจารณางบประมาณการทหาร การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากลาโหม ข้อเสนอเรื่องนี้ คือ ต้องปรับโครงสร้างสภากลาโหมให้พลเรือนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ปรับเปลี่ยนบทบาทให้สภากลาโหมเป็นสภาที่ปรึกษา
4) ปฏิรูประบบการศึกษา ให้คุณค่ากับระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนในสังคมไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบใด ก็ยึดคุณค่ารวมกันว่าหากมีปัญหา จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางประชาธิปไตย
ด้านรศ. ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอทั้งในการแก้ไขกฎหมาย รวมไปถึงข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ เสริมว่า  ในประเทศไทย เรายังไม่เคยคิดค้นกลไกปกป้องระบอบประชาธิปไตย แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะมีกลไกที่พิทักษ์การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยกำหนดให้มีองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ติดตามเชิงรุกว่ามีบุคคลที่เตรียมการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งกลไกแบบนี้ก็น่าวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ต่อการนำมาปรับใช้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า การให้อำนาจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ อาจสร้างความลำบากต่อพรรคการเมือง เพราะทางปฏิบัติกลไกเหล่านี้บางทีถูกนำไปใช้ในการติดตามพรรคการเมืองได้
กีรติ กาญจนรินทร์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 9/2552 กล่าวถึงคำวินิจฉัยส่วนตนในคดีที่ตนเคยปฏิเสธการรัฐประหารว่า ความเห็นดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่โดยนักวิชาการ แต่หากมาดูในหมู่ผู้พิพากษา จะมีคนที่รับรู้คำวินิจฉัยส่วนตนเรื่องนี้น้อยมาก ในฐานะที่เคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ก็มีความเห็นว่า แวดวงผู้พิพากษา อยู่ในระบอบอำนาจนิยมมานาน จึงอาจจะไปคาดหวังกับผู้พิพากษาทั้งหมดไม่ได้ (ว่าต้องเปลี่ยนบรรทัดฐานของศาลในเรื่องที่เกี่ยวกับประกาศ หรือคำสั่งคณะรัฐประหาร) แต่ต้องแก้ไขหลายอย่างประกอบกันไป เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชน
ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตสสร. รัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ มารวมถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มีทั้งหลักการที่สอดคล้องกับหลักของสำนักกฎหมายธรรมชาติ และสำนักกฎหมายบ้านเมือง คือ หลักนิติธรรม ซึ่งไม่ได้มีการเขียนรายละเอียดหลักการนี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวแปลความหลักการนี้ว่า คือหลักที่ผู้คนเคารพกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ หลักการแบ่งแยกอำนาจ ดังนั้นโดยพื้นฐานการรัฐประหารขัดต่อหลักนิติธรรม มีประเด็นว่า แล้วรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่กำหนดรับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
ธงทอง ระบุต่อไปว่า ในช่วงเวลาที่อำนาจของการรัฐประหารเบาบางลง เรื่องการแก้ไขวงจรการรัฐประหารรวมถึงผลที่ตามมาจากการรัฐประหารก็ต้องถูกนำมาพูดคุยหรือนำไปสอนในคณะนิติศาสตร์ของแต่ละสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยก็ต้องถูกนำมาทบทวน 
รับชมไลฟ์สัมมนาย้อนหลัง https://www.facebook.com/Thammasatlaw/videos/1051560082666942