ผบ.ตร. และสี่ผู้นำเหล่าทัพคนใหม่ ว่าที่ สว. โดยตำแหน่ง

ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน แวดวงทหาร-ตำรวจต่างก็มีกระแสข่าวการคัดเลือกผู้นำเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) คนใหม่ อยู่เป็นระยะ เนื่องจากวันที่ 30 กันยายน 2566 จะเป็นวันสิ้นปีงบประมาณซึ่งบรรดาผู้นำเหล่าทัพและผบ.ตร. คนเก่า ก็จะเกษียณอายุราชการด้วย คนใหม่ก็จะได้ขึ้นไปดำรงตำแหน่งแทนที่คนเก่า
แน่นอนว่าการเลือกผู้นำเหล่าทัพ รวมถึงผบ.ตร. คนใหม่ย่อมส่งผลต่อนโยบาย การบริการกิจการภายในกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกผู้นำเหล่าทัพ และผบ.ตร. คนใหม่ ก็ส่งผลต่อการพิจารณาร่างกฎหมาย และการให้ความเห็นชอบบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย เพราะพวกเขาจะต้องมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ ตามที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 269 กำหนดให้มีสว. โดยตำแหน่ง ซึ่งประกอบไปด้วย 1) ปลัดกระทรวงกลาโหม 2) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) 3) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) 4) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) 5) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ 6) ผบ.ตร.

ผบ.ตร. คนใหม่ น้องชายเลขาธิการพระราชวัง-ผอ.สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ช่วงปลายเดือนกันยายน กระแสข่าวแวดวงการสีกากีก็เป็นที่พูดคุยในสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อตำแหน่งผู้นำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องผลัดเปลี่ยนไปสู่คนใหม่ ท่ามกลางช่วงเวลาที่ยังไม่ชัดเจนว่า ใครจะได้เป็นผบ.ตร. คนต่อไป ก็มีอีกหนึ่งข่าวว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หนึ่งในแคนดิเดตผู้ที่จะเป็นผบ.ตร. คนต่อไป ถูกออกหมายค้นบ้านและหมายจับลูกน้องคนสนิท โดยมีตำรวจชุดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (สอท.) พร้อมชุดคอมมานโดบุกถึงบ้านพัก โดยมูลเหตุของเรื่องราวนี้สืบเนื่องมาจากลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการสกัดไม่ให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นผบ.ตร. คนต่อไปหรือไม่
กลไกการเลือกผบ.ตร. เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 77 (2) กำหนดให้การแต่งตั้งผบ.ตร. จะต้องคัดเลือกจากตำรวจที่มียศพล.ต.อ. ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจหรือรองผบ.ตร. โดยผู้ที่มีโอกาสจะได้เป็น ผบ.ตร. คนต่อไปนั้น มีสี่คน ได้แก่
1) พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ มีความอาวุโสลำดับหนึ่ง เกษียณอายุราชการปี 2567
2) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล มีความอาวุโสเป็นลำดับสอง เกษียณอายุราชการปี 2574
3) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ มีความอาวุโสเป็นลำดับสาม เกษียณอายุราชการปี 2569
4) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล มีความอาวุโสเป็นลำดับสี่ เกษียณอายุราชการปี 2567
ในมาตรา 78 (1) ยังกำหนดอีกว่า การแต่งตั้งตำรวจผู้มาดำรงตำแหน่งผบ.ตร. จะต้องให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เพื่อเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
จากข่าวของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ก็มีรายงานข่าวว่าก.ตร. เลื่อนตั้งผบ.ตร. คนใหม่ออกไปก่อน โดยให้พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ที่มีอาวุโสลำดับหนึ่ง รักษาการผบ.ตร. ไปก่อน แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง มีรายงานข่าวว่าเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอชื่อพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ซึ่งมีอาวุโสเป็นลำดับที่สี่ เพื่อให้ที่ประชุมก.ตร พิจารณา และท้ายที่สุด ก.ตร. ให้ความเห็นชอบพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผบ.ตร. คนที่ 14 โดยได้รับเสียงเห็นด้วยเก้าเสียง ไม่เห็นด้วยหนึ่งเสียง และงดออกเสียงสองเสียง จากกรรมการ 12 คน
สำหรับประวัติของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก่อนหน้าจะรับราชการตำรวจ ต่อศักดิ์เคยทำงานเอกชนกับบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์เป็นระยะเวลาถึงเจ็ดปี จากนั้นจึงลาออกแล้วเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร และเริ่มต้นรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตร กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ในปี 2541 ต่อมาในปี 2561 ขึ้นเป็นผู้บังคับการ ของกองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งต่อมาหน่วยงานนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904  และถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ปี 2562 เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบช.ก.) ปี 2563 เป็นผบช.ก. และปี 2564 เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ต่อมาในปี 2565 ก็ขึ้นมาเป็นรองผบ.ตร.
ในแง่ความสัมพันธ์ส่วนตัว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นน้องชายของ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ เลขาธิการพระราชวัง ผู้อํานวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และประธานกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ ยังเป็นกรรมการในหลายบริษัทที่มีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้น เช่น เป็นประธานกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เป็นประธานกรรมการบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)  เป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

บอร์ดกลาโหมประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะ ชิงเคาะสี่ผู้นำเหล่าทัพคนใหม่ก่อนจัดตั้งรัฐบาลใหม่

สำหรับกลไกการพิจารณาเลือกทหารที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำสี่เหล่าทัพนั้น จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือเรียกสั้นๆ ว่าบอร์ดกลาโหม ซึ่งตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล พ.ศ.2551 กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ
อย่างไรก็ดี 23 สิงหาคม 2566 การเลือกนายกรัฐมนตรียังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งส่งผลให้ยังไม่สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานบอร์ดกลาโหม ก็ยังคงเรียกประชุมบอร์ดกลาโหม เพื่อพิจารณาเพื่อพิจารณาบัญชีการปรับย้ายนายทหารประจำปี 2566 โดยไม่ได้เลื่อนการประชุมไปเพื่อรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เมื่อ 11 สิงหาคม 2566 ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ออกแถลงการณ์ด่วน ขอให้รักษารัฐบาลรักษามารยาทตามธรรมเนียม หยุดแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง
ต่อมา 26 สิงหาคม 2566 มีรายงานข่าวว่า บอร์ดกลาโหมพิจารณาบัญชีการปรับย้ายนายทหารประจำปี 2566 เรียบร้อยแล้ว และวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการทหาร โดยมีรายชื่อสี่ผู้นำเหล่าทัพคนใหม่ คือ  
1) พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี เป็นผบ.สส.
2) พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ เป็นผบ.ทบ.
3) พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เป็นผบ.ทอ
4) พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม เป็นผบ.ทร.
เป็นสว. ชุดพิเศษ ถึงพฤษภาคม 2567
หลังได้สี่ผู้นำเหล่าทัพ และผบ.ตร. แล้ว จะยังไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่ง สว. ชุดพิเศษ โดยทันที แต่จะต้องรอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก่อน จึงจะเข้าปฏิบัติหน้าที่สว. แทนบรรดาผู้นำเหล่าทัพ และผบ.ตร. คนก่อนที่เกษียณอายุราชการไปแล้วได้  
อย่างไรก็ดี สี่ผู้นำเหล่าทัพ และผบ.ตร. หน้าใหม่ จะเป็นสว. ได้ไม่นานนัก เพราะสว. ชุดพิเศษ จะมีอายุการทำงานถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ครบวาระห้าปีนับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสว. หลังจากนั้นก็จะมีสว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ “เลือกกันเอง” โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านๆ ต่าง ที่หลากหลายของสังคม ซึ่งรายละเอียดการจัดสรรกลุ่มอาชีพต่างๆ 20 กลุ่มอาชีพ