ส่องคะแนนเลือกตั้ง66 หน่วยค่ายทหาร-มหาวิทยาลัย ก้าวไกลครองแชมป์รายหน่วย

หลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคอันดับหนึ่งที่รวบรวมเสียงข้างมากของสภาล่างไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เปิดเผยให้เห็นความไม่ปกติของระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ไปอีกระดับ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนและยังคงอยู่เป็นเครื่องพิสูจน์เจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนก็คือ “ผลการเลือกตั้ง” 
ทุกคะแนนเสียงจากผลการเลือกตั้งล้วนแล้วแต่มีความหมายและมีนัยยะสำคัญ ว่าผู้คนในแต่ละพื้นที่คาดหมายจะเห็นประเทศเดินหน้าไปทิศทางใด โดยเฉพาะ “กลุ่มนิวโหวตเตอร์ (New Voter)” กลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-22 ปี ที่ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งพวกเขาจะเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคตอีกยาวนาน 
กลุ่มคนอายุไม่มากเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ ขณะที่อีกหนึ่งกลุ่มหนึ่ง คือ “กลุ่มทหารเกณฑ์” ซึ่งในบริบทของการเมืองไทย ทหารและกองทัพเป็นตัวละครสำคัญที่เข้ามามีบทบาทแทรกแซงการเมืองอยู่เสมอ อีกทั้งด้วยกฎระเบียบมากมายที่ควบคุมให้ต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง จึงน่าสนใจว่า กลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่เข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของทหารรุ่นใหญ่ จะออกเสียงลงคะแนนแสดงเจตจำนงทางการเมืองออกมาแบบใด
ชวนดูคะแนน “รายหน่วย” เฉพาะคะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อที่สะท้อนความนิยมของพรรคการเมืองในพื้นที่หน่วยเลือกตั้งที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตมหาวิทยาลัยและอาณาเขตกองทัพว่าผลที่ออกมานั้นมีทิศทางเป็นอย่างไรในการเลือกตั้งปี 2566 
หมายเหตุ : งานชิ้นนี้เป็นเพียงการประมวลผลคะแนนรายหน่วยเฉพาะคะแนนบัญชีรายชื่อเพื่อให้เห็นภาพรวมคะแนนความนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองของกลุ่มนิวโหวตเตอร์ (New Voter) และกลุ่มทหารเกณฑ์ โดยศึกษาข้อมูลจากคะแนนในหน่วยเลือกตั้งในเขตมหาวิทยาลัยที่มีนโยบายให้นักศึกษาที่ประสงค์อยู่หอพักของมหาวิทยาลัยให้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยเท่านั้นเช่นเดียวกันกับผลคะแนนรายหน่วยของพลทหารก็เป็นเพียงการหยิบตัวอย่างจากค่ายทหารในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่าที่ยืนยันข้อมูลได้เท่านั้น จึงไม่สามารถสรุปผลรวมยืนยันข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการได้ว่า กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มทหารเกณฑ์ทั้งหมดออกเสียงเลือกตั้งอย่างไร
หมายเหตุ : งานชิ้นรวบรวมข้อมูลจากภาพถ่ายผลคะแนนรายหน่วยจากเว็บ Vote 62 ซึ่งมาจากประชาชนอาสาสังเกตการณ์ที่รายงานผลการนับคะแนนเข้ามา ประกอบกับผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและเอกสาร 5/18 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเผยแพร่ไว้
ตามโผ ! ก้าวไกลครองแชมป์หน่วยเลือกตั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัย 
กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter/ New Voter) อายุ 18-22 ปี ในการเลือกตั้งปี 2566 มีจำนวน 4,012,803 คน คิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด กลุ่มคนวัยนี้เติบโตมาในยุคแห่งการ “ตื่นรู้” เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและหลากหลายมากกว่าในอดีต อีกทั้งมีโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธประกอบ และเคยผ่านช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถูกซ้ำเติมความเลวร้ายด้วยการบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กลุ่มคนในช่วงวัยนี้ส่วนหนึ่งอาจเคยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลหลากหลายประเด็นในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา 
จากปัจจัยหลายๆ อย่างข้างต้นประกอบกับผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งกลุ่มคนในช่วงวัยนี้มีแนวโน้มสูงที่จะลงคะแนนให้”พรรคก้าวไกล” ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ฝั่งประชาธิปไตย มีนโยบายที่มีกลิ่นอายพร้อมจะเปลี่ยนระบบการเมืองเก่าๆ 
อย่างไรก็ตามแต่ ก้าวไกลไม่ใช่พรรคเดียวที่ผูกขาดมวลชนนิวโหวตเตอร์และคนรุ่นใหม่ “พรรคเพื่อไทย” เองก็มีผู้สนับสนุนซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มากพอสมควร จากความโดดเด่นเฉพาะตัวของนักการเมืองภายในพรรคผสมด้วยนโยบายที่มีความทันสมัยอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองอื่นๆ ต่างก็พยายามคิดเทคนิคการหาเสียงเพื่อจะดึงคะแนนเสียงจากโหวตเตอร์กลุ่มนี้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร เราสามารถดูภาพรวมได้จากคะแนน “รายหน่วย” ที่ตั้งอยู่ภายในเขตมหาวิทยาลัย ดังนี้
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จากข้อมูลเบื้องต้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวปฏิบัติที่อนุญาตให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ โดยพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ที่บริเวณศาลาอ่างแก้ว หน่วยเลือกตั้งที่ 45-48 เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 4 หน่วยเลือกตั้งดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งผู้ชนะในระบบแบ่งเขต คือ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู จากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 48,823 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 108,446 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการห้าอันดับแรก ดังนี้ 
  
  • อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล 53,718 คะแนน
  • อันดับสอง พรรคเพื่อไทย 28,127 คะแนน 
  • อันดับสาม พรรครวมไทยสร้างชาติ 11,476 คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคไทยสร้างไทย 3,122 คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคเสรีรวมไทย 1,425 คะแนน
เมื่อรวมคะแนนจากรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย ทั้ง 4 หน่วย มีผลคะแนนโดยสรุป ดังนี้ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งหมด 4 หน่วย จำนวน 1,492 คน
หน่วยเลือกตั้ง ก้าวไกล  เพื่อไทย  รวมไทยสร้างชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย
หน่วยเลือกตั้งที่ 45 – 48 ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1,203 คะแนน  150 คะแนน  53 คะแนน 7 คะแนน 10 คะแนน
หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ)
ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 1,492 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจากทั้ง 4 หน่วย 1,203  คะแนน คิดเป็นร้อยละ 80.63 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคิดเป็นร้อยละ 2.23 ของคะแนน 53,718 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมระบบบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่  
จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 108,446  คน พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 53,718 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 49.53  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคก้าวไกลชนะไม่ถึงร้อยละ 50 ของทั้งเขต แต่ในระดับหน่วยเลือกตั้งพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงในพื้นที่อาณาเขตมหาวิทยาลัยที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจัดอยู่ในกลุ่มนิวโหวตเตอร์ (New Voter) อย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 80 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งก็อนุมานได้ว่าความนิยมของพรรคก้าวไกลในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยแต่กระจายทั่วทุกพื้นที่เขตเลือกตั้งซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลากหลายช่วงอายุ และส่งผลให้ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้พรรคก้าวไกลคว้าชัยปักธงพื้นที่เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อหลังจากที่ในอดีตพรรคเพื่อไทยครองกระแสความนิยมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีแนวปฏิบัติที่อนุญาตให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ โดยพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน่วยเลือกตั้งทั้ง 13 หน่วย (หน่วยที่ 96 – หน่วยที่ 108) อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งผู้ชนะในระบบแบ่งเขตคือ วีรนันท์ ฮวดศรี จากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 39,046 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 96,839 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการห้าอันดับแรก ดังนี้ 
  
  • อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล 44,819 คะแนน
  • อันดับสอง พรรคเพื่อไทย 25,655 คะแนน 
  • อันดับสาม พรรครวมไทยสร้างชาติ 12,714 คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคเสรีรวมไทย 1,864 คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคภูมิใจไทย 1,292 คะแนน
เมื่อรวมคะแนนจากรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย ทั้ง 13 หน่วย มีผลคะแนนโดยสรุป ดังนี้ หน่วยเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น ตำบลในเมือง มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งหมด 13 หน่วย จำนวน 2,678 คน
หน่วยเลือกตั้ง ก้าวไกล  เพื่อไทย  รวมไทยสร้างชาติ เสรีรวมไทย ภูมิใจไทย 
หน่วยเลือกตั้งที่ 96 – 100  อาคารพระราชทานปริญญาบัตร (เดิม)  1,151 คะแนน  158 คะแนน 138 คะแนน 32 คะแนน 3 คะแนน
หน่วยเลือกตั้งที่ 101 – 102 อาคาร 25 ปี  248 คะแนน 15 คะแนน 5 คะแนน 3 คะแนน 0 คะแนน
หน่วยเลือกตั้งที่ 103 – 104 อาคารสโมสรอาจารย์  242 คะแนน 11 คะแนน 3 คะแนน  2 คะแนน 0 คะแนน
หน่วยเลือกตั้งที่ 105 – 108 อาคารเรียนรวมและพัฒนาทักษะพื้นฐาน 509 คะแนน  38 คะแนน 5 คะแนน 2 คะแนน 0 คะแนน 
รวม 2,150 คะแนน 222 คะแนน 151 คะแนน 39 คะแนน 3 คะแนน 
หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดขอนแก่น อยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ)
ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 2,678 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจากทั้ง 13 หน่วย 2,150 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 80.28 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคิดเป็นร้อยละ 4.79 ของคะแนน 44,819 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดขอนแก่น  
จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่ 1 จังหวัดขอนแก่น จำนวน 96,839 คน พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 44,819 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 46.28  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคะแนนรวมของทั้งเขตเลือกตั้ง แม้พรรคก้าวไกลจะชนะไม่ถึงร้อยละ 50 ของทั้งเขต แต่ในระดับหน่วยเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนิวโหวตเตอร์ (New Voter) พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นชัดเจน
แม้ในอดีตผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ หลังการเลือกตั้งปี 2562 จะแปรพักตร์ (แปร-พรรค) ไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย แต่ผลการเลือกตั้งปี 2566 นั้นก็สะท้อนว่าความนิยมของประชาชนในพื้นที่เขต 1 จังหวัดขอนแก่นโดยเฉพาะโซนมหาวิทยาลัยที่ยังมีให้กับพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด 
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งก็อนุมานได้ว่าความนิยมของพรรคก้าวไกลในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดขอนแก่นไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยแต่กระจายทั่วทุกพื้นที่เขตเลือกตั้งซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลากหลายช่วงอายุ และส่งผลให้ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้พรรคก้าวไกลยังครองแชมป์พื้นที่เขต 1 จังหวัดขอนแก่นทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อหลังจากที่ในปี 2562 ปักธงพื้นที่โดยผู้ชนะจากพรรคอนาคตใหม่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และศูนย์ลำปาง จากข้อมูลเบื้องต้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแนวปฏิบัติที่อนุญาตให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่จังหวัดลำปาง 
โดยพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ลานโดมอเนกประสงค์ตลาดนัดอินเตอร์โซน หน่วยเลือกตั้งที่ 54-60 เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งผู้ชนะในระบบแบ่งเขต คือ ชลธิชา แจ้งเร็ว จากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 43,096 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 99,771 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการห้าอันดับแรก ดังนี้ 
  • อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล 53,444 คะแนน
  • อันดับสอง พรรคเพื่อไทย 25,416 คะแนน 
  • อันดับสาม พรรครวมไทยสร้างชาติ 9,591 คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคภูมิใจไทย 1,801 คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคเสรีรวมไทย 1,028 คะแนน
สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง อยู่ที่อาคารสิรินธรารัตน์ (ตึกโดม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง หน่วยเลือกตั้งที่ 3 เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดลำปาง ซึ่งผู้ชนะสส.แบ่งเขต คือ ทิพา ปวีณาเสถียร จากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 51,579 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 120,565 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการห้าอันดับแรก ดังนี้ 
  • อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล 52,919 คะแนน
  • อันดับสอง พรรคเพื่อไทย 38,140 คะแนน 
  • อันดับสาม พรรครวมไทยสร้างชาติ 9,591 คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคเสรีรวมไทย 1,565 คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคพลังประชารัฐ 1,207 คะแนน
เมื่อรวมคะแนนจากรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย แยกออกเป็นศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี และ ศูนย์ลำปาง จังหวัดลำปาง มีผลคะแนนโดยสรุป ดังนี้ 
  • ลานโดมอเนกประสงค์ตลาดนัดอินเตอร์โซน เทศบาลเมืองท่าโขลง ตำบลคลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 7 หน่วย มีจำนวน 2,344 คน
หน่วยเลือกตั้ง ก้าวไกล
เพื่อไทย
รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย
หน่วยเลือกตั้งที่ 54-60 ลานโดมอเนกประสงค์ตลาดนัดอินเตอร์โซน (ศูนย์รังสิต) 2,016 คะแนน 207 คะแนน 17 คะแนน 1 คะแนน   6 คะแนน
หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดปทุมธานีอยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ)
ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 2,344 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจากทั้ง 7 หน่วย 2,016 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 86.00 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และคิดเป็นร้อยละ 3.77 ของคะแนนรวม 53,444 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดปทุมธานี  
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 53,444 คะแนน จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่ 3 จังหวัดปทุมธานี จำนวน  99,771 คน คิดเป็นร้อยละ 53.56  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งเขตเลือกตั้งที่ 3 ในระดับหน่วยเลือกตั้งพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในพื้นที่อาณาเขตมหาวิทยาลัยที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนิวโหวตเตอร์ (New Voter) 
อีกทั้งยังได้รับคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 50 ของทั้งเขตเลือกตั้ง แม้ในอดีตผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่หลังการเลือกตั้งปี 2562 จะแปรพักตร์ (แปร-พรรค) ไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย แต่ผลการเลือกตั้งปี 2566 นั้นก็สะท้อนว่าความนิยมของประชาชนในพื้นที่เขต 3 จังหวัดปทุมธานีโดยเฉพาะโซนมหาวิทยาลัยที่ยังมีให้กับพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด  
และอาจอนุมานได้ว่าความนิยมของพรรคก้าวไกลในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดปทุมธานีไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยแต่กระจายทั่วทุกพื้นที่เขตเลือกตั้งซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลากหลายช่วงอายุ จึงส่งผลให้ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้พรรคก้าวไกลยังครองแชมป์พื้นที่เขต 3 จังหวัดปทุมธานีทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อหลังจากที่ในปี 2562 ปักธงพื้นที่โดยผู้ชนะจากพรรคอนาคตใหม่
  • อาคารสิรินธรารัตน์ (ตึกโดม) ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง) จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 1 หน่วย มีจำนวน 616 คน
  •  
หน่วยเลือกตั้ง ก้าวไกล เพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ เสรีรวมไทย พลังประชารัฐ
หน่วยเลือกตั้งที่ 3 อาคารสิรินธรารัตน์ (ตึกโดม) (ศูนย์ลำปาง) 552 คะแนน  45 คะแนน  4 คะแนน  0 คะแนน 0 คะแนน 

หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดลำปางอยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ)

ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 616 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจาก 1 หน่วย 552 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 89.61 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และคิดเป็นร้อยละ 1.04 ของคะแนน 52,919 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดลำปาง
จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่ 1 จังหวัดลำปาง จำนวน  120,565 คน พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน  52,919 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 43.89  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 แม้พรรคก้าวไกลจะชนะไม่ถึงร้อยละ 50 ของทั้งเขต แต่ในระดับหน่วยเลือกตั้งพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในพื้นที่อาณาเขตมหาวิทยาลัยที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนิวโหวตเตอร์ (New Voter)
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งก็อนุมานได้ว่าความนิยมของพรรคก้าวไกลในเขตเลือกตั้งที่  1 จังหวัดลำปางไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยแต่กระจายทั่วทุกพื้นที่เขตเลือกตั้งซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลากหลายช่วงอายุ และส่งผลให้ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้พรรคก้าวไกลปักธงพื้นที่เขต 1 จังหวัดลำปางทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ หลังจากที่ในปี 2562 พ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากข้อมูลเบื้องต้นมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีแนวปฏิบัติที่อนุญาตให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ โดยพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อยู่ที่บริเวณอาคารพลศึกษาหน่วยเลือกตั้งที่ 19-28 เขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งผู้ชนะในระบบแบ่งเขต คือ รัฐ คลังแสง จากพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนนเสียง 46,765 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 97,770 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการห้าอันดับแรก ดังนี้ 
  
  • อันดับหนึ่ง พรรเพื่อไทย 53,718 คะแนน
  • อันดับสอง พรรคก้าวไกล 28,127 คะแนน 
  • อันดับสาม พรรครวมไทยสร้างชาติ 11,476 คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคภูมิใจไทย 3,122 คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1,425 คะแนน
เมื่อรวมคะแนนจากรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย ทั้ง 10 หน่วย มีผลคะแนนโดยสรุป ดังนี้ 
อาคารพลศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เทศบาลตำบลขามเรียง ตำบลขามเรียง จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งหมด 9 หน่วย มีจำนวน 2,100 คน จากทั้งหมด 10 หน่วย (ไม่นำหน่วยที่ 27 มาคำนวณเนื่องจากข้อมูลดิบไม่ครบถ้วน) 
หน่วยเลือกตั้ง เพื่อไทย  ก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ครูไทยเพื่อประชาชน
หน่วยเลือกตั้งที่ 19 – 28 อาคารพลศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 124 คะแนน   1,932 คะแนน  31  คะแนน 2 คะแนน
 1 คะแนน
หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดมหาสารคามอยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ) หมายเหตุ 2  : ข้อมูลหน่วยที่ 27 ไม่ครบถ้วนจึงไม่ถูกนำมาคิดคำนวณด้วย  
ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 2,100  คน (ไม่รวมจำนวนคนมาใช้สิทธิในหน่วยที่ 27)  คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจากทั้ง 9 หน่วย (ไม่รวมคำนวณหน่วยที่ 27) 1,932 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 92 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคิดเป็นร้อยละ 6.18 ของคะแนน 28,127  คะแนนที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดมหาสารคาม
พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 53,718 คะแนน จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่ 6 จังหวัดมหาสารคามจำนวน 97,770 คน คิดเป็นร้อยละ 54.94  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งเขตเลือกตั้งที่ 6  “พรรคเพื่อไทย” เป็นผู้ชนะครองความนิยมในระดับทั้งเขตเลือกตั้งและคะแนนบัญชีรายชื่อได้รับความนิยมสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่กลับได้คะแนนเพียงหลักร้อยในรายหน่วยที่ตั้งอยู่ภายในเขตเลือกตั้งโซนมหาวิทยาลัยซึ่งในตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นคือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
ในขณะที่พรรคก้าวไกล แม้ในระดับเขตจะได้รับความนิยมมาเป็นอันดับสอง เป็นรองพรรคเพื่อไทยที่อยู่อันดับที่หนึ่งอยู่มาก แต่กลับได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในพื้นที่อาณาเขตมหาวิทยาลัยที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนิวโหวตเตอร์ (New Voter)
จึงอาจอนุมานได้ว่าความนิยมของพรรคก้าวไกลในเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดมหาสารคามนั้นมีความนิยมสูงกระจุกตัวอยู่แค่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย แต่ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลากหลายช่วงอายุ ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทยที่ครองความนิยมทั้งตัวผู้สมัครและความนิยมของพรรคซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยสามารถครองกระแสความนิยมและชนะการเลือกตั้งในพื้นที่เขต 6 จังหวัดมหาสารคาม
มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จากข้อมูลเบื้องต้นมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตมีแนวปฏิบัติที่อนุญาตให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต  หน่วยเลือกตั้งที่ 31-34 อยู่ที่บริเวณหอประชุม และ หน่วยที่เลือกตั้งที่ 35-37 อยู่ที่บริเวณโรงยิม เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดภูเก็ต ซึ่งผู้ชนะในระบบแบ่งเขต คือ สมชาติ เตชถาวรเจริญ จากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 21,252 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 76,178 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการห้าอันดับแรก ดังนี้ 
  • อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล 29,731 คะแนน
  • อันดับสอง พรรครวมไทยสร้างชาติ 25,446คะแนน 
  • อันดับสาม พรรคเพื่อไทย 4,754  คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคประชาธิปัตย์ 4,607คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคภูมิใจไทย 1,779 คะแนน 
เมื่อรวมคะแนนจากรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย ทั้ง 7 หน่วย มีผลคะแนนโดยสรุป ดังนี้ บริเวณหอประชุมและบริเวณโรงยิม มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เทศบาลตำบลรัษฎา ตำบลรัษฎา จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งหมด 7 หน่วย มีจำนวน 4,234 คน
หน่วยเลือกตั้ง ก้าวไกล  รวมไทยสร้างชาติ  เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย
หน่วยเลือกตั้งที่ 31-34 มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต (หอประชุม ) 867 คะแนน 769 คะแนน 139 คะแนน 146 คะแนน 81 คะแนน 
หน่วยเลือกตั้งที่ 35-37 มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต (โรงยิม) 878 คะแนน  542 คะแนน 134 คะแนน 125 คะแนน 46 คะแนน 
รวม 1,745 คะแนน 1,311 คะแนน  273 คะแนน 271 คะแนน 127 คะแนน 
หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดภูเก็ตอยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ)
ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 4,234 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจากทั้ง 7 หน่วย 1,745 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 41.21 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และคิดเป็นร้อยละ 5.86 ของคะแนนรวม 29,731 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดภูเก็ต 
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 29,731 คะแนน จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่ 1 จังหวัดภูเก็ต จำนวน 76,178  คน คิดเป็นร้อยละ 39.03 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ก็ยังไม่ได้ครองใจคนถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น รวมทั้งในพื้นที่อาณาเขตมหาวิทยาลัยที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนิวโหวตเตอร์ (New Voter) ก็ยังเลือกพรรคก้าวไกลไม่ถึงครึ่งเช่นกัน
โดยสรุปคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งจาก 5 มหาวิทยาลัย (1 วิทยาเขตการศึกษา) ที่ยกขึ้นมาเป็นกลุ่มตัวอย่าง เฉพาะผลคะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” เป็นผู้ชนะทุกหน่วยสอดคล้องกันผลคะแนนรวมทั้งเขต ยกเว้นเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ผลคะแนนรายหน่วยนั้นไม่สอดคล้องกันกับผลคะแนนรวมทั้งเขต เพราะผลคะแนนบัญชีรายชื่อรวมทั้งหมดในเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดมหาสารคาม นั้นพรรคที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งคือ “พรรคเพื่อไทย” แต่ในพื้นที่โซนมหาวิทยาลัยนั้นคะแนนพรรคก้าวไกลกลับพุ่งสูงชนิดที่ว่าแลนด์สไลด์ได้ไปกว่า 1,932 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 92 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ในขณะที่เพื่อไทยได้คะแนนรายหน่วยรวมทั้งหมดแค่ 124 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.90 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
แม้ผลการเลือกตั้งที่ยกตัวอย่างมานี้จะเป็นเพียงบางส่วนของหน่วยเลือกตั้งในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ก็ทำให้เห็นภาพในเขตเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกอยู่จำนวนเยอะปรากฎผลคะแนนโหวตรายหน่วยของบัตรบัญชีรายชื่อนั้นเทให้กับพรรคก้าวไกลอย่างถล่มทลาย 
หน่วยเลือกตั้งเขตทหารเมืองกรุง ก้าวไกลยังคว้าแชมป์ รวมไทยสร้างชาติขึ้นอันดับสอง
สำหรับหน่วยเลือกตั้งในเขตที่ตั้งของค่ายทหาร ในการเลือกตั้งปี 2562 เคยปรากฎข่าวลือว่ามีการบังคับทหารเกณฑ์ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งภายหลังกองทัพบกได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง 
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2566 ก็มีข่าวเนื้อหาในทำนองเดียวกันโดย วรชัย เหมะ อดีต สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เผยว่า
“ทราบข้อมูลจากพรรคพวกในค่ายทหารว่า ปัจจุบันมีการสั่งการให้กองพันทหารต่างๆ ทั่วประเทศ แจ้งให้กำลังพลทหารของตัวเองลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ากันทั้งหมด ทำให้ วรชัย ตั้งข้อสังเกตว่า “การสั่งการเช่นนี้เหมือนเป็นการขอความร่วมมือแกมบังคับให้กำลังพลเลือกผู้สมัคร สส.ให้กับพรรคที่ผู้มีอำนาจสังกัดหรือไม่” อีกทั้ง วรชัยเสริมว่า แม้ไม่ใช่การโกงเลือกตั้งโดยตรงแต่มันเต็มไปด้วยเจตนาแฝงบังคับให้ลงคะแนน จึงขอให้หน่วยงานทหารทุกหน่วย ผู้บัญชาการทุกหน่วยต้องยึดในหลักประชาธิปไตย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาระบุว่า “ตามแนวทางของกองทัพบกยืนยันว่า การออกไปใช้สิทธิของกำลังพลไม่สามารถบังคับใครได้”
ซึ่งความจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ผลคะแนนรายหน่วยจะสามารถเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความนิยมของโหวตเตอร์กลุ่ม “ทหารเกณฑ์” ได้ ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 7 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เต็นท์ภายในศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย ถนนทหาร 8 หน่วยเลือกตั้ง ได้แก่ หน่วยที่ 33 -40  กว่า 80% เป็นทหารและครอบครัว จากหน่วยต่างๆ ประกอบด้วย ม.พัน.4 พล.1 รอ. ม.1พัน.3 กองพล ปตอ. และกองพันทหารสื่อสาร กรมสรรพาวุธ ขณะที่ 20% เป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้ชนะสส.แบ่งเขต คือ ภัสริน รามวงศ์ จากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 45,050 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 99,646 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการ ห้าอันดับแรก ดังนี้
  • อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล 46,782 คะแนน
  • อันดับสอง พรรครวมไทยสร้างชาติ 21,483 คะแนน 
  • อันดับสาม พรรคเพื่อไทย 18,456 คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคประชาธิปัตย์ 1,743 คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคชาติพัฒนากล้า 1,427 คะแนน

เมื่อรวมคะแนนจากรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งหมด 8 หน่วย มีจำนวน 4,752 คน มีผลคะแนนโดยสรุป ดังนี้ 

หน่วยเลือกตั้ง ก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ  เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนากล้า
เต็นท์ภายในศูนย์สร้างสุขทุกวัย เกียกกาย ถนนทหาร หน่วยเลือกตั้งที่ 33-40  2,427 คะแนน 1,089 คะแนน 718 คะแนน 27 คะแนน  34 คะแนน

หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดกรุงเทพมหานครอยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ)

ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่หน่วยทหาร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 4,752 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจากทั้ง 8 หน่วย 2,427  คะแนน คิดเป็นร้อยละ 51.07 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่หน่วยทหาร เขตดุสิต และคิดเป็นร้อยละ 5.19 ของคะแนนรวม 46,782 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 7  จังหวัดกรุงเทพมหานคร 
จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่  7  จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 99,646 คน พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 46,782 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 46.95 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 แม้พรรคก้าวไกลจะชนะไม่ถึงร้อยละ 50 ของทั้งเขต แต่ในระดับหน่วยเลือกตั้งพรรคก้าวไกลก็ได้รับคะแนนเสียงที่มากกว่าพรรคอื่นๆ ในพื้นที่อาณาเขตทหารที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทหารเกณฑ์
เขตเลือกตั้งที่ 9 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เต็นท์บริเวณอาคารสระว่ายน้ำ (ซอยพหลโยธิน 30) 3 หน่วยเลือกตั้ง ได้แก่ หน่วยที่ 7-9 ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ผู้ชนะสส.แบ่งเขต คือ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ จากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 50,132 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 107,795 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการ ห้าอันดับแรก ดังนี้
  • อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล 51,232 คะแนน
  • อันดับสอง พรรครวมไทยสร้างชาติ 21,360 คะแนน 
  • อันดับสาม พรรคเพื่อไทย 20,313 คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2,223 คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคประชาธิปัตย์ 1,842 คะแนน
เมื่อรวมคะแนนจากรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งหมด 3 หน่วย มีจำนวน 2,009 คน  มีผลคะแนนโดยสรุป ดังนี้ 
หน่วยเลือกตั้ง ก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ  เพื่อไทย ชาติพัฒนากล้า ประชาธิปัตย์
เต็นท์บริเวณอาคารสระว่ายน้ำ (ซอยพหลโยธิน 30) หน่วยเลือกตั้งที่ 7-9 1,018 คะแนน 416 คะแนน  319 คะแนน 45 คะแนน  27 คะแนน

หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 9 จังหวัดกรุงเทพมหานครอยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ)

 

ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่หน่วยทหาร  แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 2,009 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจากทั้ง 3 หน่วย 1,018 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 50.67 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่หน่วยทหาร เขตจตุจักรและคิดเป็นร้อยละ 1.99 ของคะแนนรวม 51,232 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 9 จังหวัดกรุงเทพมหานคร 
จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่  9  จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน  107,795 คน พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 51,232 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 47.53 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งเขตเลือกตั้งที่ 9 แม้พรรคก้าวไกลจะชนะไม่ถึงร้อยละ 50 ของทั้งเขต แต่ในระดับหน่วยเลือกตั้งพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงที่มากกว่าพรรคอื่นๆ ในพื้นที่อาณาเขตทหารที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทหารเกณฑ์
อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ในแขวงจันทรเกษม เขตจตุจักรมีการเลือกตั้งซ่อมในปี 2565 แม้ผู้ชนะระดับเขตจะเป็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยแต่ในอาณาเขตพื้นที่ทหารผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลกลับได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในหน่วยเลือกตั้งเช่นกัน
เขตเลือกตั้งที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร หน่วยเลือกตั้งที่ 31 – 33  เป็นบริเวณใกล้สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สนามเป้า ถือเป็นหน่วยเลือกตั้งที่มีค่ายทหารตั้งอยู่ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งหลายหน่วยติดกัน ผู้ชนะสส.แบ่งเขต คือ กัณตภณ ดวงอัมพร จากพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 46,082 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 108,114 คน ผลคะแนนอย่างเป็นทางการ ห้าอันดับแรก ดังนี้
  • อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล 50,559 คะแนน
  • อันดับสอง พรรครวมไทยสร้างชาติ 23,899 คะแนน 
  • อันดับสาม พรรคเพื่อไทย 18,249 คะแนน
  • อันดับสี่ พรรคประชาธิปัตย์ 2,342 คะแนน 
  • อันดับห้า พรรคชาติพัฒนากล้า 1,718 คะแนน
เมื่อรวมคะแนนจากรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งหมด 3 หน่วย มีจำนวน 1,252 คน  มีผลคะแนนโดยสรุป ดังนี้ 
หน่วยเลือกตั้ง ก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ 
เพื่อไทย
ประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนากล้า
เต็นท์หน้าบริษัท สถาปนิกสมดุล จำกัด หน่วยเลือกตั้งที่ 31 353 คะแนน 57 คะแนน 49 คะแนน 0 คะแนน  0 คะแนน
เต็นท์หน้ากองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ หน่วยเลือกตั้งที่ 32
211 คะแนน 62 คะแนน 29 คะแนน 0 คะแนน 1 คะแนน
เต็นท์หน้าร้านค้าสวัสดิการ พล.ม.2 หน่วยเลือกตั้งที่ 33 167 คะแนน  114 คะแนน 70 คะแนน 6 คะแนน 11 คะแนน 
รวม 731 คะแนน  233 คะแนน  148 คะแนน 6 คะแนน  12 คะแนน 
หมายเหตุ : ตัวอย่างผลคะแนนรายหน่วยข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นเฉพาะคะแนนของพรรคที่มีผลคะแนนรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดกรุงเทพมหานครอยู่ในห้าอันดับแรกเท่านั้น (อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ)
ผลคะแนนรวมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่หน่วยทหาร แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 1,252 คน คะแนนบัญชีรายชื่อ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ได้รับคะแนนจากทั้ง 3 หน่วย 731 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 58.39 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิในพื้นที่หน่วยทหาร เขตพญาไทและคิดเป็นร้อยละ 1.45 ของคะแนนรวม 50,559 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนรวมบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดกรุงเทพมหานคร 
จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งเขตที่ 6 จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 108,114 คน พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 50,559 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 46.76 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งเขตเลือกตั้งที่ 6 แม้พรรคก้าวไกลจะชนะไม่ถึงร้อยละ 50 ของทั้งเขต แต่ในระดับหน่วยเลือกตั้งพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงที่มากกว่าครึ่งในพื้นที่อาณาเขตทหารที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทหารเกณฑ์
โดยสรุปคะแนนรายหน่วยจากหน่วยเลือกตั้งกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ภายใน “เขตทหาร” พบว่าทั้งสามเขตเลือกตั้ง “พรรคก้าวไกล” ก็ยังคงได้รับคะแนนความนิยมเป็นอันดับหนึ่งสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่พรรคก้าวไกลแลนด์สไลด์เกือบทุกเขตในกรุงเทพฯ อีกทั้ง นอกจากนี้พรรคอันดับสองที่ได้รับความนิยมตามมาคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ 
ผลที่ออกมาแม้จะเป็นแค่บางส่วนแต่ก็ทำให้เห็นภาพรวมว่าในเขตเลือกตั้งทหารซึ่งอยู่ภายในกรุงเทพมหานครนั้น พรรคก้าวไกลที่ชูการปฏิรูปกองทัพ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักก็ได้รับเสียงตอบรับที่ท่วมท้นจากเหล่าทหารไม่น้อยไปกว่าประชาชนทั้งประเทศที่ร่วมส่งก้าวไกลเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งปี 2566