ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลคดี นาฬิกายืมเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร เพื่อความโปร่งใส

16 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องเปิดเผยรายงานการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรูของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามที่มีผู้ร้องขอ

เหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ในคดีหมายเลขดำที่ 2557/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 1327/2564 ระหว่างพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโสสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานป.ป.ช. ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในมูลเหตุที่ป.ป.ช. ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรูของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยเอกสารสองรายการให้กับ The MATTER (โดยปกปิดข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะของบุคคล)  ได้แก่

  1. รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช. ในวันที่มีมติเกี่ยวกับคดีนี้ (27 ธันวาคม 2561) รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2.  คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยื่นชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ในคดีนี้ทั้งหมดสี่ครั้ง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ (16 มิถุนายน 2566) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ ป.ป.ช. กระทำตามหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว 

ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลโดยสรุปว่า ข้อมูลที่ผู้ร้องขอ ขอให้ป.ป.ช. เปิดเผยเป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของป.ป.ช. และมีที่มามาจากการปฏิบัติหน้าที่ของป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นข้อมูลข่าวสารราชการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ทั้งนี้ ข้อมูลที่ผู้ร้องขอขอให้เปิดเผยไม่ได้มีลักษณะจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเสื่อมประสิทธิภาพหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ ป.ป.ช. อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเป็นคนละมูลกับกับกรณีที่อ้างมา การเปิดเผยข้อมูลจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของป.ป.ช. รวมถึงข้อกล่าวอ้างอื่นๆ ที่ป.ป.ช. ยกอ้างขึ้นอุทธรณ์ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน  

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลประกอบเพิ่มเติมอีกว่าการเปิดเผยข้อมูลจะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของป.ป.ช. อันเป็นการคำนึงถึงหลักประโยชน์สาธารณะและประโยชน์เอกชนที่เกี่ยวข้อง 

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป