“เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” คำถามประชามติโดยประชาชน กระดุมเม็ดแรกสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

13 สิงหาคม 2566 เวลา 15.15 น. บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยหลายองค์กรที่ผลักดันประเด็นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จัดเวทีแถลงการณ์เปิดแคมเปญ  “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น 
ท่ามกลางบรรยากาศผู้คนที่มาร่วมรอลงชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ และบางส่วนสัญจรไปมาบริเวณหน้าหอศิลป์ แยกปทุมวัน ตัวแทนจากกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ  ดำเนินการแถลงการณ์ ประกอบไปด้วย จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน  (iLaw)  และ สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นผู้ดำเนินรายการ  
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวเปิดช่วงต้นก่อนแถลงการณ์ว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความเร่งด่วน เราทราบว่าประชาชนกำลังให้ความสนใจกับการจัดตั้งรัฐบาลช่วงนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่ชัดว่าการจับขั้วจะสำเร็จเมื่อไร เราเห็นแล้วว่ารัฐบาลใหม่มีเจตจำนงชัดเจนที่จะทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นวาระเร่งด่วนเกินกว่าที่จะเตรียมตัวทัน แปลว่าถ้าเขาทำตามสัญญาของการจัดตั้งรัฐบาล ไม่เกินเดือนกันยา เรารู้แล้วว่ามีประชามติหนึ่งครั้งแน่นอน คำถามใหญ่คือ ประชามติครั้งนี้คำถามคืออะไร ถ้าปล่อยให้รัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งซึ่งเป็นการผสมขั้วตั้งคำถามเอง คำถามที่ออกมาอาจจะมีปัญหา มีกลไกมีกลเกมซ่อนเล่ห์กลอยู่ข้างใน และการทำประชามติข้างหน้าจะยุ่งยาวจึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันในวันนี้ 

คำถามประชามติที่มาจากประชาชน กระดุมเม็ดแรกที่จะพาไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เกริ่นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า พวกเรากลุ่มเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ มาจากหลายองค์กรภาคประชาชนร่วมกัน วันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่ทบทวนปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน ทุกท่านทราบดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาเกือบหกปี  ถูกอ้างว่าดีไซน์มาเพื่อเราหรือปราบโกงก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาทั้งเนื้อหาและกระบวนการร่างที่ริดรอนจำกัดสิทธิเสรีภาพ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้ง ทำให้องค์กรอิสระใช้อำนาจไปทางตรงข้ามกับประชาชน ในส่วนของกระบวนการร่างไม่ว่าจะเนื้อหา บรรดาผู้ร่าง และกระบวนการตกอยู่ภายใต้คสช.ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ นอกจากนี้ แม้จะมีประชามติปี 2559 ก็ถูกห้ามรณรงค์ มีข้อจำกัดในการแสดงความเห็น มีประชาชนถูกจับกุมเพียงเพราะรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชามติครั้งนั้นที่นำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นไปอย่างไม่เสรี และไม่อาจอ้างได้ว่าผ่านการรับรองจากประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการเสนอแก้ไข แต่ก็ถูกขัดขวางโดยสว. เสมอเช่นเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปยากขึ้นอีก
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มภาคประชาชนจึงเห็นว่านี่เป็นวาระสำคัญที่จะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องผ่านห้าขั้นตอน โดยขั้นแรกคือการทำประชามติที่จะเป็นจุดเริ่มต้นทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อยืนยันว่าประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แท้จริง
เราเห็นว่าจำเป็นต้องทำประชามติเพื่อขอฉันทามติจากประชาชนให้เร็วที่สุด คาดว่าเร็วที่สุดปลายปี 2566 นี้จะเกิดประชามติเพื่อให้ประชาชนร่วมตัดสินใจว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นกระดุมเม็ดแรก กระดุมเม็ดสำคัญที่สุดที่จะพาเราไปถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนมีส่วนร่วมนั้น คือการมีคำถามประชามติที่มาจากประชาชนและประชาชนได้มีอำนาจในการตัดสินใจร่างคำถามของตัวเอง 

คำถามประชามติที่ดีต้องเขียนเลยว่า แก้ไขได้ทั้งฉบับ และสสร. ผู้ร่างต้องมาจากประชาชน

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า การทำประชามตินั้นสิ่งที่สำคัญพอๆ กับเดินเข้าคูหา คือการรู้ว่าคำถามคืออะไร เมื่อประชาชนอย่างเราเดินเข้าคูหาเราทำได้เพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น เพราะฉะนั้น นี่เป็นสิ่งที่สำคัญก้าวแรกที่ใกล้จะถึงคือคณะรัฐมนตรีจะเคาะคำถามว่าอะไร  สังคมไทยมีบทเรียนมาแล้วกับคำถามที่ไม่ดีเมื่อประชามติ 2559 ใครจำกันได้ว่าคำถามพ่วงมีความซับซ้อน กำกวม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการที่สว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ถึงห้าปี และกลายเป็นทางตันของประเทศนี้
เราไม่อยากให้เรื่องนี้ซ้ำรอย ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกแล้ว ถ้าคำถามดี คำถามชัดเจน การทำประชามติก็จะเหมือนเป็นการล็อคว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ต้องเตือนว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะยังมีสว. เข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย ขั้นตอนนี้จะเป็นที่ทางที่ สว. อาจใส่เงื่อนไขว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คำถามที่ดีจึงต้องเขียนเลยว่าแก้ไขทั้งฉบับ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากประชาชน 
รัชพงษ์ กล่าวถึงกระบวนการเสนอประชามติที่ภาคประชาชนใช้เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีขอทำประชามติพร้อมคำถามที่อยากให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อ ซึ่งคำถามที่กลุ่มภาคประชาชนริเริ่ม คือ 

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอข้างต้น ตั้งใจว่าเจาะจงไปที่รัฐสภา ซึ่งมีหน้าที่อยู่ในกระบวนการขั้นถัดไป โดยรัฐสภาจะต้องมีหน้าที่ตามคำถามประชามติ นำความเห็นของประชาชนไปทำให้เกิดขึ้นจริง  เนื้อหามีสองประการ 
ประการแรก การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องทำได้ “ทั้งฉบับ” ต้องไม่มีเงื่อนไขอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ 
ถ้าเราไม่เขียนไว้สิ่งที่เกิดในรัฐสภา เราอาจเห็นสว. ใส่เงื่อนไขห้ามสสร.แก้หมวดองค์กรอิสระ แก้หมวดศาลรัฐธรรมนูญ แก้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ้าเกิดเป็นแบบนี้ไม่ว่าสสร.จะมาอย่างไรก็เป็นการปิดประตูปฏิรูปการเมือง เสียเวลาไปฟรีๆ อีก ดังนั้นจึงต้องยืนยันเป็นหลักการในคำถามตั้งแต่แรก
ประการที่สอง สสร.ต้องมาจากเลือกตั้งจากประชาชน ถ้าไม่เขียนไว้เช่นกันถ้าไม่เขียนล็อคไว้ในช่องทางของรัฐสภาอาจให้สสร. มาจากการแต่งตั้งของใครก็ไม่รู้หรือมีการเก็บที่นั่งให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น คำถามจึงต้องเจาะจงให้ชัดเจน นี่คือคำถามของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ  

ขอพลังประชาชนร่วมเสนอคำถามประชามติ เปิดทางสู่เป้าหมายรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน 

จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) กล่าวแนะนำกลุ่มองค์กรที่มาวันนี้ ว่าพวกเราคือกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากหลากหลายองค์กร เพราะว่านี่ไม่ใช่เพียงแต่กลุ่ม NGOs  แต่นี่คือเรื่องของประชาชนทั้งประเทศต้องมีส่วนร่วม พวกเราคงเห็นแล้วจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ว่าสุดท้ายตอนนี้จะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าประชาชนได้แสดงเจตจำนงออกมาบอกว่าเราอยากเห็นประเทศสังคมไทยเป็นอย่างไร 
จีรนุช กล่าวต่อว่า นี่เป็นอีกครั้งที่ประชาชนจะต้องใช้พลังในการออกมาเริ่มต้นสร้างกติการร่วมกัน เริ่มต้นจากการเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใหม่ที่มาจากการร่างของประชาชนได้อย่างไร  50,000 ราย ในเวลาหนึ่งสัปดาห์เป็นเป้าหมายที่เราตั้งไว้ และเราเชื่อว่าเราจะไปถึงได้ เราเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้มาจากการทำงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่งแต่เป็นการร่วมใจของประชาชนในประเทศนี้ซึ่งเราไม่พร้อมจะเห็นสังคมเป็นแบบนี้อีกต่อไป จึงอยากขอเชิญชวนให้ประชาชนพี่น้องมาร่วมลงชื่อทางช่องทางต่างๆ

ความหวังเดียวคือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกหมวดทุกมาตราต้องแก้ได้

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า ในนามขอคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เรามีความเห็นร่วมกันที่จะสนับสนุนแคมเปญนี้ หลังจากนี้เราจะประสานเครือข่ายทุกภูมิภาคเพื่อรวบรวมรายชื่อให้ครบ 50,000 ชื่อ ภายในเจ็ดวัน เพราะฉะนั้น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับต้องมีหลักการที่สสร. ต้องมาจากประชาชน นี่คือทางเดียวเท่านั้น การดำเนินการจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทุกหมวดทุกมาตราจะต้องแก้ได้ ไปจนถึงการรวมศูนย์อำนาจรัฐธรรมนูญต้องพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นทางออกให้สังคมไทยได้ จึงขอเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกันลงรายชื่อ