รวมวิวาทะว่าด้วยมาตรา 112 และสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี

การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จบลงโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียวในวันดังกล่าว ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งเพราะไม่สามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นคือ 375 เสียง จาก 749 เสียง แม้พิธาจะรวบรวมเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 312 เสียง ซึ่งถือว่าเกินกว่าจำนวนกึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ขณะนั้นคือ 500 เสียงก็ตาม

ก่อนการลงมติ ประธานรัฐสภาได้เปิดให้สมาชิกทั้งฝ่ายพรรคที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลแปดพรรค พรรครัฐบาลเดิม และสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายเหตุผลที่จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้พิธาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สำหรับประเด็นที่ ส.ส.ของอดีตพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.นำมาอภิปรายถึงเหตุผลที่ตัวเองจะออกเสียงไม่เห็นชอบให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ คือนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

ชาดา ไทยเศรษฐ์: ที่ยอมไม่ได้คือให้ต่างชาติมาดำเนินคดีพระมหากษัตริย์

ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทยเป็นสมาชิกรัฐสภาคนแรกที่ลุกขึ้นอภิปรายคุณสมบัติของพิธา โดยเนื้อหาการอภิปรายของเขาพุ่งเป้าไปที่การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทั้งการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล และประเด็นการให้สัตยาบรรณธรรมนูญกรุงโรม รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งชาดาระบุว่าเป็นเสมือนการเปิดทางให้ต่างชาติสามารถดำเนินคดีพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศได้  
“ผมและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อว่า ท่านจะปกป้องสถาบันกษัตริย์มิให้ถูกละเมิด ในเมื่อท่านจะลดการคุ้มครองและลดโทษผู้ที่ละเมิดพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงไม่เอาผิด ไม่ลงโทษผู้ละเมิดพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่”
“ที่เจ็บปวดมากกว่านั้น คืออะไร มีคำพูดต่อผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกลว่า ถ้านายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจะให้นายพิธาไปลงสัตยาบันในกฎหมายกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า สามารถฟ้องผู้เป็นประมุขของรัฐได้ อันนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้จริงๆ ทันทีที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีท่านจะให้คุณพิธาไปลงนาม หมายถึงว่า คนนอกประเทศฟ้องในหลวงได้ ฟ้องพระมหากษัตริย์ได้ … ผมคงทำใจไม่ได้ หลับตานึกสิ พระมหากษัตริย์สูงสุดที่คุมกะลาหัวพวกเราอยู่เนี่ย ไปถูกฝรั่งมังค่าสอบสวน มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตราย ประมุขของรัฐไทยก็คือใคร ก็พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

เสรี สุวรรณภานนท์: ก้าวไกลแก้ไขมาตรา 112 เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการยุยงปลุกปั่นของตัวเอง

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภายกขึ้นมาใช้อภิปรายเพื่อให้เหตุผลประกอบการออกเสียงไม่เห็นชอบให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคก้าวไกลกับผู้ชุมนุมที่เสรีเห็นว่าพรรคก้าวไกล “ให้ท้ายผู้ชุมนุม” และเมื่อผู้ชุมนุมถูกจับ ส.ส.ของพรรคก็จะคอยใช้ตำแหน่งประกันตัวให้ และเมื่อมีคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มากขึ้นโดยเฉพาะเยาวชน พรรคก็หาทางออกโดยการเสนอให้แก้ไขกฎหมาย  
“จะเห็นได้ยังไง ท่านบอกว่า ฉันไม่ได้สนับสนุน เห็นได้เพราะมันปรากฏเป็นประวัติศาสตร์เป็นบันทึกอยู่ในคลิปวิดีโอทั้งหลายมากมายในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ท่านออกไปปลุกปั่นยุยงส่งเสริม ขึ้นเวทีให้ม็อบเยาวชนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้แสดงคำพูดให้ร้ายต่างๆ นานา เป็นข้อเสนอที่จะปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกระบวนการอะไรต่างๆ มากมาย แสดงพฤติกรรมไปในแนวทางที่ให้ร้ายไม่ว่าจะพูดจาด่าทอ เรียกชื่อเรียกพระนามไม่เคารพ เขียนรายละเอียด เขียนข้อมูลตามกำแพง พอคนเหล่านี้ถูกดำเนินคดี ท่านก็ใช้สถานะความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปช่วยประกันตัวคนพวกนี้แทนที่เราจะไปลดปัญหา ไปลดสิ่งที่เป็นความผิดไม่ให้กระทำความผิดเกิดขึ้นแต่กลับกลายเป็นการยุยงส่งเสริมให้คนกระทำความผิดในเรื่องเหล่านี้” 
“แล้วพอมาตอนนี้เด็กเยาวชนติดคุกติดตารางกันเยอะแยะมากมาย ท่านก็มาเสนอแก้ 112 บอกว่า นี่เป็นกระบวนการตามกฎหมายที่ไปกลั่นแกล้งคนให้ถูกดำเนินคดี ถ้าเด็กเหล่านี้คนเหล่านี้ไม่ถูกยุยงส่งเสริมมันจะเกิดเรื่องเหล่านี้ไหม เพียงเพื่อต้องการจะได้มวลชนเลยขาดความรับผิดชอบ ทำให้เด็กกระทำผิดกฎหมาย เสียอนาคต เสียการเล่าการเรียน ครอบครัวแตกแยกอย่างที่เป็นอยู่และเห็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นถ้าความเป็นนายกรัฐมนตรีผมยังไม่เคยเห็นท่านออกมาปกป้องห้ามปรามในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่เกี่ยวไม่ยุ่งหรือไม่มีส่วนกระทำการเรื่องเหล่านี้เราต้องออกไปห้ามปราม แต่ปรากฏว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือท่านไม่ห้ามปรามอะไรเลย กลายเป็นว่า ให้คนของท่านไปช่วยกันไม่ว่าจะประกันตัว ไปให้กำลังใจ ไปขึ้นเวที พอขึ้นเวทีเสร็จเด็กก็ถามว่า จะแก้ไขมาตรา 112 หรือจะยกเลิก ท่านก็บอกว่า จะแก้ไข ถ้าแก้ไขไม่ได้จะยกเลิกและก็ไปติดสติ๊กเกอร์ในส่วนยกเลิกมาตรา 112”

สมชาย แสวงการ: พรรคก้าวไกลจะขยิบตาให้คนอื่นแก้มาตรา 112

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาอีกคนหนึ่งอภิปรายเหตุผลเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ทำให้เขาไม่สามารถให้ความเห็นชอบพิธาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนอกจากจะอภิปรายเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวเอง และประเด็นการให้สัตยาบรรณธรรมนูญกรุงโรมที่มีผู้อภิปรายไปก่อนแล้ว สมชายยังอภิปรายด้วยว่าหากสุดท้ายพรรคก้าวไกลจะไม่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ด้วยตัวเอง ก็จะให้กลุ่มประชาชนหรือมวลชนกลุ่มอื่นเป็นผู้ดำเนินการ
“หากจะดูแนวทางของพรรคก้าวไกล ดูได้จากร่างแก้ไข ม.112 ที่เสนอโดย ส.ส.เพื่อพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2564 แม้จะไม่ได้ถูกบรรจุเข้าวาระพิจารณา แต่ทางพรรคก้าวไกลก็ยืนยันว่าจะผลักดันต่อ หรือหากพรรคก้าวไกลจะไม่ยื่นกฎหมายแก้ไข ม.112 ก็อาจไปขยิบตาให้ภาคประชาชน เช่น ไอลอว์ยื่นกฎหมายเข้ามา หรือแม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องกำหนดกรอบด้วยว่าไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือจะไปจัดการกับองค์กรอิสระ ป.ป.ช. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะท่านไม่ถูกใจแบบนี้ไม่ได้”
“ในส่วนเรื่อง ICC ถามว่าทำไมประเทศไทยลงนามให้สัตยาบรรณไม่ได้ พิธาอธิบายไม่หมดที่ว่าประเทศที่มีระบบแบบเดียวกับเราก็เข้าร่วมมากมาย ต้องชี้แจงว่าเหตุที่กัมพูชาเข้าร่วมเพราะ ICC จัดการเรื่องเขมรแดง ญี่ปุ่นเข้าเพราะแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย ไม่เข้าร่วม ICC ดังนั้นต้องบอกประชาชนให้หมด” 

คำนูณ สิทธิสมาน: การปกป้องสถานะอันล่วงละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์คือหน้าที่ของ สว. 

คำนูณ สิทธิสมานสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายเหตุผลที่ทำให้เขาไม่สามารถลงมติเห็นชอบให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยเน้นไปที่ผลกระทบของการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลที่จะส่งผลให้ความคุ้มครองของพระมหากษัตริย์ถูกลดระดับลงมาเท่ากับบุคคลทั่วไปทั้งโทษจำคุกที่ลดลงและทั้งการมีบทยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ รวมถึงการที่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะส่งผลให้คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ก่อนมีการออกกฎหมายเสมือนได้รับการนิรโทษกรรม เพราะในกฎหมายไม่ได้กำหนดบทเฉพาะกาลใดๆ ไว้ 
ในความเห็นของคำนูณ หน้าที่ของส.ว.ในบริบททางการเมืองปัจจุบันจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกลั่นกรองกฎหมาย ติดตามการปฏิรูปประเทศ หรือให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เท่านั้น หากยังรวมถึงการปกป้องสถานะอันล่วงละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์ที่สืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ด้วย

“ต่อคำถามที่ว่ามีส.ว.ไว้ทำไม ผมถามตัวเองว่า ความเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสมัยปัจจุบัน ในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากการกลั่นกรองกฎหมาย นอกจากการให้บุคคลดำรงตำแหน่ง นอกจากการติดตามการปฏิรูปประเทศแล้ว มีอะไรที่สำคัญอยู่ในจิตวิญญาณของผมและของพวกเราทุกคนบ้าง ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจครับ ว่าการธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บทคุ้มครองฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่เทียบเท่ากับที่เคยเป็นมานับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 มิให้กระทบหรือลดทอนลงไป เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน”