รัฐธรรมนูญ 2560 ออกฤทธิ์ตัดสิทธิเบี้ยคนชราถ้วนหน้า?

แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้สร้างผลงานเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จนนำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นการลดสวัสดิการของประชาชน เปลี่ยนจากระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นระบบพิสูจน์ความจน ขณะที่ภาครัฐก็ชี้แจงว่า หลักเกณฑ์ใหม่จะทำให้การแจกเบี้ยผู้สูงอายุทั่วถึงและเป็นธรรมมากขึ้น

แก้เกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้ลงนาม ระเบียบมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 กล่าวถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ว่า 
“เมื่อสองปีที่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุตามปกติ … แต่ว่ากรมบัญชีกลางมีข้อมูลตรวจสอบได้ว่า คนบางคนมีรายได้อื่น เช่น บำนาญ เขาก็บอกว่าจ่ายซ้ำไม่ได้ให้เรียกคืน  … กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ส่งระเบียบนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ระเบียบที่ใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญต้องแก้ระเบียบใหม่”

รัฐธรรมนูญ 40 50 60 พูดถึงสิทธิผู้สูงอายุไม่ต่างกัน

รัฐธรรมนูญไทยในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 2550 และ 2560 กล่าวถึงสิทธิของผู้สูงอายุโดยสาระสำคัญไม่แตกต่างกัน คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ 

เปรียบเทียบสิทธิผู้สูงอายุในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ

บทบัญญัติ

 

 

2540

มาตรา 54

“บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

 

 

2550

มาตรา 53
“บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ”
2560
มาตรา 48 วรรคสอง 
“บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”

 

อย่างไรก็ตามการจ่ายเบี้ยคนชราให้กับผู้สูงอายุที่อายุครบ 60 ปีขึ้นไป เริ่มขึ้นในประเทศไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ 2550 คือในช่วงปี 2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และก็มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มร้องรับสิทธิดังกล่าวคือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 และพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 ซึ่งหัวใจสำคัญของกฎหมายทั้งสองฉบับคือ ผู้สูงอายุทุกคนมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ โดยไม่ต้องพิจารณาฐานะทางเศรษฐกิจว่ายากจนหรือร่ำรวย ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจ่ายเบี้ยคนชราแบบถ้วนหน้ามาต่อเนื่องมากกว่า 14 ปี

ข้ออ้างกฤษฎีกา ระเบียบผู้สูงอายุปี 52 ขัดรัฐธรรมนูญ

แม้เนื้อหารัฐธรรมนูญ 2560 เกี่ยวกับสิทธิคนชราจะไม่แตกต่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้า และเนื้อหา พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มาตั้งแต่เริ่มจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรก แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยังให้เหตุผลว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุตามเกณฑ์เดิมขัดรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลดังนี้

เงื่อนไขเบื้องต้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรคสอง มีเพียงสองประการ “คือ อายุเกินหกสิบปี ประการหนึ่ง และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพอีกประการหนึ่ง ดังนั้น นอกจากเกณฑ์เรื่องอายุแล้ว การไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะพึงตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวได้ เช่น กำหนดเกณฑ์ที่จะพึงถือว่า “ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ” เป็นต้น”
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังกล่าวถึงการตีความ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ มาตรา 11 (11) ที่บัญญัติว่า การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ว่า
“ต้องแปลความให้สอดคล้องกับสิทธิที่ประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ การที่ระเบียบเดิมกำหนดไว้จึงไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการกำหนดที่มาของแหล่งรายได้โดยไม่คำนึงว่ารายได้ที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐมีจำนวนเท่าใด บุคคลนั้นอยู่ในฐานะ “ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ” หรือไม่ ผลของการกำหนดเช่นนี้จึงทำให้ผู้มีอายุเกินหกสิบปีทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยเพียงใดหรือมีรายได้ประจำมากมายเพียงใด ถ้าไม่เคยได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐแล้วย่อมมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนตามระเบียบทุกคน ในขณะที่ผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐแม้เพียงจำนวนเล็กน้อยโดยไม่มีรายได้อื่นอีกเลย กลับไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ผลเช่นนี้ย่อมไม่อาจถือได้ว่ามีลักษณะ “อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม””

หลักเกณฑ์ใหม่รับเบี้ยผู้สูงอายุขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ

เดิมทีระเบียบหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ พ.ศ. 2552 กำหนดเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขี้นไป “ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใจจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่รวมถึงผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติ ครม.” เป็นผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ปัจจุบันหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ พ.ศ. 2566 กำหนดว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขี้นไป ”เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” เป็นผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามในบทเฉพาะกาลของหลักเกณฑ์ปัจจุบัน ก็ไม่ได้ตัดสิทธิบรรดาผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ก่อนวันที่ระเบียบปัจจุบันบังคับใช้
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพตามหลักเกณฑ์ใหม่ ต้องรอเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 26 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธาน

เปรียบเทียบหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ

หลักเกณฑ์ 2552

หลักเกณฑ์ 2566

อายุ 60 ขึ้นไป

– ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการรัฐ ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ ฯลฯ 

– ไม่รวมถึงผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติ ครม.
– เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ 
– คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดกำหนด