เขียนใหม่ไม่ใช่ล้มล้าง! ตอบคำถาม เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ “ไม่ใช่วิธีล้มล้างการปกครอง”

ปัญหาที่ร้อนแรงที่สุดหลังการเลือกตั้งคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งมาจากการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สร้างปัญหาในการเลือกตั้ง การบริหารแผ่นดิน ไปจนถึงมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสังคมในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก 
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงว่า “จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไรดี” นั้นถูกแบ่งออกเป็นสองความคิดเห็นใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่สนับสนุนการเขียนใหม่ทั้งฉบับ ต้องแก้ไขได้ในทุกหมวดทุกมาตรา และกลุ่มที่สนับสนุนให้ละเว้นการเขียนใหม่หรือการแก้ไขในรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ไว้ดังเดิม คำกล่าวอ้างสำคัญ คือ กังวลว่าจะเกิดความพยายามในการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของรัฐไทย ทั้งจากการเป็นรัฐเดี่ยวอันแบ่งแยกมิได้ และการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อย่างไรก็ตาม การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยเฉพาะในสาระสำคัญหลายประการของหมวด 1 และหมวด 2 นั้นไม่สามารถถูกตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครองได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นอยู่ภายใต้ มาตรา 255 ซึ่งขวางการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองไว้แล้ว รวมทั้งในอดีตรัฐธรรมนูญทั้งหมวด 1 และหมวด 2 ยังเคยถูกแก้ไขตาม “ข้อสังเกตพระราชทาน” หลังผ่านการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วอีกด้วย

รัฐธรรมนูญระบุชัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนระบอบและรูปแบบรัฐไม่ได้

ในปี 2563 มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น ข้อเสนอสำคัญคือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลับระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้ความเข้าใจผิดนี้กระจายต่อไปอีก แม้ว่าตามตัวบทของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีมาตราใดที่กำหนดว่าห้ามแก้ไขหมวดดังกล่าวก็ตาม 
ความหวาดกลัวว่า การแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์เป็นประมุข หรือจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ทว่ารัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ระบุว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้”
การแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะเป็นเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 เช่นเดียวกัน การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเขียนใหม่ได้ทุกหมวดทุกมาตรา จึงจะไม่นำไปสู่การแก้ไขการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ ตามที่หลายฝ่ายกังวลแต่อย่างใด
ดังนั้น ข้ออ้างว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ได้จึงตกไป ขณะเดียวกันข้ออ้างว่าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 เพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากในอดีตเคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าวมาแล้วเช่นกัน

ในอดีต เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์มาแล้ว

ย้อนกลับไปในรัฐธรรมนูญปี 2490 หมวด 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 9 และมาตรา 10 ระบุว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง “อภิรัฐมนตรี” ได้ตามพระราชอัธยาศัยเพื่อถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2492 ถูกนำมาบังคับใช้ หมวดที่ 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 13 ก็ได้แก้ไขจาก “อภิรัฐมนตรี” เป็น “องคมนตรี” มาแล้ว
นี่คือหลักฐานข้อแรกว่า รัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์นั้นสามารถถูกแก้ไขได้ ไม่มีข้อห้าม และยังเคยถูกแก้ไขมาแล้วตั้งแต่เมื่อ 74 ปีก่อน
ต่อมา รัฐธรรมนูญปี 2521 หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 20 ระบุว่า การสืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ขณะที่ในรัฐธรรมนูญปี 2534 หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 21 ตัดเนื้อหาที่ระบุว่ารัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบในการสืบราชบัลลังก์ออกไป และแก้ไขให้รัฐสภามีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น 
ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เคยมีการแก้ไขหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์มาแล้ว โดยหลังการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 สำนักราชเลขาธิการทำเรื่องมาถึงรัฐบาลว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระกระแสรับสั่งว่ายังมีเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจเพิ่มเติม
20 มกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีข้อสังเกตพระราชทานให้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ รัฐบาลจึงรับทูลเกล้านำมาปรับแก้ไข ต่อมา 17 กุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลจึงได้นำร่างรัฐธรรมนูญร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อสังเกตพระราชทานขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง เพื่อลงพระปรมาภิไธย
การแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม “ข้อสังเกตพระราชทาน” หลังการทำประชามติไปแล้ว มีผลกับรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 5 ที่ตัดขั้นตอนวิธีการที่ต้องกระทำหากไม่พบว่ารัฐธรรมนูญระบุขั้นตอนเอาไว้ คงเหลือเพียง “ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เท่านั้น และมีการแก้ไขในอีกหลายมาตราของรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ อีกด้วย เช่น ในมาตรา 12 ในมาตรา 15 ในมาตรา 16 ในมาตรา 17 ในมาตรา 19 รวมถึงยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 182 ด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยไม่มีข้อห้าม ไม่มีการนำไปสู่การล้มล้างการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ รวมทั้งยังเคยมีการทำมาแล้วอย่างต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป