เปิดจดหมายโต้แย้งกกต. ปี2566 ลงชื่อต้องออนไลน์ได้แล้ว

ในกิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอคำถามประชามติ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง100%” หลังรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ครบ 50,000 แล้วตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 9 แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับแจ้งในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ว่า ประชาชนไม่สามารถลงชื่อทางออนไลน์ได้ ทำให้กว่า 40,000 รายชื่อที่ลงชื่อกันมาแล้วต้องเสียไป
นอกจากจะลงชื่อทางออนไลน์ไม่ได้ ทุกคนทั้ง 50,000 ชื่อต้องลงชื่อทางกระดาษเท่านั้น ทางกกต. ยังแจ้งว่า เมื่อนำเอกสารไปยื่นก็ไม่สามารถยื่นเป็นกระดาษได้ แต่ต้องสแกนเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และนำข้อมูลทั้งหมดมากรอกให้เป็นไฟล์ Excel หรือ ไฟล์ Doc เพื่อนำยื่นด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตอนที่ไม่จำเป็นอย่างมากและเป็นภาระแก่ประชาชนเกินจำเป็น
วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทาง iLaw จึงทำหนังสือโต้แย้งการตีความกฎหมายไปยังสำนักงานกกต. เพื่อขอให้กลับคำวินิจฉัยและให้นับรายชื่อของประชาชนที่ส่งมาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามรายละเอียดดังนี้
เรียน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เรื่อง ขอให้ทบทวนความเห็นเรื่องการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
           ตามที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เข้าร่วมกับกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกิจกรรมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติต่อคณะรัฐมนตรี อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 9 (5) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ตัวแทนของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้มีโอกาสพบกับตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งนำโดยนายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและได้รับแจ้งว่า การใช้สิทธิลงชื่อของประชาชนไม่สามารถทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้องลงชื่อด้วยปากกาลงบนกระดาษเท่านั้น 
           โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ไม่เห็นด้วยต่อการวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนี้
           1. ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ไม่ได้กำหนดรูปแบบวิธีการใช้สิทธิออกเสียงของประชาชนไว้อย่างชัดเจนว่าจะทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ แต่ให้คณะกรรมการการการเลือกตั้งมีหน้าที่กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจน ระหว่างที่มีการจัดทำประกาศในเรื่องดังกล่าวประเทศไทยมีพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 บังคับใช้อยู่ โดยมีมาตรา 8 วรรคห้า กำหนดชัดเจนว่า การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายของประชาชนสามารถทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ และในทางปฏิบัติก็มีการใช้สิทธิของประชาชนเข้าชื่อกันทางเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเสนอร่างกฎหมายแล้วหลายฉบับ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็รับไว้ตรวจสอบรายชื่อ และบรรจุร่างกฎหมายที่มาจากการเข้าชื่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้แล้วหลายฉบับ ดังนั้นการออกประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงควรคำนึงถึงกฎหมายอื่นๆ ที่บังคับใช้อยู่ควรคำนึงถึงพฤติกรรมของประชาชนในบริบทเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ รวมทั้งความเป็นเอกภาพในการทำงานของระบบราชการด้วย โดยการออกประกาศกำหนดวิธีการเข้าชื่อของประชาชนให้ชัดเจนว่าสามารถทำผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
           2. ตามที่รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ให้เหตุผลของการไม่รับการลงชื่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า เป็นเพราะสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่อยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 นั้น ทางเราทราบว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานต้องยอมรับการยื่นเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้บังคับใช้กับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายความว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถยอมรับเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแม้ไม่ได้มีหน้าที่ “ต้อง” รับแต่ก็สามารถออกประกาศหรือระเบียบให้รับเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนได้
           3. ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 ก็ไม่ได้ระบุวิธีการลงชื่อของประชาชนว่าต้องลงชื่อบนกระดาษเท่านั้น นอกจากนี้ในประกาศข้อ 5(3) ยังกำหนดให้ประชาชนนำเอกสารการเข้าชื่อไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า การเข้าชื่อและการส่งข้อมูลของประชาชนสามารถทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่จากการพูดคุยกับนางสาวพัชรี ผึ้งผดุง ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดีได้รับแจ้งว่า ต้องให้ประชาชนทุกคนเข้าชื่อผ่านการลงชื่อในแผ่นกระดาษเท่านั้น แต่ผู้รวบรวมรายชื่อมีหน้าที่ต้องนำแผ่นกระดาษที่คนลงชื่อแล้ว มาจัดทำเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และกรอกข้อมูลของผู้เข้าชื่อทั้งหมดเป็นไฟล์ .Doc หรือ .Excel อีกชั้นหนึ่ง เพื่อนำยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ต้องเกิดการทำงานซ้ำซ้อนโดยไม่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นภาระการจัดการแก่ประชาชนเกินสมควร เพราะหากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องการรับมอบเอกสารเป็นรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ควรให้ประชาชนส่งข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานในปัจจุบันสามารถเรียบเรียงข้อมูลให้เป็นรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกสำหรับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ในเวลาไม่นาน และสะดวกที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
           ทางโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนทราบว่า เมื่อปี 2565 นายโคทม อารียา ซึ่งอยู่ในเครือข่ายภาคประชาชนและทำงานร่วมกันเคยส่งหนังสือสอบถามเรื่องการลงรายชื่อทางระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วหนึ่งครั้ง และได้รับหนังสือชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ลต 0012/16938 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 แต่ก็ไม่ตอบคำถามในประเด็นนี้ให้เกิดความชัดเจน ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ก่อนเริ่มทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อจากประชาชนนายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญติดต่อสอบถามไปยังนายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยตรง ด้วยคำถามสำคัญว่า ประชาชนสามารถลงชื่อผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ซึ่งไม่ได้รับคำตอบ แต่ได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะมีการนัดหมายพูดคุยกันเรื่องนี้ ทำให้กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่าสามารถทำได้ และดำเนินกิจกรรมไปก่อน โดยจัดงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและเริ่มเปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนลงชื่อออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2566 ดังเป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้ว หลังจากนั้นเมื่อรวบรวมรายชื่อของประชาชนได้จำนวนมากแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ได้โทรศัพท์นัดหมายกับนายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อขอเข้าพบและพูดคุยกันเรื่องนี้ แต่นายวีระยังไม่สะดวกพบ จึงได้สอบถามอีกครั้งว่า ประชาชนสามารถลงชื่อผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ จนกระทั่งเกิดการนัดหมายพูดคุยกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ รวบรวมรายชื่อประชาชนได้มากกว่า 50,000 รายชื่อแล้ว และเป็นรายชื่อที่ส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 40,000 รายชื่อ จึงได้คำตอบว่า ประชาชนไม่สามารถลงชื่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
           โดยนายวีระ ยี่แพร อธิบายว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เคยทำหนังสือตอบคำถามหัวหน้าพรรคก้าวไกลแล้วเป็นหนังสือที่ลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 และอ้างว่า หนังสือฉบับดังกล่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ให้ประชาชนทราบ แต่เมื่อสืบค้นร่วมกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก็ไม่พบบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเมื่อสอบถามไปยังผู้รับผิดชอบในการรวบรวมรายชื่อของพรรคก้าวไกลก็ยังไม่มีใครเคยเห็นหนังสือฉบับดังกล่าว 
           จากการตีความ การชี้แจง การให้เหตุผลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในประเด็นนี้ในจังหวะเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิออกเสียงของประชาชน โดยรู้อยู่แล้วว่าจะก่อให้เกิดอุปสรรคในการใช้สิทธิของประชาชนที่ดำเนินการไปก่อนหน้าแล้ว และอาจทำให้การใช้สิทธิเสนอคำถามประชามติของประชาชนไม่อาจนำเสนอได้ทันเวลา จึงเป็นการกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1)
           โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในฐานะสมาชิกกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จึงเรียนมาเพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทบทวนความเห็นเรื่องการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่ได้ให้ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ใช้ดุลพินิจและตัดสินใจใหม่ว่า ประชาชนสามารถเข้าชื่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อเสนอคำถามประชามติตามมาตรา 9(5) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 และอธิบายเป็นเอกสารต่อเผยแพร่สาธารณะโดยเร็ว