ที่หนึ่งไม่ไหว! ย้อนดูเหตุการณ์พรรคอันดับหนึ่งชวดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ตามปกติแล้วระบอบประชาธิปไตยจะมีวัฒนธรรมพื้นฐานว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งจะมีสิทธิได้เป็นนายกรัฐมนตรี และมีโอกาสในการได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะในระบบรัฐสภาที่ยึดถือการครองที่นั่งภายในสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลักก็จะยิ่งให้ความสำคัญในจุดนี้เป็นสาระสำคัญ

อย่างไรก็ตามเสียงของประชาชนในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเช่นนี้ก็ไม่ได้ทำงานในไทยได้อย่างปกติเสมอไป จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า มีการเลือกตั้งทั่วไปถึงห้าครั้งที่พรรคอันดับหนึ่งพลาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้พรรคอื่น ๆ ไปจนถึงผู้ไม่สังกัดพรรคใดได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

การเลือกตั้งทั้งห้าครั้งต่อไปนี้ จึงอาจสะท้อนภาพขั้นตอนของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในไทยได้มากขึ้น

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2522

การเลือกตั้งครั้งที่ 12 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งความน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้คือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรค “กิจสังคม” ที่มี คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้นำ โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรอยู่ที่ 88 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรค “ชาติไทย” ที่มี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นผู้นำ โดยได้ที่นั่ง 42 ที่นั่ง และพรรค “ประชาธิปัตย์” ที่มี ถนัด คอมันตร์ เป็นผู้นำ โดยได้ที่นั่ง 35 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 301 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้สมัครอิสระได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรถึง 63 ที่นั่ง และพรรคกิจสังคมไม่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฏรเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 151 ที่นั่ง จึงทำให้ทุกพรรคการเมืองลงมติเลือก “พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์” อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยก่อนหน้า ผู้มีที่มาจากคณะรัฐประหารเมื่อปี 2520 ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2522

กติการเลือกตั้งในปี 2522 ยังอนุญาตให้วุฒิสภาที่มีที่มาจากการแต่งตั้งของพลเอกเกรียงศักดิ์มีสิทธ์เลือกนายกรัฐมนตรี จนทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์ได้เสียงจากคนกลุ่มนี้ไปอีก 225 เสียง ชนะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งไปในทันที

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่อาจมีส่วนทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หลังการเลือกตั้ง เฉลิมเกียรติ ผิวนวล ได้อธิบายไว้ใน “ความคิดทางการเมืองของทหารไทย 2519-2535” ว่า รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์มีการรอมชอมกันระหว่างนายทหารคุมกำลังระดับนายพัน และนักการเมืองอาชีพ ผ่านแนวคิด “ลัทธิทหาร” และ “ลัทธิผู้นำ” ซึ่งทำให้ผู้นำทหารถูกยกสถานะสู่ “ผู้อุปถัมภ์” ในการเมืองไทยสมัยใหม่

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2526

การเลือกตั้งครั้งที่ 13 จัดขึ้นในปี 2526 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่มีลักษณะคล้ายกับการเลือกตั้งปี 2522 คือ พรรคอันดับหนึ่งไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดจากการที่พรรคกิจสังคมต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้วุฒิสภามีอำนาจไม่เท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถูกต่อต้านอย่างมากจากสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายทหาร จนทำให้พลเอกเปรมตัดสินใจยุบสภา

การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคชาติไทยที่มี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นผู้นำ ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งด้วยจำนวนเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฏรถึง 110 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคกิจสังคมที่มี คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้นำ ที่ 99 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ที่มี พิชัย รัตตกุล เป็นผู้นำ ที่ 56 ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่า ไม่มีพรรคใดที่ได้รับเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 163 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 324 ที่นั่ง

ด้วยเหตุนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม และพรรคอื่นๆ ตัดสินใจลงเสียงเลือก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และทำให้พรรคชาติไทยที่ได้อันดับหนึ่งจำเป็นต้องกลายเป็นฝ่ายค้านแทน หลังจากนั้นพลเอกเปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีใน 12 วันหลังการเลือกตั้ง และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐบาลให้หลังการเลือกตั้งไปแล้ว 21 วัน 

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้เพราะแนวร่วมพรรคที่สนับสนุนพลเอกเปรมทั้งสี่พรรคตัดสินใจลงมติยกตำแหน่งนี้ให้พลเอกเปรม

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2529

การเลือกตั้งครั้งที่ 14 จัดขึ้นในปี 2529 ยังเป็นอีกหนึ่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสมัยที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นอีกหนึ่งครั้งที่พรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้

การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์สามารถคว้าชัยชนะเป็นพรรคอันดับหนึ่งด้วยจำนวน 100 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคชาติไทยด้วยจำนวน 64 ที่นั่ง และพรรคกิจสังคมด้วยจำนวน 51 ที่นั่ง จากจำนวนเก้าอี้ทั้งหมด 347 ที่นั่ง จึงทำให้ไม่มีพรรคใดได้จำนวนเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 174 ที่นั่ง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตัดสินใจเลือกพลเอกเปรมกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ประเทศไทยต้องจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐบาลรวดเร็วที่สุด คือ ใช้เวลาทั้งสิ้นนับตั้งแต่การเลือกตั้งเพียง 11 วันในการมีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และใช้เวลาทั้งสิ้นนับตั้งแต่การเลือกตั้งเพียง 9 วันเท่านั้น ในการมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2535

การเลือกตั้งครั้งที่ 17 จัดขึ้นในปี 2535 เป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ในปี 2534 ซึ่งทำให้ประชาชนที่ไม่พอใจผลการจัดตั้งรัฐบาลออกมาชุมนุม และเกิดเป็นเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 ต่อมา

การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง คือ พรรคสามัคคีธรรม ที่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรไปถึง 79 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคชาติไทยที่ 74 ที่นั่ง พรรคกิจสังคมที่ 31 ที่นั่ง พรรคประชากรไทยที่ 7 ที่นั่ง และพรรคราษฎรที่ 4 ที่นั่ง จากทั้งหมด 360 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมถูกรัฐบาลสหรัฐระบุว่าต้องสงสัยว่า มีส่วนพัวพันในธุรกิจยาเสพติด จึงปฏิเสธการออกวีซ่าเข้าประเทศ ด้วยเหตุนี้พรรคร่วมรัฐบาลจึงตัดสินใจลงมติเลือกพลเอก สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรัฐประหาร รสช. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ว่าณรงค์จะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และระบุว่าข้อกล่าวหานี้เป็นเพียงการโจมตีทางการเมืองเท่านั้น

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากพลเอกสุจินดาเคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้งว่าจะไม่กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก และกระแสสังคมไทย ณ ขณะนั้นกำลังเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง จึงนำมาสู่เหตุการณ์นองเลือดในที่สุด

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2562

การเลือกตั้งครั้งที่ 26 ในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในปี 2557 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้กติกาใหม่อย่างรัฐธรรมนูญ 2560

การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง คือ พรรค “เพื่อไทย” ที่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 136 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 116 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 81 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 53 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย จำนวน 51 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม กติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างในสมัย คสช. ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ “คะแนนมหาชน” หรือ Popular Votes น้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐ และทำให้พรรคพลังประชารัฐตัดสินใจชิงสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะมีจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าพรรคเพื่อไทยก็ตาม ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจวุฒิสมาชิกสามารถออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2522 จึงทำให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. และพรรคพวก สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ที่หนึ่งไม่ไหว พรรคที่ควรจะได้กลับไม่ได้เป็นนายก

จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าในจำนวนการเลือกตั้งห้าครั้งที่ สาเหตุที่พรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้หลังการเลือกตั้ง

1) เกิดจากปัญหาการไม่สามารถรวบรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้สี่ครั้ง มีจำนวนทั้งสิ้นสามครั้งที่การรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนำไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีนอกสภาผู้แทนราษฎร คือ การเลือกตั้งในปี 2522 ที่ทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ผู้นำคณะรัฐประหารกับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง และอีกสองครั้งคือการเลือกตั้งในปี 2526 และปี 2529 ที่มีการทาบทามพลเอกเปรมให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งถือว่าการเลือกตั้งทั้งสามครั้งได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

ขณะที่การเลือกตั้งปี 2562 แม้หลังการเลือกตั้งพรรคลำดับที่หนึ่งจะดำเนินการรวบรวมเสียงข้างมากได้สำเร็จ ดังที่ปรากฎใน “แถลงการณ์ร่วม การลงสัตยาบันเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ที่ระบุชัดเจนว่าที่ประกอบไปด้วยพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย รวมแล้วมีเสียงจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรหรือ 255 เสียง

ต่อมา กกต. มีการปรับสูตรการคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้แนวร่วมของพรรคเพื่อไทยกลับแพ้ให้แก่แนวร่วมของพรรคพลังประชารัฐไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยแนวร่วมพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอยู่ที่ 500 เสียง แบ่งออกเป็นคะแนนเสียงจากสภาผู้แทนราษฎร 251 เสียง และเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา 249 เสียง ขณะที่แนวร่วมของพรรคเพื่อไทยได้เสียงทั้งหมดอยู่ที่ 244 เสียง หรือคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรห่างกันเพียงเจ็ดคะแนนเสียงเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้ตัวแทนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแนวร่วมพรรคเพื่อไทย คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล พ่ายแพ้ให้กับแนวร่วมของพรรคพลังประชารัฐที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ แม้ว่าจะชนะการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม

2) เกิดจากข้อครหาด้านคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีของพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจำนวนหนึ่งครั้ง จนไม่ได้รับความไว้วางใจจากพรรคร่วมในขณะนั้น คือ การเลือกตั้งปี 2535 จนนำมาสู่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอดีตแกนนำคณะรัฐประหาร พลเอกสุจินดา และนำมาซึ่งการชุมนุมต่อต้านจากประชาชนและมีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง

3) เกิดจากสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งไม่ยอมลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งมีจำนวนสองครั้ง ซึ่งที่มาของวุฒิสภาทั้งสองครั้งมาจากกลไกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมรดกของคณะรัฐประหารที่เปิดโอกาสให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจใกล้เคียงกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในการเลือกตั้งในปี 2522 และในการเลือกตั้งในปี 2562

ปัญหาเหล่านี้อาจจะกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง 2566 ที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีผลให้วุฒิสมาชิกสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อยู่ การลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์มากขึ้น เนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยอาจจะซ้ำรอยการเลือกตั้งทั้งห้าครั้งข้างต้น ซึ่งหากเกิดขึ้นจะนำไปสู่ข้อครหาต่อการทำงานของระบบประชาธิปไตยไทย ในฐานะเครื่องมือสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต่อไป